ปี 2019 ที่ผ่านมา เป็นปีที่กระแสสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างมากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น การนัดหยุดงาน-เรียนในวันศุกร์พร้อมกันทั่วโลก การปราศรัยในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เกรตา ธันเบิร์ก ตลอดจนความตื่นตัวเรื่องปัญหาโลกร้อนทุกหย่อมหญ้าในสังคมไทย ทั้งจากภาครัฐและผู้ประกอบการ หรือคนธรรมดาทั่วไป

และหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นควบคู่กันก็คือประเด็นการจัดการขยะ ซึ่งด้านหนึ่ง มันก็ได้ทำให้ธุรกิจรีไซเคิลมีที่ทางเติบโตในภาคธุรกิจมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเช่นกัน และหากเราพูดถึงภาคธุรกิจที่จับประเด็นการรีไซเคิลมาช้านาน ชื่อของ Hero อาจจะไม่ใช้ชื่อแรกๆ ที่สังคมไทยคุ้นหูดีนัก แต่หากเป็นในระดับนานาชาติ Hero นับเป็นแบรนด์ถุงขยะรีไซเคิลที่ถูกใช้ในหลายประเทศของยุโรป หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา และยังเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่มีโรงงานผลิตสินค้ารีไซเคิลใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ก่อนหน้านี้ ไพบูลย์ จุลศักดิ์ศรีสกุล รองกรรมการผู้จัดการเครือบริษัทคิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัดและกุนซือใหญ่ของแบรนด์ Hero ได้พาเราเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลขยะที่จังหวัดชลบุรี ความทันสมัย สะอาดและเอาใจใส่ในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่การล้างพลาสติกไปจนถึงกระบวนการบรรจุลงในหีบห่อ จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไม Hero Eco Bags ถึงได้รับรางวัล Asean Plastic Award เมื่อปี 2018

หลังจากนั้น เราจึงได้มีโอกาสนั่งคุยกับเขายาวๆ อีกครั้งว่า ในสายตาของผู้ประกอบการรายใหญ่ เขามีแนวคิดในการทำธุรกิจอย่างไร เขามองปัญหาขยะในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง และระบบการจัดการขยะที่มีคุณภาพในสายตาของเขาควรจะเป็นอย่างไร  

เล่าเรื่องของ Hero ให้ฟังหน่อย 

เครือบริษัทคิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัดเปิดโรงงานมา 40 ปี แต่เดิมเราทำแบรนด์สินค้าให้กับต่างประเทศเป็นหลัก ต่อมาเราเริ่มคิดว่าเมื่อเรามีสินค้าก็ควรจะสร้างแบรนด์ควบคู่กันไปด้วย เราเลยทำการศึกษาเพิ่มเติมแล้วให้บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา และได้ลงเอยที่ชื่อ ‘Hero’

ก่อนหน้านี้ ประธานบริษัทหรือคุณพ่อของผมได้ปลูกฝังความรักในเรื่องสถาบัน บวกกับสภาพของตลาดในประเทศ ผมจึงได้เข้าใจว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างชุมชน (regional) ของเราให้เข้มแข็ง หรือพยายามทำคนที่อยู่รอบตัวให้เข้มแข็งก่อนเพื่อสร้างความมั่นคง ก่อนที่จะขยายไปต่างประเทศ ดังนั้น เราเลยคิดว่าการทำแบรนด์จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจของเรามีความแข็งแกร่งมากขึ้น จึงมาเป็นแบรนด์ขายทั้งในและนอกประเทศ

แหล่งที่มาของวัตถุดิบ Hero มาจากที่ไหน

ถ้าเป็นสินค้าแบรนด์ Hero-Eco จะมาจากหลุมขยะ แต่ถ้าแบรนด์ในกลุ่มอื่นๆ จะมาจากบริษัทใหญ่อย่าง เอสซีจีหรือ ปตท. 

การนำขยะจากหลุมขยะมารีไซเคิลมีมานานแล้ว แต่เป็นการรีไซเคิลโดยโรงงานขนาดเล็กหรือเป็นชาวบ้านทำกันเอง ซึ่งพวกเขายังไม่มีนวัตกรรมที่ดีนัก เช่น ถ้าเราไปตามตลาดและเจอถุงขยะที่มีกลิ่นเหม็น นั่นคือสินค้าที่ชาวบ้านรีไซเคิลมาจากหลุมขยะ แต่สินค้าของเราทำเพื่อส่งออกก็จะมีมาตรฐานที่เข้ามาวัด เช่น ห้ามมีกลิ่นเหม็น เราเลยต้องศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้อันตรายเหล่านี้มันออกไป

แต่เหตุผลอีกข้อที่ทำให้ผมอยากทำสินค้ารีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพคือ ผมเคยลองนำถุงขยะอย่างที่เล่าไปเข้าไปในที่ประชุมบริษัทและลองฉีกดู แล้วเผลอเอามือที่จับถุงขยะไปป้ายตา ปรากฏว่าตาแดงและต้องเข้าโรงพยาบาล ผมเลยสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ให้สินค้าที่มีอันตรายแบบนี้ออกสู่ตลาดเด็ดขาด เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรากลับมาศึกษาและแก้ไขคุณภาพของผลิตภัณฑ์รีไซเคิลของเรา

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำมาปรับใช้กับบริษัท HERO อย่างไรบ้าง 

ผมทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ สมัยที่เรียนปริญญาโทอยู่ที่อังกฤษ สำหรับผมแนวคิดที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงคือ เราต้องทำให้ (regional) เข้มแข็งก่อน เศรษฐกิจพอเพียงคือความยั่งยืนที่ทำให้เราไม่ล้มง่ายๆ 

Hero นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เช่น ถ้ารัฐบาลประกาศว่าห้ามนำเข้าขยะและ Hero ยึดอยู่กับขยะที่นำเข้าอย่างเดียว เราก็คงเจ๊งไปแล้ว แต่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เรารับขยะจากระยอง ชลบุรี จันทบุรี มันคือกระจายความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเทียบอย่างที่รัชกาลที่ 9 พูดคือ ในพื้นที่ 1 ไร่ แบ่ง 20 เปอร์เซ็นต์ทำปศุสัตว์ 10 เปอร์เซ็นต์ใช้เป็นที่อยู่อาศัย 

แต่คนมักไปตีความคำว่า พอเพียง คือไม่ต้องมีเยอะ ทั้งที่จริงมันหมายถึง ความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันเดินไปที่ไหนทุกคนก็พูดเรื่องนี้กันหมด แต่ก่อนหน้านี้โจมตีคำนี้ว่าไม่ถูกต้อง ธุรกิจต้องมองเรื่องผลกำไร เรื่องผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ซึ่งตอนนี้แม้กระทั่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ถูกบังคับให้มีแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ผมเลยดีใจมากที่โลกมันหมุนไปแบบนี้ 

คนมักไปตีความคำว่า พอเพียง คือไม่ต้องมีเยอะ ทั้งที่จริงมันหมายถึง ความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันเดินไปที่ไหนทุกคนก็พูดเรื่องนี้กันหมด

ในสายตาของผู้ประกอบการ สังคมไทยปัจจุบันมองสินค้ารีไซเคิลเป็นอย่างไรบ้าง

สังคมให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลมากขึ้นเพราะกระแสสิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นกระแสหลัก ก่อนหน้านี้ สังคมเราให้ความสนใจกับเรื่องนวัตกรรมเสียมากกว่า อย่างในเฟซบุ๊ก คุณจะเห็นคนแชร์เรื่องราวของนวัตกรรม เช่น ถุงพลาสติกที่ทำจากข้าวโพด ซึ่งอันที่จริงมีมานานแล้วแต่ราคาแพง นอกจากแพงแล้วยังกระทบกับเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม เช่น ทำไมเรามีข้าวโพดเหลือทำถุงพลาสติก แต่คนแอฟริกาไม่มีอาหารที่ดีต่อโภชนาการเพียงพอจะกิน 

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป สินค้าทดแทนทางด้านสิ่งแวดล้อมมันมีอีกหลายอย่าง เช่น พวก bio-digestable แต่มันมีต้นทุนที่สูงมาก ซึ่งผมมองว่าสินค้าเหล่านั้นมันไม่ตอบโจทย์เรื่องกิจการเพื่อสังคม(social enterprise) การที่เราคิดและขายสินค้าราคาแพงเหมือนเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค ผมเลยพยายามคิดค้นสินค้าที่มีราคาถูก ใช้ทดแทนได้ และประสิทธิภาพดีกว่า

ผมเลยมองว่าการทำสินค้ารีไซเคิลตอบโจทย์กิจการเพื่อสังคมมากกว่า คนมักจะสนใจนวัตกรรมที่มีความล้ำยุค แต่ความสนใจนี้ไม่ได้หมายความว่าจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อ คนแชร์กันไปในเฟซบุ๊กแต่ยอดขายน้อยมากเพราะเป็นสินค้าที่แพง เราเลยต้องตอบโจทย์ให้ถูกต้อง ถ้าเราอยากรักโลก เราต้องรักให้ถูกและดีด้วย 

กิจการเพื่อสังคมในความหมายของ HERO คืออะไร

เราต้องทำธุรกิจที่สังคมได้ประโยชน์ คนซื้อสินค้าเราไปแล้วเขาต้องเกิดประโยชน์ ผมเคยคุยกับชายอเมริกาคนหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีเชิญมาเป็นที่ปรึกษาเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เขาเล่าว่าบนเกาะแห่งหนึ่งมีคนเป็นโรคหูหนวกเพราะติดเชื้อโรคอะไรสักอย่าง แต่เกาะนี้กันดารมากไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็เลยคิดเครื่องช่วยฟังที่ใช้โซลาเซลล์ชาร์จไฟเข้าแบตเตอรีแทนไฟฟ้าครัวเรือน และเริ่มระดมทุนเพื่อช่วยคนบนเกาะนี้ นี่คือกิจการเพื่อสังคมสำหรับผม

แต่ถ้าคิดในเชิงพาณิชย์ ใครที่อยากให้บริษัทเติบโตด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งเงินใคร ก็ต้องคิดวิธีที่ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากที่สุด อย่างถุงขยะของเรายิ่งใช้เยอะก็ยิ่งทำให้ขยะในหลุมขยะลดน้อยลง อันนี้ก็คือกิจการเพื่อสังคมสำหรับผม ผมไม่คิดจะทำ CSR เด็ดขาด มันทำแป๊บเดียว ช่วยเหลือคนได้น้อย และไม่ช่วยโลกเท่าไร ถ้าทำกิจการเพื่อสังคมแล้วมีกำไรก็ยิ่งดี เพราะทำให้บริษัทโตขึ้น ยิ่งทำยิ่งดี 

แต่ถ้าเราอยากทำกิจการเพื่อสังคมเราจะเอากำไรเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะมันจะไม่ดีกับสังคม ยกตัวอย่าง ถ้า Hero ไม่ต้องใช้เศษขยะจากบ่อขยะในไทยแล้วใช้ขยะนำเข้าแทนทั้งหมด สินค้าเราก็ไม่ต้องลงทุนกับเครื่องจักรคุณภาพดีเพราะขยะนำเข้าคุณภาพดีกว่า หรือถ้าเราทำของคุณภาพไม่ดีออกขายเราก็ได้กำไรเยอะขึ้น  

ภาคครัวเรือนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผู้ประกอบการในการรีไซเคิลด้วยได้ไหม 

ผมสนับสนุนที่คนหันมาเปิดธุรกิจรีไซเคิลเยอะขึ้นในปัจจุบัน แต่การที่ผู้ประกอบการบางรายบอกว่ารับบริจาคถุงพลาสติกหรือขยะรีไซเคิล โดยมีข้อแม้ว่าคุณต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาทิ้งไว้ให้ที่จุดรับ แต่ในความเป็นจริงของระบบธุรกิจ อย่าว่าแต่ให้คนมาล้างให้เลย ขนาดขยะเหม็นๆ มันยังมีราคา มันไม่ใช่การรับบริจาค เราต้องจ่ายเพื่อซื้อวัตถุดิบ 

ทุกอย่างมันมีต้นทุน คนที่ไปเก็บขยะเหล่านี้ เขาก็ได้ค่าตอบแทนในการที่เขารวบรวมขยะมาขาย บางทีเอาไปขายให้โรงงานในชุมชน โรงงานก็มีต้นทุนค่าน้ำ ค่าเครื่องมือไทยประดิษฐ์ของเขา 

ในเชิงธุรกิจของเหล่านี้เป็นวัตถุดิบที่เราต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อมา ไม่ใช่รับบริจาค ถ้าผมได้วัตถุดิบจากการบริจาค ผมจะโคตรมีความสุขเลย ได้วัตถุดิบคุณภาพดีแถมมีคนล้างให้ด้วย เพราะฉะนั้นการทำแบบนั้นเป็นเจตนาดีแต่เขาไม่เข้าใจวัฏจักรของธุรกิจมันเป็นอย่างไร เขาจึงทำได้แค่สเกลเล็กมากเพราะคนที่จะล้างและนำไปบริจาคคงมีไม่เยอะ บริษัทก็จะผลิตสินค้าได้ไม่เยอะ ซึ่งมันจะไม่แก้ปัญหาในภาพใหญ่ เพราะเรามีขยะพลาสติกอยู่กว่า 7 ล้านตันที่ยังอยู่ในบ่อขยะ การทำแบบนี้มันช่วยได้แต่แค่ไม่กี่กิโลกรัมเท่านั้น 

ผู้บริโภคสามารถช่วยได้ในการอุดหนุนสินค้ารีไซเคิล แต่ถ้าต้องให้ผู้บริโภคล้าง-บริจาค อันนี้น่าจะเป็นการผลักภาระและน่าเห็นใจผู้บริโภคมากกว่า ฉะนั้น ผู้ประกอบการที่ถูกต้องไม่ควรสร้างภาระให้ใคร ภาระควรตกอยู่ที่รัฐบาลมากกว่า เพราะเราจ่ายภาษีให้รัฐ และรัฐก็ควรนำเงินภาษีมาพัฒนาระบบให้มันเป็นรูปแบบที่ถูกต้องมากกว่า

ทุกอย่างมันมีต้นทุน คนที่ไปเก็บขยะเหล่านี้ เขาก็ได้ค่าตอบแทนในการที่เขารวบรวมขยะมาขาย บางทีเอาไปขายให้โรงงานในชุมชน โรงงานก็มีต้นทุนค่าน้ำ ค่าเครื่องมือไทยประดิษฐ์ของเขา 

มองระบบการจัดการขยะในไทย เป็นอย่างไรบ้าง

การจัดการขยะของไทยมันมีระบบอยู่ เพียงแต่ยังพัฒนาไม่ถึงขนาดนั้น ซึ่งแนวทางที่เกือบทุกประเทศทำเหมือนกันคือ ออกกฎหมายควบคุมให้ทุกคนแยกขยะจากที่บ้าน แต่ในมุมที่ใหญ่กว่านั้น ผมเชื่อว่าถ้าถนนหนทางสะอาดจะไม่มีใครทิ้งขยะลงบนพื้น ผมไม่เชื่อว่าคนไทยไม่มีจิตสำนึก 

ถ้าประเทศไทยจะแก้ปัญหาเรื่องขยะ ต้องแก้เรื่องผังเมืองและภูมิทัศน์ด้วย สมมติถ้าปรับภูมิทัศน์ริมคลองให้เป็นระเบียบ มีทางเท้าเหมาะสม ไม่มีสะพาน เราก็จะไม่เห็นขยะที่ลงไปกองตรงมุมอับของตีนสะพาน เพราะมีสะพานและมุมอับทำให้คนกลุ่มน้อยซึ่งมักง่ายเอาขยะไปทิ้ง คนที่ไม่มักง่ายเท่าไรพอเห็นมันสกปรกอยู่แล้วก็เอาไปทิ้งเพิ่ม แต่ถ้าเมืองเป็นระเบียบไม่มีจุดอับรวมถึงมีกฎหมายควบคุมก็จะไม่มีใครกล้าทิ้ง เพราะกลัวโดนจับ โดนปรับ เพราะฉะนั้นนี่คือวิธีแก้ปัญหาระดับมหภาค แต่ถ้าพูดกันตรงๆ ถึงไม่เกี่ยวกับขยะ เรื่องของผังเมืองเราก็ต้องแก้กันอยู่แล้ว 

อีกเรื่องคือ จุดทิ้งขยะ ถังขยะบ้านเราเป็นถังใสๆ มีสติ๊กเกอร์แปะไว้ว่าของรัฐห้ามเอาไป ซึ่งก็ไม่ช่วยอะไรเท่าไร แต่ถ้าออกแบบให้เป็นสี่เหลี่ยมฝังติดไปเลยกับพื้นดินและมีป้ายโฆษณาให้คนมาเช่า รัฐก็จะได้เงินคืนหรือเท่ากับไม่ต้องลงทุนอะไรเลย และถ้ารัฐจัดถังขยะในจุดแยกขยะเป็นประเภทเอาไว้ พอคนทิ้งถูกที่ ลุงซาเล้งก็จะมาเอาไปขายต่อ เกิดเป็นกลไกที่รัฐแทบจะไม่ต้องยื่นมือเข้ามายุ่ง 

ถ้าถามต่อว่าคนแยกขยะผิดประเภททำอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะเครื่องจักรสามารถรับความปนเปื้อนที่เล็กน้อยได้ เช่น ถ้ามีกระดาษปนอยู่ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องจักรรีไซเคิลพลาสติกขนาดหลายหมื่นตัน เครื่องจักรก็ยังพอรับได้ไม่เป็นปัญหา 

ผมเชื่อว่าเปอร์เซ็นต์คนที่ไม่รู้วิธีการแยกขยะไม่เยอะขนาดนั้น และถ้ามีการอบรมให้ความรู้ก็น่าจะแยกขยะกันเป็นหมด มันไม่ได้ยาก สมมติ คุณกินจังก์ฟู้ด คุณก็เทเศษอาหารลงในถังอาหาร แก้วกระดาษก็ทิ้งลงถังกระดาษ หลอดพลาสติกก็ทิ้งช่องพลาสติก ถังขยะอันตรายก็ไม่ต้องไปยุ่งเท่านั้นเอง

การคัดกรองขยะแหล่งที่สอง หรือลุงซาเล้ง มีประสิทธิภาพขนาดไหน

ระบบนี้ไม่มีในประเทศอื่น ถือว่าดีมากที่ประเทศไทยมีลุงซาเล้งช่วยเรื่องจัดการขยะ อย่างหนึ่งคือในต่างประเทศหากคุณไม่มีรายได้ รัฐบาลก็จะมีสวัสดิการช่วยเหลือ แต่ในประเทศไทยเราไม่มีสวัสดิการและคนบางกลุ่มไม่มีปริญญาหรือการศึกษาที่สูง เขาก็ต้องเก็บขยะขาย ซึ่งคนเหล่านี้ช่วยแยกขยะได้ดีมาก ลองนึกว่ากลุ่มซาเล้งเอาขยะปนๆ กัน ไปขายให้หน่วยงานที่รับซื้อ หน่วยงานพวกนั้นเขาก็ไม่รับหรอก พอไม่รับก็ไม่ได้เงิน แล้วพอโดนแบบนี้สักสองสามครั้งก็รู้แล้วว่าควรแยกขยะอย่างไร 

ระบบที่แยกขยะที่ดีที่สุดคือ ใช้สายตา ไม่ใช่เครื่องจักร ลุงซาเล้งเหล่านี้คือระบบที่ดีกว่าเครื่องจักร เพราะฉะนั้นประเทศไทยถ้าปรับอีกนิดหน่อย และมีคนกลุ่มนี้คอยช่วยเหลือ ประเทศเราโคตรสะอาดเลย อีกแค่นิดเดียว

ระบบที่แยกขยะที่ดีที่สุดคือ ใช้สายตา ไม่ใช่เครื่องจักร ลุงซาเล้งเหล่านี้คือระบบที่ดีกว่าเครื่องจักร

โมเดลของประเทศที่มีการจัดการขยะที่ดีมาก

ญี่ปุ่นปลูกฝังให้มีการแยกขยะตั้งแต่ที่บ้าน ภาครัฐของญี่ปุ่นจะจัดถุงขยะมาให้ทุกบ้านซึ่งถุงขยะแต่ละสีก็จะมีไว้ทิ้งขยะคนละชนิดกัน อย่างทุกวันจันทร์จะทิ้งได้เฉพาะพลาสติก คนญี่ปุ่นก็จะนำถุงขยะสีเหลืองที่แยกไว้เฉพาะพลาสติกมาวางหน้าบ้านและรถขยะก็จะมาเก็บ 

ในเกาหลีใต้ ทุกที่ต้องแยกขยะหมด ผู้ประกอบการร้านค้าก็จะมีถุงสีๆ ซึ่งบ่งบอกเขตที่อยู่อาศัย ครัวเรือนเกาหลีใต้ก็จะได้ถุงขยะมาฟรีๆ และรถขยะของแต่ละเขตก็จะวนมาเก็บถุงขยะของเขตตนเอง เขตสีฟ้าก็เก็บสีฟ้า เขตสีส้มก็เก็บสีส้ม ตรงนี้ทุกประเทศเหมือนกัน ซึ่งมันทำให้การจัดการเรื่องขยะง่ายขึ้น ไม่ต้องไปโยนหลายบ่อ ทิ้งกันมั่วซั่ว

ในเรื่องของขยะตามบ้าน ทุกหมู่บ้านหรือคอนโดจะมีจุดทิ้งขยะ และทุกคนก็จะต้องมาทิ้งขยะที่จุดทิ้งขยะเหมือนกันหมด กระดาษทิ้งที่หนึ่ง พลาสติกทิ้งอีกที่หนึ่ง เศษอาหารก็ต้องทิ้งลงเครื่องซึ่งจะเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยหรือกลายเป็นน้ำเพื่อย่อยหายไป ซึ่งการใช้เครื่องทำลายเศษอาหารประชาชนต้องเสียเงินนะ เพื่อให้รัฐนำเงินไปแก้ปัญหาขยะอื่นๆ บ้านไหนมีอาหารเหลือทิ้งเยอะก็ต้องจ่ายเงินเยอะ ซึ่งในเมืองไทย ทุกคนก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว รถขยะที่มาเก็บตามบ้านเมื่อก่อนเราอาจจ่ายเดือนละ 20 บาท ตอนนี้ 200 แล้วมั้ง 

อย่างขยะออร์แกนิก ถ้าทิ้งเศษอาหารออร์แกนิกลงไปในเครื่องย่อยเศษอาหาร คุณก็ได้ปุ๋ยออร์แกนิกกลับมาซึ่งโคตรดีเลยนะ เอาไปปลูกสตรอว์เบอร์รีก็ได้ อร่อย แต่ออกช้า

มองเห็นแง่มุมของประเด็นเรื่องขยะและรีไซเคิล ในสังคมไทยตรงไหนอีกไหม

ผมคิดว่าสังคมควรยกระดับความรู้ทางด้านการรีไซเคิลขึ้น เราต้องรู้ว่าพลาสติกประเภทไหนที่รีไซเคิลไม่ได้ พีวีซี ไวนิล รีไซเคิลไม่ได้เพราะมันมีสารพิษที่เป็นอันตราย ส่วนทางด้านผู้ประกอบการ ปัจจุบันเครื่องจักรต่างประเทศสามารถใช้เลเซอร์แยกขยะได้แล้ว แต่คนที่ลงทุนกลับไม่มีเลย

ในด้านนวัตกรรม เด็กไทยไปแข่งชนะรางวัลในต่างประเทศเยอะแยะ แต่พอกลับมาถึงเมืองไทยกลับไม่มีใครสนับสนุน ผมเคยเจอคนระยองคนหนึ่ง เขาสร้างเครื่องจักรที่เราสามารถโยนถุงขนมเข้าไปแล้วออกมาเป็นน้ำมันเครื่องจักร เอามาใช้ปั่นไฟหรือเติมรถก็ได้ ซึ่งขณะที่ฝรั่งขายเครื่องจักรแบบนี้ 70-80 ล้าน แต่คนนี้ใช้ต้นทุน 7-8 แสนเท่านั้น ผมจึงถือว่านวัตกรรมคนไทยดี แต่เราก็โทษรัฐไม่ได้ เพราะรัฐอยู่กับที่จะให้วิ่งเข้าหาคนเหล่านี้ตลอดก็ไม่ได้ 

อีกประเด็นหนึ่งคือ เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียกว่าขยะล้วนมีมูลค่า ขยะอินทรีย์มีมูลค่าน้อยเพราะไม่มีใครลงทุนเรื่องเครื่องทำปุ๋ย ถ้าคุณเดินเข้าไปในบ่อขยะคุณจะเห็นอยู่ไม่กี่อย่าง ขยะอาหารปาเข้าไป 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่เหลือคือถุงพลาสติกกับขวดพลาสติกซึ่งมีน้ำหนักเบาจนลุงซาเล้งโยนทิ้ง ซึ่งคนที่จนกว่าลุงซาเล้งก็จะไปปักร่มอยู่บนบ่อขยะ เพื่อเก็บขวดกับถุงเพื่อนำไปรีไซเคิล 

ดังนั้น สิ่งที่เหลือเยอะจริงๆ คือ ถุงขนมซึ่งนำไปรีไซเคิลไม่ได้ และขยะอินทรีย์ซึ่งไม่มีใครลงทุนเรื่องเครื่องทำปุ๋ย ถ้าไม่ทำปุ๋ยก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ส่วนมากจึงต้องกลบฝัง ซึ่งถ้าฝังเยอะก็จะทำให้เกิดก๊าซมีเทนเพราะว่ามีแบคทีเรียขึ้นมาอีก 

ในยุโรป มีแผนว่าอีก 5 ปี ถุงขนมต้องเปลี่ยนเป็น PPE เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด หรือถ้ารีไซเคิลไม่ได้ก็มีการแก้ที่ปลายทางคือ นำไปเผาเป็นไฟฟ้า เพราะพลาสติกให้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดถ้าเทียบกับขยะชนิดอื่นๆ ซึ่งในตอนนี้ ประเทศไทยก็มีคนลงทุนทำบ้างแล้ว ประมาณ 11 โรงงาน   

ในความคิดของผม มันไม่มีขยะ มีแต่คนนั่นแหละที่ทิ้งและเรียกมันว่า ‘ขยะ’ มันไม่ควรจะมีคำว่า ขยะ ด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างมันมีมูลค่าทั้งหมด

มองเรื่องที่รัฐบาลรณรงค์ให้เอกชนเลิกใช้ถุงพลาสติกอย่างไรบ้าง 

ดีครับ เลิกใช้ก็เลิก มันจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกได้จำนวนหนึ่ง แต่ถ้าจะเอาความเป็นจริง ถุงพลาสติกเป็นนโยบายของห้างค้าปลีกที่ต้องการดึงลูกค้าจากอีกห้างหนึ่ง ทีนี้พอผู้บริโภคได้ถุงพลาสติกทุกครั้งที่ใช้บริการก็กลายเป็นได้เยอะเกินความจำเป็น เมื่อเกินความจำเป็นรัฐบาลก็ควรคิดเงิน ผู้บริโภคก็จะเลิกฟุ่มเฟือยและใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น 

ผมมองว่าการไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกเลยมีปัญหาแน่ หากเราถอยกลับไป 100 ปีที่แล้วที่ไม่มีการจัดการขยะ กรุงเทพฯ เหม็นมากเพราะทุกอย่างถูกทิ้งเรี่ยราด พอเราเริ่มมีเรื่องการจัดการขยะเข้ามา เราก็เริ่มจากใช้ถุงกระดาษก่อนซึ่งต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก ทีนี้ถุงพลาสติกก็ถูกคิดขึ้นมาเพื่อลดการตัดต้นไม้ ในตอนนั้นถุงพลาสติกขึ้นมาเพื่อเป็นพระเอกแต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นผู้ร้ายเพราะไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง ผมเลยมองว่าการจำกัดการใช้หรือการขายถุงพลาสติกถูกต้องมากกว่า 

ดังนั้น เมื่อยังต้องใช้ถุงพลาสติกอยู่ เราก็หาวิธีการจัดการด้วยการนำถุงพลาสติกที่เป็นปัญหาไปรีไซเคิลเป็นถุงขยะอย่างที่เราทำ ซึ่งมันก็ได้ผล อย่างน้อยก็ในยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย อย่างออสเตรเลียก็เพิ่งหันมาใช้กันเยอะมาก อังกฤษก็เหมือนกันเมื่อก่อนใช้ถุงขาว ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นถุงดำแล้ว 

ถามกันตรงๆ คิดว่าพวกเรายังช่วยโลกทันไหม

ผมว่าทันครับ เหลือเฟือเลย โลกร้อนมันไม่ได้เป็นเพราะเรื่องขยะอย่างเดียว มันมาจากหลายสาเหตุรวมถึงตัวโลกเองด้วย เพียงแค่ว่าเราจะจัดการกับปัญหาอย่างไร ขยะไม่ใช่ปัญหาที่แก้ยาก อย่างนอร์เวย์ สวีเดน เขามีขยะไม่พอจนต้องรับจากประเทศอื่น เขานำขยะไปเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า ซึ่งเมืองไทยก็ทำได้และประเทศอื่นก็ทำได้ด้วย และถ้าทุกคนทำแบบนี้ โลกก็จะไม่มีปัญหาเรื่องขยะพลาสติกอีกเลย 

แต่แน่นอนว่าปัญหาอย่างอื่นย่อมตามมา ซึ่งเราต้องแก้ปัญหาพลาสติกก่อนและค่อยๆ แก้ปัญหาอื่นที่ตามมา

Fact Box

Hero เป็นแบรนด์หนึ่งในเครือบริษัทคิงส์เอ็นเนอร์จี แอนด์ เวซท์ โซลูชั่นส์ จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวถือว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีโรงงานใหญ่ที่สุดในอาเซียนและใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย 

สามารถเข้าไปตรวจสอบสินค้าของเครือบริษัทคิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ได้ที่ http://www.king-pac.com/index.php/page/product

Tags: , , , ,