เชื่อว่าใครหลายๆ คนที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัยน่าจะได้เคยมีประสบการณ์การ ‘ติวหนังสือสอบ’ กันมา ช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความกดดัน ถ้าเป็นวิชาที่มั่นใจคงไม่เท่าไร อ่านทวนสักรอบสองรอบยังพอไหว แต่ถ้าเป็นวิชาที่เราไม่มั่นใจเอาเสียเลยละ เมื่อเห็นตัว F ลอยมาไกลๆ ที่พึ่งทางใจของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น ‘ชีทสรุป’ 

‘ชีทสรุป’ ศัพท์ใหม่ในวงการการศึกษา ทรัพยากรอันมีค่าในช่วงเวลาสอบของเด็กมหาวิทยาลัย ด้วยข้อมูลของทั้งเทอมที่ถูกย่อลงมาอยู่ในเพียไม่กี่หน้ากระดาษ 

The Momentum พูดคุยกับ ‘มินนี่ – เมริสา สิงหเดโช’ นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้ร่วมก่อตั้ง เทพ – อดิเทพ ปัสรีจา นักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจนานาชาติ  มหาวิทยาลัยมหิดล สองผู้ร่วมก่อตั้งเว็ปไซต์ Moresheet.co  ที่เชื่อว่านักศึกษาด้วยกันเองย่อมเข้าใจปัญหาของกันและกัน และหวังให้ ‘ชีทสรุป’ ไม่ได้เป็นทางออกของปัญหาระยะสั้น ไม่ได้เป็นทางรอดของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเท่านั้น 

 

(มินนี่ – เมริสา สิงหเดโช และ เทพ – อดิเทพ ปัสรีจา สองนักศึกษาผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Moresheet.co)

 

พื้นเพแล้วเป็นคนอย่างไร อะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจทำธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ 

เมริสา: พ่อเราเป็นนักธุรกิจ นำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมเกษตรจากอังกฤษ เห็นพ่อทำธุรกิจตั้งแต่เด็ก เลยรู้สึกว่ามันมีสายเลือดอะไรบางอย่าง แต่ว่าไม่ได้อยู่กับพ่อ เราอยู่กับแม่ซึ่งก็มีฐานะแบบชนชั้นกลางไม่ได้มีฐานะอะไรมากมาย แต่เรามีความอยากได้นู่น อยากได้นี่ตามประสาเด็ก แต่แม่ก็ไม่ได้ให้เงินไปซื้อของฟุ่มเฟือยอะไร ก็เก็บเงินเองจากการขายของออนไลน์ตั้งแต่อายุ 14 เริ่มจากขายของสะสมแฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วพอ ม.ปลายก็ขายของมือสอง จน ม.6 เรามีเงินเก็บ 2 แสนก็เอาไปทำเลสิคกับไป Work and Travel จนหมด (หัวเราะ)

อดิเทพ: คือตัวผมไม่ได้ชอบขายของอะไรพวกนี้ แต่ว่าเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่งๆ ตอน ม.ต้น ก็เคยไปเป็น Curator (ภัณฑารักษ์) ในโรงภาพยนตร์เพราะว่าเป็นคนชอบดูหนัง แล้วก็เคยไปทำหน้าที่ sale assistant ขายคอนโดให้กับ Property Perfect ตอน ม.ปลาย ผมก็จะหาอะไรทำอยู่เรื่อยๆ แล้วพอเข้ามหาลัยผมก็เลยเลือกเรียนไฟแนนซ์ เพราะผมมองว่ามันยากดี ผมชอบทำอะไรยากๆ ชอบท้าทายตัวเอง

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่มาทำธุรกิจด้านชีทสรุป 

เมริสา: ด้วยความที่ชอบทำธุรกิจก็เลยไปเรียนวิชานึงในมหาลัยคือ Introduction to Business (ธุรกิจเบื้องต้น) แล้วไฟนอลโปรเจคต้องทำสตาร์ทอัพตอนปี 1 เราขายชีทสรุปที่ร้านถ่ายเอกสาร เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจดเก่ง ชอบจดด้วย ตอนนั้นร้านถ่ายเอกสารให้หน้าละ 50 สตางค์ ขายได้กี่ชุดก็เอาไปเท่านั้น ตอนนั้นก็ได้มาไม่กี่ร้อยบาท แต่รู้สึกว่ามันไม่คุ้มค่าเหนื่อยเรา ก็เลยตัดสินใจขายเอง แต่มันเหนื่อยมาก ต้องมานั่งซีร็อกซ์เองขายเองอะไรต่างๆ นาๆ มันเหนื่อยมาก คิดกับตัวเองว่าทำไมเราไม่ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ บวกกับเราเรียนวิชาธุรกิจเบื้องต้นอยู่พอดีก็เลยเอามาทำเป็นโมเดลสำหรับไฟนอลโปรเจค พอเรียนจบเราก็มาทำกับเพื่อนอีกคนนึงเลยเกิดขึ้นมาเป็น TU Moresheet 

อดิเทพ: ตัวผมเองกับเพื่อนชื่อว่า ฟาอิด ข้าว ภูมิ ปาร์ก ซึ่งทุกๆ คนเนี่ยมีแรงบันดาลใจอยากจะทำสตาร์ทอัพเหมือนกันหมด ไอเดียตั้งแต่เริ่มก็คืออยากจะทำของที่ไม่มีค่าให้มันมี value (คุณค่า) ขึ้นมา ซึ่งก็สรุปได้เป็นชีทสรุป เพราะว่าสำหรับคนทำชีทสรุปเนี่ยพอสอบเสร็จมันก็ไม่มีค่าแล้ว แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้เรียนเนี่ยมันมีคุณค่ามาก พอดี ภูมิ เรียนวิศวะคอมฯ ที่จุฬาฯ ก็เลยพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาชื่อว่า sheetplus+ ซึ่งก็เป็นต้นแบบของ moresheet ในทุกวันนี้

 

การเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างจริงจังตั้งแต่ยังเรียนไม่จบทำให้คุณต้องเสียสละอะไรไปบ้าง 

เมริสา: ตอนทำคนเดียวคือหนักมาก ทำเองทุกอย่าง ขายเอง ตอบแชทเองวันละพันกว่าคนเหมือนขายของออนไลน์ พอถึงเวลาสอบก็ไม่ไหวเหมือนกัน บางวิชาเราก็ไม่เข้าเรียนเลย ดรอปบ้าง บางวิชาก็ไปคุยกับอาจารย์ว่าขอไม่เข้าเรียนนะ ส่งงานอย่างเดียว ก็เลยได้ C มาบ้าง แต่เราไม่เสียดายเพราะว่าเราหมดแพชชั่นในการเรียนไปแล้ว เราอยากทำสตาร์ทอัพ 

อดิเทพ: ผมเริ่มประมาณปี 3 ถามว่าเสียการเรียนไหม ผมว่าไม่เสียนะ การทำธุรกิจนี้เอาเวลาชีวิตด้านอื่นไปมากกว่า ผมก็ต้องเอาเวลาไปศึกษาธุรกิจ หาเวลาไปนำเสนองาน ไปคุยกับผู้ใหญ่ต่างๆ ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตผม และผมก็จัดการตัวเองได้ เลยไม่กระทบการเรียนเท่าไหร่ ผมมองว่าถ้าทำธุรกิจแล้วต้องมาหมกมุ่นกับมันตลอดเวลาถือว่าไม่สำเร็จ สำคัญคือต้องทำให้ธุรกิจอยู่ได้ด้วยตัวเอง

 

คุณเองยังอายุน้อยอยู่ มีภาพลักษณ์เป็นนักศึกษา เวลาเราไปขอทุน หรือไปคุยกับลูกค้า มีวิธีการอย่างไรให้ตัวเองมีความน่าเชื่อถือ

อดิเทพ: ผมเชื่อว่าถ้าเราเชื่อมั่นในไอเดีย และเชื่อมั่นในฝีมือของตัวเองจริงๆ คนพร้อมจะฟังนะ เวทีสตาร์ทอัพก็มีเยอะแยะ ถึงจะไม่เท่าในต่างประเทศ คุณก็ต้องทำงานด้วยสิ่งที่คุณมี แทนที่จะบ่นหรือท้อ คุณก็ต้องไปหาเวทีต่างๆ ไปหาคนที่เขาพร้อมจะฟังคุณจริงๆ และคุณต้องเชื่อมั่นในตัวเองจริงๆ การหาคนที่จะมาลงทุนกับคุณจริงๆ มันไม่ได้ยากอย่างที่ใครคิด ตอนนี้เราก็อยู่ในโปรแกรมของ NIA (สำนักงานนวัตกรรม) ของรัฐบาลด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว Whatever you’re looking for, it’s out there

เมริสา: เรารู้สึกว่าเงินหรือทุนมันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น ก่อนที่จะเริ่มเราก็ไม่มีทุน แต่การเอาไอเดียออกมาเป็นธุรกิจมันไม่ต้องใช้เงินทุนอะไรเลยนะ ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นตอนเราทำจดหมายขายมันก็เริ่มจากกระดาษที่บ้านเรามี ตอนขายเสื้อผ้าเราก็เอาเสื้อผ้ามือสองที่เรามี คือเราไม่จำเป็นต้องเอาไอเดียในกระดาษไปขายฝันเขา แต่สำหรับนักลงทุนสมัยนี้ เราต้องเอาไอเดียเราไปทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วบอกว่า “ฉันทำได้แล้ว” 

 

 

“ตั้งแต่ทำมาเราไม่เคยใช้เงินทุนเลย ไม่เคยยิงโฆษณาสักบาท โปสเตอร์ก็ใช้โควต้าฟรีของมหาลัย เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นธุรกิจเนี่ย เงินทุน ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ถ้าเรามีไอเดียเราก็ลงมือทำเลย แล้วเงินมันจะมาเอง”

 

Moresheet เป็นเหมือนระบบนิเวศที่นักศึกษามาช่วยเหลือกัน แชร์ความรู้กัน คิดว่ามันบอกอะไรบางอย่างถึงระบบการศึกษาไทยไหม ว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินค่าเทอมอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องมาช่วยเหลือกันเองอยู่ดี 

อดิเทพ: ผมมองว่าชีวิตในมหาลัยต้องมีอะไรมากกว่าการเรียน ควรไปทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย วลีที่ผมชอบมากก็คือ “การเรียนทำให้คนมีงานทำ แต่กิจกรรมทำให้คนทำงานเป็น” เราเลยอยากจะย่นเวลาในการเรียน เป็นเหมือนตัวช่วยให้เหล่านักศึกษาเวลาสอบ 

เมริสา: เคยมีอาจารย์เคยแย้งว่า Moresheet จะทำให้นักศึกษาไม่เข้าห้องเรียนหรือเปล่า เรามองว่าถ้าเกิดว่าการเรียนการสอนมันมากกว่าแค่ อาจารย์มาพูด พูดตามสไลด์ เน้นทฤษฎี มันก็ไม่แปลกถ้าสุดท้ายคนจะไม่เข้าใจ พอเรียนจบเทอมก็อ่านชีทสรุปอยู่ดี คือถ้าการศึกษาไทยมันมีการ discussion มากขึ้น เข้าเรียนแล้วมีอะไรมากกว่าการจดตาม มันจะทำให้เด็กอยากเข้าไปเรียนมากกว่า และถ้าเกิดว่ามีการวัดผลอย่างอื่นนอกจากการสอบตัดเกรดมันก็จะดีกว่านี้

 

งั้นแปลว่าถ้าการศึกษามันมีระบบที่ดี แข็งแรงกว่านี้ จะไม่มี Moresheet 

เมริสา: ไม่เชิง คือเรารู้สึกว่ามันเป็นตัวช่วย ลองมองว่าทำไมคนถึงพึ่งชีทสรุปขนาดนี้ ส่วนนึงก็เพราะว่าเขาอยากได้เกรดที่ดี แต่ในอีกมุมนึงคือเขาซื้อชีทสรุปเพื่อเสริมความรู้ตัวเอง เหมือนเป็นวิตามิน เพราะชีทสรุปมันก็คือการย่อย แต่ละเซคก็ไม่เหมือนกัน อาจารย์ก็ต่างกัน บางทีมันอาจจะมีกิจกรรม มีควิซ มีอะไรมากกว่าเรียน บางอย่างมันก็จดลงชีทสรุปไม่ได้

อดิเทพ: จากที่เราทำรีเสิร์ชมาก็คือส่วนมากที่ซื้อไปเขาเรียนอยู่แล้วนะ ถ้าคุณไม่เข้าเรียนเลย ไม่รู้เรื่องแล้วมาอ่านแต่ชีทสรุปเนี่ย ก็ไม่เข้าใจเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเวลาคนซื้อชีทสรุปเนี่ยเขาไม่ได้ซื้อแค่ชีทเดียว เขาซื้อของหลายๆ คนแล้วเอามารวมกัน คอยดูว่าส่วนไหนใครสามารถอธิบายได้ดีกว่ากัน มันไม่ใช่ทางลัดในการเรียน แต่มันเป็นตัวช่วย เพราะว่านักศึกษาก็ย่อมเข้าใจภาษาของนักศึกษากันเองมากกว่า

 

Moresheet เป็นศัตรูของการศึกษาไทยรึปล่าว 

อดิเทพ: ไม่ครับ เราจะโตไปกับการศึกษาของประเทศไทย อยากให้มองว่า Moresheet คือที่ที่รวมสิ่งดีๆ ของการศึกษาไทยไว้ในที่เดียว วันนี้มี 26 มหาวิทยาลัย พรุ่งนี้ไม่รู้จะมีอีกเท่าไหร่ มันคือความรู้ดีๆ ของ 26 มหาลัยรวมอยู่ในที่เดียว

เมริสา: เราเป็นแพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่ที่รวมความรู้จากหลายมหาลัยเข้ามาด้วยกัน สมมติเราเรียนธรรมศาสตร์ แล้วที่ลาดกระบังมีวิชาฮวงจุ้ย จุฬามีวิชาความสุขหลังการตาย เราก็สามารถไปอ่านได้ ความรู้มันเป็นศาสตร์กลาง ไม่ว่าจะสอนต่างกันยังไง สุดท้ายมันก็คือสิ่งเดียวกัน

 

คิดว่า ความรู้ ควรเป็นสิ่งที่นำมาแจกจ่ายให้กับทุกคนอย่างทั่วถึง มากกว่ามาทำธุรกิจเพื่อหาเงินหากำไรไหม

อดิเทพ: ผมอยากจะถามกลับเหมือนกันว่าถ้าความรู้มันควรเป็นของฟรีจริงๆ ทำไมเราต้องจ่ายค่าเทอมด้วย ขอย้อนกลับไปที่จุดแรกว่าชีทสรุปมันเป็นการลงมือทำของคนเขียน มันมีคุณค่ามาก และชีทของเราก็ไม่ได้ขายกันเป็นพัน แต่เฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาทต้นๆ เท่านั้น ซึ่งผมมองว่าเป็นราคาที่แฟร์แล้วสำหรับการได้ตัวช่วยในการเรียนมาก บางทีมันอาจจะน้อยไปด้วยซ้ำ โดยธุรกิจตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่านักศึกษายินดีที่จะจ่ายเพิ่มอีกนิดหน่อยเพื่อสิ่งที่มีประโยชน์ต่อเขา

เมริสา: ชีทสรุปเนี่ยมันไม่ได้ทำง่ายๆ นะ มันเหนื่อย ต้องเข้าไปตั้งใจเรียนก็ต้องมีค่าที่เราเสียเวลาไปเรียน ค่าที่เราใส่ใจในการฟังอาจารย์ที่พูดไม่รู้เรื่อง แต่เราสามารถเอามาเกลาให้มันเป็นคำพูดที่คนอื่นอ่านแล้วเข้าใจง่าย ยิ่งบางคนเขียนสวยมาก วาดการ์ตูน เขียนอะไรต่างๆ เหมือนงานแฮนด์เมด งานคราฟท์ มันคือค่าความสามารถของเรา ก่อนที่จะย่อยมาเป็นความรู้นั้น คนที่ผลิตต้องทุ่มเทอะไรไปบ้างในการทำมันออกมา 

งานชิ้นไหนที่เอาสไลด์อาจารย์มาแปะเฉยๆ นี่เราก็ไม่ยอมรับนะ ปัดตกเลย คนอื่นเขาใช้สมองในการทำมันออกมา การก็อปปี้ของคนอื่นมาแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าชีทสรุป

 

 

เคยมีอุปสรรคอะไรบ้างที่รู้สึกภูมิใจว่าเราก้าวผ่านมันมาได้ 

เมริสา: ตอนเริ่มแรกๆ มีปัญหาใหญ่คือมีคนซื้อชีทสรุปจาก Moresheet ไปแล้ว เขาเอาชีทนั้นไปซีร็อกซ์ต่อให้เพื่อนต่อ บางคนซื้อไปแล้วก็เอาไปขายต่อที่ร้านถ่ายเอกสารอีกต่อนึงก็มี แล้วเพื่อนเราไปเห็นว่ามันมีคนก็อปของเราไปก็เลยถ่ายรูปมาบอก ตอนนั้นก็เครียดไม่รู้จะทำยังไงดี เลยทำเซอร์เวย์ขึ้นมาตัวนึง ถามนักศึกษาว่าถ้ามีเพื่อนมาขอชีทสรุปที่ซื้อจาก Moresheet ไปจะให้หรือไม่ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่ให้นะ เพราะว่าต้องปกป้องสิทธิ์ของคนเขียน มีการเอา พรบ. ลิขสิทธิ์มาเถียงกัน อาจจะเพราะความเป็นเด็กธรรมศาสตร์ด้วยส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความต้องการปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ก็มีบางคนที่ไม่รู้จะปฏิเสธเพื่อนยังไงเหมือนกัน ทุกวันนี้เราจะทำลายน้ำที่มีชื่อผู้เขียนชีทสรุป และชื่อ Moresheet อยู่ในทุกๆ หน้า กลายเป็นการตลาดอีกแบบหนึ่งไป

อดิเทพ: สำหรับผมคือการขยายธุรกิจของเราไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ และการ Localization (ปรับให้เข้ากับท้องถิ่น) เพราะว่าถึงแม้มหาวิทยาลัยหลายๆ ที่จะมีความต้องการชีทสรุปเหมือนกัน แต่ไม่ได้แปลว่าเขาอยากได้ Product แบบเดียวกันกับทุกที่ เราต้องหาจุดให้เจอว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ และ Attack มันให้ได้ เราก็เลยจะมีทีมของเราในแต่มหาวิทยาลัยเลย เพราะว่าคนในพื้นที่นั้นย่อมเข้าใจปัญหาของตัวเองมากที่สุด ทีมต่างๆ ก็จะทำหน้าที่หาคนเขียนชีทสรุป หาว่าวิชาหรือสิ่งที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องการจริงๆ คืออะไร

 

ตั้งใจให้ปลายทางของ Moresheet เป็นอย่างไร

อดิเทพ: ปลายทางของเราจะไม่จบที่ชีทสรุปแน่นอน ทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นฐานให้เรา เราอยากจะพัฒนาไปเป็นพื้นที่ชุมชนของนักศึกษา ที่นักศึกษามาอยู่ด้วยกัน และแบ่งปันความรู้ ที่มันจะไม่ได้มีที่พึ่งแค่ชีทสรุป แต่จะมีสินค้าตัวอื่นๆ เพื่มเสริมเข้ามาด้วย โดยเรามีสิ่งหนึ่งที่อยากแสดงออกไปก็คือ “อยากให้การเรียนเก่ง เป็นสิ่งที่เท่” แล้วเราก็อยากที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่ซัพพอร์ตสิ่งนั้น แต่ในอนาคตเราจะเป็น “พื้นที่แห่งการเรียนรู้” สำหรับนักศึกษา รวมถึงตลาดของเด็กมัธยมด้วยที่เรากำลังพยายามศึกษาอยู่

เมริสา: คติของเราก็คือ “เพื่อนยามยากในทุกการสอบ” เพราะฉะนั้นเราอยากจะเป็นเหมือนเพื่อนในทุกการเรียน เหมือนเพื่อนกันจริงๆ ไม่ว่าจะเรียน จะติว จะเป็นชีท หรือจะรีวิวว่าวิชานี้เป็นยังไง รีวิวอาจารย์ที่สอนหน่อย ควรเรียนดีไหม มันก็คือชุมชนนึงที่พวกเราทุกคนจะช่วยกันได้ในเรื่องของการเรียน เพราะเราอยากให้เขาเรียนด้วย และก็ยังมีเวลาเหลือ แทนที่ทุกคนจะต้องมานั่งเรียน อ่านหนังสือทั้งเล่มตลอดเวลา ก็อ่านแค่ชีทสรุป แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำกิจกรรม ไปฝึกงาน ไปเข้าคอร์ส เวิร์กช็อปอะไรต่างๆ เพื่อที่เขาจะได้ออกไปค้นหาตัวเอง เราไม่อยากให้ทุกคนตั้งใจเรียนเกินไปจนไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริงๆ กันแน่

 

ความรู้สึกที่มีต่อ “ชีทสรุป” ในวันนี้

เมริสา: เรามองว่ามันมีค่ามาก มันมีค่าสำหรับคนเขียน มีค่าสำหรับคนขาย มันรู้สึกว่าเขาภูมิใจว่า “กูนี่แหละที่เป็นคนสรุปวิชานี้” “กูนี่แหละที่เป็นคนที่แชร์ให้เพื่อนๆ” มันไม่ใช่เงิน แต่มันเป็นความภูมิใจที่เขาได้ทำอะไรแบบนี้ออกมา ส่วนสำหรับคนซื้อมันก็แน่นอนอยู่แล้ว มันช่วยให้เขาผ่านการสอบได้ บางคนทักมาในเพจแล้วขอบคุณเรา ที่ทำให้เขาผ่านเทอมนี้ไปได้ ในฐานะคนกลางเราก็รู้สึกดีใจที่เราได้เชื่อมต่อผู้ขาย และผู้ซื้อมาเจอกัน

อดิเทพ: ทุกครั้งที่เราเห็นชีทสรุปในเว็ปไซต์ ผมจะรู้สึกสุดยอดตลอด บางคนทำสวยมาก มีคุณค่ามาก มันเป็นการสรุปเนื้อหาที่ถ้าไม่ได้แปลงมันออกมาเป็นแบบนี้ หลายคนอาจจะไม่สนใจไปศึกษาด้วยซ้ำ ผมตกใจตลอดเลยว่ามันโคตรดี

 

 

Tags: , ,