ห้องนั่งเล่นของบ้านที่นครชัยศรีและในซอยเย็นอากาศถูกนำมาออกแบบตกแต่งใหม่ จำลองให้เป็นห้องสวีทของคุณเวตาล อมนุษย์ในจินตนาการของศิวทาส หรืออีกร่างสมมติหนึ่งของชาติชาย ปุยเปีย ผู้หวนกลับมาสู่ฉากศิลปะ ซึ่งเป็นฉากแสดงนิทรรศการล่าสุด ‘Vetal Suite’ ของเขา
โถงด้านหน้าต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรูปปั้นบรอนซ์ติดผนัง อุปกรณ์วาดภาพหล่อบรอนซ์บนโต๊ะประดับแจกันดอกไม้ และภาพวาดผู้หญิงเปลือยที่มีใบหน้าเป็นบั้นท้ายขนาดใหญ่สะดุดสายตา
ถัดเข้าไปด้านในเป็นห้องโถงใหญ่ มีโคมไฟเรือสำเภาแขวนให้แสงสว่างตรงกลางห้อง ผนังรอบด้านประดับด้วยงานภาพเขียนบรรจุกรอบขนาดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวชีวิต การทำงาน และความคิดฝัน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบันของศิลปินคนนี้
อีกมุมหนึ่งของโถงนั่งเล่นยังมีพื้นที่บรรยายเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากเป็นห้องแสดงงานแล้ว มันเสมือนเป็นมุมทำงานของศิลปิน จัดวางภาพเขียนระหว่างการทำงาน อุปกรณ์วาดภาพหล่อบรอนซ์ สภาพคล้ายของจริงในห้องสตูดิโอ จำลองได้คลับคล้ายแม้กระทั่งก้นบุหรี่ในที่เขี่ยดินเผา
ภาพและเสียงของสายน้ำถูกกำหนดตำแหน่งไว้บริเวณบันได ราวกับแยกพื้นที่ชีวิตเหมือนจริงของศิลปินที่ด้านล่าง กับความฟุ้งฝันที่ชั้นลอย ซึ่งเป็นโถงที่อยู่ของ muse คล้ายดั่งวิมาน
“ตอนนี้ผมไม่ได้คิดแบบศิลปินที่เคยเป็นเมื่อก่อนแล้วละ” ชาติชายเล่าความรู้สึก “ผมอยากทำงานแสดงในแบบที่ตัวเองอยากดู อยากเห็น ก็เลยไม่อยากเอาแค่ของที่ตัวเองมีอยู่ในบ้านมาจัดวาง แล้วไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันเป็นพิเศษ ผมอยากทำอะไรที่…มันจะเป็นอย่างไร ถ้า…อย่างนั้น ถ้า…อย่างนี้ นี่เลยเป็นนิทรรศการที่แพงที่สุดในชีวิตของผมเลย” ว่าแล้วเขาก็หัวเราะ
นิทรรศการครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของชาติชาย ปุยเปีย หลังจากที่เขาเคยประกาศลาจากแวดวงศิลปะ ผ่านหนังสือ Chatchai is Dead, If Not, He Should Be เมื่อราวสิบปีก่อน
เหตุผลที่คุณประกาศลาจากวงการในตอนนั้นคืออะไร
ผมไม่ค่อยชอบเป็นจุดศูนย์กลางของอะไร แต่ที่พูดนี่ก็มีความขัดแย้งในตัวเองเหมือนกัน เท่าที่จำได้ตั้งแต่วันแรกแล้ว คือผมไม่ชอบไปอยู่ตรงจุดที่เป็นความสนใจของใคร เวลามีงานเปิดนิทรรศการทีไรผมมักรู้สึกไม่สนุกกับมัน
ชาติชายวันนี้กับชาติชายเมื่อสิบปีที่แล้วแตกต่างกันอย่างไร
ผมคิดว่าปัจจุบันผมมองนิยามความหมายของความสำเร็จได้ชัดขึ้น คือผมก็ไม่รู้หรอกว่า มันจะต้องคิดถึงมันหรือเปล่านะ เรื่องความสำเร็จน่ะ แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งผมคิดว่ามันเกี่ยวพันกับทุกเรื่องในชีวิตพอสมควร
ตอนนี้ในทางศิลปะ เหมือนเรามองโลกง่ายขึ้น เราสามารถที่จะแยกความซับซ้อนระหว่างความง่ายออกจากกันในส่วนของชีวิตได้ ซึ่งในส่วนความเรียบง่ายของชีวิต ผมพยายามรักษาเรื่องการทำงานศิลปะของผมอยู่ ส่วนอื่นผมจะค่อนข้างช่างมัน มันไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุด ชีวิต…เดินออกจากบ้านไปมันก็จะมีเรื่องวุ่นวายต่างๆ โอเค ผมพอจะรับมือกับมันได้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ตราบใดที่ความเรียบง่ายในเรื่องการทำงานของเรายังดำเนินไปได้ ก็คงโอเค
แต่ชีวิตจะยากขึ้นทันทีถ้าเกิดมันเริ่มมีความซับซ้อน เริ่มมีเงื่อนไข เริ่มมีความคาดหวังในอัตราสูงเกินไปกับตัวเอง หรือสิ่งที่เราทำ ไอ้ตรงนี้มันจะหยาบ ซึ่งผมก็ยังจะต้อง work out กับมันอยู่ ยังเรียนรู้ที่จะจัดการกับสถานการณ์ถ้ามันจะเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยผมก็คิดว่าผมแยกได้ว่า อะไรที่เราต้องการจากสิ่งนี้
ความสำเร็จเรื่องการเป็นที่ยอมรับไม่ได้อยู่ในหัวผมมาหลายปีแล้วนะ ถ้าเผื่อไม่มีใครสนใจเลยโดยสิ้นเชิง มันก็อาจจะมีผลกระทบ เพียงแต่ผมยังไม่เคยเจอ เพราะฉะนั้นผมก็เลยไม่รู้จะคิดถึงมันทำไม ใช่ไหม แต่ในระดับที่แบบ…จะต้องรับรู้กันไปทั่วนี่ ผมคิดว่าผมไม่ต้องการ อันนี้ชัดเจน ผมไม่ต้องการเป็นคนดัง
ฟังดู ความคิดของคุณก็คล้ายเมื่อสิบปีที่แล้วไม่ใช่หรือ
ตอนผมยังหนุ่มๆ มันอาจจะไม่ชัดเจนขนาดนี้ เมื่อก่อนเวลาที่ไปไหน แล้วเราเป็นคนตัวเล็ก ตัวกลาง ตัวใหญ่ เรายังรู้สึกได้ แต่ทุกวันนี้ผมไม่รู้สึกแล้ว ถ้าไปไหนสักที่ที่ไม่มีใครรู้จักเลยผมก็อยู่ได้ เอ็นจอยมัน หรือให้ต้องจัดการตัวเองในกรณีที่มีคนรู้จักเรา ต้องการพูดคุยกับเรา หรือต้องการอะไรจากเรา เราก็จัดการมันไป ไม่ได้เป็นเรื่องซัฟเฟอร์
ผมว่ามันก็คงเกี่ยวกับอายุด้วยแหละ คือเราไม่สามารถมองไปถึงสามสิบปี-สี่สิบปีข้างหน้าได้ เพราะฉะนั้น ปัจจัยเรื่องอื่นเราพอจะหากรอบมันได้ แค่นี้พอดี แค่นี้ตามสมควร มันไม่เหมือนตอนเราอายุยี่สิบ-สามสิบ ไม่รู้ว่าเราจะอยู่อีกนานเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเราจะใช้เงินอีกนานเท่าไหร่ เราจะต้องนั่นนี่เท่าไหร่ ตอนนี้เรามีปัจจัยทุกอย่างที่พึงจะมีสำหรับคนวัยนี้ ผมก็เลยหันมาสนใจเรื่องความสุขใจ สุขภาพ หรือการดูแลคนอื่นมากกว่า ผมพยายามใช้ความเป็นมนุษย์ ผมว่านะ ผมไม่ค่อยมีปัญหากับความเป็นศิลปินเหมือนสมัยก่อน
มีความกลัวบ้างหรือเปล่ากับการกลับมาจัดนิทรรศการอีกครั้ง
ก็คิดอยู่ ระหว่างที่ทำนิทรรศการครั้งแรกหลังจากหยุดทำมาหลายปี มีความรู้สึกว่า ความเกร็งมันหายไปเรื่อยๆ หายไปพร้อมกับความรู้สึกที่เราอยากจะเห็นมัน ไม่ค่อยคิดหรอกว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร สมัยเด็กๆ เคยเป็น คนอื่นจะคิดอย่างไรกับสิ่งที่เราทำ แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่คิดแล้ว (หัวเราะ) เราจะคิดอย่างไรกับสิ่งที่เราทำมากกว่า ซีเรียสกว่า เพราะสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่เราได้เห็นมาแล้ว ผมอยากทำอะไรมากกว่านั้น มากกว่าสิ่งที่เรานึกออกว่ามันคืออะไร แต่ตอนนี้ไอ้ความนึกไม่ออกนี่แหละมันกลายเป็นสิ่งดีงามขึ้นมา โดยไม่รู้ตัว ผมชอบสถานการณ์แบบนี้นะ ที่ต้องแก้ปัญหา
ผมไม่ได้อยู่ในโหมดนี้นานแล้วนะ กับการต้องมีปัญหาแล้วต้องแก้ แต่ลึกๆ แล้วผมก็ชอบใจเหมือนกัน บอกตรงๆ มันเหมือนได้ฝึกสมอง และอีกอย่างคือ ไอ้ที่คิดว่าโอเค เราอยู่มาตลอดสิบๆ ปีโดยคิดว่าเราแฮปปี้ จริงๆ แล้วเรามีอะไรพอกหางหมูไว้เยอะเหมือนกัน ถ้าไม่มีสถานการณ์แบบนี้ บางทีมันก็ไม่มีอะไรมาจุดประกายให้เราลุกขึ้นมาสะสางอะไรหลายอย่างในชีวิตเหมือนกัน
อย่างเช่น ผมนึกอยากเขียนสีฝุ่นมาสิบกว่าปีแล้ว นิทรรศการนี้ทำให้ผมลุกขึ้นมาทำ ภาพบางภาพก็นำมาปัดฝุ่นทำให้มันเสร็จ รวมทั้งเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องบ้าน เราจะจัดการกับมันยังไง จะอยู่ยังไง หลายอย่าง เพราะเคยเจอกับปัญหาว่าข้าวของเยอะ ยังดีที่เราสามารถเอามาใช้ในงานแสดงได้ พอเริ่มคิดว่าจะเอาข้าวของมาใช้ มันก็ทำให้เราเริ่มตรวจสอบดูว่ามีอะไรบ้าง มันก็เลยกลายเป็นว่า ก็ดีเหมือนกัน แต่อีกเรื่องที่ผมต้องคิดเพิ่มก็คือ ผมต้องนึกว่าจะมีอะไรให้แกลเลอรีขายได้บ้าง หรือขายยังไง หรือจะขายได้หรือเปล่า มันเป็นอะไรที่แปลกๆ ด้วย เพราะผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน เป็นความท้าทายที่ผมไม่ชอบ เรื่องค้าขายน่ะ (หัวเราะ) แต่ก็เกรงใจคนจัดงาน
ยังพอจำความรู้สึกของตัวเองตอนครั้งแรกที่แสดงงานได้ไหม
จำไม่ได้ครับ ทุกงานแสดงเท่าที่จำได้ ผมพยายามทำอะไรขึ้นมาใหม่อย่างน้อยๆ ก็สักห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของงาน การแสดงงานสำหรับผมแล้ว ผมมองว่าเป็นสถานการณ์อันหนึ่งกับสถานที่อันหนึ่ง แบบไหนที่จะเหมาะที่สุด บางทีข้าวของที่เรามีอาจจะไม่เหมาะที่สุดเสมอไปกับสถานที่หรือสถานการณ์บางอย่าง
สิ่งที่ไม่รู้ก็กลายเป็นความไม่รู้ซะ มันก็ไม่กดดันเท่าไหร่ ผมไม่รู้ว่าโลกศิลปะทุกวันนี้เป็นอย่างไรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่า เราทำแบบที่เราไม่ได้อัพเดทนี่แหละ มันอาจจะดีก็ได้
ช่วงที่หายไปจากวงการ คุณไปทำอะไรบ้าง
ด้วยความที่หลายปีมานี้ผมไม่ได้แสดงงาน ไม่ได้มีกิจกรรมอะไร ผมก็เลยไปช่วยทำออฟฟิศให้ลูกชาย (โชน ปุยเปีย) ทำโน่นทำนี่ โชนเขาเพิ่งเรียนจบจากเบลเยียมกลับมาเมืองไทยเมื่อกลางปีที่แล้วนี่เอง
ช่วงหลังๆ ผมมาทำงานออกแบบมาก เพราะต้องทำบ้านอยู่หลายหลัง (หัวเราะ) บ้านที่เชียงใหม่ บ้านที่นครชัยศรี แต่มาคิดอีกที ผมก็อยากจะขายบ้านอยู่เหมือนกัน เพราะไม่ค่อยได้ไปอยู่ ไม่มีเวลาไปดูแล (หัวเราะ)
ได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับแวดวงศิลปะบ้างไหม
ไม่ค่อยนะ ส่วนใหญ่ถ้าไปดูนิทรรศการก็ไปเพราะลูกหรือเพื่อนสนิทชวนไปดู หรือมักจะไปตามมิวเซียมเวลาเดินทางมากกว่า
แล้วการทำงานศิลปะของคุณล่ะ
คือการทำงานศิลปะแบบผม มันเรียกร้องศักยภาพเต็มร้อย ผมไม่ได้เป็นคนที่…ผมเกิดมาไม่เคยทำหนึ่งแล้วได้สิบน่ะ ผมเป็นคนทำสิบเพื่อที่จะได้หนึ่ง หมายความว่า ไม่มีฟลุค ทุกอย่างเราต้องทำอย่างหนักเพื่อที่จะได้มา
เราต้องทำเยอะ นี่จากการสังเกตชีวิตตัวเอง เราต้องทำเยอะเพื่อที่จะได้มา ไม่ได้น้อยเนื้อต่ำใจนะ รู้สึกว่ามันเป็นวิถีทางของเราแบบนี้ ผมก็เลยเป็นคนไม่ชอบอะไรที่ฉาบฉวย อาจจะเป็นความรู้สึกอิจฉาก็ได้ อิจฉาคนประเภททำนิดเดียวได้เยอะ (หัวเราะ)
สมัยเรียน ถึงแม้ว่าเราสามารถทำคะแนนได้ B, B+, A, A+ สมมตินะครับ มันก็แค่เป็นคะแนน ขั้นตอนเหล่านั้นทำให้ผมรู้ตัวเองว่า ผมอยู่ตรงไหน A ของการเรียนมันก็แค่เป็นความพอใจในความเป็นนักเรียนของเรา ไม่ใช่ความพอใจในความเป็นผู้สร้างของเรา เรารู้ว่าเราทำอะไร การยอมรับในสังคมก็เหมือนกัน ถึงแม้จะมีคนชื่นชมและยอมรับเรา อยากได้รูปเรา แต่มันก็ไม่ได้ตอบใจผม ผมมีเกณฑ์ของผมอยู่เสมอ ความพอใจหรือความสบายใจที่เรามีให้ก็ไม่เหมือนกันนะ ยกตัวอย่างเช่น ไม่ใช่ว่าฝรั่งยอมรับในผลงานเราแล้วเราจะแฮปปี้มากกว่าคนไทยยอมรับนะ มันไม่ใช่เสมอไป
ช่วงหนึ่งผมกลับรู้สึกว่า ผมอยากทำงาน ผมเกิดในประเทศนี้ ทำงานในอุณหภูมิ ในบรรยากาศของประเทศนี้ และไม่เคยคิดอยากจะไปทำงานที่อื่นเลยนะ แต่มันจะดีมากสำหรับผมถ้าคนในประเทศนี้ appreciate งานของผมและเลี้ยงดูผมได้ ผมไม่อยากเป็นพวกได้ชื่อว่าเป็นศิลปินไทยที่ขายรูปให้ฝรั่ง ถึงไม่ใช่ความผิดของผม แต่ผมก็อยากอยู่ให้สมบูรณ์ในสังคมไทย
ผมเข้าใจได้นะ เราทำสิ่งนี้แล้วมีฝรั่งชื่นชม มันก็แค่มุมมองของคนต่างชาติ อยากจะบอกว่า เรื่องศิลปะฝรั่งเขาคุ้นเคยกว่า เขามีความรู้มากกว่า ซึ่งก็จริงด้านเดียว เพราะศิลปะเป็นแค่กิ่งก้านของปรัชญา เราทุกชนชาติก็มีหลักหรือแนวคิดในการดำรงอยู่ของแต่ละชนชาติ เพียงแต่ว่าบางชนชาติ อย่างชนชาติไทย เราอาจจะขาดแคลนปราชญ์ที่ชี้นำ หรือชักจูง หรือรวบรวมขมวดอะไรบางอย่างเป็นพลังให้คนในชาติได้คิด ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ทุกวันนี้เราก็เลยยืมแนวคิดปราชญ์ฝรั่งมาใช้ มันไม่ได้เลวร้ายหรอก เพียงแต่เราต้องหาอะไรอีกเยอะนะในชนชาติเรา
ที่ผ่านมาคนซื้องานศิลปะของคุณส่วนใหญ่เป็นต่างชาติใช่ไหม
ลูกค้าช่วงแรกๆ ของผมเป็นต่างชาติ ทุกวันนี้เป็นคนไทย ผมแฮปปี้นะ ผมไม่ต้องสาวความหรอกว่าเขามาเพราะอะไร เอาเป็นว่า ตอนนี้คนไทย appreciate ก็โอเค เขาอาจจะไม่ได้พูดจาหลักแหลมเหมือนฝรั่ง แต่ว่าเขาก็เลี้ยงดูผมน่ะ
คุณสนใจบ้างไหมว่าผลงานของตัวเองจะเข้าไปอยู่ในกระบวนการปั่นราคา
ต้องบอกตรงๆ ว่าผมก็ระวังอยู่บ้าง เมื่อรูปอยู่ในมือคนที่เคยซื้อราคาถูกไป พอรูปผมพอมีราคาบ้าง เขาก็ทำกำไรกัน ก็เปลี่ยนมือๆๆ ตราบใดที่มันยังไม่นิ่ง หรือพอเริ่มนิ่ง ผมก็ไม่ค่อยอยากจะขายรูปแล้ว ให้เขาทำกำไรให้ครบเสียก่อน ให้รูปไปอยู่ในมือคนที่เขาจะไม่ขายต่อ หรือราคามันอยู่แค่นั้นแล้ว ซึ่งมันเป็นกลไกที่เราทำอะไรไม่ได้ นั่นเป็นสิ่งที่เขา request กัน และ offer กัน แล้วเขายอมรับกัน ผมทำอะไรไม่ได้หรอก
ความรู้สึกของคุณเมื่อได้รับรู้ล่ะ เป็นอย่างไร
มันก็เป็นความรู้สึกหลายอย่างนะ อย่างเช่น คนที่เขาจ่ายเงินซื้อรูปเราสมัยที่คนอื่นเขาไม่มอง ในราคาไม่กี่ตังค์ แล้วเขาได้กำไรเป็นล้านๆ เขาก็สมควรจะได้มันแล้ว ดีแล้ว มันก็เหมือนกับว่าเขามองเห็นเราน่ะ นั่นแง่หนึ่งนะ แต่อีกมุมหนึ่งผมก็แอบรู้สึกน้อยใจว่า อ้าว…ไม่ชอบงานของเราเหรอ ถึงเอาไปขาย ถ้าคนรู้จักกันนะ ทำไมไม่เก็บไว้ นี่ก็เป็นความรู้สึกแบบมนุษย์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่รู้จักเลย หรือห่างๆ ผมก็ไม่รู้สึกอะไรหรอก เห็นเขาขายต่อได้กำไรก็แฮปปี้ แต่ก็มีบางคนเหมือนกันนะ ที่ได้รูปผมไปแล้วเขาไม่ขายเลย ก็มี
ช่วงแรกของอาชีพผม ที่บอกว่ามันเป็นความรู้สึกไม่จริงมาก เพราะว่าเรามีชื่อเสียงก็จริง แต่เราอยู่ไม่ได้น่ะ เราต้องขอเงินแม่ใช้ มิวเซียมที่เมืองนอกซื้องานผม แต่คนไทยไม่มอง แต่ผมก็ไม่ได้อยากไปอยู่เมืองนอกนะ ผมอยากอยู่เมืองไทย
มองย้อนกลับไปในอดีตแล้วคุณอยากแก้ไขอะไรบ้างไหม
ก็มีบ้างนะ แต่ผมไม่ค่อยหมกมุ่นกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผมเห็นภาพตอนโตแล้วมากกว่า ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวอะไรกับพ่อแม่ก็พอมีบ้าง มันก็แวบเข้ามาในความคิดอยู่เหมือนกันว่า เสียดายที่เราไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรกับพ่อ พ่อผมตายตอนที่ผมยังเลื้อยคลานอยู่เลย ยังขอเงินพ่อใช้ แสดงงานแล้ว แต่เป็นศิลปินก็ไม่มีตังค์หรอก มีแต่ชื่อเสียง
มันมีองค์ประกอบอะไรหลายอย่างมากเลย กับการที่จะเป็นศิลปินที่ไม่ต้องอดอยาก ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว เท่าที่ผมเห็นนะ พูดง่ายๆ มันเกี่ยวกับโชคชะตาชีวิต ผู้คนรอบข้าง และหลายๆ อย่าง สติที่เราจะควบคุมวินัย ตระหนักรู้ตัวเอง ทุกวันนี้ผมเองก็ยังทำไม่ได้ดีเลย
ชีวิตผม ผมคอมเพลนไม่ได้ ผมคิดว่าผมได้ทำในสิ่งที่อิสระ และยังอยู่ในจุดที่เลือกได้มากกว่า แต่เราก็รู้นะว่าเราต้องแลกกับอะไรบ้าง
คุณเคยบอกว่าอยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับพ่อ คุณคิดจะเขียนเรื่องอะไร
ผมคงเล่าเรื่องของลูกชาวนายากจนคนหนึ่ง พ่อผมไม่ได้เป็นคนขมกับชีวิตนะ แต่จะเป็นคนเปิดกว้างรับโอกาสที่เป็นไปได้ทุกอย่างที่เข้ามา ไม่ได้เป็นคนซัฟเฟอร์ แต่ตลอดเวลาพ่อจะชอบขับรถออกไปตามชนบท กินข้าวกับชาวบ้าน เป็นไลฟ์สไตล์ของพ่อ บางครั้งพ่อก็พาผมไปด้วย แม้ว่าพ่อจะไม่ได้ชี้นำสิ่งที่พ่อทำ แต่สิ่งนั้นมันก็ทำให้ผมรู้สึกดี จนถึงวันนี้มันทำให้ผมเห็นว่าสังคมเปลี่ยนไปเยอะ
พ่อผมเป็นคนใจร้อน พูดเก่ง มีทักษะในการพูด และพ่อเขียนตลอดเวลา ไม่รู้ว่าทำไม หลังจากพ่อเสียเราก็จะมีกระดาษที่พ่อเขียนอะไรต่อมิอะไรเป็นลังๆ สมัยก่อนยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้กัน ทุกอย่างต้องเขียนลงกระดาษ
ชีวิตเดินทางมาถึงเลข 54 คุณรู้สึกสะท้อนใจเรื่องอะไรบ้างไหม
ไม่ค่อยหรอก แค่รู้สึกเวลาสังขารมันคล้อย มันจะมีผลในการทำงาน มันสะเทือนใจตรงที่บางสิ่งเราเคยทำได้ แล้วจู่ๆ มันทำไม่ได้ขึ้นมา
ปัญหาเรื่องฮอร์โมนใช่ไหม
ใช่ครับ ต้องลุกขึ้นมาตั้งหลักว่า เราคงต้องบูรณะตัวเองเสียหน่อย ให้มีความพร้อม…
ตอนนี้ผมไม่ได้กินยาแล้ว หลังจากกินมาไม่ถึงปี คงได้เวลาที่จะต้องรื้อ ต้องสังคายนามุมมองตัวเองแล้วละ เช่นหาปัญหาให้เจอว่าทำไมมันยากนัก ผมอยากได้ความสงบมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง ไม่อย่างนั้นผมจะลำดับสิ่งที่ผมอยากทำไม่ได้
ประเด็นในชีวิตของผมก็ยังเหมือนเดิมละว่า เรามีอีกหลายสิ่งที่อยากทำในชีวิตแล้วมันยังไม่ได้ทำ ก็เลยรู้สึกเป็นกังวลนิดหน่อย
ทำเป็นรายการไว้หรือเปล่าครับว่าอยากทำอะไรบ้าง
มีนะ มันมีสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันอยากจะทำ สิ่งที่ควรจะทำ และสิ่งที่จำเป็นต้องทำ สามอย่างหลักๆ สิ่งที่จำเป็นต้องทำก็คือ สังคายนาข้าวของในชีวิตปัจจุบัน เผื่อว่าเราเป็นอะไรมันจะได้รุงรังกับคนข้างหลังน้อยหน่อย จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ไม่ค่อยอยากทำหรอก แต่ว่าเราก็แก่เกินกว่าที่จะ naïve ว่าข้าวของรูปเขียนอะไรต่อมิอะไร มันก็เป็นของรักของเรา เราจะจัดการกับมันอย่างไรตอนเราไม่อยู่แล้ว เราจะยกให้ใครไหม หรือจะอย่างไร
สิ่งที่ควรจะทำก็คือ สิ่งที่ผมค่อนข้างบกพร่องมาตลอด ผมเป็นคน maintain ความสัมพันธ์ไม่ค่อยดี ผมสอบตกเรื่องนี้ ผมควรจะมีเวลาอยู่กับแม่มากกว่านี้ ผมควรจะมีเวลาอยู่กับตัวเองมากกว่านี้
เรื่องที่สามคือสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะทำ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องงานอีกนั่นละ ยังมีภาพในหัวอีกเยอะเลยที่ผมยังไม่ได้เขียน แล้วไหนจะภาพชีวิตที่อยากเขียนเป็นหนังสืออีก อยากจะมีความรู้บางเรื่องเพิ่มขึ้น ก็ยังอยากอยู่
จะมีงานอะไรทิ่ยิ่งใหญ่แบบวัดร่องขุนของอาจารย์เฉลิมชัย โกษิตพิพัฒน์หรือเปล่า
ไม่มีครับ สิ่งที่ผมอยากทำมันก็ยิ่งใหญ่อยู่ในใจผมนะ แต่สำหรับคนอื่นผมไม่รู้ (หัวเราะ) ก่อนตายได้เขียนรูปที่นึกๆ ไว้สัก 2-3 รูป ผมก็ว่ายิ่งใหญ่ของผมแล้วนะ
รู้สึกกลัวการอยู่คนเดียวบ้างไหม
ไม่ค่อย แต่ก็กังวลบ้าง ผมไม่แน่ใจว่าผมยังอยากมีใครอีกสักคนในชีวิต ที่ตื่นขึ้นมาเจอหน้ากัน พูดคุยโดยที่ผมไม่อยากจะพูดคุยด้วย (หัวเราะ) มันไม่ดึงดูดใจให้ผมรู้สึกอยากมีคู่ ไม่แน่ใจว่าผมอยากจะสูญเสียเวลาแบบนี้ไป โดยการมีใครสักคน แล้วมันจะแฟร์กับเขาหรือเปล่า หรือจะแฟร์กับตัวเองไหม
อีกเรื่องที่อยากถาม คนทำงานศิลปะเวลาดูงานศิลปะ เขาดูอะไรกันบ้าง
(หัวเราะ) ผมไม่เคยถามตัวเองเหมือนกันนะ ว่าแตกต่างจากคนที่ไม่ทำงานศิลปะดูยังไง แต่ว่าผมดูทุกอย่าง
ผมว่าคนเขียนหนังสือเวลาอ่านหนังสือจะมีทัศนคติอย่างหนึ่ง คนทำหนังเวลาดูหนังเขาจะมีความบันเทิงเฉพาะของเขาอีกแบบหนึ่ง คนทำงานศิลปะคนอื่นผมไม่รู้ แต่อย่างผม ผมพยายามใช้ความรู้สึกของภาพรวมของทุกอย่างที่ตาเราสัมผัส เหมือนเราเดินเข้าไปในความร่มรื่นของอาคาร หรือสวน โดยที่เราไม่มีความรู้เรื่องก่อสร้างหรือเรื่องต้นไม้ มันจะมีความรู้สึกบางอย่างที่วูบเข้ามาปะทะเราได้ ทำให้เราเกิดความรู้สึกได้ ถ้าเราลงไปในรายละเอียดมันก็ค่อยเป็นเรื่องอื่นๆ ไป บางทีเราอาจจะดูชื่อของต้นไม้นี้ในสวน ถ้าเราเดินอยู่ในสวนเมืองนอกเราอาจจะนึกถึงต้นไม้ในสวนที่เมืองไทย แล้วเราอาจรู้สึกว่าเราน่าจะหาต้นไม้แบบนี้ไปปลูกเพื่อที่จะได้อารมณ์แบบนี้ แสงแดดลอดไรๆ แบบนี้
การดูรูปเขียน หรือภาพรวมของงานก็เหมือนกัน คล้ายหนังบางเรื่อง ผมว่ายี่สิบนาทีนี่ก็นานไปแล้วนะที่จะตัดสินใจว่าควรจะดูต่อไหม หนังสือบางเล่มก็เหมือนกัน เราพลิกดูที่แผงก็พอรู้แล้วว่าเราควรซื้อกลับบ้านหรือเปล่า ผมว่าศิลปะบางทีก็เหมือนโปสเตอร์หนังนั่นละ ดูโปสเตอร์หนังบางเรื่องแล้วเราไม่อยากดูหนัง การ์ดเชิญก็เหมือนกัน เห็นชื่อนิทรรศการแล้วบางทีเราก็ไม่อยากไปดู บางอันอาจจะเชิญชวน แต่ไปดูจริงแล้วอาจจะไม่มีอะไรก็ได้
แต่ทั้งหมดโดยรวมของงานศิลปะ ผมดูทุกอย่าง มันรู้สึกได้ทุกอย่าง แต่โอกาสที่เฉยๆ ในทีแรก แล้วค่อยๆ ดีขึ้นๆ ผมว่ามันจะเกิดขึ้นได้น้อย สำหรับศิลปินด้วยกัน แต่ถ้าคนไม่ได้เขียนรูปอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
คุณเคยซื้อรูปเขียนด้วยความชอบหรือเปล่า
เคยนะ อย่างรูปของเหม เวชกรที่นำมาแสดงในนิทรรศการของผมด้วย อันนี้บังเอิญมีโอกาสได้ซื้อ และเป็นรูปที่ผมชอบ เป็นงานภาพประกอบ ภาพของเหมเหมือนกับว่าเราโตมากับภาพของแก มันก็เลยมีความ…อธิบายยาก มันมีความจับใจอะไรบางอย่าง มันรู้จักมานาน ไม่ได้พิสดาร งานของแกง่ายที่สุด ไม่ได้เลียนแบบได้ยาก แต่มันมีความเป็นออริจินอลสูง นั่นคือตัวตนแห่งคุณค่าของงานของเหม เวชกร
Fact Box
- ชาติชาย ปุยเปีย เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2507 ที่จังหวัดมหาสารคาม จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสวนกุหลาบฯ และปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมรสกับพินรี สัณฑ์พิทักษ์ และมีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน-โชน ปุยเปีย ก่อนหย่าร้างกันเมื่อเจ็ดปีให้หลัง
- ชาติชายมีผลงานศิลปะจัดแสดงเดี่ยวครั้งแรกเมื่อปี 2536: Hymn of Fire (โศลกไฟ) / 2537: Take Me Somewhere, Tell Me Something / 2538: Siamese Smile (ยิ้มสยาม ดอกบัวยังไม่บาน) / 2540: Paradise Perhaps (สวรรค์รำไร) / 2542: On the Way to See Bhudda, Meet Gauguin Passing By, I Think Twice (ระหว่างทางไปหาพระพุทธ พบโกแกงเดินสวนทางมา ข้าฯ ลังเล) / 2544: Across the Eyebrows and in to the Ear (หลงหู หลงตา) และ 2549: A Heart Is a Lonely Painter
- เป็นจิตรกรที่มีผลงานแนววิพากษ์วิจารณ์สังคม มักจะสอดแทรกประเด็นต่างๆ ในเชิงการตั้งคำถาม การประชดประชัน และมักใช้ภาพพอร์เทรตของตัวเองเป็นปัจเจกในการต่อรอง พูดคุยกับสิ่งที่เป็นกระแสในสังคม
- ชาติชาย ปุยเปียได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัล ‘ศิลปาธร’ สาขาทัศนศิลป์ เมื่อปี 2549
- นิทรรศการ Vetal Suite, Curiosities Unearthed by Chatchai Puipia (เวตาล สวีท) จัดแสดงที่ Nova Contemporary ซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ ไปจนถึงวันที่ 13 มกราคม 2562