International Open Data Day ในปี 2563 ตรงกับวันที่ 7 มีนาคม มาลองย้อนกลับไปถึงขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้รูปแบบใหม่ ที่ต้องการให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ขบวนการนี้ถือเป็นแรงสั่นสะเทือนในระดับโลก จนนำไปสู่การปรับตัวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น  

เมื่อคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญในการบริหารองค์กรมาเป็นเวลาหลายสิบปี ช่วยประมวลผลข้อมูลต่างๆ ในเวลาอันรวดเร็ว จนกระทั่งอุตสาหกรรมทำให้คอมพิวเตอร์ราคาถูกลงจนสามารถแพร่ความนิยมไปทั่วโลก ถือเป็นการพลิกโฉมระบบการบริหารราชการในทุกประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สายที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อในระยะไกลได้ 

แม้การเชื่อมต่อข้อมูลจะง่ายขึ้น แต่ปรากฏว่า หน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่จัดเก็บต่อสาธารณะมากนัก

เอลินอร์ ออสตรอม (Elinor Ostrom) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และเดวิด บอลลิเออร์ (David Bollier) นักเคลื่อนไหวทางสังคม มองว่า ข้อมูลข่าวสารเป็นทรัพยากรร่วมของสังคม (information commons) ที่คล้ายคลึงกับสินค้าสาธารณะ ทุกคนเป็นเจ้าของและสามารถใช้ได้ เวลาที่คนหนึ่งคนนำข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะมาวิเคราะห์หรือการตีความ ก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นๆ ใช้ข้อมูลชุดดังกล่าวต่อไม่ได้ และเมื่อมีหลายคนใช้ข้อมูลข่าวสาร ก็จะเกิดเป็น Network Effects ที่ดึงดูดให้ผู้คนอีกจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วม

ออสตรอมได้ศึกษากระบวนการเจรจาลุ่มน้ำตะวันตก (West Basin Negotiations) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งในการผลิตน้ำซึ่งภายหลังมีการเจรจาต่อรองเพื่อยุติความขัดแย้งสำเร็จ ผลการศึกษาพบว่า การเปิดเผยข้อมูลมติที่ประชุม ข้อมูลบันทึกการประชุม ข้อมูลเชิงเทคนิค ข้อมูลการวิเคราะห์ต้นทุนและกำไร ผ่านช่องทางที่ทำให้คนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้ ช่วยยกระดับความเข้าใจและความร่วมมือให้กับสมาชิกที่เข้ามามีส่วนร่วม 

ในเมื่อการเปิดเผยข้อมูลทำให้สังคมขัดแย้งน้อยลง แล้วทำไมรัฐถึงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล? 

กำเนิด Anonymous Hackivists 

การที่ภาครัฐไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างจริงจัง ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เหล่า whistle blowers หรือผู้ที่ไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับการทำงานของภาครัฐแล้วนำข้อมูลภายในองค์กรส่งต่อให้กับกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวแบบไม่เปิดเผยตัวตน (anonymous group) โดยรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลมาเป็นเวลาหลายปี 

จนกระทั่งมีการเปิดเผยข้อมูลผ่านวิกิลีกส์ (WikiLeaks) ในปี 2010 ซึ่งเป็นเอกสารลับของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถานจำนวน 76,900 ฉบับ เอกสารดังกล่าวเผยให้เห็นถึงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สังคมโลกจึงตั้งคำถามกับรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อปฏิบัติการดังกล่าวว่า เหตุใดจึงสังหารผู้บริสุทธิ์ถึง 18 ราย เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนรู้ในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ก่อการร้าย 

การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวทำให้วิกิลีกส์กลายเป็น electronic whistle-blower platform หลังจากนั้น ยังมีการเปิดเผยข้อมูลเอกสารลับอย่างต่อเนื่อง จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) หนึ่งในผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ถูกฟ้องร้องและถูกจับกุม ส่วนเว็บไซต์วิกิลีกส์ก็ถูกระงับโดเมนในหลายประเทศ แต่เอกสารลับมากกว่า 5 ล้านฉบับก็ยังหาอ่านได้ในเว็บไซต์วิกิลีกส์ กรณีที่หลายประเทศบล็อควิกิลีกส์ ก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย VPN หรือ โปรแกรมเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network) 

อลาสแดร์ โรเบิร์ตส์ (Alasdair Roberts) ศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังมองว่า วิกิลีกส์เป็นปฏิบัติการล้วงข้อมูลแล้วเผยแพร่เพื่อให้สังคมโกรธรัฐ โดยเปิดเผยข้อมูลแบบถอนรากถอนโคน (radical transparency) เพราะต้องการให้ภาครัฐพลิกโฉมการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะซึ่งส่วนใหญ่มักจะล้มเหลวในทางปฏิบัติ เนื่องจากรัฐไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ได้เผยให้เห็นถึงอุปสรรคของภาครัฐที่มักจะไม่เปิดเผยเอกสารความมั่นคง

ส่วนมาร์โก ฟิออเรตติ (Marco Fioretti) นักวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลดิจิทัล มองว่า ในทางปฏิบัติ ควรจะมีการหาสมดุลระหว่างเอกสารที่เป็นความลับซึ่งต้องเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งกับเอกสารที่เปิดเผยได้ทันที ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ร่วมกัน นอกจากนั้น การเปิดเผยข้อมูลยังต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงของรัฐ ความเป็นส่วนตัวของประชาชน และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน 

ผลสะเทือนของ Wikileaks ต่อสังคมโลก

ถ้าหากปฏิบัติการของวิกิลีกส์คือการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะแบบถอนรากถอนโคน ที่ต้องอาศัย Hackivists ที่เชี่ยวชาญ แล้วมีขบวนการที่คนทั่วไปหรือคนที่ไล่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน (เช่นผู้เขียน) บ้างหรือไม่? 

Open Access Movement เคลื่อนไหวเรียกร้องการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนปี 2000 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังไม่มีการผลักดันเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นวาระระดับโลก พลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่มากนัก แต่เมื่อวิกิลีกส์เปิดเผยข้อมูลลับ ก็ช่วยสร้างแรงเหวี่ยงให้กับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะมากกว่าทุกขบวนการที่ผ่านมา 

เพื่อปรับตัวกับการเปิดโปงข้อมูลรัฐ แปดประเทศ เช่น รวมตัวกันจัดตั้ง Open Government Partnership (OGP) ในปี 2011 เพื่อเป็นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐปรับวิธีคิดและการบริหารเสียใหม่ ถือเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่สร้างความโปร่งใสที่ขยายตัวเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา จนกระทั่งประชาชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐเข้าร่วมมากถึง 79 ประเทศทั่วโลก 

การเข้าร่วม OGP รัฐบาลจะต้องทำข้อตกลงร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม และปฏิบัติตาม Principle of Open and Transparent Government ซึ่งรัฐบาลจะต้องลงนามในปฏิญญาการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Declaration) โดยมีหลักการ คือ 

  1. รัฐบาลจะเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐในทุกกิจกรรม 

  2. รัฐบาลจะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม 

  3. รัฐบาลจะนำเอามาตรฐานการบริหารที่มีคุณธรรมสูงสุดมาปฏิบัติใช้ 

  4. รัฐบาลจะนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล 

นอกจากนั้น OGP ยังได้ขยายไปสู่การผลักดันให้ระดับท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมถึง 20 เมือง รวมไปถึงยังการผลักดันไปสู่อีกหลายประเด็นย่อยกับเครือข่ายอื่นๆ เช่น Open Contracting and Procurement หรือ การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ Open Parliament หรือ ระบบรัฐสภาแบบเปิด 

แม้ OGP จะรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2011 แต่ไทยก็เพิ่งขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2018 แม้จะมีการเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลจากฝั่งนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมมาเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตามในช่วงหลังเริ่มเห็นการปรับกระบวนทัศน์ภาครัฐที่เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น เช่น การเปิดเผยข้อมูลผ่าน data.go.th 

และต้องติดตามต่อว่า ไทยจะสามารถเข้าเป็นสมาชิก OGP ได้ในปีใด เพื่อลดแรงเหวี่ยงจากกลุ่มเคลื่อนไหวโจรกรรมข้อมูลลับแบบไม่เปิดเผยตัวตน และปรับภาพลักษณ์ภาครัฐไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม 

 

อ้างอิง:

  • Ostrom, E. (1990). Governing the commons: The evolution of institutions for collective action. Cambridge university press.
  • Hess, C., & Ostrom, E. (2005). A Framework for Analyzing the Knowledge Commons: a chapter from Understanding Knowledge as a Commons: from Theory to Practice.
  • Fioretti, M. (2011). Open Data: Emerging trends, issues and best practices. Laboratory of.
  • Roberts, A. (2012). WikiLeaks: the illusion of transparency. International review of administrative sciences, 78(1), 116-133.
  • Götz, N., & Marklund, C. (2014). The paradox of openness: Transparency and participation in Nordic cultures of consensus. Brill.
  • Sifry, M. L. (2011). WikiLeaks and the Age of Transparency. OR Books.
  • https://www.opengovpartnership.org/wp-content/uploads/2019/09/Global-Report_Volume-1.pdf
  • http://www.opengovernment.go.th

 

Fact Box

สำหรับประเทศไทย มีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน ยกเว้น

  • ข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (มาตรา 14) โดยให้ส่งมอบข้อมูลแก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเมื่อครบ 75 ปี 
  • ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ (มาตรา 15) โดยให้ส่งมอบข้อมูลแก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเมื่อครบ 20 ปี

ส่วนข้อมูลภาครัฐที่เปิดเผยได้นั้น ที่ผ่านมายังมีอุปสรรคด้านแนววิธีปฏิบัติ เช่น ไม่ได้มีการเผยแพร่ในระบบดิจิทัล หรือเอกสารที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ ยังเน้นที่การถ่ายภาพเอกสาร แต่ไม่ได้มีลักษณะที่คอมพิวเตอร์อ่านได้ หรือ machine-readable

 

Tags: , , , ,