มีคำเปรียบเปรยว่า ‘Data is the new oil’ หรือ ‘ข้อมูลมีค่าดั่งน้ำมัน’ กล่าวคือแหล่งทรัพยากรสำคัญแห่งใหม่ไม่ใช่สิ่งอื่นไกล แต่คือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่สามารถหยิบจับมาเป็นข้อมูล (Data) ได้ เพราะในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ต้องใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจ หลายคนจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลงผล และใช้นำเสนอเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจและพร้อมขับเคลื่อนสังคมในเวลาเดียวกัน 

The Momentum, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ป่าสาละ, พันช์อัป และดีแทค ชวนทุกคนมาร่วมกันศึกษาบทสรุปจากงานอบรม “Data Journalism Workshop” ที่จัดขึ้นเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าทำไม Data Journalism ถึงเป็นโจทย์สำคัญของการทำงานสื่อยุคนี้ และ Data Journalism สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร 

‘สฤณี อาชวานันทกุล’ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้ก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัด ที่ทำงานวิจัยในประเด็นความยั่งยืน เริ่มต้นการอบรมในช่วงแรกของวันด้วยการให้โจทย์ข่าวที่แตกต่างกันไปแก่ผู้เข้าอบรม 3 กลุ่ม ได้แก่ นักข่าว กราฟิกดีไซเนอร์ และโปรแกรมเมอร์ โดยทีมนักข่าวได้โจทย์ ‘พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2563’ ส่วนทีมกราฟิกดีไซเนอร์ได้โจทย์ ‘เลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ’ และทีมโปรแกรมเมอร์ได้โจทย์ ‘กราดยิงโคราช’  

ทีมนักข่าวตั้งประเด็นที่ต้องการจะเล่าด้วยการคำนึงถึงผู้อ่านเป็นหลัก ส่วนฝั่งกราฟิกดีไซเนอร์คิดออกมาเป็นภาพในเชิงผลลัพธ์ และฝั่งโปรแกรมเมอร์วางเป็นโครงเรื่องตามลำดับขั้นตอน กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นกระบวนการคิดของแต่ละทีมที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของทำงานแบบ ‘Data Journalism’ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้มุมมองอันหลากหลายของแต่ละสาขาอาชีพมาผสมผสานกัน

“ที่มาเราต่างกัน เครื่องมือที่เราใช้มันก็ต่างกัน ซึ่งก็ส่งผลต่อมุมมอง ส่งผลต่อการตั้งประเด็น ส่งผลต่อขอบเขตการทำงาน รวมถึงวิธีคิดของเรา โจทย์ของเราวันนี้จึงเป็นการยืมเครื่องมือคนอื่นมาให้เห็นภาพในมุมมองใหม่ และทุกวันนี้ Data Journalism ไม่ใช่ทักษะที่ใครคนใดคนหนึ่งหรืออาชีพเดียวทำงานได้แล้ว แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน” สฤณีกล่าว

ใช้ ‘Data’ ยกระดับคุณค่าของข่าวสาร

“คุณค่าต่อสาธารณะที่คนอ่านจะได้จากงานเรามีหลายระดับ”

สฤณีกล่าวว่า การนำเสนอตัวข้อมูลโดยลำพังก็มีคุณค่า แต่ถ้าเราสามารถกรองข้อมูลขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งผ่านกระบวนการรับรองความถูกต้องให้เห็นว่า ประเด็นคืออะไร พร้อมนำเสนอให้เข้าใจง่าย น่าดึงดูด และเห็นประเด็นที่เราต้องการจะสื่อก็จะช่วยยกระดับคุณค่าที่ผู้อ่านจะได้รับจากผลงานชิ้นนั้น Data Journalism จึงเข้ามาตอบโจทย์ด้านนี้

“สื่อของอเมริกาอย่าง fivethirtyeight เขาทำโปรเจกต์เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง (Gerrymandering) โดยใช้โปรแกรมที่มีคนทำไว้ให้ดาวน์โหลดฟรีมาแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศเป็นแปดแบบ แต่ละแบบก็จะบอกว่าพรรคไหนที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้นำเสนอข้อมูลแบบวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งตรงๆ แต่ต้องการแสดงให้เห็นผลลัพธ์ว่า การแบ่งเขตแต่ละแบบส่งผลอย่างไรได้บ้าง”

สฤณียกตัวอย่างพร้อมย้ำว่า ศิลปะของการนำเสนอข้อมูลมีหลากหลายแบบ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความสวยงามในทางศิลปะ คือการตั้งโจทย์ว่า อยากจะทำอะไร สื่อสารกับใคร และเราอยากจะเชื่อมโยงให้เห็นผลลัพธ์อะไรบ้าง

“สุดท้ายแล้วเราต้องการทักษะ ต้องการความสนใจ ต้องการมุมมองที่ใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือให้ความรู้แก่สังคมเป็นหลัก เพราะทุกคนอยู่ในโลกที่เรียกว่า Big Data Revolution ซึ่งข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่บนอินเทอร์เน็ตเยอะกว่าเม็ดทรายทุกชายหาดบนโลกนี้อีก”

รายได้’ โจทย์ใหญ่ของสื่อ

สื่อจะอยู่รอดได้ต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากโฆษณาเป็นหลัก ในยุคที่เม็ดเงินโฆษณาลดลง แต่จำนวนคู่แข่งเพิ่มขึ้น คำถามเรื่องรายได้จึงถูกตั้งขึ้นมาว่า Data Journalism ที่ต้องใช้เวลาและแรงในการทำงานเยอะ ให้ผลตอบแทนที่คุ้มทุนหรือไม่ 

สฤณีกล่าวว่าทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่มักเสพข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้เลือกที่จะเข้าดูหน้าเว็บของสำนักข่าวไหนแบบเจาะจง นอกจากต้องแข่งกันเองระหว่างสื่อแต่ละสำนักแล้ว สื่อยังต้องแข่งกับบุคคลทั่วไปที่ให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองด้วยเช่นกัน สื่อจึงจำเป็นต้องยืดอายุของข่าวให้ไปไกลมากกว่ากระแสรายวัน  

เธอยกตัวอย่างโปรเจกต์ Government Salaries Explorer ของหนังสือพิมพ์ Texas Tribune ที่เป็นฐานข้อมูลออนไลน์แสดงค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่รัฐทุกตำแหน่งและหน่วยงานทั้งหมดที่ใช้เงินสาธารณะในรัฐเท็กซัสที่ทำมาตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละปี จะนำข้อมูลมาจัดอันดับ 10 คนที่ได้ค่าตอบแทนสูงสุด แต่ที่น่าสนใจก็คือ โปรเจกต์นี้ของ Texas Tribune ดึงให้คนเข้าเว็บไซต์มากกว่าส่วนอื่นๆ ของหน้าเว็บทั้งหมด เพราะผู้คนสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อยอดในเรื่องอื่นๆ ได้เสมอ 

“ข้อมูลลักษณะอย่างนี้ ถ้าเขียนเป็นข่าวอาจจะเขียนได้ปีละหนึ่งชิ้น มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ที่หลากหลายของคนอื่นๆ การใช้ Data Journalism ถ้าเราออกแบบดีๆ มันจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวได้ และมีอายุยาวนาน”

สฤณีทิ้งทายว่า นักข่าวยุคนี้ไม่ว่าจะเป็น Data Journalist หรือไม่ ต้องตั้งคำถามว่าจริงๆ เรากำลังเสนอคุณค่าอะไรให้กับคนอ่าน กลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร คุณค่าที่นำเสนอออกไปเป็นสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการหรือไม่ หรือมันเป็นคุณค่าที่เราคิดว่าดี แต่ไม่มีคนอื่นรับรู้ด้วยเลย 

“การทำงานนี้มันอาจจะไม่ได้สร้างพลังบางอย่างในสังคม แต่ว่าสุดท้ายอาจจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ เพราะสิ่งที่เมืองไทยยังขาดมากๆ คือ ความโปร่งใสทุกมิติ เมื่อเราทำงานที่เกี่ยวกับข้อมูลมากขึ้น เราจะยิ่งเห็นช่องโหว่ เห็นความสำคัญของข้อมูลแบบเปิดในมาตรฐานที่เป็นสากล แล้วมันจะช่วยผลักดันอะไรได้อีกเยอะ 

แต่ถ้าเราไม่ได้ทำงาน Data Journalism เลย เราไม่ได้มองข้อมูลเป็นฐานคัดแยก มันก็เป็นเรื่องยากที่เราจะไปเรียกร้องว่า ทำไมเราถึงต้องมีข้อมูลแบบเปิด เพราะฉะนั้นประชาชนก็อยากจะให้นักข่าวเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตแบบนี้”   

สำรวจคนรอบข้างที่ต้องร่วมงานกันไปตลอดทาง 

ในภาคบ่าย ‘ก๋วย’-พฤหัส พหลกุลบุตร หนึ่งในผู้ริเริ่มตั้งมหา’ลัยเถื่อน และมูลนิธิสื่อชาวบ้านมะขามป้อมเริ่มให้เราสำรวจคนรอบข้างด้วยการแจกไพ่คนละหนึ่งใบ ไพ่นั้นมีรูปร่าง สี จำนวน และลวดลายที่แตกต่างกันออกไป เมื่อทุกคนได้ยินคำสั่งให้จับคู่ตามสี ตามรูปร่าง หรือตามจำนวน บรรยากาศการอบรมก็ครึกครื้นด้วยเสียงวิ่งและเสียงพูดคุยกันอย่างออกรสระหว่างผู้เข้าอบรมด้วยกันเอง ผู้คนสลับหมุนเวียนแลกเปลี่ยนทำความรู้จักกันไปตามโจทย์ที่ได้รับ

หลังจากนั้นทุกกลุ่มก็ได้รับโจทย์ว่า ให้นำไพ่ที่มีความแตกต่างกันมาเชื่อมโยงเล่าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ‘Data Journalism’ บางกลุ่มเชื่อมโยงความแตกต่างของภาพบนไพ่เป็นเหมือนตัวตนของสมาชิกในทีม ที่แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ความต่างนี้เป็นหัวใจสำคัญในแง่ของการให้มุมมองที่หลากหลายขึ้น ส่วนอีกกลุ่มตีความภาพทั้งหมดว่ารูปทรงที่แตกต่างกันก็เปรียบข้อมูลที่มาจากหลากหลายแหล่ง กว่าจะกลายเป็นข้อมูลที่ใช้ได้จริงก็ต้องผ่านการขัดเกลาหลายครั้ง คัดกรองอีกหลายหน เพื่อยกระดับคุณค่าขึ้นมา

“กระบวนการทำงานในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นมากก็คือ ความหลากหลาย เราจะมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นอาจมองไม่เห็น หรือเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงกันได้ ตรงนี้เป็นสาระสำคัญของ Data Journalism เราว่าจะเอาความเชื่อมโยงเล่านั้นมาทำให้เกิดพลังได้อย่างไร” 

ทำความเข้าใจตนเองด้วยคำถาม 

ตอนกรอกใบสมัครมีคำถามหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาว่า ‘คุณสนใจอยากเล่าเรื่องใดด้วย Data Journalism’ ผู้เข้าอบรมทุกคนจึงมีคำตอบนั้นอยู่ในใจ ก๋วยทำหน้าที่สกัดสิ่งเหล่านั้นออกมาด้วยการให้ทุกคนจับกลุ่มกันแลกเปลี่ยนประเด็นของตัวเองกับสมาชิกในกลุ่ม แม้แต่ละคนจะมีเรื่องที่อยากสื่อสารแตกต่างกันออกไปแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ทุกคนอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีตั้งแต่เรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม 

ประเด็นของทุกคนล้วนฟังดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ก๋วยชวนทุกคนตั้งคำถาม  Why, How และ What ตามลำดับ เพื่อให้เรากลับมามองในประเด็นที่เคยมองให้ชัดเจนมากขึ้น

“โดยปกติในองค์หรือคนทั่วๆ ไปมักจะพูดได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ หรือใช้เครื่องมืออะไรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็น แต่น้อยคนมากที่รู้ว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร หรือมีความสำคัญอย่างไรทั้งต่อตัวเราเองและสังคม”

ช่วงเวลาทำความเข้าใจตัวเองกับ 3 คำถามแรกผ่านพ้นไป หลายคนเห็นช่องโหว่หรือข้อจำกัดของประเด็นที่ตัวเองสนใจ แต่คำถามเหล่านั้นก็ถูกขัดเกลาให้เห็นโจทย์ที่ชัดเจนขึ้นด้วยว่า เรื่องที่ต้องการสื่อสารคืออะไร ทำอย่างไร และมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร ซึ่งเป็นการจับประเด็นและพัฒนาประเด็นให้เป็นรูปเป็นร่างพร้อมรับโจทย์ใหม่ในการอบรมวันถัดๆ ไปที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

Fact Box

งานอบรม Data Journalism Workshop จัดขึ้นบนความร่วมมือของ The Momentum, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ป่าสาละ, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI, พันช์อัป และดีแทค เพื่อพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและวิธีการเล่าเรื่องที่ทันสมัย โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ มาส่งเสริมการทำเนื้อหาเชิงลึกของสื่อมวลชน

Tags: ,