วันนี้ (9 สิงหาคม 2565) วันครบเส้นตายที่จีนจะต้องจัดหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำรุ่น MTU396 มาใส่เรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อ ในที่สุด กองทัพเรือได้ให้ข้อมูลว่า บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. (CSOC) ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือไม่สามารถหาเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนีมาใส่เรือดำน้ำลำแรกที่สั่งซื้อจากประเทศจีน ตามสัญญาร่วมระหว่างทางการไทย-จีนได้ อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือจะไม่ยกเลิกการจัดซื้อเนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ชาติของกองทัพ และยังไม่มีการยกเลิกสัญญาใดๆ ขณะเดียวกัน ทางการจีนได้ส่งเครื่องยนต์ CHD 620 ของจีนแบบปรับปรุงเพิ่มเติมให้ไทยพิจารณา กองทัพเรือจึงเห็นชอบขยายเวลาการพิจารณาเครื่องยนต์ดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 หรืออีกหนึ่งเดือนข้างหน้

แน่นอนว่าเครื่องยนต์ของจีนไม่ได้อยู่ใน ‘จุดสนใจ’ ของกองทัพเรือตั้งแต่แรก เพราะนายทหารที่ประจำเรือดำน้ำล้วนคุ้นเคยกับระบบและเครื่องยนต์ของเยอรมนี ซึ่งในตอนแรก กองทัพเรือก็เล็งจะซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนีตั้งแต่แรก ทว่าหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ‘ดีล’ เรือดำน้ำจากจีนนั้นดีกว่า ทั้งลดราคาและ ‘แถม’ ประเภทซื้อ 2 แถม 1 

เรื่องการจัดหาเรือดำน้ำถือเป็น ‘วิบากกรรม’ อย่างหนึ่ง เพราะมีความพยายามจัดหาตั้งแต่ปี 2558 และจนถึงวันนี้ ผ่านไป 7 ปี ก็ยังไม่มีอนาคต ยังไม่มีการทำสัญญา และยังมองไม่เห็นเรื่อง ‘เครื่องยนต์’ สำหรับลำดับความการจัดซื้อ ‘เรือดำน้ำ’ และวิบากกรรมที่เกิดขึ้น สรุปได้ดังนี้

1

ช่วงเวลาแรกของการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ วันที่ 28 เมษายน 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งแต่เดิม ในปี 2555 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอการจัดซื้อออกไปก่อน โดยหนึ่งในหัวข้อการศึกษาประกอบด้วยการสรรหาอู่ต่อเรือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของโลก และจากการศึกษาพบว่ามีอู่ต่อเรือที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 6 แห่ง อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าข้อเสนอที่ดีที่สุดคืออู่ต่อเรือของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกองทัพเรือเสนอเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S26T

2

ต่อมา วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น กล่าวว่ามีความสนใจอยากซื้อเรือดำน้ำจากจีนทั้งหมด 3 ลำ เป็นวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ให้กับกองทัพ “ก็อยากซื้อ อยากได้นะเรือดำน้ำ ช่วยรวมตังค์กันซื้อไหม ในอาเซียนเขามีกันหมดแล้ว พอจะซื้อก็อย่างนั้นอย่างโน้น โดนโจมตีตลอด ทั้งๆ ที่จำเป็น” ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน หรือ 2 ปีให้หลังการรัฐประหาร กระทรวงกลาโหมจึงได้อนุมัติความต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ ให้กับกองทัพเรือ

3

21 มีนาคม 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในขณะนั้น ระบุว่า ได้รับข้อตกลงที่สมเหตุสมผลจากทางการจีน คือซื้อ 2 แถม 1 รวมทั้งยังมีการบริการต่างๆ ทั้งการซ่อม การจัดหาอะไหล่ การก่อสร้างโรงงานเก็บเรือ และภายหลัง พลเอกประวิตรยังให้ข้อมูลว่า ทางการจีนลดราคาให้ จากเดิมลำละ 1.8 หมื่นล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาท 

4

18 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนก่อน 1 ลำ ในวงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาท ผ่านการแบ่งจ่ายจากปี 2560-2566 โดยกำหนดส่งมอบให้ไทยในปี 2566 ต่อมามีแผนจัดซื้อลำที่ 2 อีก 3.6 หมื่นล้านบาท ในอีก 11 ปีข้างหน้า หลังจากนั้น กองทัพเรือได้ยื่นของบประมาณเพื่อซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 ต่ออีก 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงกดดันและอุณหภูมิทางการเมืองที่สูง ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไม่เห็นชอบผ่านงบประมาณซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว

5

สำหรับเรือดำน้ำลำแรกและลำเดียวที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขณะนี้ ซึ่งจีนมีกำหนดส่งมอบในช่วงเดือนเมษายน 2567 ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กลับให้ข้อมูลว่า เรือดำน้ำดังกล่าวเป็นเรือดำน้ำเปล่า ไม่มีเครื่องยนต์ และยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาหาเครื่องยนต์มาใส่ โดยในสัญญาที่ทางการไทยทำคู่กับจีนระบุว่า ต้องเป็นเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทางการเยอรมนีกลับไม่สามารถขายเครื่องยนต์ดังกล่าวให้กับทางการจีนได้เนื่องจากมาตรการของสหภาพยุโรป (EU) ที่ห้ามส่งออกสินค้า ยุทโธปกรณ์ให้จีน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่จีนปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

6

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 กองทัพเรือร่วมหารือเพื่อหาทางออกกับบริษัท CSOS โดยทางบริษัทต่อเรือดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ได้พยายามเจรจากับทางการเยอรมนี ทั้งระดับบริษัทกับบริษัท และ รัฐบาลกับรัฐบาล แต่ก็ไม่สามมารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนีตามที่ระบุในสัญญาได้ 

7

จึงเป็นที่มาของท่าทีล่าสุดของกองทัพเรือ ในการยอมรับโดยดุษณีว่ายืดเวลาออกไปอีกจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อทำการ ‘ศึกษา’ เครื่องยนต์เรือดำน้ำจีนเครื่องเดียวที่สามารถนำมาติดตั้งกับเรือดำน้ำลำดังกล่าวได้ หลังจากยืดระยะเวลาให้จีนพยายามจัดหาเครื่องเรือดำน้ำจากเยอรมนีมาแล้วนานกว่า 1 เดือน

8

The Momentum ต่อสายคุยกับ พลโท พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และอดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ท่าทีของกองทัพเรือ ถ้ามองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ​ เรื่องการให้เกียรติจีน การขยายเวลาพิจารณาเครื่องยนต์ CHD 620 ของจีนจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เป็นเรื่องที่ดีและควรทำเพื่อให้แน่ใจ

ทว่าในแง่ของประสิทธิภาพ พลโทพงศกรยอมรับว่า กองทัพเรือควรต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเครื่องยนต์ของจีนมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี ไม่เช่นนั้น เอาเงินในจำนวนเท่ากันไปซื้อเรือดำน้ำของเยอรมนีได้ 2 ลำจะดีกว่า เพราะจะมั่นใจในประสิทธิภาพได้เต็มร้อย 

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าการกระทำของกองทัพเรือที่ยอมพิจารณาเครื่องยนต์ของจีน แม้จะผิดสัญญาที่ตกลงร่วมกัน แต่เป็นการกระทำที่ดีกว่าไม่ได้อะไรเลยหรือไม่ พลโทพงศกรให้ความเห็นว่า กองทัพเรือจะรับเอาเครื่องยนต์จีนมาเพราะกลัวว่าถ้าไม่รับมาตอนนี้จะต้องคืบงบประมาณให้ส่วนกลางแบบนี้ไม่ได้ 

“กองทัพเรือต้องตรวจสอบให้มั่นใจจริงๆ ว่าเครื่องยนต์นั้นมีประสิทธิภาพ เพราะกำลังพลทุกชีวิตที่เข้าไปอยู่ในเรือดำน้ำนั้นล้วนมีค่า คุณต้องมั่นใจว่าเครื่องยนต์จากจีนจะรักษาชีวิตของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

9

จนถึงขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะยอมรับเครื่องยนต์จากจีน โดยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือได้เสนอของบประมาณส่งกำลังพลไปฝึกกับเรือดำน้ำที่จีนจำนวน 200 ล้านบาท โดยส่งกำลังพลที่คัดเลือกไว้แล้วไปฝึกใช้งานเรือดำน้ำ ทว่าโครงการนี้กลับถูกกรรมาธิการตัดงบฯ เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไรกับเรื่องเรือดำน้ำ จะใช้เครื่องจีนหรือเครื่องเยอรมนี

10

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ThaiArmedForce.com ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ วิเคราะห์เมื่อช่วงเช้าวันนี้ว่า ปัญหาใหม่อีกเรื่องหนึ่งก็คือเครื่องยนต์ CHD620 ที่จีนจะจัดหาให้นั้น ยังไม่เคยใส่ในเรือดำน้ำลำใดมาก่อน แม้แต่ของจีน และก็ยังไม่ชัดเจนว่าเครื่องยนต์แบบนี้ จะเข้ากันได้กับเรือ S26T ซึ่งไทยสั่งซื้อหรือไม่ หรือไม่

นั่นยังไม่นับว่าเครื่องยนต์ดังกล่าว เมื่อเทียบกับเครื่องของเยอรมนีนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะตามที่สั่งซื้อเครื่องยนต์จะต้องมีมาตรฐานการใช้งาน แผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและเสียงอยู่ในระดับเดียวกับเครื่องจากเยอรมนีเท่านั้น

นั่นหมายความว่าวันที่ 15 กันยายน 2565 หากกองทัพเรือไทยยอมรับและเห็นว่าสามารถใช้ได้ ไทยก็จะเป็นชาติแรกที่ใช้เครื่องยนต์ชนิดนี้ก่อนจีนและก่อนใครในโลก แต่หากเครื่องยนต์ชนิดนี้ไม่สามารถใช้งานได้ ก็เป็นไปได้สูงว่าต้อง ‘ยืดระยะ’ การจัดซื้อเรือดำน้ำลำนี้ออกไป และปล่อยดีลนี้ให้คาราคาซังต่อ โดยไทยยังต้อง ‘ผ่อน’ ต่อไป

เป็นเรื่องราวที่ยังไม่มีจุดจบจริงๆ

 

ภาพ: AFP  

 

Tags: , ,