17 ปีที่แล้ว สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ถูก ‘อุ้มหาย’ ขณะเป็นทนายความให้กับผู้ต้องหา 5 คน ในคดีปล้นปืน 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส
ผู้ต้องหา 5 คนนั้น ยืนยันว่าถูกตำรวจจากกองปราบปราม ‘ซ้อม’ และ ‘ขู่บังคับให้สารภาพ’ พร้อมกับจะนำหลักฐานเปิดโปงตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ยังร้องขอต่อศาลให้ย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดจากการควบคุมของตำรวจไปไว้ในเรือนจำแทน ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา
เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับตำรวจเจ้าของคดี และว่ากันว่าเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ทนายสมชายถูกอุ้มเวลาประมาณ 20.30 น. ริมถนนรามคำแหง เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครพบเขาอีกเลย
อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามจากตำรวจในการจับกุม ‘ตำรวจ’ ด้วยกัน หลังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ 5 คน เกี่ยวข้องกับการอุ้มสมชาย โดยอ้างหลักฐานจากประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์และบันทึกโทรศัพท์
แต่เมื่อไม่พบศพก็ไม่มีหลักฐาน มิหนำซ้ำ พันตำรวจตรี เงิน ทองสุก ผู้ต้องหาเพียงคนเดียวที่ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกในคดีนี้ก็ ‘หายสาบสูญ’ ระหว่างได้รับการประกันตัว โดยญาติแจ้งว่าถูกกระแสน้ำพัดหายตัวไประหว่างก่อสร้างเขื่อนแควน้อย ที่จังหวัดพิษณุโลก ขณะเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ก็พิจารณา ‘ยกฟ้อง’ พันตำรวจตรีเงิน เนื่องจากไม่มีพยานเห็นเหตุการณ์ขณะเขา ‘อุ้ม’ สมชาย
17 ปีผ่านไป เรื่องเกี่ยวกับตำรวจและประชาชนดูจะไม่เปลี่ยนไปเลย… คลิปวิดีโอที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ยังสะท้อนภาพความป่าเถื่อนขององค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่เรียกว่า ‘ตำรวจ’ เหมือนเดิม
เราถาม อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าความรู้สึกแรกของเธอเมื่อเห็นคลิปนี้เป็นอย่างไร
“ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในประเทศไทย ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องของภาคประชาชนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงและการทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐ แค่เพียงเขาเหล่านั้นไม่มีหลักฐานที่สามารถเอาผิดเจ้าพนักงานได้”
อังคณาบอกว่า มีผู้เสียหายหลายคนเข้ามาร้องเรียน หรือให้ฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมากว่าถูกตำรวจซ้อม แต่การลงไม้ลงมือเหล่านี้มักไม่ปรากฏหลักฐาน เพราะหากไม่ทำให้เกิดแผลตามร่างกาย ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ หรือหากปรากฏแผลก็ยังยากที่จะพิสูจน์ว่ามาจากเจ้าพนักงานจริงๆ
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ถุงพลาสติกครอบหัว จะไม่สามารถหาหลักฐานตามร่างกายได้เลย เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่าถูกตำรวจทำร้าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อก็คือ ประชาชนเหล่านี้มักจะถูกตำรวจฟ้องกลับ จึงทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่กล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม
อังคณาเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยมีผู้เสียหายมาร้องเรียนกับเธอว่าถูกเจ้าหน้าที่ใช้สองมือ ‘ตบบ้องหู’ พร้อมกัน ซึ่งทำให้เกิดแรงดันอากาศ และทำให้แก้วหูอักเสบ ชาวบ้านจึงเข้าไปร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือบรรดาหน่วยงานเอ็นจีโอ
แต่ปัญหาก็คือ บาดแผลจากการตบบ้องหูไม่ได้มีให้เห็นเป็นประจักษ์ เมื่อชาวบ้านเข้าไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล พบว่าแก้วหูแตก และได้ให้ข้อมูลกับแพทย์ว่าเกิดจากการทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แพทย์ก็ยังไม่สามารถเขียนสาเหตุของแก้วหูแตกตามที่ผู้เคราะห์ร้ายแจ้งได้อยู่ดี บอกได้เพียงว่าเยื่อบุแก้วหูเป็นรู ทะลุ หรือฉีกขาดเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเอาผิดใครได้
“คลิปที่ออกมาเป็นสิ่งที่สะเทือนใจมาก เพราะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราได้ยิน ได้รับร้องเรียนมาเป็นระยะเวลานาน จำนวนหลายร้อยคน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถเอาผิดใครได้
“อันที่จริงยังมีคดีแบบนี้อีกจำนวนมาก หากเขาถูกถุงพลาสติกคลุมหัวแล้วรอดชีวิตออกมาได้ และออกมาร้องเรียนก็คงไม่มีใครเชื่อเขาหรอกว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายร่างกาย และบางรายถูกทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพ”
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังบอกอีกว่า แม้ปัจจุบัน โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะมีหลักสูตรสิทธิมนุษยชน แต่จากประสบการณ์ของเธอตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง และวัฒนธรรมตำรวจก็ไม่เคยเปลี่ยนไป
“เวลาปฏิบัติงานจริงยังมีตำรวจบางคนที่เชื่อว่าวิธีการทรมานผู้ต้องหาเป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะหากไม่ทรมาน ผู้ต้องหาเหล่านี้จะไม่รับสารภาพ สิ่งนี้คือการไม่เคารพสิทธิ์ของผู้ถูกควบคุมตัวหรือของผู้ถูกกล่าวหา เช่น เขาเหล่านี้มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้การ แต่กลับกลายเป็นทำทุกวิถีทางที่จะเค้นให้เขาสารภาพ
“หรือกรณีการแถลงข่าวก็สามารถสังเกตได้เลยว่า ผู้ต้องหาบางคนใบหน้ายังบวมปูดอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกตั้งคำถาม เขาก็จะตอบว่าผู้ต้องหาทำการขัดขืนการจับกุม พยายามต่อสู้ หรือทำร้ายตำรวจ ตำรวจเลยต้องทำเพื่อป้องกันตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก เพราะผู้ต้องหากลายเป็นบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีตั้งแต่แรกแล้ว”
ทั้งหมดนี้รวมไปถึงการทำแผนรับสารภาพ และการแถลงข่าวจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งแม้จะมีคนร้องเรียนไปเยอะมาก แต่ตำรวจก็ยังคงทำวิธีการนี้ต่อไป มีการระบุชื่อ-นามสกุลผู้ต้องหาขณะแถลงข่าว ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบไปถึงครอบครัว กระทบไปถึงลูกผู้ต้องหาที่โรงเรียน
ส่วนการปฏิรูปตำรวจนั้น อังคณาพูดในฐานะผู้สังเกตการณ์ว่า ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะที่ผ่านมามีความพยายามเสนอการปฏิรูปตำรวจตลอด แต่ไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหน แนวคิดทุกอย่างก็มักถูกปฏิเสธ ถูกคัดค้านจากโครงสร้างของสถาบันตำรวจเอง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ไม่ยินยอมให้เกิดการปฏิรูป
เธอยังบอกอีกว่า ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือกลไกในการตรวจสอบตำรวจนั้น แทบไม่มีภาคประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องเลย แม้รัฐบาลจะอ้างว่าตอนนี้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทั้งระดับชาติหรือระดับจังหวัด แต่หากมองลึกลงไปแล้ว รายชื่อส่วนใหญ่ที่นั่งใน ก.ตร. กลับกลายเป็นคนใกล้ชิดของตำรวจทั้งสิ้น
“สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ ที่ผ่านมา ก.ตร. สามารถตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชนได้หรือไม่ แน่นอนว่าทำได้ แต่ที่ผ่านมาแทบไม่ได้มีผลงาน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชน เหยื่อ บุคคล หรือองค์กรที่มีความรู้ สามารถเข้าไปนั่งในตำแหน่งคณะกรรมการตรงนั้นได้”
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้น อังคณาอยากให้ประชาชนช่วยกันจับตา เพราะร่างนี้ต้องพิจารณาร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งนี้ ส.ว. จำนวนมากเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาตลอด และแน่นอนว่าคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ-ทหารที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายปกครอง ฝ่ายจับกุม-ควบคุม หรือดูแลเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งหากเอาคนเหล่านี้เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการวิสามัญพิจารณากฎหมาย เจตนารมณ์ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งเธอเสนอให้มีการตั้งคนที่ทำงานด้านนี้ หรือเหยื่อของการ ‘ทรมาน’ และการบังคับให้สูญหาย เข้าไปร่วมพิจารณาร่างกฎหมายนี้ด้วย
ข้อกังวลคือ การทำให้ พ.ร.บ. ทรมานสูญหายไม่มีผลย้อนหลัง ซึ่งขัดกับหลักการตามอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ ที่ว่า การบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชกรรมต่อเนื่องที่จะต้องไม่มีอายุความ และรัฐมีหน้าที่ตัองติดตามสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย
หรือเรื่องการรับผิดของผู้บังคับบัญชาตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ กรณีการอุ้มฆ่าที่ก่อนหน้านี้ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็น แม้ไม่มีส่วนร่วมก็ต้องรับผิด เท่าที่ติดตาม ก่อนหน้านี้ สนช. มีความพยายามเปลี่ยนแปลงมาตรานี้ให้มีความผิดเฉพาะผู้ที่ทำการทรมานหรือบังคับสูญหาย โดยตัดการรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาออกไป
ส่วนบทบาทของคณะกรรมการติดตามผู้สูญหายที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นควรเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในเรื่องการทรมานและเรื่องการบังคับให้สูญหายนั้น อังคณาบอกว่าไม่ได้มีมากพอ บทบาทเดียวที่เธอเห็นคือการไปเยี่ยมบ้านของญาติคนหาย ญาติคนถูกทรมาน ให้พวกเขาถอนเรื่องการร้องเรียนออกจากสหประชาชาติเท่านั้น
“ที่ผ่านมาเราเห็นความไม่จริงใจจากภาครัฐ เห็นความพยายามปกป้องเพื่อนพ้องมาตลอด”
อังคณายังบอกอีกด้วยว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่เธอเห็นจนชินตา คือ ‘ความเข้มแข็ง’ ในการปกป้องพวกพ้องกันเองของ ‘สถาบันตำรวจ’ จนไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ โดยเฉพาะในคดีที่ตำรวจเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเอง
ไม่ว่าจะเป็นคดีของทนายสมชาย หรือคดีของ ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ ที่อัยการมีความเห็นว่าชิ้นส่วนกระดูกที่พบ ไม่สามารถบอกได้ว่าถูกฆาตกรรมหรือไม่ หรือถูกฆ่าที่ไหน นำมาสู่ทางตัน แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาที่กลไกเจ้าหน้าที่รัฐในการบังคับใช้กฎหมาย
“บทบาทของเจ้าหน้าที่ทำให้เสียงร้องของประชาชนและของผู้เสียหายเกิดความไม่น่าเชื่อถือ ยกตัวอย่าง ผู้กำกับโจ้นำผู้เสียชีวิตไปโรงพยาบาล เราไม่รู้เลยว่าเขาพูดอะไรกับแพทย์บ้าง เราทราบภายหลังตามที่ตำรวจแจ้งว่าเกิดการต่อสู้ขัดขวาง และเมื่อตรวจปัสสาวะพบสารแอมเฟตามีน ก็คิดทันทีว่าเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าแพทย์เกรงใจในบทบาทของตำรวจ จนขาดอิสระที่จะหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อถ่วงดุลกับตำรวจได้”
คำถามสำคัญก็คือ แล้วประชาชนจะพึ่งพาใคร เพราะแม้แต่ไปโรงพยาบาล แพทย์ก็ยังเชื่อตำรวจมากกว่าผู้ต้องหาหรือญาติผู้ต้องหาอีก เพราะการเป็นผู้ต้องหาได้ถูก ‘ด้อยค่า’ ให้กลายเป็นคนไม่ดีไปแล้ว ซึ่งหากไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจริงจัง เรื่องอย่างนี้ก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป
“อย่างกรณีของผู้กำกับโจ้ มันเป็นข้อเท็จจริงที่ตำรวจไม่สามารถแถได้ เพราะฉะนั้นตำรวจต้องยอมรับ ไม่ใช่มาพูดว่านิ้วไหนร้ายก็ตัดทิ้ง แล้วหัวมีไว้ทำไม หัวควรจะคิดว่าทำอย่างไรที่ไม่เกิดเหตุการณ์นี้อีก ไม่ใช่นิ้วไหนร้ายตัดทิ้งแล้วหานิ้วอื่นมาแทน
“หรืออย่างที่ ผบ.ตร. บอกว่าได้ไล่ออกจากข้าราชการ และตั้งกรรมการสอบวินัยแล้ว สิ่งนี้ทำไปเพื่ออะไร เพราะอย่างแรกที่ควรจะทำคือการตั้งข้อหาในคดีอาญา รีบออกหมายจับ และระหว่างรอหมายศาลก็ควรให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ไม่ให้หลบหนี แต่ก็ไม่ทำ”
“องค์กรตำรวจต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านี้” อังคณากล่าวสรุป
ภาพ: AFP/Reuters
Tags: Report, ตำรวจ, Internal Affairs