สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ตลอดทั้งวัน หลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ได้โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่ามีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ซึ่งคาดว่าจะติดเชื้อระหว่างถูกฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทำให้สังคมต่างกังวลถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเรือนจำ เนื่องจากก่อนหน้านี้ กรมราชทัณฑ์ ผู้รับผิดชอบเรือนจำ ไม่เคยเปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดจริงของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำมาก่อน

ต่อมา ในช่วงบ่าย ‘กรมราชทัณฑ์’ ได้ออกข่าวประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังจำนวนมากติดโควิด-19 จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อในทัณฑสถานหญิงกลาง 1,040 ราย และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 1,795 ราย รวมทั้งสิ้น 2,835 ราย โดยผู้ป่วยทุกรายอยู่ในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยกรมราชทัณฑ์เน้นย้ำว่ามีระบบมาตรการคัดแยกผู้ป่วยอย่างเข้มงวด มีการคัดแยกผู้ต้องขังใหม่อย่างน้อย 21 วัน และยืนยันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เผยออกมาถือเป็นเพียงส่วนน้อย หากเทียบกับผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ และถึงตอนนี้ ยังคงควบคุมสถานการณ์ได้

The Momentum ต่อสายคุยกับ ‘หมอเลี้ยบ’ – นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รวมถึงสถานะพิเศษอย่าง ‘อดีตผู้ต้องขัง’ ซึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อวิเคราะห์ถึง ‘สภาพเรือนจำ’ คลัสเตอร์ใหม่ของโรคโควิด-19 และข้อเสนอแนะต่อ ‘กรมราชทัณฑ์’ ว่าควรทำอย่างไร ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้

นายแพทย์สุรพงษ์ เริ่มเกริ่นถึงลักษณะของสภาพเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพณ ที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่เมื่อปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 ไว้ว่า ‘น่าเป็นห่วง’ อย่างยิ่ง ด้วยจำนวนนักโทษที่มากจนอาจทำให้การคัดกรองผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างล่าช้า และอาจมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้ออยู่

“จากประสบการณ์ที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมไม่แน่ใจว่าภายในเรือนจำมีความไปเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน แต่จากที่ผมติดตามข่าวสารของบุคคลที่อยู่ภายในเรือนจำ ก็คาดว่าภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและเรือนจำที่อื่นๆ คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไหร่นัก และจากตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อในเรือนจำราวๆ สองพันกว่าคน  เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง เพราะเรายังไม่ทราบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในเรือนจำมากน้อยขนาดไหน และไม่ทราบว่ามีการตรวจคัดกรองจำกัดกว้างขวางเท่าไหร่

“ถ้าหากโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ใช้วิธีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อแบบ RT-PCR (Real-time PCR) ก็คาดว่าจะหาตัวผู้ที่มีผลเป็นบวกได้ไม่มากพอในแต่ละวัน เมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองแบบ Rapid Test และถ้าหากทางโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ใช้วิธีการแบบ RT-PCR ในการคัดกรองหาผู้ติดเชื้อจริงนั้น ย่อมมีโอกาสสูงที่จะต้องมีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ และยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหลงเหลืออยู่ รวมถึงมีโอกาสเสี่ยงที่ผู้ต้องขังกลุ่มนั้นจะแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น อย่างคลัสเตอร์ที่ชุมชนคลองเตยเองก็ยังไม่ได้มีการนำวิธีตรวจหาผู้ติดเชื้อแบบ Rapid Test ไปใช้”

ฉะนั้น ถ้าหากประเมินสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำที่ตรวจพบเบื้องต้น 2,835 ราย ก็ไม่ได้ต่างจากยอดภูเขาน้ำแข็งเท่าไรนัก 

“ผมเชื่อว่ายังมีผู้ต้องขังอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังตรวจคัดกรองไปไม่ถึง หรืออาจจะตรวจแล้วไม่พบในตอนแรก เหมือนกรณีของ รุ้ง ปนัสยา” หมอเลี้ยบระบุ

เขายังอธิบายต่อถึงสภาพแวดล้อมในเรือนจำว่ามีขนาดที่เล็กและแออัดนั้น ยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้นักโทษต้องอยู่ใกล้ชิดกัน และติดเชื้อกันได้ง่ายกว่าเดิมมากกว่าสถานการณ์ข้างนอก

“ต้องยอมรับว่าสภาพในเรือนจำนั้นแออัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรือนนอน ที่ส่วนใหญ่ต้องนอนรวมกันที่จำนวนคนราวๆ 20-30 คน เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการเว้นระยะห่าง ขณะเดียวกัน ด้วยกฏระเบียบที่ผู้ต้องขังต้องเข้าเรือนนอนตั้งแต่ 3-4 โมงเย็น จนถึง 6 โมงเช้า ผมไม่ทราบว่าระหว่าง 14-15 ชั่วโมงที่ต้องนอนอยู่ร่วมกันนั้น มีการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาหรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยจริง ย่อมเสี่ยงที่ผู้ที่มีเชื้อซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจหรือยังไม่แสดงอาการ จะเสี่ยงแพร่เชื้อต่อเพื่อนผู้ต้องหาด้วยกันได้”

อีกทั้งเรื่องของการล้างมือและการใช้เจลแอลกอฮอล์เอง ด้วยคนจำนวนมากขนาดนั้น ก็ไม่แน่ใจว่า กรมราชทัณฑ์จะมีให้ผู้ต้องขังใช้มากพอตลอดเวลาหรือไม่ ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมถึงเรื่องเล็กๆ อย่าง ‘ก๊อกน้ำ’ ซึ่งจากที่เคยผ่านเรือนจำมา ก็เชื่อว่าไม่มากพอให้ล้างมือด้วยเช่นเดียวกัน

 

(ภาพเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เครดิต:Reuters)

 

หมอเลี้ยบ ยังฉายภาพให้เห็นด้วยว่า นอกจากเรือนนอนแล้ว บริเวณส่วนอื่นๆ ของเรือนจำ อย่างบริเวณโรงอาหาร ห้องสมุด ที่นั่งพัก ล้วนมีความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อที่ไม่รู้ตัว นำสารคัดหลั่งไปติดยังบริเวณนั้นๆ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก ฉะนั้น ถ้าหากกรมราชทัณฑ์ไม่มีวิธีจัดการที่ดีพอ ย่อมเสี่ยงที่จะมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้อีกเป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น

สุดท้ายนี้ นายแพทย์สุรพงษ์ได้แนะนำวิธีจัดการเรือนจำ  ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในหมู่ผู้ต้องขังในเรือนจำไว้ว่า

“ทางออกที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ คือลดความแออัดในเรือนจำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซียเอง ก็มีวิธีจัดการผู้ติดเชื้อโควิดในเรือนจำในช่วงระลอกแรก โดยปล่อยนักโทษที่มีระยะเวลาคุมขังเหลืออยู่ไม่นานนัก หรือคาดโทษแก่ผู้ต้องหาที่คดีร้ายแรงไม่มากนัก ให้กลับมาอยู่ที่บ้านตนเองก่อน เพราะถึงอย่างไร ในพื้นที่ที่แออัดขนาดนั้น ย่อมไม่สามารถใช้มาตรการควบคุมโรคได้แน่นอน 

 

ส่วนนักโทษที่เหลือก็ต้องรีบจำกัดวงคลัสเตอร์ และรีบเข้าไปคัดกรองแยกผู้ป่วยออกมาจากบริเวณแออัดตรงนั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่กรมราชทัณฑ์อาจจะต้องเริ่มคิดอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน ก็ควรเริ่มคิดถึงวิธีการตรวจหาเชื้อแบบ Rapid Test และแจกหน้ากากอนามัย รวมถึงเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอต่อผู้ต้องขังในแต่ละแดน

“ทั้งนี้ นักโทษที่ติดเชื้อ แต่มีสุขภาพร่างกายดีย่อมไม่น่าเป็นห่วง เพราะสามารถรักษาตัวได้ในโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ แต่สำหรับผู้ป่วยสูงอายุและมีโรคแทรกซ้อนน่าจะเป็นกลุ่มที่น่ากังวล เพราะทางโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์อาจจะมีศักยภาพที่ไม่มากพอ และอาจไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยระดับเข้าขั้นไอซียู ด้วยจำนวนผู้ป่วยขนาดนี้ จึงอาจจำเป็นต้องจัดหาโรงพยาบาลสนามมารองรับผู้ป่วย และถือเป็นวาระเร่งด่วน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงยุติธรรม ต้องรีบเข้ามาดูแลและวางแผน ก่อนสถานการณ์จะรุนแรงไปมากกว่านี้”

 

Tags: