หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตัดสินกรณีการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตุลาการส่วนใหญ่มีมติ 7:2 ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 10 ปี คำวินิจฉัยดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้าง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับทุกองคาพยพในสังคม
คณาจารย์นิติศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้เข้าชื่อกัน ออกแถลงการณ์ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยแนวทางการตีความแบบอื่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากกว่า แถลงการณ์ดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในเฟซบุ๊คของอาจารย์ท่านหนึ่ง จนมีการเผยแพร่ไปในวงกว้างมากที่สุดที่เคยมีการเผยแพร่โพสต์ทางวิชาการ ยอดไลก์ 3 หมื่น และ มีคนแชร์ไปมากถึง 4.6 หมื่นครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของสังคมออนไลน์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งยังไม่รวมถึงการที่สื่อต่างๆ นำความเห็นไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นเดียวกัน
หลายคนอาจสนใจว่า หนึ่งในอาจารย์ที่ร่วมลงชื่อคือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 60 แต่สิ่งที่อยากชวนคิดต่อ คือ เหตุใดกลุ่มคณาจารย์นิติศาสตร์ 36 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 36 ปี (เท่าที่พยายามสืบค้นได้) ถึงมีแนวทางการตีความและมุมมองเรื่องความยุติธรรมที่แตกต่างจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ซึ่งมีอายุเฉลี่ยถึง 68 ปี โดยที่ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยอายุของสองกลุ่มนี้มากถึง 32 ปี เลยทีเดียว
เพราะฉะนั้นจึงอยากพาทุกคนออกจากตัวบทกฎหมายชั่วครู่ ไปยังความคิดเรื่องความยุติธรรม เพื่อเปิดประเด็นสู่การถกเถียงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
Intergenerational Justice
ความยุติธรรมคืออะไร เป็นคำถามคลาสสิกในทางปรัชญา แต่ถกเถียงกันมานับปีมาจนถึงปัจจุบัน นักคิดแต่ละคนก็เสนอแนวทางการตีความที่ต่างกันออกไป เช่น John Rawls ที่เสนอทำความเข้าใจความยุติธรรมด้วยการทดลองเป็นคนอื่น Michael J. Sandel ที่เล่าความยุติธรรมในหลากหลายมิติ ไปจนถึง Amartya Sen ที่ชวนมองว่าเด็กจะเป็นผู้ที่เข้าใจความยุติธรรมมากที่สุด
แล้วทำไมต้องสนใจความยุติธรรมของคนต่างรุ่น (Intergenerational Justice) เป็นสิ่งที่ Joerg Chet Tremmel ศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาได้ตั้งคำถามไว้ในหนังสือ A Theory of Intergenerational Justice ไว้อย่างน่าสนใจว่าความยุติธรรมควรจะมองผ่านเส้นทางของชีวิต (life course) ซึ่งเริ่มจากวัยเด็กไปจนสูงวัย ที่แต่ละช่วงวัยจะมองเรื่องความยุติธรรมแตกต่างกัน คนในสังคมที่มีช่วงอายุใกล้เคียงกันก็จะมีความรับรู้เรื่องความเชื่อ ทัศนคติ และการประสบปัญหาที่คล้ายกันในช่วงเวลาเดียวกัน จนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมของคนต่างรุ่น
Tremmel เสนอว่า ต้องเข้าใจความยุติธรรมควบคู่ไปกับความยั่งยืน (sustainability) เนื่องจากคนรุ่นก่อน เช่น ยุคเบบี้บูมที่มีประชากรเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก มักใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยจนไม่เหลือให้คนรุ่นต่อไป ส่งผลให้เกิดความไม่ยุติธรรมระหว่างกลุ่มคนต่างรุ่น คนเกิดก่อนได้ใช้ทรัพยากรมากกว่าคนเกิดทีหลัง ภาระการฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมจึงตกอยู่กับคนรุ่นหลัง เช่น การเคลื่อนไหวของ เกรต้า ธุนเบิร์ก นักเรียนมัธยมที่ต้องการให้ผู้ใหญ่เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
เมื่อย้อนกลับมาดูกรณีผลของการยุบพรรคอนาคตใหม่ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนหลายสิบแห่งทั่วประเทศ ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าว ซึ่งเป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี 60 หลายคนมองว่าการยุบพรรคนั้นไม่ยุติธรรม เนื่องจากพรรคอื่นๆ ก็มีการกู้ยืมเงิน แต่ก็ไม่ได้ถูกยื่นฟ้องยุบพรรค หรือแม้แต่เป็นการตีความเกินเลยขอบเขตของกฎหมาย เกิดเป็น hashtag #สองมาตรฐานคือไร้มาตรฐาน และ #Saveอนาคตใหม่ จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ลงประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่
เมื่ออ่านความเห็นของกลุ่มคณาจารย์นิติศาสตร์ผ่านแนวคิดความยุติธรรมของคนต่างรุ่น จะพบว่าการตีความกฎหมายในแบบอื่นที่มาจากนักกฎหมายรุ่นใหม่ เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับคนรุ่นต่อไปมากกว่าการตีความแบบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนนักกฎหมายรุ่นก่อน เพราะการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็อาจเกิดพรรคใหม่ขึ้นมาที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับพรรคที่ถูกยุบไปอยู่ดี
America’s Aging Judiciary สังคมตุลาการสูงวัยในอเมริกา
นอกจากเรื่องความยุติธรรมของคนต่างรุ่นแล้ว สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ร่วมกัน คือ สังคมตุลาการสูงวัย อายุเฉลี่ยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 68 ปี ไม่ได้เป็นสิ่งที่พบเฉพาะในศาลรัฐธรรมนูญไทย แต่เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในศาลของสหรัฐอเมริกา ช่วงที่ผ่านมาผู้พิพากษามีอายุที่เพิ่มสูงมากขึ้นจนค่าเฉลี่ยมากถึง 69 ปี ถือเป็นสถิติสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ศาลอเมริกัน แม้ว่าอายุเฉลี่ยที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นผลมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ผู้พิพากษาอาวุโสมักจะวินิจฉัยจากประสบการณ์ในอดีตมากเกินไป
แน่นอนว่าเมื่อผู้พิพากษาพิจารณาคดีแล้วเขียนคำวินิจฉัย ย่อมมีทั้งหลักการที่ร่ำเรียนมา มีเอกสารหลักฐาน การถอดคำไต่สวน รวมถึงอคติต่างๆ (Bias) แอบแฝง เช่น อคติจากการยืนยันในสิ่งที่ตนเองเชื่อ (Confirmation Bias) อคติจากการมองย้อนกลับไปในอดีต (Hindsight Bias) ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (Contiued Influence Effect) ที่ประกอบสร้างเป็นการรับรู้ความยุติธรรมชุดหนึ่งขึ้นมา
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็ส่งผลให้การประมวลผลของสมองช้าลงตามธรรมชาติของมนุษย์ นักวิชาการหลายคนได้ทำการศึกษาและมีข้อเสนอให้บังคับเกษียณ (Mandatory Retirement) ผู้พิพากษาที่ไม่สามารถพิจารณาคดีได้โดยสมบูรณ์ การลดชั่วโมงการพิจารณาคดีลง ไปจนถึงการสร้างกลไกให้สามารถถอดถอนผู้พิพากษาได้
เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่เป็นกลางจากระบบประสาทที่เสื่อมถอยลงและสร้างความมั่นใจในการทำหน้าที่ นักวิชาการด้านกฎหมายแนว Neurolaw จึงได้เสนอให้มีการตรวจประสาทการรับรู้ในทางนิติศาสตร์ (Judicial Cognitive Health Assessment) เพื่อบันทึกการรับรู้ของผู้พิพากษาไว้ในประวัติ ซึ่งถ้าหากไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินก็จะต้องวางแผนการเกษียณอายุให้กับผู้พิพากษา อันเป็นการักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมทางสังคม
ช่วงอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทย
แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่จะมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 และการใช้อำนาจ ม.44 ของหัวหน้า คสช. ซึ่งยังไม่มีตุลาการท่านใดมาจากรัฐธรรมนูญใหม่เลยก็ตาม
รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเป็นแคนดิเดตตุลาการต้องมีอายุระหว่าง 45 ถึง 60 ปี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ถือเป็นช่วงอายุที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ที่ไม่ได้จำกัดอายุผู้สมัครและมีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานมากถึง 9 ปี และเมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 ก็ทำให้ตุลาการบางท่านได้รับการต่ออายุด้วยคำสั่ง คสช. ที่อาศัยอำนาจตาม ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้สามารถวินิจฉัยคดีได้ถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ60 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งการที่องค์กรอิสระนั้นตัดขาดการยึดโยงกับประชาชน ยิ่งจะทำให้ความยุติธรรมของคนต่างรุ่นยิ่งเกิดช่องว่างทางความคิด ตรงนี้เป็นที่เสี่ยงมาก เนื่องจากช่องว่างที่ไม่เปิดช่องให้ประชาชนตรวจสอบอาจนำไปสู่วิกฤตคุณค่าความยุติธรรมทางสังคมได้
แม้ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่การสถาปนาคุณค่าความยุติธรรมชุดใหม่อาจทำได้ยากขึ้น อาจจะต้องเร่งระดมความเห็นในวงกว้างในเร็วขึ้น เพราะเวลาทางสังคม (Social Time) ของคนรุ่นใหม่นั้น เวลาหนึ่งเดือนในช่วงกุมภาพันธ์ อาจจะสั้นกว่าเจ็ดวันของคนรุ่นก่อน
อ้างอิง
Shen, Francis X., Aging Judges (November 20, 2019). Ohio State Law Journal, Forthcoming. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=3490832
Meyer, L. H. (2017). Intergenerational justice. Routledge.
Tremmel, J. C. (2009). A theory of intergenerational justice. Routledge.
ธานี ชัยวัฒน์. (2560). เมื่อมนุษย์นั่งบัลลังก์ศาล: เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยการพิพากษาคดี. ดุลพาห ปีที่ 64 เล่ม 1 หน้า 35-53. https://www.dropbox.com/s/j7qqfkswov4yizd/แถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์กรณียุบพรรคอนาคตใหม่.pdf?dl=0
https://www.fjc.gov/history/exhibits/graphs-and-maps/age-and-experience-judges
Tags: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ยุบพรรคอนาคตใหม่, ศาลรัฐธรรมนูญ