ราวหนึ่งปีที่แล้ว ในเดือนมีนาคม 2560 เหตุการณ์อาวุธสงครามนัดเดียวทะลุเข้าร่างกายเด็กหนุ่มลาหู่ – ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนอายุ 17 ปี และนักกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมในกลุ่ม “กลุ่มรักษ์ลาหู่” อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จนเขาเสียชีวิตลงที่ด่านตรวจบ้านรินหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นข่าวดังตามหน้าสื่อในช่วงเวลาหนึ่ง
สังคมตั้งคำถามต่อเหตุการณ์นี้ในหลายมิติ หนึ่งในข้อสงสัยคือ ‘สาเหตุการตาย’ ของชัยภูมิเกิดขึ้นได้อย่างไร ชัยภูมิตายตามธรรมชาติหรือตายโดยอุบัติเหตุ เขาตายจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจหรือไม่ เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นตามปกติหรือไม่ และการตายของเขามีพฤติการณ์อย่างไร
ในความเรียงฉบับนี้ ผู้เขียนอยากพาไปรู้จัก ‘การไต่สวนการตาย’ เปรียบเทียบระหว่างกระบวนการยุติธรรมของไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้กรณีศึกษาของชัยภูมิ ซึ่งมีผลการไต่สวนการตายหลังจากที่เขาเสียชีวิตลงหนึ่งปี
การเปรียบเทียบนี้ไม่ได้จงใจให้เทียบเคียงว่าใครดีกว่าใคร แต่มีวัตถุประสงค์จะเสนอให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมแบบไหนที่ควรค่าแก่การอำนวยความเป็นธรรมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เสียงปืนดังที่ด่านตรวจถาวร บ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว
เหตุการณ์เมื่อสายของวันที่ 17 มีนาคม 2560 ณ ด่านตรวจบ้านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สาเหตุการตายของชัยภูมิ ป่าแส และการปฏิบัติการตรวจค้นยาเสพติด การจับกุม และการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ณ ด่านตรวจ เป็นข้อเท็จจริงที่ยังคลุมเครือมาจนถึงปัจจุบัน
ญาติของชัยภูมิเข้าใจว่าชัยภูมิโดนใส่ความว่ามียาเสพติดไว้ในครอบครองจึงวิ่งหนีการใส่ความ จนถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนนัดเดียวของเจ้าหน้าที่ทหาร
ส่วนสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรนาหวาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า ชัยภูมิเงื้ออาวุธระเบิดเตรียมขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหารชุดตรวจค้น หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบยาเสพติดในรถที่ชัยภูมินั่งไปพร้อมกับเพื่อน เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 M16 ยิงป้องกันตัวด้วยกระสุนหนึ่งนัด ซึ่งปลิดชีวิตของชัยภูมิ
ด้านการให้สัมภาษณ์ของแม่ทัพภาคที่ 3 พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ อ้างถึงกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุ ว่าตนได้ดูบันทึกนั้นแล้ว และพบว่าเป็นการจับกุมตามปกติ การลั่นไกปืนของพลทหารชุดปฎิบัติการพิเศษนั้นเป็นไปเพื่อป้องกันตัว เพราะผู้ตายทำท่าจะขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ด่านตรวจ การกล่าวถึงบันทึกจากกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุนี้ ยังมีพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อ้างถึงอีกด้วย
จึงไม่อาจปฎิเสธได้ว่า สาเหตุการตายของชัยภูมิมีข้อสันนิษฐานได้หลายทาง และบันทึกจากกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่อยู่ในบริเวณด่านตรวจ ล้วนเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะแสดงถึงข้อเท็จจริงนั้นได้ โดยบันทึกกล้องวงจรปิดนี้ต้องนำเข้าสู่กระบวนการไต่สวนถึงเสียงปืนที่ดังขึ้นร่วมกับพยานหลักฐานชิ้นอื่นๆ เพื่อให้ทราบเท็จจริงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน อย่างไร รวมไปถึงเหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150)
เมื่อการไต่สวนฯ ขาดพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่สรุปผลการไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ระบุว่า “นายชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิตจากการที่เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง กระสุนปืนทำให้ถึงแก่ความตายที่ด่านตรวจถาวรบ้านรินหลวง”
แต่ศาลละข้อเท็จจริงถึงสาเหตุและพฤติการณ์แห่งการตายที่สำคัญไป เช่น ชัยภูมิมียาเสพติดไว้ในครอบครองหรือไม่ขณะตรวจค้น เขาพยายามต่อสู้ขัดขวางการจับกุมหรือไม่ เขามีทั้งอาวุธมีดและระเบิดอยู่ในมือจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทหารได้ยิงปืนใส่เขาโดยมิชอบหรือไม่ หรือแม้แต่การจับกุมตามปกติตามที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างที่เกิดขึ้นในที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยังคงอยู่ในสายลม มิหนำซ้ำ การไต่สวนการตายครั้งนี้ยังขาดบันทึกจากกล้องวงจรปิดของเหตุการณ์ในเวลา 10.00 น.ของวันที่ 17 มีนาคม 2560 อันเป็นเวลาเกิดเหตุได้อย่างน่าบังเอิญ โดยไม่มีใครยืนยันได้ว่าทำไมบันทึกจากกล้องวงจรปิดถึงไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นไต่สวนการตายเพื่อพิจารณาถึงเหตุและพฤติการแห่งการตาย และแม้ทนายความขอให้ศาลเรียกพยานหลักฐานชิ้นนี้จากเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านตรวจ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลสำนวนคดี แต่ทั้งศาลและพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบก็ไม่ได้นำหลักฐานชิ้นนี้ขึ้นสู่การพิจารณา
เป็นที่ชัดเจนว่า การไต่สวนการตายของชัยภูมิครั้งนี้มีข้อมูลที่พร่องไป พยานวัตถุสำคัญอย่างบันทึกจากกล้องวงจรปิดก็ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างครบถ้วน ศาลไทยพิจารณาเพียงหลักฐานที่เข้าสู่สำนวน โดยไม่มีการสั่งให้สืบเสาะเพิ่มเติม โดยศาลให้เหตุผลเพียงว่า ข้อเท็จจริงของบริบทการตายนี้เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอยู่ ให้คู่ความไปดำเนินการในคดีอื่น หรือคดีวิสามัญฆาตกรรม อันเป็นคดีหลักของคดีนี้
ข้อเท็จจริงที่ว่า ใคร – ตายเมื่อไร – ตายอย่างไร รวมไปถึงบริบทการตาย จึงยังคงคลุมเครือ สำนวนคดีของศาลก็ขาดความจริงที่จะยุติข้อสันนิษฐานอันหลากหลาย
การไต่สวนการตายในอีกซีกโลก
ลองเดินทางไปยังอีกฟากหนึ่งของโลกใบนี้ พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งประจำท้องถิ่นแถวภูมิภาคโคลัมเบียตอนล่าง เขต Cowlitz รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ลงข่าวการไต่สวนการตายในห้องขังถึงสามวันติดกันในเดือนมิถุนายน 2561
เราอาจมีคำถาม ผู้ตายเป็นคนมีชื่อเสียงในเมืองนั้นหรือ? คำตอบคือ ไม่ใช่
ผู้ตายเป็นผู้หญิงธรรมดา ชื่อว่า บริทนีย์ สมิธ อายุ 26 ปี ถูกกล่าวหาว่าติดยาเสพติดและถูกจับเข้าห้องขังสองวัน ก่อนจะพบว่าเสียชีวิตลงในห้องขังเมื่อช่วงปลายปี 2559
จุดเริ่มต้นของการไต่สวนเริ่มจากความแตกต่างของผลการชันสูตรพลิกศพของเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ กับรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เรือนจำ
ผลการชันสูตรพลิกศพระบุว่า เธอเสียชีวิตประมาณบ่ายสองของวันที่ 29 ธันวาคม 2559 ในขณะที่รายงานการปฏิบัติหน้าที่กลับระบุว่าเธอเสียชีวิตในห้องขังเมื่อประมาณหกโมงเย็น
ไม่ว่าความตายของเธอจะเกิดจากอะไร แต่เมื่อข้อเท็จจริงพื้นฐานอย่างเรื่องเวลาตายที่ควรจะตรงกันในรายงานสองฉบับ แต่พอผลออกมาแตกต่าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการไต่สวนการตายในครั้งนี้
ในช่วงมิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ นางพยาบาล พนักงาน และตำรวจ ที่รายล้อมการตายของสมิธ เข้าให้การเป็นพยานต่อหน้าลูกขุนและศาล และแน่นอน กล้องจงจรปิดที่ติดในห้องขังและเรือนจำในช่วงเวลาที่สันนิษฐานว่าเธอเสียชีวิต ก็เป็นหลักฐานที่นำเข้าสู่การพิจารณา
การไต่สวนการตายของศาลในสหรัฐอเมริกาโดยมีคณะลูกขุนตัดสินข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีนี้ มีข้อเท็จจริงที่ต้องไต่สวนว่า หนึ่ง ผู้ตายเสียชีวิตเวลาใดกันแน่ และ สอง ผู้ตายจากไปโดยวิธีไหน ฆ่าตัวตาย? อุบัติเหตุ? ฆาตกรรม? หรือตายตามธรรมชาติ?
แม้การไต่สวนการตายไม่ใช่การหาคำตอบว่าใครต้องรับผิดชอบ แต่โจทย์หนึ่งที่อาจพิจารณา ก็คือการดูว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิบัติงานผิดพลาดหรือไม่ และถึงที่สุดแล้ว ข้อสรุปของคณะลูกขุนอาจนำไปสู่ความรับผิดของรัฐต่อการตายในครั้งนี้ หากเป็นความตายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ
ผลการไต่สวน
หลังจากไต่สวนทั้งหมดสามวัน คณะลูกขุนเชื่อว่า เธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเวลาบ่ายสองโมง จากภาวะแทรกซ้อนจากการเสพเมทแอมเฟตามีนและยาต้านซึมเศร้า ตามผลการชันสูตรพลิกศพของเจ้าหน้าที่ ทิม เดวิสัน
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการไต่สวนการตายคือทำให้ได้รู้ว่า เช้าวันที่ 29 ธันวาคม 2559 สมิธไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่เรือนจำอ้างไว้ ความตายของสมิธเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในทางที่ผิดต่อชีวิตของผู้คน เพราะสมิธมิใช่เพียงผู้ถูกคุมขังทั่วไป แต่เป็นผู้ป่วยที่เสพยาเสพติดที่ควรได้รับการปฏิบัติด้วยวิธีการทางการแพทย์
และจากข้อเท็จจริงที่ว่า กรณีของสมิธ เป็นหนึ่งในหกกรณีที่ผู้ต้องขังเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำตามสถิติตั้งแต่ปี 2556 ในเขต Cowlitz รัฐวอชิงตัน คณะลูกขุนยังมีคำแนะนำว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำควรทำหน้าที่ตรวจเช็คผู้ถูกคุมขังอย่างทั่วถึง เช่น เข้าไปในห้องขังแต่ละห้องเพื่อตรวจสภาพร่างกายมากกว่าแค่มองดูจากภายนอก และควรเพิ่มระยะเวลาในการตรวจเช็คให้ถี่มากกว่าเดิม เพื่อป้องกันกรณีที่อาจเกิดคล้ายคลึงกับสมิธ
การไต่สวนครั้งนี้ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับสาเหตุการตายให้แก่หลายฝ่าย เดวิสัน เจ้าหน้าที่พลิกศพ ยังย้ำถึงความสำคัญของการไต่สวนการตายในครั้งนี้ว่า สิ่งที่สำคัญคือครอบครัวของ Smith ควรได้รู้ถึงบริบทการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว และสังคมควรได้รับรู้ถึงความท้าทายต่างๆ ในการปฏิบัติการและวิธีการดำเนินงานในเรือนจำโดยเปิดเผย
แม้ตามรายงานข่าวจะไม่กล่าวถึงการเยียวยาใดๆ ให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อไป แต่ครั้งนี้ สิ่งที่เป็นใจความหลักต่อการค้นหาความคลุมเครือในความตาย คือ ‘การไต่สวนการตาย’ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่า ใคร ตายเมื่อไหร่ ตายอย่างไร รวมไปถึงบริบทการตาย โดยการนำทั้งพยานบุคคล พยานวัตถุ และรายงานที่เกี่ยวข้องเข้าสู่การพิจารณาอย่างครบถ้วน
สุดท้ายผู้้เขียนอยากจะเน้นย้ำว่า ชัยภูมิ ป่าแส และบริทนีย์ สมิธ จะได้รับความเป็นธรรมตามความเหมาะสมแก่กรณี หากว่ากระบวนการยุติธรรมที่ควรค่าแก่การอำนวยความเป็นธรรมได้สถิตย์อยู่ในระบบกฎหมายนั้น ๆ
อ้างอิง:
- The Daily News (Voice of the Lower Columbia Region Since 1923). (Tuesday June 5 to 7, 2018). 2016 jail death inquest begins.
- https://tdn.com/news/local/day-of-cowlitz-jail-inquest-sees-autopsy-evidence/article_14f9e531-f7d3-5f91-b74c-a0698d28d340.html
- https://tdn.com/news/local/jury-finds-inmate-s-death-accidental-agrees-with-coroner-s/article_f1edc814-505e-579d-bc77-455b2ccdeebe.html
- Way Magazine. (4 มิถุนายน 2561). ไทม์ไลน์ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ จากกระสุนปลิดชีวิต สู่กล้างวงจรปิดในตำนาน. https://waymagazine.org/a-year-timeline-chaiyapum-pasae/.
- BBC News บีบีซีไทย. (4 กันยายน 2560). เปิดไต่สวนคดีวิสามัญฯ ชาวลาหู่. https://www.bbc.com/thai/thailand-41144672 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
- ประชาไท. (6 มิถุนายน 2561). คดีวิสามัญฯ “ชัยภูมิ ป่าแส” ทนายผิดหวังคำสั่งไต่สวนการตายของศาล-เตรียมจัดเวทีวิชาการใหญ่. https://prachatai.com/journal/2018/06/77311.
- Bangkokbiznes. (5 มิถุนายน 2561). ทนาย ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ จี้ขอภาพวงจบปิดคลี่คลายคดี. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/804012.
- นักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. (6 มิถุนายน 2561). ศาลเชียงใหม่อ่านคำไต่สวนการตายคดีชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม. https://www.citizenthaipbs.net/node/23300