ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยว่าด้วยลักษณะบุคคล ระบุไว้ว่า บุคคล คือสิ่งที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ สัตว์ไม่มีสิทธิและหน้าที่ จึงไม่ใช่บุคคล ยังมีสิ่งอื่นซึ่งมีสภาพบุคคลด้วย ได้แก่ หมู่คน กองทรัพย์สิน หรือกิจการอันใดอันหนึ่ง เช่น สมาคม มูลนิธิ หรือกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ เช่น สามารถทำการซื้อขายได้ เราเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า นิติบุคคล
ดังนั้น บุคคลจึงแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1. บุคคลธรรมดา และ 2. นิติบุคคล
คงอีกไม่นาน เราอาจจะต้องแก้กฎหมายเพิ่มบุคคลประเภทที่ 3 จะเรียกว่าอะไรดี บุคคลอิเล็กทรอนิกส์ นิติหุ่นยนต์ หรือบุคคลเสมือน ซึ่งคงคล้ายๆ บุคคลประเภทที่สองตรงที่ไม่ได้เป็นมนุษย์
บุคคลประเภทที่สามเกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสาขาปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หุ่นยนต์ (robotics) การประมวลผลคอมพิวเตอร์ (computing) และประสาทวิทยา (cognitive neuroscience) ทำให้จักรกลมีความคิด สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์จนเอาชนะมนุษย์ได้ อย่างเช่น อัลฟาโกะ (AlphaGo) ของกูเกิลที่เอาชนะปรมาจารย์เซียนหมากล้อมของโลกอย่างราบคาบ
ต่อไปในอนาคต จำนวนของจักรกลที่มีปัญญาซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือและแทนที่มนุษย์จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ความก้าวหน้าและความแม่นยำของพวกมันที่มีมากกว่ามนุษย์ในด้านความเป็นอัตโนมัติ ทำให้มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งของมนุษย์ รวมทั้งการที่มันมีระบบเซ็นเซอร์เพื่อรับรู้สภาวะแวดล้อมรอบตัว และพัฒนาเป็นความรู้สึกป้อนเข้าสู่ระบบประสาทเพื่อประมวลผลที่สมองกล และตอบสนองเป็นคำสั่งให้กลไกของมันทำงาน
ปัญญา ความเป็นอิสระ และความรู้สึก สามสิ่งนี้รวมกัน ก่อให้เกิดคำถามในเชิงปรัชญาตามมาว่า สิ่งนี้มีความเป็นบุคคล (personhood) เกิดขึ้นหรือยัง
ถ้าถือเป็นบุคคล สิทธิและหน้าที่ย่อมตามมา และมันจะมีสิทธิและหน้าที่อะไรบ้าง คำถามเรื่องสิทธิคงเรียงไล่ไปตั้งแต่สิทธิในชีวิตของตัวเอง อันหมายถึงสิทธิในการมีชีวิตอยู่โดยไม่ถูกกำหนดให้ตายหรือหยุดทำงานโดยบุคคลอื่น สิทธิในการเติบโต อันหมายถึงการพัฒนาและการเรียนรู้เพิ่ม สิทธิในการซ่อมแซมปรับปรุงร่างกาย เมื่อทำงานก็ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกับมนุษย์ และตามมาด้วยสิทธิในทรัพย์สิน การทำสัญญาและรับหรือให้มรดก รวมทั้งสิทธิในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง
ถ้าเราปฏิเสธสิทธิพวกนี้ นั่นก็หมายความว่ามนุษย์ถือว่าจักรกลเหล่านี้เป็นทาสใช่หรือไม่ แต่การมีปัญญา ทำให้เกิดความมีตัวตน มีอิสรภาพเกิดขึ้น ในอนาคต จักรกลเหล่านี้จะยอมรับสภาวะทาสหรือไม่ นั่นก็เป็นคำถามเชิงปรัชญาอีกอีกเช่นกัน
คำถามต่อไปก็คือ เมื่อมีสิทธิ ย่อมต้องมีหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น การเสียภาษี การช่วยเหลือผู้อื่น การปกป้องประเทศชาติที่ตนสังกัด และการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยและสันติสุขของสังคม หน้าที่อะไรบ้างที่หุ่นยนต์จักรกลพวกนี้ต้องทำให้รัฐหรือสังคม
เราจะกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้จักรกลพวกนี้อย่างไร เพราะจักรกลเหล่านี้ไม่ได้มีรูปร่างเหมือนมนุษย์เสมอไป อาจจะเป็นรถยนต์หรือเครื่องบินไร้คนขับ ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติในโรงงาน หรือโครงข่ายซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต เราจะกำหนดอย่างไรว่าอันไหนเป็นบุคคล อันไหนไม่เป็นบุคคล
นอกจากนั้นยังมีสภาวะกึ่งมนุษย์กึ่งหุ่นยนต์ที่เรียกว่าไซบอร์ก (cyborg) ซึ่งคงเกิดขึ้นแน่ในอนาคต ดังที่บริษัท Neuralink ซึ่งอีลอน มัสก์ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี neural lace ที่สามารถปลูกถ่ายลงไปในสมองมนุษย์ (เชื่อมปัญญาประดิษฐ์บางลักษณะเข้ากับปัญญาชีวภาพ) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่สมองได้รับความเสียหาย ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก หรือผู้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองได้รับความเสียหาย รวมทั้งคนพิการ โดยอาศัยการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่พิการหรือเสียหาย แล้วใช้อวัยวะเทียมที่เป็นจักรกล หรือการเชื่อมต่อสมองเข้าสู่อินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ประโยชน์เรื่องความเร็วในการรับส่งข้อมูล เราจะยอมให้มนุษย์ผ่าตัดได้แค่ไหน ถึงจะยังคงสภาพความเป็นบุคคลประเภทที่หนึ่ง หรือกลายเป็นบุคคลประเภทที่สาม ซึ่งอาจจะมีกฎหมายเรื่องสิทธิและหน้าที่แตกต่างกัน เป็นกฎหมายคนละฉบับหรือคนละมาตรา
สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ ตำตอบคงอยู่ในสายลม เรายังไม่มีนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักการเมือง หรือนักปรัชญาคนไหนเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับจักรกลเหล่านี้ คงต้องรออีกสักพัก
สำหรับพวกเรา คำถามที่ต้องพยายามช่วยกันขบคิดก็คือ เราจะอยู่ร่วมกับจักรกลที่มีปัญญาพวกนี้อย่างไรในอนาคต
ภาพประกอบ: The Tin Woodman as pictured in The Wonderful Wizard of Oz by L. Frank Baum
Tags: cyborg, ไซบอร์ก, ความเป็นบุคคล, personhood, neural lace, Neuralink, ปัญญาประดิษฐ์, บุคคลอิเล็กทรอนิกส์, นิติหุ่นยนต์, บุคคลเสมือน