เริ่มจากเรื่องของหนุ่มสาวสามคน เจิด น้อยและสาย เพื่อนสมัยวัยเยาว์ในหมู่บ้านเล็กๆ ชายขอบพระนคร เมื่อครั้งเป็นเด็กในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงสงคราม สายไปเป็นผู้ช่วยพยาบาลในสุขศาลา เจิดใช้ชีวิตเป็นเด็กหนุ่มในหมู่บ้านที่คอยตามสายไปในทุกที่ น้อยนั้นย้ายไปพระนครเสียหลายปีแล้ว เช้าวันหนึ่งท่ามกลางกระแสข่าวลือกระสืออาละวาด สายตื่นมาพบเลือดเปื้อนผ้าปูเตียง เรียนรู้ทีละน้อยว่ากระสือที่ว่าคือตัวเธอนั่นเอง
ท่ามกลางความกังวล น้อยก็กลับมา ฟังความว่าเขาไปเรียนหมอมาจากในเมืองแต่ยังไม่ทันจบพ่อแม่ก็มาตายเพราะสงคราม ปัญหาเดียวในการกลับมาของน้อยคือเขาพาขบวนนักล่ากระสือจากต่างหมู่บ้านมาด้วย ทัต หัวหน้าขบวนนึกสงสัยแต่แรกว่าสายคือกระสือที่เขาตามหา ทีมล่ากระสือคนนอก ปะทะกับคนในหมู่บ้านที่นำโดยพ่อกำนัน พ่อของสาย
น้อยและสายกลับมารักกัน น้อยรู้ความจริงเรื่องสายหากก็ตัดสินใจที่จะรัก โดยมีเจิดคนดีที่ทุกข์เศร้าอยู่เงียบๆ
เริ่มจากเรื่องของนายตำรวจหนุ่มจากกรุงเทพฯ ถูกส่งมาประจำการที่หมู่บ้านดอนไม้ป่า ที่นั่นเขาได้พบกับสร้อย หญิงสาวลึกลับผู้ดูแลเทวาลัยที่เติบโตมาพร้อมกับความเชื่อศรัทธาในเจ้าแม่นาคี นางพญานาคที่ทั้งคอยดูแลและควบคุม เป็นทั้งความเคารพรักรักและความกลัว ไม่นานหลังจากนั้น เกิดการฆาตกรรมต่อเนื่องขึ้นหลายราย ทุกรายตายสยองราวกับโดนสัตว์ใหญ่ทำร้าย ทุกรายล้วนเกี่ยวพันกับคนที่มาทำรายเจ้าแม่นาคีและเกี่ยวพันกับสร้อย จนมีการสงสัยว่ามีนางนาคอยู่ในหมู่พวกเรา และเจ้าแม่นาคีได้ออกมาล้างแค้นที่ชาวบ้านเคยกระทำไว้ในอดีตชาติ นายตำรวจหนุ่มออกสืบสาวราวเรื่อง และนั่นทำให้สร้อยยิ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยมากขึ้น
และสุดท้าย เริ่มจากคำบรรยายครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ฟังมา *1 ว่าด้วยงานของนักวิชาการชาวอเมริกันชื่อดอนน่า ฮาราเวย์ (Donna Haraway) ที่เสนอกรอบความคิดชื่อ Chthlucence (ปฤถิวิสมัย) *2 อันเป็นคำที่มีที่มาจากชื่อหนึ่งของพระแม่ธรณี (Gaia) จากตำนานกรีก กรอบคิดอันอ่านออกเสียงได้ยากและเข้าใจได้ยากนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง
การจะเข้าใจ Chthlucene อาจต้องเริ่มจากความเข้าใจกรอบความคิด Anthropocene ซึ่งเป็นกรอบความคิดในทางวิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากฝั่งของธรณีวิทยาที่เชื่อว่าในขณะนี้เราได้ก้าวเข้าสู่โลกที่มนุษย์มีพลังอำนาจต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลกมากกว่าตัวโลกเอง มากกว่าลมฟ้าอากาศ หรือภัยธรรมชาติ อย่างที่เราเคยเข้าใจ
กล่าวคือในช่วงเวลาไม่กี่ร้อยปี การปฏิวัติอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของประชากร และการมาถึงของระบบทุนนิยม ได้ทำให้มนุษย์บริโภค ช่วงใช้ ปรับเปลี่ยนโลกใบนี้อย่างล้นเหลือ ยุคสมัยของความเร่งอันยิ่งใหญ่ ทำให้มีปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภูเขาสูญหาย แม่น้ำเหือดแห้ง อากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องรอแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือดาวหางพุ่งชนโลกอีกต่อไป มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของโลกอย่างหนักหน่วงและอันตรายกว่าธรรมชาติแล้ว ด้วยอัตราเร่งที่ยุบย่อสองพันปีให้เหลือหนึ่งร้อยปี
เลยพ้นไปจากความคิดฝั่งวิทยาศาสตร์ Anthropocene ได้แพร่ขยายความคิดเข้าไปยังวิชาการอื่นๆ ทั้งด้านศิลปะ และสังคมศาสตร์ หรือแม้แต่ปรัชญา แนวคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลางที่ถูกพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์นั้นเสริมรับกับกรอบความคิดว่า การที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ทำให้มนุษย์มีความคิดว่าตัวเองนั้นอยู่เหนือสรรพสิ่งทั้งมวล เป็นขั้นสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร สัตว์ สิ่งของ พืช วัตถุอื่นๆ เป็นเพียงของที่มีศักย์ต่ำกว่า ความคิดเกี่ยวกับจุดสูงสุดของมนุษย์
ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น แต่ยังใช้อธิบายการแสวงหาความสมบูรณ์แบบของมนุษย์และเบียดขับความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ออกไปสู่ชายขอบ มนุษย์ดีกว่าสัตว์ ดีกว่าพืช กว่าสิ่งของ และดีกว่ามนุษย์ด้วยกันเองบางจำพวก เช่น คนดำ ผู้หญิง ผู้อพยพ คนป่วยโรคติดต่อ โลกหมุนรอบมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ มนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ทั้งการสร้างสรรค์และทำลาย แนวความคิดมนุษย์นิยมนี้ถูกขยายและท้าทายผ่านแนวความคิด ‘หลังมนุษย์นิยม’ (มนุษย์ดีขึ้นเมื่อเชื่อมตัวเองเข้ากับเทคโนโลยี จนในที่สุดเทคโนโลยีจะเทคโอเวอร์ความเป็นมนุษย์ไปจากมนุษย์ที่มีข้อจำกัดคือมีร่างกายที่ตายได้) มาแล้วก่อนหน้าซึ่งเราจะไม่กล่าวถึงในที่นี้
Chthlucene เป็นอีกหนึ่งแนวความคิดใหม่ที่เริ่มมีการพูดถึงในสามสี่ปีที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่แนวคิดที่มีพื้นมาจากวิทยาศาสตร์ ตัวมันเริ่มต้นจากการเป็นเพียงการอ้างอิง Antropocene เพื่อนำมาอ่านงานวรรณกรรม และเช่นกันต่อยอดไปสู่สิ่งอื่น Chthulucene คือแนวคิดที่พูดถึงการมี ‘คทูลู’ หรือสิ่งที่อยู่ใต้โลกเป็นศูนย์กลาง*3 ดังที่ได้กล่าวไปว่า Chthlu มาจากคำว่า Chthon ที่เป็นชื่อหนึ่งของพระแม่ธรณี ในอีกทางหนึ่งมันก็เป็นชื่อที่ย้อนแย้งและท้าทายต่อวรรณกรรม The Call of Cthlu เรื่องสั้นของเฮช.พี. เลิฟคราฟต์ (H.P Lovecraft) ซึ่งพูดถึงเทพเจ้า/สัตว์ประหลาดใต้โลกที่มีหัวเป็นหนวดปลาหมึกและมีสาวกมากมายบนโลกที่ประกอบพิธีรอให้ Cthulhu กลับขึ้นมาทำลายล้างโลก
ฮาราเวย์ดัดแปลงคำ Cthulhu ไปสู่ Chthlu โดยย้ายที่ตัวอักษร h ให้ไปพ้องกับคำว่า Chthon การเล่นคำนี้กลายเป็นความท้าทาย เมื่อฮาราเวย์มองว่าเรื่องสั้นดั้งเดิมของของเลิฟคราฟต์ นั้นเป็นวรรณกรรมที่ทั้งเหยียดเชื้อชาติและเหยียดผู้หญิง Chthlu ของเธอจึงเป็นการตอบโต้ การทวงคืนของสัตว์ประหลาดใต้โลก โดยเธอหยิบยืมความเป็นหนวดปลาหมึก (tentacle) ของ Cthlhu มาใส่คำอธิบายใหม่ เปลี่ยนจากเทพเจ้าโบราณเพศชายกลายเป็นสัตว์ประหลาดไร้เพศที่เต็มไปด้วยหนวดอันยืดยาว เป็นทั้งเทพเจ้า และปีศาจ หนวดของสัตว์ประหลาดนี้คือภาพแทนของโครงข่ายเชื่อมโยงที่เกี่ยวพันกันไม่จบสิ้น การเกี่ยวพันที่ท้าทายทั้งการมองประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรง (อาจกล่าวได้ว่าคือการมองมนุษย์ในฐานะการวิวัฒน์ไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นแบบทางเดียว) รวมถึงการกวาดเอาเวลาที่ถูกรับรู้เป็นเส้นตรงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ให้มาพันเกี่ยวกัน
ฟังแล้วอาจจะงงงวยว่านี่กำลังพูดถึงเรื่องอะไร พูดไปทำไม การพูดถึงสัตว์ประหลาดหน้าหนวดเกี่ยวอะไรกับกรอบคิดทางปรัชญา
ฮาราเวย์เสนอให้เรามองโลกแบบนี้ มองว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจุดศูนย์กลางของโลก เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหนวดอันพันเกี่ยวนี้ มีพระแม่ธรณี มีแม่ธรรมชาติอยู่เหนือเราอีกชั้นหนึ่ง หากแต่แม่ธรรมชาตินี้ ไม่ใช่แม่ผู้สร้างสรรค์โลกให้เราอยู่อาศัย ไม่ใช่ผู้ที่มีแต่ให้ ไม่ใช่แม่ธรรมชาติที่ถูกมนุษย์ทำลายแล้วมนุษย์ต้องปกป้องแม่ธรรมชาติ แต่แม่ธรรมชาติเป็นเหมือนแม่เราจริงๆ แม่ที่มีความรักมากเท่ากับความกราดเกรี้ยว แม่ธรรมชาติแบบที่มนุษย์ในยุคหนึ่งต้องการเอาชนะ แม่ที่สามารถลงโทษเราอย่างโหดร้ายหรือเรียกคืนทุกอย่างไปจากเรา แม่ที่บันดาลน้ำสะอาดให้เราดื่มแต่สามารถสร้างคลื่นยักษ์กวาดทุกอย่างลงไปในพริบตา
แม่ธรรมชาติที่โหดร้ายพอๆ กับอ่อนโยนนี้คือแม่ที่เราต้องอยู่ร่วมด้วย กล่าวให้ง่ายลงไปอีกคือสิ่งที่ฮาราเวย์เสนอ ได้กลับด้านความคิดแบบตะวันตกในการเอาชนะธรรมชาติกลับไปสู่การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ กับเทพเจ้า กับสัตว์ประหลาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องความงมงายไสยศาสตร์แต่หมายถึงการให้ความเกียรติต่อระบบนิเวศทั้งหมดที่อาศัยร่วมกัน การรู้จักเศร้าเสียใจให้กับสัตว์ที่สูญพันธ์ หรือการสร้างความเป็นเครือญาติ (kinship) กับสรรพสิ่งอื่นๆ บนโลก ซึ่งความเป็นเครือญาติครอบครัวก็เช่นเดียวกับความเป็นแม่ มันคือความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ดีๆ ชั่วๆ ที่มีทั้งความกลัวและความรักผสมกันอยู่ ด้วยการเปลี่ยนวิธีการเล่าเช่นนี้ (ผ่านทางการเล่าวรรณกรรมเก่าใหม่) เราอาจปรับแปลงแนวคิดนี้ไปสู่การเป็นกรอบคิดในการมองโลกนี้เสียใหม่ซึ่งอาจจะถูกนำไปขยายในวิธีคิดของสิ่งต่างๆจากสังคมวิทยาไปจนถึงการแพทย์ในอนาคตได้ ความคิดนี้อาจฟังดูคล้ายความคิดแบบตะวันออก ซึ่งจะอภิปรายต่อไปว่ามันต่างกันอย่างไร
ดูเหมือน ผีกระสือ นางพญานาค จนถึงนางโนราห์ มีอะไรต่อมิอะไรชวนให้นึกถึงคอนเซปต์ของ Chthulu อย่างยิ่ง ทั้งในฐานะของผี สัตว์ประหลาดในตำนาน สัตว์กึ่งเทพเจ้าที่มีเพศเป็นหญิง แถมทั้งคู่ยังมีรยางค์เส้นสายคล้ายหนวดปลาหมีกอีกต่างหาก เราอาจบอกได้ว่ามองจากสายตาของมนุษย์ นี่คือ ‘สัตว์ประหลาด’ ชายขอบคุกคามที่ต้องเบียดขับออกไปกำจัดออกไป
กระสือใน ‘แสงกระสือ’ ถูกอออกแบบขึ้นใหม่ให้แลดู Chthlu อย่างยิ่งด้วยการเปลี่ยนหัวกับไส้ (หัวใจและปอด) ไปสู่หัวกับหัวใจเรืองแสง และรยางค์ยืดยาวจำนวนมากรายรอบ รยางค์ที่มีหน้าที่ทั้งหาอาหาร ป้องกันตัว และแสดงความรัก tentacle ที่เชื่อมร้อยโครงข่ายของความรักความแค้นและความเกลียดชัง เป็นสัตว์ในตำนาน เป็นพระแม่ธรรมชาติที่มีทั้งด้านงดงาม ในรูปของเด็กสาวที่คอยช่วยเหลือคนด้วยความฝันอยากเป็นพยาบาล และด้านชั่วร้ายเพราะเป็นผีกระสือที่กัดกินสัตว์ของชาวบ้าน เป็นสัตว์ประหลาดน่าเกลียดน่ากลัวคนละพวกกับมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง
หากผีกระสือในหนังไม่ได้ถูกเบียดขับในลักษณะของการล่าแม่มดที่เอาคนบริสุทธิ์มาป้ายสี ซึ่งทำให้นัยยะทางการเมืองของหนังอ่อนลงในแง่หนึ่ง เพราะสายเป็นกระสือจริงๆ และที่สายโดนตามล่าไม่ใช่เพียงเพราะเธอกินวัวควายไก่เป็ด แต่เพราะเธอแพร่เชื้อได้ การถูกคุกคามจากเชื้อโรคที่มองไม่เห็น เพิ่มความสมเหตุสมผลของการไล่ล่ากระสือ ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยไก่สดที่น้อยเอามาส่ง แต่การที่เธอแพร่เชื้อได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่คนอื่นจะเป็นกระสือไปด้วยและนั่นคือปัญหา
สัตว์ประหลาดจึงอยู่ร่วมกับมนุษย์ไม่ได้ เพราะในโลกที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง สัตว์ประหลาดที่ ‘มีโอกาส’ จะคุกคามมนุษย์ได้นั้นเป็นภัยที่ต้องกำจัดแม้อาชญากรรมยังไม่ได้เกิดขึ้น ความมีโอกาสที่จะทำได้นี้เป็นเรื่องของอำนาจมากกว่าอื่นใด มองในแง่นี้ชื่อภาษาอังกฤษของหนังจึงกลายเป็นสิ่งน่าสนใจเพราะหนังเปิดทั้ง ความเป็น Inhuman (สัตว์ประหลาด) และ kiss (จูบ -หนทางการแพร่เชื้อโรค) ยิ่งหนังเลือกเกิดบนยุคสมัยสงครามที่การสาธารณสุขแบบตะวันตกยังอยู่ห่างไกล ไม่สมบูรณ์เยี่ยงสุขศาลาไร้ผู้คน หรือหมอฝึกหัดที่ยังเรียนไม่จบ ตัวตนของสายไม่สามารถดำรงคงอยู่ได้ ‘รักษาไม่ได้’ ในโลกก่อนสมัยใหม่ สายจึงต้องถูกกำจัดออกไป
ความเป็นอื่นของสายจึงไม่ใช่ความเป็นอื่นที่กำหนดขึ้นโดยที่สายไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นความเป็นอื่นที่แท้จริง เหมือนกับการขับไล่คนโรคเรื้อน หรือในยุคสมัยหนึ่งการสร้างตราบาปให้กับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV กรอบคิดที่เป็นแกนนำในการขับไส ไล่ล่า ฆ่าทิ้ง คือกรอบคิดแบบที่มองว่ามนุษย์นั้นเป็นจุดสูงสุด สิ่งอื่นเป็นเพียงสัตว์ประหลาด ภัยคุกคาม สิ่งที่ต้องขจัดออกไป โดยไม่มีกรอบคิดของการเคารพหรืออยู่ร่วม หรือแม้แต่ทำความเข้าใจ
สาย เจิด และน้อยจึงต้องกลายเป็นเหยื่อของ Anthropocene ยิ่งเมื่อหนังเปิดเผยถึงเหตุผลในการกลายเป็นกระสือของสาย ว่าเป็นเพียงความซวยที่บังเอิญเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในหนหลังของชุมชนยุคถือผีทำให้หนังสามารถถูกตีความไปในอีกทางหนึ่งโดยเปรียบเปรยเข้ากับสังคมร่วมสมัย ที่ว่าด้วยเด็กวัยรุ่นที่เกิดขึ้นมาโดยไม่มีส่วนร่วมกับความขัดแย้งใดๆ หากต้องมารับผลกรรมจากความขัดแย้งในอดีตนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โศกนาฏกรรมของสาย เจิด และ น้อย ที่ทั้งสามคนเป็นเด็ก และเป็นสัตว์ประหลาด ในระดับต่างๆ กันทั้งที่เป็นจริงๆ และเป็นคนนอก จึงเป็นภาพฉายที่เจ็บปวดสิ้นหวังและมีความหวังเมื่อเราทาบทับมันกับภาพการเมืองร่วมสมัยในช่วงเวลาอันใกล้ที่เรากำลังมี first voter เปนจำนวนมาก
แต่กระสือนางสาวสายอาจไม่ใช่ภาพแทนที่เข้ากรอบ Chthlucene ได้มากเท่ากับภาพของเจ้าแม่นาคี ใน นาคี ภาค 2 ซึ่งมีพล็อตคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งกับแสงกระสือ ในเรื่องของปีศาจสาวกับมนุษย์เพศชายจากแดนไกล
เช่นเดียวกันกับสาย สร้อยเป็นเพียงเด็กสาวชาวบ้านที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีร่างเป็นเจ้าแม่นาคี หรือเป็นผู้สืบสายเลือดพญานาค แต่สิ่งที่ต่างไปจากสายคือ สร้อยมีอำนาจแบบพระแม่ที่แท้จริง ความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับเจ้าแม่นาคีคือความสัมพันธ์แบบที่มนุษย์มีต่อพระแม่ธรรมชาติดังที่ฮาราเวย์ได้เขียนไว้ กล่าวคือ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งเคารพรัก และหวาดกลัว ชาวบ้านรู้ว่าเจ้าแม่นาคีมีอิทธิฤทธิ์ กราบไหว้บูชา ขอให้เจ้าแม่คุ้มครองหมู่บ้าน แต่ในขณะเดียวกัน ก็หวาดกลัว เกลียดชังเจ้าแม่นาคีในฐานะของเจ้าแม่ที่จะออกอาละวาดฆ่าล้างบางหมู่บ้านเสียเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นเจ้าแม่นาคีจึงมีภาพสถานะที่สอดรับกับพระแม่ธรณีทุกประการ
การมาถึงของนายตำรวจหนุ่มจากกรุงเทพฯ กลับแตกต่างกับการมาถึงของน้อยอย่างยิ่ง โดยโครงสร้างของบท หลังการมาถึง หนังก็เดินหน้าด้วยการฆ่าครั้งแล้วครั้งเล่า การสอบสวนคดีไปพร้อมๆ กับความรักของหนุ่มสาวในหนังค่อยๆ ตีคู่กันไป สิ่งที่น่าสนใจคือทั้งน้อยและนายตำรวจล้วนละม้ายภาพของส่วนกลางที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของชาวบ้านชนบท แม้ว่าภาพของน้อยจะก้ำกึ่งมากกว่าก็ตาม
มองในแง่นี้ แสงกระสือ จึงฉายภาพการแผ่ขยายของอำนาจรัฐในยุคที่ความเป็นรัฐยังไม่สมบูรณ์นัก ขณะที่ นาคี 2 แทบจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อในยุคร่วมสมัยที่รัฐได้ลงไปจัดการชาวบ้านอย่างเต็มรูป (จนเป็นการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลาง) การสาธารณสุขในกรณีของน้อย และการปกครองในกรณีของนายตำรวจ จึงเป็นภาพแทนของอำนาจ วิทยาศาสตร์ อำนาจของความเป็นสมัยใหม่ ที่เอื้อมมือมาจัดการผู้คนในชุมชนแบบเก่า
แต่ดูเหมือนทางลงของน้อยกับนายตำรวจแตกต่างกันมาก ในขณะที่น้อยซึ่งถือทั้งความก้ำกึ่งของความเป็นคนนอกคนใน คนของรัฐ (นักเรียนแพทย์) และคนของพื้นที่ไม่สามารถใช้ความรู้สมัยใหม่ของตน ความเป็นวิทยาศาสตร์ของตนในการจัดการกับปัญหาได้เลย นายตำรวจกลับสามารถจัดการกับปัญหา ช่วยสร้อยรอดพ้นจากการบูชายัญ และทำให้หมู่บ้านอันวุ่นวายกลับสู่ความสงบอีกครั้ง เป็นที่พออกพอใจต่อรัฐในการควบคุมชาวบ้านด้วยการประนีประนอมกับความเชื่อดั้งเดิมและทำให้ประชาชนกลายเป็นเด็กดีของรัฐ
แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือตัวตนที่แท้จริงของนายตำรวจ ที่เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ตำรวจหนุ่ม และการจัดการของเขา เกิดจากสายเลือดเทพเจ้าของเขาเองอีกต่างหาก ถึงที่สุดกลายเป็นว่าสิ่งที่รัฐทำไม่ใช่การเอาหลักการสมัยใหม่เข้าไปจัดการชีวิตชาวบ้านให้ดีขึ้น แต่เอาอำนาจเก่าแก่โบราณแบบ Chthulu อีกอันหนึ่งเข้าไปจัดการ ชาวบ้าน ในที่นี้จึงไม่ได้เป็นมนุษย์ผู้เป็นศูนย์กลาง แต่เป็นเหยื่อไร้ปากเสียง และเทพเจ้าแบบ Chthulu นั้นเป็นเทพเจ้าได้ เป็น ‘เจ้าแม่’ เป็นพระแม่ได้ก็ต่อเมื่อรัฐรับรองเท่านั้น
ในกรอบความคิดแบบ Chthlucene นั้นนาคีจึงเป็นตัวอย่างที่ดี หากบอกว่าฮาราเวย์ขุดเอาตำนานเก่าๆ มาแสวงหาความคิดใหม่ผ่านการเล่าแบบใหม่ นาคี 2 ก็แสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่าแบบเก่าและการเล่าแบบเก่านั้นอันตรายและมีอำนาจมากเพียงใด ในมือของรัฐที่ยังไม่ได้เป็นรัฐสมัยใหม่ เพียงแสร้งว่าเป็นเท่านั้น ในขณะที่ต้นเรื่องของนาคีนั้นเล่าเรื่องของเจ้าแม่นาคที่มารักกับคนธรรมดา ภาคนี้ถึงกับให้เจ้าแม่นาคีมารักกับพญาครุฑ คู่แค้นชั่วนิรันดร์ แต่เมื่อครุฑมาจากกรุงเทพ มันก็คือการสมรสสมรักของเทพเจ้าโดยสมบูรณ์ (ไม่มีภาคชั่วร้ายทำลายล้างอีกต่อไป) เทพเจ้าที่เป็นเครื่องหมายการต่อต้านรัฐกลายเป็นแขนขาของรัฐโดยสมบูรณ์
พอมองย้อนกลับไปเราจึงพบว่ามันจึงมีเรื่องของศักดินาที่อวลอยู่ในเรื่องเล่าสองเรื่องนี้ ในขณะที่กระสือสาย นายเจิดและนายน้อย เป็นการดิ้นรนของสามัญชนในโลกปิด ชีวิตของพวกเขาจึงหนีไม่พ้นการเป็นโศกนาฏกรรมของสัตว์ประหลาดไร้ศักดินาที่ถูกเบียดขับออกไปจากชุมชน ในทางตรงกันข้าม ‘นักปกครอง’ ของรัฐ และ ‘เจ้าแม่’ ผู้ปกครองของชาวบ้าน กลับสถาปนาความเป็นสัตว์ประหลาดของตนให้สถิตสถาพร จนตัวประหลาดกลายเป็นเทพเจ้าและเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกขับไล่เป็นผู้ปกครองเสียเอง เมื่อเทียบกันแล้ว นี่จึงเป็นเรื่องของอำนาจทั้งในทางแจ้ง (รัฐ) และในทางลับ (ผี) ต่างหากที่คอยควบคุมผู้คน
ถึงที่สุด ถิ่นที่อยู่ ซึ่งเป็นได้ทั้งในความหมายของลำดับชั้นทางสังคม และพื้นที่เช่นพื้นที่ในยุโรปต่อพื้นที่ของอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทรรศนะพื้นฐานการมองโลกแตกต่างกัน กลับกลายเป็นฝ่ายควบคุมตำแหน่งแห่งที่ของสัตว์ประหลาดเสียเอง สำหรับวิทยาศาสตร์ การปกครอง กรอบคิดแบบสมัยใหม่โดยเนื้อแท้ จึงไม่ได้และไม่อาจดำรงคงอยู่ในสังคมก่อนสมัยใหม่นี้ได้อย่างปกติสุข หากไม่เชื่อมร้อยกับระบบอำนาจของสังคม น้อยที่พยายามรักษาสายต้องไปจากไปจากหมู่บ้าน สูญเสียทุกสิ่งในชีวิต และChuthlu นั้นไม่ได้ถูกเคารพ ถูกสร้างความเป็นเครือญาติ แต่สามารถถูกแบ่งแยกเป็นด้านดีและด้านชั่ว กระหังใน แสงกระสือ และครุฑกับนาคเลวในนาคี 2 กลายเป็นภาพฉายของการเอาตำนานมารับใช้รัฐ การสร้างเครือญาติสามารถกลายเป็นการปกครอง และในที่สุดเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการเถลิง Antropocene แบบคนไม่เท่ากันเท่านั้นเอง
อ้างอิง
*1 Chthulucene” แนวคิดใหม่ในโลก posthuman ของ Donna Haraway -มิ่ง ปัญหา
*2 ปฤถิวิสมัย เป็นคำแปลของอ.มิ่ง ปัญหา โดยอ้างอิงถึง พระแม่ปฤถวี เทวีแห่งพื้นดิน หรือพระแม่ธรณีในความเชื่อแบบฮินดู อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://en.wikipedia.org/wiki/Prithvi
*3 Anthropocene Capitalocene และ Chthulucene กับข้อเสนอของ Donna Haraway
https://blogazine.pub/blogs/apolitical/post/5180
อ่านเพิ่มเติม
Tentacular Thinking: Anthropocene, Capitalocene, Chthulucene
https://www.e-flux.com/journal/75/67125/tentacular-thinking-anthropocene-capitalocene-chthulucene/
Tags: หนังไทย, แสงกระสือ, นาคี 2