คุรุศิษยะ-ปรัมปรา

กว่าจะเกิดมาเป็นคนได้นั้น เราต่างเป็นหนี้หลายต่อหลายอย่าง พระเจ้าทำให้เราเกิด พ่อแม่และบรรพชนทำให้เรามีชีวิต ฤาษีศึกษาความรู้มากมายกว่าจะมาถึงเรา หนี้เหล่านี้ต้องชดใช้ด้วยการสืบเผ่าพันธุ์หรือช่วยเหลือให้สังคมดำรงกฎเกณฑ์ต่างๆ สืบไป

ในโลกที่เติบใหญ่ภายใต้กรอบฐานของวัฒนธรรมอินเดีย นอกจากพ่อแม่แล้ว ความสำคัญระหว่างครูกับศิษย์นับว่ามีบทบาทใหญ่โตมากในสังคม ครูเสมือนพ่อแม่คนที่ 2 เพราะครูมอบสมบัติแห่งชีวิต หรืออรรถะ-ความรู้ ให้กับเรา 

เชื่อกันว่า ระบบครูและศิษย์ ที่เรียกกันว่า ‘คุรุ-ศิษยะ ปรัมปรา’ (Guru-Shishya Parampara) มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงปลายสมัยพระเวท (ร่วมสมัยพุทธกาล) ศาสนาพระเวทเริ่มก้าวเข้าสู่คำถามที่ซับซ้อนมากขึ้นๆ จากเพียงแค่บูชาเทพเจ้า เพื่อขอพรศักดิ์สิทธิ์ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มาสู่การตั้งคำถาม เพื่อหล่อเลี้ยงความหิวกระหายทางความรู้สึกที่กว้างขวางขึ้นไปกว่าปากท้อง

‘เราคือใคร’ 

คำถามนี้กลายมาเป็นสิ่งที่ในทางตะวันตกเรียกว่า ‘อภิปรัชญา’ ของศาสนาฮินดู ซึ่งมาพร้อมกับคัมภีร์กลุ่มหนึ่งเรียกว่า อุปนิษัท (Upanishad) ความหมายของคำๆ นี้เกิดขึ้นจากการประกอบร่างของคำในภาษาสันสกฤต 3 คำคือ อุปะ (ใกล้) + นิ (ลง) และษัท (จงนั่ง) = ‘นั่งลงใกล้ๆ’ 

‘นั่งใกล้ใคร’

ความรู้ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ความเป็นจิตวิญญาณมากขึ้นทีละน้อยๆ นี้ แน่นอนว่าย่อมต้องพึ่งพิงความชำนาญและความเข้าใจในการถ่ายทอด เพื่อเปิดเผยความจริงสูงสุดนั้น ในจุดนี้หนี้ต่อฤาษีจึงปรากฏ ครูผู้คิด เข้าใจ และมองเห็นได้เรียกศิษย์ของตนผู้มีความกระหายใคร่รู้เข้ามานั่งลงใกล้ๆ อาสนะของเขา ก่อนจะกระซิบสิ่งที่เป็นปรมัถต์ (ประโยชน์อย่างยิ่ง, เนื้อความอย่างยิ่ง, ความจริงอันเป็นที่สุด) แก่เขา หลังจากนั้นศิษย์ของเขาย่อมกระทำเช่นเดียวกันกับศิษย์รุ่นต่อมา ระบบแบบนี้เรียกว่า ปรัมปรา (Parampara) โดยความรู้ที่ถ่ายทอดนี้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องราวทางจิตวิญญาณ ทว่าครอบคลุมไปถึงความรู้ทางศิลปศาสตร์ นาฏยศาสตร์ ดุริยศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์

‘แล้วทำไมต้องนั่งลงใกล้ๆ’

นอกจากความซับซ้อนของเรื่องราวที่ถ่ายทอด เพื่อเข้าใจความจริงแท้สูงสุดของความเป็นมาเป็นไปของจักรวาล อีกเหตุผลหนึ่งคือ การถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดเป็นไปผ่านความจำและมุขปาฐะ เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์มากในวัฒนธรรมอย่างอินเดีย ที่ความรู้ทั้งหมดถูกท่องจำและถ่ายทอดมาได้จากยุคพระเวทกระทั่งยุคดิจิทัลอย่างปัจจุบัน ตัวอักษรทุกตัว จังหวะการสวด เนื้อหาทุกบรรทัด ได้รับการส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นตลอดเวลากว่าพันปีผ่านระบบ ‘ครู-ศิษย์’ ผ่านครูและครูของครูทั้งหลาย

ครูผู้เป็นเทพ

ในบทไหว้ครูของไทยมีคำว่า ‘รฦกถึง ครูมนุษย์ ครูผี ครูเทพ’ ระบบแบบนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีที่มาจากขนบแบบอินเดียแน่นอน เทพหลายองค์ได้รับการยกย่องในฐานะมหาคุรุ ตัวอย่างเช่นพระศิวะทรงเป็น ‘โยเคศวร’ ผู้เป็นเจ้าแห่งความรู้เรื่องโยคะ ทรงเป็นนาฏราช เจ้าแห่งการร่ายรำ ผู้สั่งสอนท่วงท่าทั้ง 108 ในศิวปุราณะระบุว่า พระองค์ทรงอวตารลงมายังโลกมนุษย์ทั้งสิ้น 28 ครั้ง โดยครั้งที่ 28 ท่านอวตารลงมาเป็นพราหมณ์ชื่อ ลากุลิศะ (Lakulisha) เพื่อถ่ายทอดปาศุปตะโยคะ ซึ่งหมายถึงการฝึกจิตรูปแบบหนึ่ง ผ่านการปฏิบัติตนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทาตัวด้วยขี้เถ้า อาศัยอย่างสันโดษตามวัดหรือท่าน้ำ เพื่อระลึกถึงพระศิวะในฐานะผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง 

ในทางศิลปกรรม รูปของลากุลิศะ-ศิวะ มักอยู่ในทางท่าถ่ายทอดความรู้ และจากหลักฐานทางโบราณคดี เชื่อกันว่า ลากุลิศะมีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 หรือ 6 ลูกศิษย์ของลากุลิศะไปเผยแผ่ความรู้ด้านโยคะไปทั่วทั้งอินเดียภาคเหนือ รูปลากุลิศะจึงได้ถูกรับรู้โดยคนหมู่มากในฐานะ ‘มหาคุรุ’ เป็นสัญลักษณ์สำคัญ เพื่อแสดงสัมพันธ์กับกลุ่มก้อนของลากุลิศ-ปาศุปตะ 

ขนบการนับถือลากุลิศะเป็นพัฒนาการหนึ่งของระบบความคิดครู-ศิษย์ที่ถูกขับเน้นให้ชัดเจนขึ้น ครูกลายเป็นศูนย์กลางของความรู้และตัวเทพเจ้าเอง คุรุผู้เป็นตัวตนแห่งความรู้จึงได้รับการนับถืออย่างมาก น่าสนใจมากว่า รูปสลักบางรูปได้วางขนาดของรูปคุรุให้มีขนาดใหญ่ทัดเทียมกับรูปของกษัตริย์ สอดคล้องไปกับหลักฐานทางโบราณสถานประเภท มัฐฐะ (Matha) หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า สำนักของคุรุในแต่ละสายปฏิบัติ ซึ่งมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมาก โดยเนื้อหาในบางจารึกตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อธิบายว่า ซับซ้อนมากเสียจนทัดเทียมพระราชวังเลยทีเดียว 

ความเป็นคุรุจึงแปลเปลี่ยนจากเพียงผู้สอน เป็นเสมือนเทพเจ้าบนโลกมนุษย์

พระลากุลิศะในท่าสั่งสอน จากผนังฝั่งใต้เทวาลัยศิศิเรศวร รัฐโอริสสา กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 (ที่มา: อธิพัฒน์ ไพบูลย์)

ครูสอนให้รักแล้วจากไป

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์ 2568) ผมได้รับข่าวผ่านทาง Facebook ว่า ‘ครู’ คนหนึ่งของผม ผู้เป็นทั้งพี่และเป็นทั้งเพื่อนทางความคิดได้จากไปอย่างกะทันหัน ครูคนนั้นของผมชื่อ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง หรืออาจารย์ตุล

ผมรู้จักอาจารย์ตุล ครั้งแรกผ่านรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอนพระพิฆเนศ เมื่อปี 2550 ประจวบด้วยในตอนนั้นเริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับพระพิฆเนศอยู่แล้ว ผ่านการอ่านหนังสือการ์ตูนตำนานกำเนิดพระพิฆเนศในห้องสมุดของโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่สิงสถิตของเด็กอ้วนอย่างผม ผู้ไม่ชอบการออกกำลังกายกลางแจ้ง

อาจารย์ตุลและโจม ดนัย (ผู้ชนะในครั้งนั้น) ทำให้ผมเห็นถึงความกว้างใหญ่ของพระพิฆเนศทั้งในด้านชื่อเสียงเรียงนาม เทวตำนาน และประวัติศาสตร์ ผมรู้สึกประทับใจรายการในวันนั้นอย่างมาก และต้องยอมรับว่า การได้เห็นผู้เข้าแข่งขันในวันนั้นผลัดกันตอบคำถามไปมาเป็นแรงผลักดันหนึ่ง ให้ผมเริ่มศึกษาพระพิฆเนศในแง่มุมที่กว้างขวางขึ้นมากกว่าแค่เทวตำนาน งานเขียนของอาจารย์ตุลได้ถูกผมบริโภคอย่างหิวกระหาย ปูทางไปสู่งานของ รองศาสตราจารย์ ดร.จิรัสสา คชาชีวะ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ผาสุข อินทราวุธ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และนำพาผมมาถึงอินเดียในที่สุด

อาจารย์ตุลสอนปรัชญา-ศาสนา โดยเฉพาะจากซีกโลกตะวันออก อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาลัยศิลปากร ซึ่งก็แน่นอนว่า เป็นมหาวิทยาลัยเดียวกันกับคณะโบราณคดีที่ผมจบมา แต่เป็นเรื่องน่าตลกมากว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในฐานะนักศึกษาปริญญาตรี แม้ผมจะอ้างงานเขียนของอาจารย์ทั้งจากหนังสือผี พราหมณ์ พุทธ หรือคอลัมน์ในชื่อเดียวกันจากทางมติชนสุดสัปดาห์หลายต่อหลายครั้ง แต่ผมกลับไม่เคยมีโอกาสได้เรียนอะไรกับอาจารย์เลย ความสัมพันธ์จึงเป็นในลักษณะครู-ลูกศิษย์ผ่านตัวหนังสือและ Youtube เท่านั้น กว่าผมจะได้มาพบ พูดคุย และรู้จักอาจารย์ตุลในรูปลักษณ์กายเนื้อเป็นครั้งแรกก็ปาเข้าไปกว่าหนึ่งทศวรรษ หลังจากที่รู้จักอาจารย์ผ่านรายการแฟนพันธุ์แท้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (ที่มา: เพจ อาจารย์ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง – Tul Komkrit Uitekkeng )

มีสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจมากหลังจากได้ ‘นั่งลงใกล้ๆ’ อาจารย์ตุล คือ ‘ความรัก’

ความรักในขนบธรรมเนียม ความรักต่อเพื่อนร่วมโลก ความรักในประชาธิปไตย และความรักในความรู้ แม้อาจารย์ตุลบอกเสมอว่า “ผมไม่รู้อะไร” แต่ด้วยเหตุนั้นทำให้เกิดพื้นที่ว่างที่อิสระในมุมมองอาจารย์ แม้อาจารย์จะประกาศชัดว่า ตนเป็นศาสนิก และการสมาทานการเป็นศาสนิกคือ การยอมรับชุดความคิดที่เรามีต่อโลก มนุษย์คนอื่นในโลก และโลกที่อยู่เหนือโลกใบนี้ไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าในหลายครั้งชุดความคิดที่มาพร้อมด้วยขนบธรรมเนียม พิธีกรรม และระเบียบวิธีการ นำไปสู่ความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้สมาทานชุดความคิดคนละชุดกัน เหมือนกับจิ๊กซอว์ที่ไม่สามารถต่อกันติดได้

แต่คำว่า “ผมไม่รู้อะไร” ของอาจารย์ตุลลดทอนความแข็งของความเป็นศาสนิกของตัวเองให้อ่อนลง เปิดพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยและทักทายกันทีละน้อยๆ เพราะ เราไม่รู้อะไรที่เกี่ยวกับความขัดแย้งอะไรนั้น

ความคิดหนึ่งที่อาจารย์ตุลสนใจอย่างพุทธศาสนามหายาน มีคำอธิบายว่า ‘เราทุกคนล้วนเคยเป็นแม่ลูกกัน’ ฉะนั้นเราจึงไม่รู้ว่า ใครเคยรักเราขนาดไหนหรือเราเคยรักใครขนาดไหน เราจึงควรมีเมตตาต่อทุกสรรพชีวิตอย่างไม่เลือกหน้า

ผมเชื่อหนักหนาว่า ชุดคำอธิบายนี้เป็นที่มาของคำว่า ‘ไม่รู้’ ที่อาจารย์ตุลที่ผมรู้จักมักพูดถึงบ่อยๆ

เมื่อเราไม่รู้ ความขัดแย้งจึงกลายเป็นความรัก รักที่จะแสวงหาความรู้และความเข้าใจ

ขอบคุณที่พาผมมาไกลขนาดนี้นะครับ 

ขอให้การเดินทางไกลครั้งนี้เต็มไปด้วยสนุกสนานนะครับ อาจารย์ตุล

‘จงไป จงไป ไปถึงฝั่งโน้น ไปให้พ้นโดยสิ้นเชิง บรรลุถึงความรู้แจ้ง’

อาจารย์ตุลและผู้เขียน (ตรงกลาง) ในโอกาสเสวนาวิชาการที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

Tags: , , , ,