‘แคชเมียร์’ หรือ ‘กัศมีร์’ (Kashmir) กลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกอีกครั้งเมื่ออินเดียกล่าวอ้างว่า ประเทศปากีสถาน เพื่อนบ้านของตน สนับสนุนการก่อการร้าย นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์กว่า 20 ราย จนเกิดการต่อสู้ระหว่าง 2 ประเทศผู้ถือครองอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านทั้งเวทีการทูตและด้วยอาวุธสงคราม

กัศมีร์ คือภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของอนุทวีปอินเดีย คั่นระหว่างเทือกเขาหิมาลัยกับเทือกเขาปีร์ปัญจาล (Pir Panjal Range) ทับซ้อนกับพื้นที่ของประเทศอินเดีย (เขตปกครองจัมมูและแคชเมียร์) ปากีสถาน (อาซัดแคชเมียร์) รวมทั้งจีน (อักไสชิน)

ตั้งแต่สมัยโบราณบริเวณกัศมีร์ถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลามในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 กัศมีร์เป็นเหมือนพื้นที่ถูกสาป เปลี่ยนมือไปมาระหว่างราชวงศ์มุสลิมมุฆัล ราชวงศ์ซิกข์แห่งปัญจาบ และสุดท้ายเจ้าอาณานิคมอังกฤษจึงเข้ามาครอบครองพื้นที่หุบเขาแห่งนี้ในปี 1947 หลังการประกาศเอกราชของประเทศเกิดใหม่อย่างอินเดียและปากีสถาน โดยทั้ง 2 ประเทศต่างอ้างสิทธิปกครองดินแดนแห่งนี้ กระทั่งบานปลายมาถึงเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา 

ความขัดแย้งเหนือพื้นที่จามุนและแคชเมียร์ พูดกันตามจริงเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในอดีตหากย้อนไปเมื่อสหัสวรรษก่อน แคชเมียร์หรือกัศมีร์ในฐานะศูนย์กลางหนึ่งของพุทธศาสนาเคยติดต่อกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราอย่างใกล้ชิดกว่าที่คิด

ภูมิภาคจัมมูและแคชเมียร์ (ที่มาภาพ: Wikipedia)

พุทธศาสนาและกัศมีร์

พระมหากัสสปเถระร้องต่อที่ประชุมสงฆ์ให้ลงมติ เพื่อทำการสังคายนาพระธรรมคำสอนหลังพระพุทธองค์ทรงดับขันธปรินิพพาน การสังคายนาครั้งที่ 1 จึงจัดขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของท่าน พระอุบาลีเถระ เอตทัคคะด้านการจดจำพระวินัย พร้อมด้วยพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก มีบทบาทสำคัญในการช่วยสอบทานพระวินัยและข้อพระธรรมแก่สภาสงฆ์ เนื่องด้วยท่านใกล้ชิดพระศาสดามากที่สุด

เมื่อสิ้นวาระ สภาสงฆ์มีมติให้ลงโทษอาบัติพระอานนท์ด้วยเหตุผล 5 ประการ ได้แก่ 1. ไม่ทูลถามถึงสิกขาบทเล็กน้อยอย่างละเอียด 2. เหยียบผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า 3. ปล่อยให้สตรีถวายบังคมพระสรีระก่อน จนน้ำตาเปียกพระสรีระ 4. ไม่ทูลวิงวอนพระศาสดาให้ดำรงอยู่ตลอดกัป เมื่อพระองค์ทรงทำนิมิตโอภาส (ข้อความเป็นเชิงเปิดโอกาสให้อาราธนา เพื่อดำรงพระชนม์อยู่ต่อ) และ 5. ขวนขวายให้สตรีได้บวชในพระธรรมวินัย มตินี้ยังผลให้พระอานนท์จำต้องออกปลงอาบัติ ท่านจึงได้เดินทางไปเทศนาสอนพราหมณ์มัธยานติกะ พร้อมบริวารจำนวน 500 คน ก่อนจะถูกเชิญไปจำพรรษาอยู่ ณ ดินแดนกัศมีร์ 

 น่าเสียดายที่ในทางโบราณคดี เราไม่พบหลักฐานย้อนกลับไปถึงพระอานนท์ในดินแดนหิมาลัยนี้ กระทั่งหลังการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชจึงส่งสมณทูต คณะพระมัชฌันติกเถระเดินทางไปยังแคชเมียร์และคันธาระ ในประเด็นนี้ คาไนย ลาล ฮาซรา (Kanai Lal Hazra) นักวิชาการด้านพุทธศาสนาชาวอินเดีย ตั้งข้อสังเกตว่า การสังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นเฉพาะในนครปาฏลีบุตรเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องให้มีการส่งพระสมณทูตออกไป เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การสังคายนาซึ่งพระองค์ทรงอุปถัมภ์ในครั้งนี้ ให้เป็นที่ยอมรับในพื้นที่อื่นๆ นั่นเท่ากับว่า หากนับเวลาตั้งแต่พระอานนท์เถระจวบจนถึงพระเจ้าอโศกมหาราช มีพุทธศาสนาเจริญอยู่เดิมแล้ว โดยนักวิชาการทั้งหลายเชื่อกันว่า พุทธศาสนาที่ว่านั้นคือ นิกายสรรวาสติวาท (Sarvastivada) – มูลสรรวาสติวาทิน (Mulasarvastivada) 

ภายหลังพระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคต จักรวรรดิกุษาณะเข้าครอบครองพื้นที่ต่างๆ ในอนุทวีปผ่านประตูแห่งหุบเขาแคชเมียร์ มหาราชกนิษกะแห่งกุษาณะทรงมีพระทัยฝักใฝ่พุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด ถึงขั้นให้อาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระธรรมมาเทศนาถวายในพระราชวังทุกวัน พระองค์ทรงรับอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 โดยพระปารศวะเถระ พระภิกษุในฝ่ายสรรวาสติวาทเป็นองค์ประธาน สรุปผลที่สำคัญของการสังคายนาในครั้งนั้นคงหนีไม่พ้นการนำพุทธศาสนาไปสู่โลกของภาษาสันสกฤต การกำเนิดขึ้นของพระพุทธรูปสกุลเก่าแก่ของโลกอย่าง ‘ศิลปะคันธาระ’ และนำพุทธศาสนาเข้าสู่ส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางบก พ่อค้าจำนวนมากหันมานับถือพุทธศาสนา นำไปสู่การสร้างพุทธสถานและศาสนวัตถุขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่แคชเมียร์ คันธาระ เรื่อยไปถึงเอเชียกลาง โดยพระพุทธรูปประทับยืนขนาดใหญ่ยักษ์แห่งบามิยัน ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความรุ่มรวยนั้น

พระพุทธรูปแห่งบามิยัน (ที่มาภาพ: AFP)

ออกเดินทางจาก ‘แคชเมียร์’ แดนพุทธภูมิ

เอกสาร The Memoirs of Eminent Monks ของ ฮุ้ย เจี่ยว (Hui jiao) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 10 กล่าวถึง คุณวรมัน ภิกษุเชื้อสายแคชเมียร์นำพระพุทธศาสนามูลสรรวาสติวาทมาเผยแผ่ยังเกาะชวา พร้อมทั้งแปลคัมภีร์ในนิกายธรรมคุปตะ ร่วมสมัยกับบันทึกของ พระภิกษุคัง เซงฮุย (Kang Senghui) ชาวซอกเดียน ที่เดินทางมายังอาณาจักรฟูนัน (บริเวณปากแม่น้ำโขง) กับเรือสินค้าของพวกกุษาณะ โดยมีการบันทึกเรื่องราวระหว่างชาวกุษาณะกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

เอกสารราชวงศ์เหลียงระบุถึงกษัตริย์ฟูนันชื่อ ‘เถียนจูจันถัน’ (Tien Chu Chan-Tan) ส่งช้างไปเป็นบรรณาการ โดยจากข้อมูลนี้ ยอร์ซ เซเดส์ (George Coedes) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสและบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณ อธิบายว่า คำว่า ‘จันถัน’ หรือ ‘จันทัน’ นี้เป็นยศขุนนางของซิเถียน-กุษาณ ราชวงศ์กุษาณะ

ขณะที่ ทันเซ็น เซ็น (Tansen Sen) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ New York University Shanghai ประเทศจีน กล่าวว่า อายุเอกสารจีนโดยรวมตรงกันคือ ราวพุทธศตวรรษที่ 10 สอดรับการปรากฏขึ้นของจารึกมหานาวิกพุทธคุปตะ (The Buddhagupta Inscription) จากกัมปุง สุไหงมัส, รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งระบุข้อความสั้น ๆ ว่า ขอให้การเดินทางมหานาวิก (นายเรือ) พุทธคุปตะแห่งรักตมฤตติกา (หรือรัฐกลันตัน) ประสบความสำเร็จ สิ่งนี้สะท้อนว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างอินเดียกับจีน บนเส้นทางสายไหมทางทะเลของช่วง ‘อินโด-โรมัน’ (Indo-Roman) ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6-10 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาของราชวงศ์กุษาณะและคุปตะ 

หลักฐานทางโบราณคดียังบอกอีกว่า แคชเมียร์เข้าสู่สมการทางการค้านี้ด้วยเช่นกัน แหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ จังหวัดระนอง รวมถึงแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี และแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร พบภาชนะมีปุ่มแหลมตรงกลาง (Knobbed Ware) ภาชนะในลักษณะนี้พบกระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เอเชียกลาง จนถึงภายในอนุทวีป ภาชนะดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในเชิงศาสนา อาจเคยถูกใช้เป็นบาตร (?) โดยสงฆ์ในพื้นที่ดังกล่าว ฉะนั้นการพบวัตถุประเภทนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงอาจตีความได้ว่า พระสงฆ์ในแถบนั้นนำติดตัวมาด้วย (?)

ภาชนะมีปุ่มแหลมตรงกลาง (Knobbed Ware) จากแหล่งโบราณคดีถ้ำเสือ จังหวัดระนอง (ที่มาภาพ: อธิพัฒน์ ไพบูลย์)

ข้อน่าสังเกตทางโบราณคดีอีกข้อหนึ่งคือ ในเขตเมืองไบก์ถาโน ประเทศเมียนมา มีโบราณสถานอยู่กลุ่มหนึ่ง (KKG 12, 14, 18/ BTO 5, 16) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ลักษณะเป็นผังสี่เหลี่ยมมีมุขยื่นออกมา สันนิษฐานว่าอาจเป็นบันไดทางขึ้นไปในอาคาร ภายในมีทางประทักษิณล้อมแกนกลางทึบทรงกลมซึ่งอาจเป็นองค์ระฆัง ผาสุข อินทราวุธ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยผังอาคารที่มีกำแพงรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบวงกลม มีลักษณะคล้ายกับผังสถูปที่เมืองโมห์ราโมราฑุ (Mohra Moradu) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 9 ใกล้กับเมืองตักศิลา ภูมิภาคคันธาระ ไม่ไกลจากแคชเมียร์นัก 

 

โบราณสถาน KKG14 (ที่มาภาพ: Thaw, n.d.: 5; ผาสุข อินทราวุธ, 2548: 70)

โบราณสถาน จากเมืองโมห์ราโมราฑุ (ที่มาภาพ: Thaw, n.d.: 5; ผาสุข อินทราวุธ, 2548: 70)

หลักฐานทางโบราณคดีที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคของเรา และภูมิภาคแคชเมียร์ที่ดูห่างไกลนั้นยังมีอีกมาก และคงยังมีอีกมากที่รอการถูกศึกษาเพื่อเปิดให้เห็นว่า ภูมิภาคของเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง แม้อยู่ไกลออกไป แต่ก็ส่งกระแสกระเพื่อมมาถึงอยู่เสมอๆ 

ที่มาข้อมูล

ผาสุข อินทราวุธ. (2543). พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย.

_________. (2548). สุวรรณภูมิ: จากหลักฐานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Bellina, Berenice, and Glover, Ian C. (2004). “The archaeology of early contacts with India and Mediterranean World from the fourth century BC to the fourth century AD.” In Southeast Asia, from the Prehistory to History, 68-89. Edited by Glover, Ian C. and Bellwood, P. London: Curzon Press.

Cœdès, George. (1968). The Indianized states of Southeast Asia. Translated by Brown, Susan. Cowing Honolulu: East West Center Press.

Hazra, Kanai Lal. (1982). History of Theravada Buddhism in South-East Asia with special reference to India and Ceylon. New Delhi: Munshiram Manoharlal Pub.

Sen, Tansen. (2006). “The Travel Records of Chinese Pilgrims Faxian, Xuanzang, and Yijing: Sources for Cross-Cultural Encounters Between Ancient China and Ancient India.” in Education about Asia 11, 3 (Winter): 1-33.

_________. (2014). “Buddhism and the Maritime Crossing in China and Beyind.” In the Mediaeval Period: Cultural Crossing and Inter-Regional Connection, 39-62. Edited by Wong, Dorothy C. and Heldt, Gustav. Amherst and Delhi: Cambria Press and Manohar.

Silapanth, Praon. (2018). “Knobbed Ware from Archaeological Sites in Thailand:
An evidence of Early Exchange between South Asia and Southeast Asia.” in Thammasat Review 21, 1 (January-June): 131-151.

Tags: , , , , ,