สิ่งหนึ่งที่มักถูกหยิบมาพูดถึงกันอยู่เสมอยามเอ่ยถึงประเทศอินเดียหรือผู้คนจากอนุทวีป จนแทบจะเป็นเรื่องหลักที่คนไทยเราจดจำเกี่ยวกับประเทศนี้ คงไม่พ้นไปจาก ‘เรื่องกลิ่น’ ตั้งแต่เรื่องกลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นอาหาร ไปจนถึงกลิ่นกาย
คอลัมน์ Indianiceation ครั้งนี้เลยอยากจะลองชวนคิดชวนคุยว่า กลิ่นแขกต่างๆ ที่ลอยมาแตะจมูกเรานั้น พอจะพาเราไปหาต้นตอหรือเรื่องราวถึงไหนได้บ้าง
กลิ่น (ในอินเดีย) นั้น สำคัญไฉน
ที่ผ่านมามีหลายคนชวนคุยเรื่องกลิ่นหอมต่างๆ และความสำคัญว่าด้วยกลิ่นในวัฒนธรรมอินเดียไปบ้างแล้ว เช่น เรื่อง ‘วาสนา’ ซึ่งมาจากคำกิริยาภาษาสันสกฤษว่า ‘วาสะ’ แปลว่า ‘อบร่ำ’ ทำให้วาสนาเปรียบเสมือนกลิ่นที่ติดตัวมาแต่เกิดจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนนั้นๆ
เรื่องที่สะท้อนประเด็นเรื่องการมีกลิ่นติดตัวได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในวรรณกรรมแดนภารตะคือ เรื่องของนางสัตยวดีที่ว่า เดิมชื่อ ‘มัตสยคันธี’ ที่หมายความว่า ‘นางผู้มีกลิ่นคาวปลา’ เพราะนางเกิดจากท้องปลา ทำให้เป็นที่รังเกียจมาก แต่พอได้รับพรจากฤษี ร่างกายก็กลับมีกลิ่นหอมขึ้นอย่างน่าประหลาด ต่อมาภายหลังนางได้รับชื่อใหม่ว่า สัตยวดี (หญิงผู้มีความซื่อสัตย์) และได้เสกสมรสกับพระราชาศานตนุ ผู้เป็นต้นวงศ์แห่งพี่น้องเการพและปาณฑพในที่สุด ดังที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญวิชช์ ทัดแก้ว คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยพูดถึงประเด็นนี้ไว้ในรายการช่างเชื่อม ตอนครั้งแรกกับปกรณัมอินเดีย ว่า “แค่กลิ่นหอมก็มีชัยไปแล้ว”
ส่วนในคัมภีร์ว่าด้วยการครองเรือนของอย่างกามสูตรก็ได้กล่าวถึงเรื่อง ‘กลิ่น’ เอาไว้อย่างจริงจังมากทีเดียว คัมภีร์ดังกล่าวเชื่อกันว่าเขียนโดยฤาษีตนหนึ่งชื่อ ‘วาตสยายนะ’ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 5-8 ในช่วงต้นของบทที่ 2 ระบุถึงการเตรียมตัวก่อนการมีเพศสัมพันธ์เอาไว้ว่า เรื่องสำคัญหนึ่งที่จำเป็นจะต้องเตรียมให้พร้อมคือ ‘การกำจัดกลิ่น’ โดยเฉพาะกลิ่นปากด้วยการดื่มน้ำ (น้ำที่มีรสหวานจำนวน 5 แก้ว) พร้อมทั้งทำความสะอาดฟันและลิ้นด้วยไม้หอม ล้างผม ล้างร่างกายให้สะอาดด้วยน้ำผสมกลีบดอกไม้
ขณะที่คัมภีร์การแพทย์โบราณอย่างอายุรเวช ก็ระบุไว้ถึงสมุนไพรที่ช่วยเรื่องกลิ่นเอาไว้ เช่น ใบสะเดา มะนาว หัวไชเท้า ซึ่งนอกจากจะช่วยชำระล้างกลิ่นต่างๆ บนร่างกายได้แล้ว อายุรเวทยังแนะนำให้ใช้น้ำผสมด้วยพืชเหล่านี้ในการทำความสะอาดเสื้อผ้าด้วย
การชำระร่างกายด้วยกลิ่นหอมเช่นนี้มิได้จำกัดอยู่แค่มนุษย์เราเท่านั้น แต่ก็ยังปรากฏให้เห็นได้ผ่านพิธีกรรมต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าด้วย กล่าวคือในการบูชาถวายสำราญแด่เทวรูปที่เราเรียกกันอย่างง่ายๆ ว่า ‘การบูชา 16 ขั้นตอน’ เราจะต้องถวายธูป เครื่องหอม และน้ำสรงเจือด้วยดอกไม้แด่องค์เทวรูปด้วย ที่เห็นได้ชัดเลยคือ พิธีแบบอินเดียภาคใต้ที่มีการสรงเทวรูปด้วยผงเครื่องหอม กลีบดอกไม้ น้ำผสมเครื่องหอม นม น้ำผึ้ง และอื่นๆ ซึ่งก็สะท้อนชัดถึงวัฒนธรรมความหอมที่คนอินเดียให้ความใส่ใจ
แต่สุดท้ายคำถามในหมู่คนไทยก็เกิดขึ้น ในเมื่อวัฒนธรรมอินเดียแวดล้อมด้วยเครื่องหอมนานาชนิดเช่นนี้ และคนอินเดียก็ให้ความสำคัญกับกลิ่นหอมไม่น้อย
‘แล้วทำไมคนอินเดียถึงมีกลิ่นตัวกันนะ’
‘กลิ่นแขก’ กลิ่นแห่งความเป็นอื่น?
คำตอบหนึ่งที่ได้ยินตลอดในหมู่คนไทยเกี่ยวกับกลิ่นตัวคนอินเดีย คือ ‘อาหาร’ ซึ่งก็มีส่วนจริงๆ นั่นแหละ เพราะอาหารอินเดียใส่เครื่องเทศจำนวนมาก ทำให้มีกลิ่นค่อนข้างฉุนและเป็นเอกลักษณ์ คนไทยหลายคนไม่คุ้นเคยกับกลิ่นของอาหารอินเดีย
หากมองในมุมกลับกัน ชาวต่างชาติหลายคนที่ไม่เคยกินไทย หรือรวมถึงอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน ก็มักจะพูดกันว่า อาหารแถบบ้านเรามีกลิ่นแรง โดยเฉพาะเมนูที่ใส่น้ำปลา กะปิ หรือปลาร้า ดังที่ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่า
“ชาวสยาม (อยุธยา) ชอบบริโภคน้ำจิ้มเหลวชนิดหนึ่งคล้ายกับมัสตาร์ด ประกอบด้วยกุ้งเคยเน่าเพราะหมักไม่ได้ที่ เรียกว่า กะปิ ซึ่งมีกลิ่มเหม็น แม้จะไม่มากนัก”
ประสบการณ์ว่าด้วย ‘กลิ่น’ นี้ เคลวิน โลว (Kelvin Low) นักมานุษยวิทยาผัสสะผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่น เคยนำเสนอประเด็น ‘กลิ่นกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวันและการตีความเชิงสัญลักษณ์’ ไว้ว่า หลายครั้งคุณลักษณะของกลิ่นในแง่มุมทางสังคมมักจะถูกอธิบายในลักษณะคู่ตรงข้ามหรือเป็นการแบ่งแยกเพื่อระบุความแตกต่าง เช่น กลิ่นความสะอาดและกลิ่นความสกปรก เพราะมนุษย์เราต่างใช้ร่างกายเข้าไปรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวก่อให้เกิดเป็นประสบการณ์ที่แต่ละคนเข้าใจโลกและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันแตกต่างกัน ดังนั้นกลิ่นจึงถือเป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์รับรู้ได้ผ่านการได้รับกลิ่นนั้นๆ เข้ามาและสร้างความหมายและคุณค่าต่อกลิ่นที่ได้รับขึ้น ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะใช้กลิ่นมาตัดสินสิ่งต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย
ความไม่คุ้นเคยที่สัมผัสได้ผ่านกลิ่นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีแนวโน้มที่จะสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับมนุษย์ ครั้นเมื่อได้กลิ่นแปลกๆ เราจะรู้สึกว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่าวางใจ และที่สำคัญคือสิ่งนั้น ‘เป็นอื่น’ ไปจากวัฒนธรรมของเรา ความแตกต่างเช่นว่านั้นจึงมักจะถูกตอบสนองในเชิงสังคมด้วยการนิยามความหมายให้กับกลิ่นนั้นๆ เช่น สังคมไทยนิยามกลิ่นของหมักดองเป็นกลิ่นที่สำคัญในสำหรับการปรุงอาหาร คำนิยามนี้มาจากวัฒนธรรมอาหารของเราที่ให้ความสำคัญกับรสชาติกับของหมักดองเหล่านั้น แต่ในวัฒนธรรมอื่นเช่นวัฒนธรรมตะวันตก ที่เติบโตมากับการปรุงหาอาหารด้วยเกลือกับชีส ทำให้น้ำปลา (สิ่งให้ความเค็ม) ในวัฒนธรรมของเราเป็นกลิ่นที่เขาไม่คุ้นชิน จนสุดท้ายกลายเป็นความเหม็นในที่สุด เช่นเดียวกันครับ กลิ่นของอาหารอินเดีย หรือแม้แต่กลิ่นตัวของคนอินเดีย ก็ล้วนแต่ถูกนิยามด้วยวัฒนธรรมของเราด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ในวัฒนธรรมของเรานิยามคนอินเดียเอาไว้ด้วยคำว่า ‘แขก’ ที่หมายถึงผู้มาเยือนจากถิ่นอื่น แม้คำว่าแขกจะเป็นคำในความหมายบวก แต่ในเชิงหนึ่งมันก็แฝงมุมมองแห่งความเป็นอื่นเอาไว้ด้วยเช่นกัน กอปรกับเอกลักษณ์ที่ชาวอินเดียมี ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นอาหาร กลิ่นตัว หรือแม้แต่กลิ่นหอมในวัฒนธรรมอินเดียที่ต่างออกไปจากวัฒนธรรมเรา ฉะนั้นถ้าคิดกันเล่นๆ ในทางกลับกันว่า หรือจริงๆ แล้วกลิ่นที่ติดตามมากับคนอินเดียถูกมองอย่างติดลบเพราะเขาเป็นอื่นไปจากวัฒนธรรมของเราก็เท่านั้น
กล่าวโดยสรุป มนุษย์เราได้ใช้สิ่งที่เรารับรู้ผ่านประสบการณ์ทางกาย (ผัสสะ) ผนวกรวมกับนิยามทางวัฒนธรรมที่สอดแทรกอยู่ในสังคมนั้นๆ ในการตัดสินเอา (เอง) จนสุดท้ายกลายเป็นค่านิยมทางสังคมว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี ที่ยอมรับกันโดยคนหมู่มากในสังคม และเมื่อคำตัดสินนั้นพัฒนาเป็นค่านิยมในทางวัฒนธรรม กรอบความคิดทางสังคมนี้ส่งผลให้บ่อยครั้งการตัดสินสิ่งหนึ่งๆ จึงมักเกิดขึ้นโดยตัดกระบวนการทางประสบการณ์ทิ้งไปโดยทันที กลายเป็นว่าเมื่อเราได้ยินใครพูดถึงสิ่งๆ นั้น กลิ่น (ในจิตนาการ) ก็จะลอยตามมาโดยทันที กระทั่งสุดท้ายเราก็ใช้ประสบการณ์เหล่านั้นในการตัดสินคนอื่นและผู้มาจากที่อื่น
ที่มาข้อมูล
ณัฐนรี ชลเสถียร. (2567). มานุษยวิทยากับการศึกษากลิ่น เข้าถึงจาก
https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/565
เสมียนนารี. (2566) อาหารเมืองไทยตั้งแต่กรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ จากมุมมองของต่างชาติ เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_48438
Flood, Gavin (1996). An Introduction to Hinduism. Cambridge: Cambridge University Press.
Low, Kelvin E. Y. (2009). Scents and Scent-sibilities: Smell and Everyday Life Experiences. Newcastleupon Tyne: Cambridge Scholars.
Wendy Doniger; Sudhir Kakar (2002). Kamasutra. Oxford World’s Classics. Oxford University Press.
https://www.sanyasiayurveda.com/diseases-body-odor.html
Tags: เครื่องเทศ, อินเดีย, กลิ่น, Indianiceation, แขก