ยังคงอยู่ในเดือนมีนาคม และเดือนแห่งวันวันสตรีสากล ผู้เขียนจึงอยากขอหยิบยกเรื่องราวที่น่าสนใจมาต่อยอดจากคราวก่อน โดยจะลงลึดไปถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดหนึ่งของร่างกายผู้หญิงตามความเชื่อของฮินดูอย่าง ‘โยนี’ และ ‘ระดู’

เหตุหนึ่งที่อยากยกเรื่องนี้มาพูดถึงนั้นก็เพราะว่า ระยะหลังมานี้ผู้เขียนสังเกตเห็นคนไทยเริ่มหันไปนับถือเทวีเก่าแก่องค์หนึ่งแห่งรัฐอัสสัม ซึ่งท่านมีรูปปรากฏดั้งเดิมเป็นโยนีธรรมชาติ ถึงขั้นมีการเดินทางไปมูกันถึงเทวาลัยของท่านในเมืองกุวาหติ ประเทศอินเดีย ดังนั้นแล้วเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น จึงขอชักชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักความเชื่อเรื่องโยนีในอนุทวีปอินเดียกันอีกสักสัปดาห์

โยนีหินหมื่นปี: สัญญะแห่งเพศหญิงและการให้กำเนิดยุคบรรพกาล

ก่อนจะเข้าเรื่องของเราในวันนี้ ผมเคยพูดอยู่บ่อยครั้งว่า การนับถือผู้หญิงหรือการบูชาสิ่งที่มีลักษณะเกี่ยวพันกับสตรีเพศ เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วและยังพบได้ทั่วทั้งโลก เนื่องด้วยความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ (Fertility) เพราะเป็นเพศที่สามารถให้กำเนิดชีวิตและเลี้ยงดูบุตร ตัวอย่างเช่น ในสมัยหินเก่าตอนต้น (Upper Paleolithic) ในยุโรปช่วงประมาณ 3.5-2.5 หมื่นปีมาแล้ว ปรากฏงานศิลปกรรมรูปผู้หญิงที่สำคัญเรียกว่า ‘วีนัส’ มีลักษณะผู้หญิงที่มีหน้าขาและสะโพกใหญ่ ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าเป็นรูปคล้ายผู้หญิงท้อง เพื่อสื่อถึงพระแม่ธรณี หรือในประเทศไทยก็มีภาชนะดินเผาที่เรียกว่า ‘หม้อมีนม’ อายุราว 3,800-4,000 ปี จากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี 

ภาชนะดินเผา (หม้อมีนม) จากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร (ที่มา: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

บาโคเฟน (Bachofen) และลิวอิส เอช. มอร์แกน (Lewis H. Morgan) นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาด้านเพศสภาวะ เสนอว่า ในอดีตสังคมโลกนี้คงปกครองด้วยระบบที่ผู้หญิงมีอำนาจเหนือชายหรือมาตาธิปไตย (Matriarchy) บางสังคมมีการสืบสายทางฝ่ายหญิง และร่องรอยจากนิทานปรัมปราคติที่ผู้หญิงเป็นผู้ปกครองเผ่าพันธุ์ การเคารพบูชาผู้หญิง มีผู้ปกครองเป็นราชินี หรือมีร่องรอยว่ามีการฆ่าเด็กชายแรกเกิด ก็เพื่อแสดงความแข็งแรงของหญิงและความอ่อนแอของชาย

ลักษณะทางชีววิทยาของผู้หญิงมีเพื่อให้กำเนิดชีวิตใหม่ (ความเป็นแม่) เฉกเช่นผืนแผ่นดินหรือผืนน้ำซึ่งมอบชีวิตและอาหารการกิน อีกทั้งระดูของสตรียังเป็นเลือดที่แสดงถึงวัยเจริญพันธุ์ของสตรี สะท้อนถึงความพร้อมให้กำเนิดแรงงาน โดยกรณีของระดูนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นเอกลักษณ์ทางชีวภาพที่เด่นชัดและแตกต่างจากชายอย่างชัดเจน

หลักฐานหนึ่งในอินเดียที่มีอายุเก่าแก่มากคือ ‘ศักติศิลา’ (Shakti Stones) หรือหินบากอร์ (Baghor Stone) โดยย้อนไปเมื่อราวปี 1980 นักโบราณคดีในสังกัดของ เจ. เดสมอนด์ คลาร์ก (J. Desmond Clark) และจี.อาร์. ชาร์มา (G.R. Sharma) ได้พบชิ้นส่วนหินรูปสามเหลี่ยมอายุราว 1.1 หมื่นปีมาแล้ว ณ หมู่บ้านเมเธาลี (Medhauli) ในหุบเขาโสน (Son Valley) รัฐมัธยประเทศ

ศักติศิลาจากหมู่บ้านเมเธาลี รัฐมัธยประเทศ (ที่มาhttps://www.chamundaswamiji.com/baghor-stone-11000-year-old-shakti/)

หินสามเหลี่ยมนั้นแกะสลักลวดลายแล้วเจิมด้วยสีแดง ตั้งอยู่บนลานกลมล้อมรอบเศษหิน อิฐ หรือหินทราย ชาวบ้านในพื้นที่ให้การเคารพบูชาหินสามเหลี่ยมนี้สืบต่อกันในฐานะ ‘หินเจ้าแม่’ ความพิเศษของศักติศิลาก็คือ ลวดลายเรขาคณิตรูปสามเหลี่ยมซ้อนกันบนหินรูปทรงสามเหลี่ยมอีกทีหนึ่ง ซึ่งลายดังกล่าวชักนำจินตนาการของเราให้หวนนึกถึงอวัยวะเพศของผู้หญิงได้อย่างชัดเจน อีกทั้งความลึกลับซับซ้อนของลวดลาย ก็เหมือนความซับซ้อนของช่องคลอดสตรีไม่มีผิดเพี้ยน

หลักฐานชิ้นนี้ถูกตีความว่า เป็นการนับถือสัญลักษณ์ของเพศหญิง ที่แทนด้วยหินสามเหลี่ยม ส่วนวงกลมหินหรือแท่นที่วางนั้นแทนครรภ์มารดาหรือก็คือ ‘มดลูก’ นั่นเอง และด้วยความที่แท่นเปรียบได้กับมดลูกและมีศักติศิลาวางหันออกโชว์รูปลักษณ์ออกเปิดเผย ก็ยิ่งสะท้อนภาพของการเกิดให้เด่นชัดขึ้นไปอีก กล่าวคือด้วยลักษณะการจัดวางเช่นนี้ทำให้นึกถึงท่าคลอดบุตรหรือท่าร่วมเพศ (เหมือนเจ้าแม่ลัชชาเคารี) เพราะหากสตรีไม่อยู่ในท่าทางเช่นนี้ อวัยวะเพศจะไม่เปิดออกให้เห็นองค์ประกอบต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นการก้มลงกราบไหว้เเท่นฐานนี้ก็เหมือนการที่ผู้ศรัทธาหลุดออกมาจากช่องคลอด นี่คือการเน้นย้ำถึงพลังแห่งการสร้างสรรค์ของโยนีได้อย่างน่าสนใจ และเมื่อประกอบกับการกำหนดอายุทางโบราณคดีด้วยแล้ว ศักติศิลานี้จึงเป็นตัวแทนอำนาจของโยนียุคบรรพกาลที่มีลมหายใจครบสมบูรณ์ สะท้อนถึงการนับถือผู้หญิงในฐานะผู้ให้กำเนิด ผู้เป็นแม่ ด้วยระบบสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอวัยวะเพศหญิง

‘ระดู’ เลือดศักดิ์สิทธิ์แห่งโยนีที่เกิดเอง

ในมหากาพย์มหาภารตะและอรรถศาสตร์ของเกาลิยะระบุตรงกันว่า ความสำคัญของเลือดระดูของสตรีนั้นคือ ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์-ลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ ส่วมคัมภีร์ตันตระยุคหลังบางเล่มเชื่อว่า ผู้หญิงจะไม่มีความบริสุทธิ์จนกระทั่งมีประจำเดือน ถึงขนาดว่า อนุญาตให้หญิงมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่นโดยที่สามีจะเอาผิดไม่ได้ หากเธออ้างว่าเพื่อความสมบูรณ์ของระดู

ในพื้นที่ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีเทศกาลหนึ่งที่น่าสนใจคือ อัมบูบาจีเมลา (Ambubachi Mela) เป็นช่วงเวลา 3 วันที่มีน้ำสีแดงไหลในแม่น้ำพรหมบุตร โดยมีความเชื่อกันว่า น้ำสีแดงนั้นมาจาก ‘โยนิปิฐะแห่งกามรูป’ หรือที่รู้จักแพร่หลายในชื่อ ‘เจ้าแม่กามขยาเทวี’ ถือเป็นช่วงเวลาที่เจ้าแม่ทรงมีระดู และน้ำสีแดงที่ไหลออกมานั้นก็คือประจำเดือนของเจ้าแม่ ตลอดช่วงเวลา 3 วันที่เลือดเจ้าแม่ไหลออกมา วัดของพระนางจะปิดเพื่อควบคุมไม่ให้ผู้คนเข้ามาภายในบริเวณวัด เพราะเชื่อว่าพลังของเจ้าแม่นั้นอยู่ในภาวะ ‘ทรงอำนาจ’ หรือพูดแบบศาสนาชายว่า ‘ไม่สมดุล’

แล้วโยนิปิฐะแห่งกามรูปคืออะไร คำตอบคือ ‘สวยัมภูโยนี’ หรือโยนีที่เกิดเองตามธรรมชาติ หากจะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คงจะเปรียบได้กับหินยายในวัฒนธรรมไทย พระสวยัมภูโยนีนี้ประดิษฐานอยู่ ณ ฝั่งตะวันตกของเนินนิลาจาล (Nilachal) เมืองกุวาหติ (Guwahati) รัฐอัสสัม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญนามว่า ‘กามขยาเทวีมณเฑียร’ ซึ่งเป็นเทวาลัยสำคัญมากแห่งหนึ่งในศาสนาฮินดู นิกายศากตะ

 

 

 

กามขยาเทวีมณเฑียร ในช่วงเทศกาลอัมบูบาจีเมลา (ที่มา: AFP) 

 

พิศวนารายัน ศาสตรี (Biswanarayan Shastri) นักโบราณคดีอินเดีย เชื่อว่า สถานที่แห่งนี้ได้รับการบูชาโดยคนท้องถิ่นตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากหินนี้เป็นตาน้ำในถ้ำ ผู้คนในช่วงที่ยังหาของป่าล่าสัตว์อาจเคยมาใช้ประโยชน์จากหินนี้ กระทั่งเมื่อศาสนาฮินดูมีอิทธิพลมายังพื้นที่นี้ หินธรรมชาติที่คล้ายกับโยนีจึงกลายเป็นพระสวยัมภูโยนีในที่สุด

ตามตำนานในศาสนาฮินดู (ศิวปุราณะและสกันทปุราณะ เทวีมหาตมยะ) กล่าวว่า ครั้งหนึ่งหลังการตายลงของพระนางสตี ชายาผู้เป็นที่รักยิ่งของพระศิวะ พระองค์ทรงแบกร่างของพระนางเต้นรำอย่างไร้สติไปทั่วจักรวาล พระวิษณุเห็นทีไม่ได้การ หากพระศิวะเป็นเจ้ายังคงเต้นรำเช่นนี้โลกจะถึงการล่มสลาย พระองค์จึงทรงปล่อยจักรของพระองค์ตัดร่างของพระนางสตีเป็นส่วนๆ ตกลงมายังโลกมนุษย์ (โลก=อินเดีย) ชิ้นส่วนต่างๆ ของพระนางกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า ‘ศักติปิฐะ’ โดยพระสวยัมภูโยนีก็เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนของร่างกายของพระนางสตี ด้วยความเป็นชิ้นส่วนที่แสดงความเป็นหญิงมากที่สุด พระสวยัมภูโยนีจึงได้รับการนับถืออย่างมากที่สุดในบรรดาศักติปิฐะทั้งหลาย    

อย่างไรก็ดีจากตำนานในปุราณะข้างต้นทำให้เราทราบว่า การเข้ามาปฏิสัมพันธ์ของศาสนาฮินดูกับหินยายแห่งเนินนิลาจาลนั้นน่าจะเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นไป จากตาน้ำธรรมชาติจึงแปรสภาพเป็นอวัยวะศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่แห่งจักรวาลที่ราชวงศ์ฮินดูต่างๆ ในพื้นที่แคว้นกามรูป (บริเวณรัฐอัสสัม) นับถือกันสืบมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายในคัมภีร์กาลิกะปุราณะได้ให้พระนามใหม่ว่า กามยเทวี พร้อมด้วยการอธิบายรูปลักษณะทางประติมานวิทยาไว้ว่า เป็นเทวีรูปงามมี 6 พักต์ 12 กร ประทับนั่งลลิตาสนะ (ห้อยพระบาทข้างหนึ่ง) บนปัทมบัลลังก์ (ดอกบัว) ซึ่งยื่นออกมาจากพระนาภีของพระศิวะผู้นอนอยู่บนหลังของราชสีห์ 

เจ้าแม่กามขยาเทวี (ที่มา: Wikipedia) 

การจับพระศิวะนอนมีดอกบัวออกจากสะดือ คือการสลับด้านทางประติมานวิทยาของพระวิษณุบรรทมสินธุ์ที่มีพระพรหมออกมาจากพระนาภี มาสวมแทนด้วยเจ้าแม่และทำให้เจ้าแม่ในฐานะตัวแทนของโยนีศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาลประทับนั่งอยู่บนดอกบัวในฐานะผู้สร้าง เพียงแต่ว่าในกรณีนี้เจ้าแม่เกิดขึ้นมาจากพระศิวะ ต่างจากพระวิษณุที่เป็นผู้สร้างดอกบัว ทำให้สัญลักษณ์การสร้างทั้งหมดย้ายมาอยู่ที่เจ้าแม่นั่นเอง 

จากหลักฐานทั้งหลายนี้แสดงให้เห็นความลุ่มหลงบางอย่างของมนุษย์ ที่จับเข้ากับสถานที่บนเนินที่รัฐอัสสัมและอวัยวะเพศของตัวเองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้ตาน้ำธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ในแง่ต่างๆ กลายร่างเป็นครรภ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งจักรวาลในศาสนาฮินดูสมัยหลัง 

ความลุ่มหลงของคนต่ออวัยวะเพศนั้น มีพลังยากหยั่งถึงจริงๆ นะครับ

ที่มาข้อมูล

ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2522.

เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. รายงานการวิจัยเรื่อง ความเชื่อและรูปแบบงานศิลปกรรมพระศรีอุมาเทวีในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, 2558. 

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, เทวี: เทวสตรีในอินเดีย. กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2559. 

รัศมี ชูทรงเดช, “ผู้หญิง” จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2559.

ปรานี วงศ์เทศ, เพศ และ วัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: นาตาแฮก, 2559.

Gatwood, Lynn E. Devi and the spouse goddess : women, sexuality, and marriage in India. New Delhi : Manohar, 1985.

Devdutt pattanaik. 7 Secrets of the Goddess from the Hindu trinity series. NewDelhi : Westland ltd, 2016.

Chaitanya Kalbag, (2013). Indo-US archaeology team stumbles upon evidence of prehistoric shakti worship in MP เข้าถึงจาก https://www.indiatoday.in/magazine/heritage/story/19820630-indo-us-archaeology-team-stumbles-upon-evidence-of-prehistoric-shakti-worship-in-madhya-pradesh-771928-2013-10-12?fbclid=IwY2xjawJPRcJleHRuA2FlbQIxMAABHUaY7Q8MxSBFX_eJIs_x6Db5nB9D6J63dtrd2JZjjMDQzGpO0F2O5UJ6gg_aem_TfqemctJBHIGzW5guCUddg

Dilip Chakrabarti, (2016). The archaeology of Hinduism

Tags: , , , , ,