รัฐบาลของนเรนทรา โมดีที่มุ่งเน้นนโยบายชาตินิยมฮินดูเป็นหลักทำให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆ กำลังรู้สึกว่าถูกผลักไส ตอนนี้ชาวอัสสัม ที่อาศัยอยู่ใกล้กับชายแดนพม่าและบังกลาเทศถูกเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบว่าเกิดในประเทศอินเดียหรือไม่ ทั้งที่เพิ่งจะใช้สิทธิเลือกตั้งไปในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
การดำเนินการของรัฐบาลทำให้มีประชาชนในรัฐอัสสัมของอินเดียมากกว่า 3.5 ล้านคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงว่าจะถูกยึดสถานะพลเมืองของอินเดีย ให้กลายเป็นผู้อพยพเข้าเมือง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมีแผนที่จะสร้างค่ายกักกันขนาดใหญ่สำหรับผู้อพยพ 10 แห่ง
การตรวจสอบสถานะพลเมืองของประชาชนในรัฐอัสสัมเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นการจัดทำรายชื่อพลเมืองชาวอัสสัมที่มีประชากร 33 ล้านคนขึ้นมา แต่มีชาวอัสสัมมากกว่า 3.5 ล้านคนไม่อยู่ในรายชื่อนี้ ภายใน 31 สิงหาคมนี้พวกเขาต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นชาวอินเดียที่อยู่ที่นี่ก่อนปี 1971 ตอนที่บังกลาเทศแยกประเทศออกไปจากปากีสถาน
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครอบครัวต้องหาหลักฐานของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นสิบปี หรือต้องหาสูติบัตรที่มีชื่อของบรรพบุรุษของตัวเองอยู่
ตอนนี้มีประชาชนถูกจับกุมเพราะต้องสงสัยว่าเป็นผู้อพยพต่างชาติ หนึ่งในนั้นมีทหารผ่านศึกในกองทัพอินเดียด้วย นักกิจกรรมและทนายความกล่าวว่า ความเจ็บปวดจากการถูกทิ้งให้เป็นพลเมืองชั้นสอง และหวาดกลัวว่าจะถูกกักขังในเรือนจำทำให้ชาวอัสสัมหลายคนฆ่าตัวตาย
ชาวอัสสัมดั้งเดิมส่วนใหญ่ที่เป็นชาวฮินดู และไม่พอใจผู้อพยพจากบังกลาเทศ ซึ่งเข้ามาทำงานและแย่งที่ดิน ในปี 1983 เกิดสถานการณ์รุนแรง เมื่อชาวอัสสัมสังหารชาติพันธุ์เบงกาลีซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน และในปี 2012 ก็เกิดความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้ง
เป้าหมายของการตรวจสอบสถานะพลเมืองของประชาชนในรัฐอัสสัมก็คือ ต้องการค้นหาผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจากบังกลาเทศ ซึ่งรัฐบาลของโมดีมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นเหมือนปลวก
รัฐบาลยังคงผลักดันนโยบายที่บังคับให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นพลเมืองของอินเดียเช่นกัน ชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศกำลังอยู่ในความหวาดกลัว เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โมดีก็เพิ่งยกเลิกสถานะพิเศษแก่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งเป็นรัฐเดียวที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
นอกจากนี้ รัฐบาลของโมดีพยายามผ่านร่างกฎหมายในรัฐสภา ซึ่งให้ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู พุทธ คริสต์ และศาสนาอื่นๆ บริหารจัดการตัวเอง ซึ่งกรณีนี้ไม่นับรวมชาวมุสลิม
ที่มา:
https://www.nytimes.com/2019/08/17/world/asia/india-muslims-narendra-modi.html
ภาพ: Adnan Abidi/REUTERS
Tags: อินเดีย, มุสลิม, ฮินดู, นเรนทรา โมดิ, อัสสัม