กลุ่มการค้าเสรีอาร์เซพ (RCEP) จะเดินหน้าลงนามข้อตกลงในปี 2020 โดยไม่มีอินเดียเข้าร่วมก่อตั้ง ผู้นำอินเดียแจงเหตุผลว่า อินเดียไม่ได้รับหลักประกันในเรื่องการเปิดตลาดและกำแพงที่ไม่ใช่การค้า ผลสรุปการเจรจาเช่นนี้คงทำให้จีนแอบยิ้ม

เมื่อวันจันทร์ (4 พฤศจิกายน 2562) ระหว่างเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิทในกรุงเทพฯ อินเดียตัดสินใจยืนนอกวงไปพลางก่อน พร้อมกับขอเจรจาข้อตกลงเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาเข้าร่วมในกลุ่ม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP ในวันข้างหน้า หากได้ข้อตกลงที่ตอบโจทย์

การตัดสินใจของอินเดียทำให้หลายประเทศรู้สึกเสียดาย เพราะเมื่อไม่มีอินเดียคอยถ่วงดุลภายในกลุ่มการค้าที่มีชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership นี้ จีนจะมีบทบาทครอบงำ 

 

ดุลของพลังต่อรอง

ประเทศที่เข้าร่วมอื่นๆ ไม่ว่าชาติสมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ล้วนมีขนาดของตลาดและกำลังการผลิตด้อยกว่าจีนทั้งนั้น ประเทศที่มีกำลังซื้อมหาศาล มีศักยภาพมหึมาที่จะผลิตส่งออกอย่างเช่นจีน ย่อมมีอำนาจต่อรองสูง

ภาวการณ์ที่พูดได้ว่า “จีนครองตลาดการค้าในเอเชีย” เป็นสิ่งที่หลายประเทศไม่อยากให้เกิดขึ้น ระหว่างการเจรจาจัดทำข้อตกลงจัดตั้งกลุ่มอาร์เซพ ท่าทีของอินเดียที่เรียกร้องการปกป้องตลาดภายในเกิดความเห็นแตกต่างเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งมองว่า ถ้าอินเดียยังไม่พร้อม ค่อยเจรจาเข้าร่วมในวันข้างหน้า ฝ่ายแรกนี้นำโดยจีน ขณะที่อีกฝ่ายอยากให้อินเดียร่วมวงตั้งแต่แรกก่อตั้ง ฝ่ายนี้นำโดยออสเตรเลีย 

เมื่อวันจันทร์ ก่อนหน้าการประกาศไม่เข้าร่วมของอินเดีย รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศของจีน เลอยวีเชิง บอกกับนักข่าวว่า “ชาติต่างๆ 15 ประเทศตัดสินใจที่จะเดินหน้าไปก่อน อินเดียพร้อมเมื่อไหร่ เรายินดีต้อนรับ”

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลีย ไซมอน เบอร์มิงแฮม ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวที่ว่าอินเดียจะเข้าร่วมหรือไม่ ว่า “ตามความเข้าใจของผม อินเดียจะยังคงหารือและเจรจาต่อไป ประตูของเราพร้อมเปิดรับอินเดียเสมอ”

ส่วนนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอตต์ มอร์ริสัน บอกว่า ข้อตกลงจัดทำเสร็จแล้ว และบอกว่า “นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีอินเดียเข้าร่วมด้วย แน่นอนว่าเราต้องการให้เป็นเช่นนั้น”

ท้ายที่สุด อินเดียจะเข้าร่วมหรือไม่ ยังน่าสงสัย แหล่งข่าวบอกว่าแนวโน้มเป็นไปได้ยาก เพราะอินเดียคงจะไม่ได้รับเงื่อนไขที่ดีไปกว่าที่ชาติสมาชิกได้ตกลงกันจบไปแล้ว

ถึงแม้อินเดียไม่ได้เข้าร่วม อาร์เซพก็จะยังนับเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลุ่มหนึ่ง 

 

โจทย์ของอินเดีย

รัฐบาลนิวเดลีเผชิญกระแสต่อต้านอย่างหนัก ทั้งภายในพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และฐานเสียงที่เป็นเกษตรกร

โจทย์ของอินเดียมี 2 ประเด็นใหญ่ ข้อแรก เมื่อเปิดตลาดแล้ว ทำอย่างไรที่สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน และสินค้าจำพวกนมเนยจากออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ ซึ่งมีความได้เปรียบผลิตภัณฑ์ในประเทศ จึงจะไม่ทะลักเข้าท่วมประเทศ จนส่งผลให้ผู้ผลิตภายในจมน้ำตายหมด 

ในข้อที่สอง ถ้าอินเดียยอมรับข้อตกลงในประเด็นการเข้าถึงตลาด แต่อินเดียขอข้อแลกเปลี่ยนในเรื่องการเปิดรับแรงงานชาวอินเดีย และการเข้าไปทำธุรกิจภาคบริการในประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้หรือไม่ 

เหตุที่รัฐบาลอินเดียยื่นข้อต่อรองทั้งสองนั้น เป็นเพราะภายในพรรคภารติยะชันตะ (บีเจพี) ซึ่งมีจุดยืนชาตินิยม และพรรคฝ่ายค้าน มีเสียงต่อต้านการเข้าร่วมกลุ่มอาร์เซพ กลุ่มต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับพรรครัฐบาลก็จัดการประท้วงมาแล้วหลายครั้ง

กระทรวงต่างประเทศอินเดียแถลงเมื่อช่วงดึกคืนวันจันทร์ ชี้แจงเหตุผลที่ยังไม่เข้าร่วมว่า ผลประโยชน์หลักของอินเดียที่สำคัญๆ หลายประเด็นยังไม่ได้รับการตอบสนอง ข้อตกลงนี้ถือว่า “ไม่ยุติธรรมและไม่สมดุล” ดังนั้น รัฐบาลเกรงว่า ชาวอินเดียกลุ่มที่อ่อนแอที่สุดจะได้รับผลกระทบ

คำชี้แจงที่หนักแน่นมาจากนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ซึ่งบอกว่า “เมื่อผมชั่งน้ำหนักข้อตกลงฉบับนี้กับผลประโยชน์ของชาวอินเดียทั้งมวล ผมไม่ได้รับคำตอบในทางบวก”

โมดีบอกว่า อินเดียไม่ได้รับหลักประกันว่า ถ้าอินเดียทยอยลดภาษีนำเข้าลงเป็นลำดับตามข้อตกลง จะมีระบบป้องกัน (safeguards) อะไรบ้าง ที่จะไม่ให้สินค้านำเข้าไหล่บ่าเข้าประเทศแบบไม่ทันตั้งตัว นอกจากนี้ อินเดียไม่ได้รับหลักประกันว่า กำแพงต่างๆ ที่ไม่ใช่ภาคการค้าของประเทศสมาชิกอื่นๆ จะถูกยกเลิกไป 

ประเด็นหลักที่อินเดียวิตกก็คือ ประเทศจะยิ่งขาดดุลการค้ากับจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง ซึ่งในช่วงปี 2018/2019 อินเดียขาดดุลจีนเป็นมูลค่า 53,000 ล้านดอลลาร์ฯ 

ในสภาพที่จีนเป็นยักษ์เศรษฐกิจของเอเชียเช่นนี้ ไม่ว่าในกลุ่มอาร์เซพจะมีอินเดียอยู่ด้วยหรือไม่ จีนดูจะอยู่ในฐานะได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง.

 

อ้างอิง:

 

ที่มาภาพ: LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

Fact Box

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าของอาเซียน 10 ประเทศ + จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หากสำเร็จ จะเป็นกลุ่มการค้าที่มีขนาด 29% ของจีดีพีโลก ถือเป็นข้อตกลงการค้าฉบับใหญ่ที่สุดในโลก

Tags: , , ,