เกิดเหตุปะทะกันที่กรุงนิวเดลี อินเดียระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 23 คน และบาดเจ็บสาหัสไม่ต่ำกว่า 150 คน นับเป็นความขัดแย้งระหว่างสองศาสนาที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน
ตั้งแต่นเรนทรา โมดีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รอยร้าวระหว่างสองศาสนาก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายสัญชาติเมื่อไม่นานมานี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติใหม่ ชาวมุสลิมรู้สึกว่าตนเองตกเป็นเหยื่อและกล่าวหาว่ารัฐบาลของโมดี ซึ่งเน้นนโยบายชาตินิยมฮินดูละเลยพวกเขา
ชาวมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในย่านเมาจปูร์ ย่านที่มีโรงงานเล็กๆ หลายแห่งและเต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติใหม่มาหลายสัปดาห์แล้ว จนคืนวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์เริ่มมีการปิดถนนสายหลัก
สถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดเมื่อคาพิล มิชรา นักการเมืองจากพรรคภัทรทิยะ จานะตะ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์เรียกร้องให้ตำรวจกวาดล้างผู้ชุมนุมชาวมุสลิมที่ชุมนุมกันบนท้องถนน และประกาศว่าถ้าไม่ลงมือ ประชาชนแบบเขาจะทำเองตอนที่ทรัมป์กลับไปแล้ว
กลุ่มหัวรุนแรงชาวฮินดูและมุสลิมปะทะกันช่วงดึกของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เริ่มจากขว้างปาก้อนหินใส่กัน แล้วตามด้วยเผาอาคาร รถประจำทาง มอเตอร์ไซค์ ปั๊มน้ำมัน และตลาดเป็นเวลานานเกิน 24 ชั่วโมง ชาวฮินดูจุดไฟเผามัสยิดในย่านอะโชก นาการ์ ขณะที่มีผู้เห็นว่า ผู้ชุมนุมคนหนึ่งขึ้นไปปักธงฮินดูที่หอเรียกสวดมนต์ ความรุนแรงเกิดขึ้นจนถึงกลางคืนวันอังคาร ผู้ประท้วงตะโกนว่า “ขอให้พระรามจงเจริญ” พร้อมกับฉายไปไปที่ชุมชนชาวมุสลิม แม้ว่าตอนนั้นชาวบ้านแถบนั้นจะย้ายออกไปแล้วก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าสถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมาก ไม่ว่าอะไรก็นำไปสู่ความรุนแรงได้
ขณะที่ชาวมุสลิมคนหนึ่งบอกว่า ที่สถานการณ์แย่ลงไปอีกก็เพราะว่าตำรวจสนับสนุนให้ผู้ประท้วงชาวฮินดูเผาทรัพย์สินของชาวมุสลิม มีภาพชาวฮินดูที่ใช้ไม้ฟาดชายมุสลิมคนหนึ่ง จนเขาล้มลงกับพื้นที่เต็มไปด้วยเลือด ขณะที่ตำรวจยืนดูอยู่เฉยๆ
ตอนที่โมดีเป็นผู้ว่าการรัฐคุชราตก็เคยเกิดการจราจลระหว่างสองศาสนา ในปี 2002 มีชาวมุสลิมถูกสังหารโดยชาวฮินดูมากกว่า 800 คน เขาถูกตั้งข้อหาสั่งการให้ตำรวจยืนดูเฉยๆ ขณะที่ความรุนแรงปะทะ ในปี 2012 ศาลฎีกาสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้ แต่เมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2014 ก็ถูกห้ามเข้าสหรัฐอเมริกาจากกรณีนี้
ศาลสูงสุดของกรุงเดลี ซึ่งไต่สวนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกล่าวว่า เหตุการณ์นี้สามารถนำไปสู่เหตุการณ์แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 1984 ที่มีชาวซิกข์กว่า 3,000 คนถูกฆ่าจากกลุ่มต่อต้านชาวซิกข์
ยังไม่มีรายงานเหตุรุนแรงเพิ่มเติมในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ขณะที่โมดีทวีตข้อความว่า เขาเรียกร้องความสงบ หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาแล้ว 3 วันสิ้นสุดลง และเสริมว่า กำลังตรวจสอบสถานการณ์และตำรวจกำลังทำงานเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-51639856
https://www.nytimes.com/2020/02/25/world/asia/new-delhi-hindu-muslim-violence.html
https://www.ft.com/content/a864a060-57e5-11ea-a528-dd0f971febbc