ศาลฎีกาประเทศอินเดียมีคำสั่งแล้วว่า สถานที่ที่ตั้งของมัสยิดบาบรี ในเมืองอโยธยา รัฐอุตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นของศาสนาฮินดู หลังจากที่เป็นข้อพิพาทระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมมาหลายทศวรรษ
สถานที่แห่งความขัดแย้งนี้คือสุเหร่าบาบรี (Babri) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี 1528 เป็นที่เคารพสักการะของชาวมุสลิมมาหลายร้อยปี ก่อนถูกทำลายลงโดยผู้ประท้วงชาวฮินดูในปี 1992 ทำให้เกิดการปะทะกันที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 2,000 คน
โดยชาวฮินดูจำนวนมากเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ประสูติของพระรามซึ่งเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพมากที่สุด ด้านชาวมุสลิมก็กล่าวว่าพวกเขาสักการะบูชาสถานที่แห่งนี้มานานจากรุ่นสู่รุ่น
ศาลมีคำตัดสินเป็นเอกฉันท์โดยอ้างถึงรายงานของกรมสำรวจโบราณคดีแห่งอินเดียที่ระบุว่ามีหลักฐานว่าซากอาคารที่อยู่ข้างใต้โครงสร้างที่ถูกทำลายของสุเหร่าบาบรีนั้น ‘ไม่ใช่เป็นแบบอิสลาม’
ศาลกล่าวว่า จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพื้นที่พิพาทนี้ควรมอบให้ชาวฮินดูนำไปก่อสร้างวิหารบูชาพระราม โดยชาวมุสลิมจะได้พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อสร้างสุเหร่า
คำตัดสินทำให้รัฐบาลเดินหน้าตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการและควบคุมการก่อสร้างวิหาร อย่างไรก็ดี ศาลก็ยังระบุว่าการทำลายสุเหร่าบาบรีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
สำหรับปฏิกิริยาหลังอ่านคำตัดสิน เบื้องต้น ตัวแทนของคู่ความฝ่ายมุสลิมกล่าวว่าพวกเขาไม่พอใจในคำตัดสิน และจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป หลังจากได้อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มแล้ว อย่างไรก็ตาม คู่ความทั้งสองกล่าวว่าจะไม่อุทธรณ์ต่อคำพิพากษา
ขณะที่สถานการณ์ภายนอกศาลค่อนข้างสงบ โดยเมื่อวันศุกร์ก่อนจะมีคำพิพากษาออกมา ประชาชนนับร้อยในอโยธยาถูกควบคุมตัวไว้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุรุนแรง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายพันนายถูกส่งเข้าไปประจำการในเมือง ขณะที่ร้านค้า และวิทยาลัย ปิดตัวตั้งแต่วันจันทร์ที่แล้ว
รัฐบาลสั่งไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพสุเหร่าบาบรีถูกทำลาย และในโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ถูกจับตาดูเนื้อหาที่ยั่วยุอย่างใกล้ชิด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยตอบทวีตและสั่งให้ผู้ใช้ลบเนื้อหาออก
ส่วน นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ได้ทวีตหลังจากมีคำตัดสินว่า มันไม่ใช่เรื่องแพ้หรือชนะของใครทั้งนั้น
พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทมานานหลายทศวรรษ นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ที่เริ่มมีการณรงค์ให้เรียกคืนสถานที่ประสูติของพระราม ชาวฮินดูจำนวนมากเชื่อว่า สุเหร่าบาบรีถูกสร้างทับซากของวิหารฮินดู โดยผู้รุกรานชาวมุสลิมในศตวรรษที่ 16 ขณะที่กลุ่มชาวมุสลิมกล่าวว่า พวกเขาใช้พื้นที่มามานานจนกระทั่งเดือนธันวาคม ปี 1949 มีชาวฮินดูนำเทวรูปพระรามเข้ามาประดิษฐานในสุเหร่า
ที่มา
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-50355775
https://www.nytimes.com/2019/11/11/opinion/india-ayodhya-temple-ruling.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-50065277
ภาพ : Danish Siddiqui/REUTERS
Tags: อินเดีย, มุสลิม, ฮินดู, อุตตรประเทศ, อโยธยา