ปลายเดือนสิงหาคม 2561 มีข่าวที่กรมขนส่งทางบกเสนอแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
เรื่องที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงมาก คือข้อเสนอให้แก้ไขโดยเพิ่มบทลงโทษเกี่ยวกับใบขับขี่ โดยให้เพิ่มโทษกรณีการขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ และกรณีขับรถระหว่างใบขับขี่หมดอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอน หรือถูกยึด มาเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท และเพิ่มโทษกรณีการขับรถโดยไม่แสดงใบขับขี่ (ไม่พกใบขับขี่) เป็นปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ทำไมต้องเพิ่มอัตราค่าปรับ?
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ไขกฎหมายนี้มีความจำเป็น เพราะต้องปรับเนื้อหาให้ทันสมัยเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม โดยเสนอเพิ่มโทษจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ 10-50 เท่า
กฎหมายเกี่ยวกับค่าปรับใบขับขี่
ฐานความผิด | โทษตามกฎหมายเดิม | โทษตามร่างกฎหมายใหม่ที่เสนอ |
---|---|---|
ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ | จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ | จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
ขับรถในระหว่างใบอนุญาตขับขี่สิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึด | ปรับไม่เกิน 2,000 บาท | จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
ขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ | ปรับไม่เกิน 1,000 บาท | ปรับไม่เกิน 10,000 บาท |
การแก้ไขกฎหมายเพราะเนื้อหาไม่ทันสมัยนั้นก็สมเหตุสมผลอยู่ เพราะทั้ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 บังคับใช้มานานแล้ว ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงอัตราค่าปรับเลย เมื่อ 40 ปีก่อนนั้น ค่าปรับ 1,000 บาทอาจเป็นโทษที่สูงพอที่จะช่วยป้องปรามการกระทำผิด แต่ทุกวันนี้ ค่าปรับจำนวนเท่านี้คงไม่พอ
เมื่อลองไปดูค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปโดยดูจากดัชนีราคาผู้บริโภค พบว่าราคาสินค้าในปีพ.ศ. 2522 อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 4 ของราคาในปัจจุบันเท่านั้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว 1 ชามในปี 2522 ราคาอาจอยู่ที่ 10 บาท แต่ทุกวันนี้ราคา 40 บาท
ค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไปนี้มีผลทำให้ค่าปรับถูกลงเรื่อยๆ ผลในการป้องปรามจึงลดลงตามไปด้วย ถ้าคิดแบบนี้แล้ว การเพิ่มค่าปรับให้ทันยุคสมัยจึงจำเป็น
แต่ว่าก่อนหน้านี้ไทยเพิ่งแก้ไขอัตราค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญาไป 2 ครั้ง โดยในปีพ.ศ. 2558 เพิ่มอัตราค่าปรับในคดีลหุโทษขึ้น 10 เท่า (เช่น กรณีเมาจนครองสติไม่ได้ในที่สาธารณะ จากเดิมมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท เพิ่มเป็นโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท) ก่อนจะต้องแก้อัตราค่าปรับในความผิดฐานอื่นๆ ในอีก 2 ปีต่อมาให้สอดคล้องกัน
ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนว่า ไทยยังขาดกลไกที่เหมาะสมในการปรับเพิ่มอัตราค่าปรับที่ควรสูงขึ้นตามเวลา และรัฐไทยไม้ได้มองเห็นระบบค่าปรับทั้งหมดในภาพรวม และทำให้ต้องแก้ไขอัตราค่าปรับในลักษณะที่คิดอะไรออกก็ค่อยทำมาโดยตลอด
เพิ่มค่าปรับช่วยลดการกระทำความผิดได้จริงหรือ?
จากดัชนีราคาผู้บริโภค หากกรมการขนส่งทางบกอยากปรับเพิ่มบทลงโทษตามค่าของเงินที่เปลี่ยนแปลงไป อัตราค่าปรับก็ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า
แต่จากร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่จะเห็นได้ว่า อัตราค่าปรับนั้นเพิ่มขึ้น 10-50 เท่า ยิ่งกว่านั้น บทลงโทษจำคุกก็รุนแรงขึ้นด้วย โดยกรมการขนส่งทางบกเสนอให้เพิ่มโทษกรณีการขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จากเดิมจำคุก 1 เดือนมาเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และเพิ่มโทษกรณีขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึด จากเดิมไม่มีโทษจำคุก เป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน
บทลงโทษที่รุนแรงขึ้นนี้สะท้อนถึงความเชื่อว่า ถ้าโทษแรง การกระทำความผิดจะน้อยลง
การเพิ่มความรุนแรงของการลงโทษทำให้คนทำผิดน้อยลงจริงหรือไม่นั้น เป็นคำถามสำคัญ ตามแนวคิดของนักนิติเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics) บทลงโทษที่รุนแรงขึ้นอาจไม่ช่วยให้การทำผิดลดลงเสมอไป เพราะผลในการป้องปรามการกระทำความผิด ขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นในการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้วย
เช่น หากขับรถโดยไม่มีใบขับขี่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้เลย กฎหมายก็จะไม่มีผลในการป้องปราม ดังนั้น หากต้องการป้องปรามการกระทำความผิด ก็ต้องคำนึงถึงความสามารถในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วยเสมอ
การจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้นมีต้นทุนทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร ยิ่งออกกฎหมายมากขึ้น ต้นทุนในส่วนนี้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น การบังคับใช้กฎหมายให้ได้อย่างทั่วถึงจึงเป็นปัญหา นอกจากนี้ ในบริบทของไทย การบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมก็ตกอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถามมาโดยตลอด เช่น หากทำผิดกฎจราจรในลักษณะเดียวกัน พี่วินมอเตอร์ไซค์อาจถูกคุณตำรวจเรียกบ่อยครั้งกว่าคนขับรถสปอร์ตหรูป้ายทะเบียนเลขสวย ซึ่งที่จริงแล้ว การขจัดการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ อาจช่วยลดการกระทำความผิด และ “สร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม” ได้ดียิ่งกว่าการเพิ่มความรุนแรงในการลงโทษเสียอีก
ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แต่การแก้ไขบทลงโทษเกี่ยวกับใบขับขี่อาจเพียงทำให้ผู้ขับขี่คำนึงถึง ‘ใบขับขี่’ มากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงการลดปัญหาการจราจรและการเกิดอุบัติเหตุโดยทันทีแต่อย่างใด เพราะปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรกับการขับขี่ สภาพของยานพาหนะ ความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้ขับขี่เอง
ซึ่งทั้งหมดนี้มิได้ถูกระบุไว้ในขับขี่แต่อย่างใด
เพราะกฎหมายไม่ใช่แค่การลงโทษ
จากข่าวที่ปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขบทลงโทษเกี่ยวกับใบขับขี่ดังกล่าว รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งทำให้กรมการขนส่งทางบกเตรียมนำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่ หลังจากเป็นข่าวได้เพียงแค่ไม่กี่วัน
อย่างไรก็ตาม แม้การโยนหินถามทางในครั้งนี้จะพลาดไป แต่การแก้ไขอัตราค่าปรับยังอาจมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากทั้ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 นั้น บังคับใช้มานานแล้ว ข้อพึงระวังก็คือ กฎหมายไม่ใช่แค่เพียงการลงโทษ แต่มีมิติอื่นๆ ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคม
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเดิม หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยและผลกระทบต่างๆ อย่างรอบคอบและครบถ้วนที่สุด
มิใช่เอาแต่เสนอให้เพิ่มความรุนแรงของการลงโทษ เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
Tags: ใบขับขี่, การจราจร, กรมจราจรทางบก