สารคดีของ BBC เรื่อง Brothers And Sisters In Love (มีให้ดูทาง YouTube ด้วยนะครับ) เป็นสารคดีที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง
ชื่อเรื่องก็บอกตรงไปตรงมานะครับว่าเป็นเรื่องของพี่น้องที่รักกัน แม้ในกรณีนี้จะเป็นพี่น้องต่างเพศ (คือเป็นชายและหญิง) ก็ตามที
เราเรียกความรัก (ในแง่ชู้สาว) รวมถึงการมีอะไรต่อมิอะไรกันในทางเพศระหว่างคนในครอบครัวเดียวกันหรือเป็นญาติที่สนิทกันว่า Incest และก็อย่างที่รู้กันดีนะครับ ว่า Incest เป็นเรื่องต้องห้าม หรือเป็น Taboo อย่างหนึ่งมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ใช่แค่ในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่เรียกได้ว่าแทบจะทุกสังคมในโลก ต่างก็เห็นว่า Incest เป็นเรื่องไม่ดี
คำอธิบายง่ายๆ อย่างหนึ่ง ของการที่แต่ละสังคมเห็นว่า Incest เป็นเรื่องต้องห้าม ก็คือ Incest เป็นการมีอะไรกันในระหว่างคนที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกันมากๆ (เรียกว่า Inbreeding) ผลลัพธ์ก็คืออาจทำให้ได้ลูกที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายแบบ ถ้าใช้ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์หน่อยก็ต้องบอกว่า จะทำให้รุ่นลูกที่เกิดมา มี ‘อัลลีล’ (หรือโครโมโซม) แบบที่เรียกว่า Deleterious Recessive Alleles ซึ่งในสมัยโบราณ สังคมมนุษย์แต่ละสังคมจะมีขนาดเล็ก ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมมีจำกัดอยู่แล้ว ถ้าเกิด Inbreeding ขึ้นมากๆ ก็จะยิ่งทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้มากขึ้น ดังนั้น Incest จึงเป็นเรื่องต้องห้าม
แต่กระนั้น Incest ก็เกิดขึ้นมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ถ้าเราย้อนกลับไปดูตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ก็มีบันทึกเรื่อง Incest อยู่ไม่น้อย เช่น ฟาโรห์ตุตันคามุน ก็สมรสกับน้องสาวต่างมารดา หรือในจีนโบราณ แม้จะไม่ให้คนนามสกุล (แซ่) เดียวกันที่เป็นลูกพี่ลูกน้องที่ใกล้ชิด (First Cousins) แต่งงานกันได้ แต่ถ้าหากคนละแซ่ (เช่นคนหนึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่เกิดจากทางฝั่งปู่ อีกคนหนึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่เกิดจากทางฝั่งน้องสาวของปู่ที่ไปแต่งงานกับคนอีกแซ่หนึ่ง) ก็สามารถแต่งงานกันได้ จึงถือเป็น Incest แบบห่างๆ ได้เหมือนกัน
หลักฐานเรื่อง Incest ยังพบอีกทั้งในกรีกโบราณ โรมันโบราณ รวมทั้งในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่มีการแต่งงานในระหว่างญาติใกล้ชิด รวมไปถึงเรื่องของโลท (Lot) ที่มีลูกกับลูกสาวตัวเอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปรากฏในตะวันออกไกลอย่างในญี่ปุ่นและเกาหลี รวมไปถึงในหมู่ชนเผ่าอินคาของเปรู ชนเผ่าในฮาวาย ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดถึงยุคกลาง รวมถึงราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรป ที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นญาติกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกด้วยว่า Incest มีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็แตกต่างกันมาก Incest บางอย่างก็น่าจะเป็นเรื่องต้องห้ามจริงๆ เช่น Incest ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เช่น ระหว่างพ่อแม่กับลูกที่ยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หลายกรณีก็เข้าข่ายข่มขืน
มีตัวเลขจากศูนย์เหยื่ออาชญากรรมแห่งชาติ (National Center for Victims of Crime) ของสหรัฐอเมริกา บอกว่ากรณีของการข่มขืนโดยคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่กับลูกที่มีอายุน้อยๆ นั้น มีไม่น้อยทีเดียว โดยเด็กที่มีประวัติถูกข่มขืนมากถึง 46 เปอร์เซ็นต์ คือการข่มขืนที่เกิดจากสมาชิกในครอบครัว และคนส่วนใหญ่ที่ถูกข่มขืน (คือราว 61 เปอร์เซ็นต์) จะถูกข่มขืนก่อนอายุ 18 ปี โดยที่ 29 เปอร์เซ็นต์ ถูกข่มขืนก่อนอายุ 11 ขวบด้วยซ้ำไป ผู้ข่มขืนมักเป็นพ่อหรือพ่อเลี้ยง
ศูนย์เหยื่ออาชญากรรมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา บอกว่า เด็กที่มีประวัติถูกข่มขืนมากถึง 46 เปอร์เซ็นต์ คือการข่มขืนที่เกิดจากสมาชิกในครอบครัว
Incest แบบนี้คงไม่ต้องเถียงหรือถามกันนะครับว่ามันผิดหรือไม่ แต่ยังมี Incest อีกแบบหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันขึ้นมาในระยะหลัง นั่นก็คือ Incest ระหว่างผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ และมีความต้องการเช่นนั้น
มีการศึกษาพบว่า โอกาสที่คนเราจะมีความรักแบบ Incest นั้น มีอยู่สูงมาก โดยเฉพาะกับพี่น้องที่พลัดพรากจากกันไปตั้งแต่ยังเด็ก แล้วค่อยกลับมาเจอหน้ากันใหม่ในตอนโตแล้ว (ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม) เขาบอกว่าที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะมันมีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรียกว่า Genetic Sexual Attraction หรือ GSA ซึ่งเกิดขึ้นเพราะคนที่มีพันธุกรรมคล้ายๆ กัน จะรู้สึกดึงดูดใจระหว่างกันมากกว่าคนอื่น
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนเรามักจะเลือกคู่ครองที่มีลักษณะเหมือนกับตัวเองมากกว่าคนที่ต่างจากตัวเองมากๆ (ทำให้บางทีเราก็รู้สึกว่า คู่รักแต่ละคู่หน้าตาเหมือนๆ กัน) ทั้งนี้ก็เพราะถ้าเป็นคนที่มีใบหน้าคล้ายๆ กับตัวเอง เราจะเกิดความไว้วางใจมากกว่าคนทั่วไป
คุณอาจจะถามว่า อ้าว! ถ้าเป็นแบบนี้ พี่น้องที่เติบโตมาด้วยกันไม่ Incest กันไปหมดหรอกหรือ คำตอบก็คือ ถ้าเป็นพี่น้องที่เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็กๆ จะเกิดกระบวนการที่เรียกว่า Reverse Sexual Imprinting หรือเป็นการชอบคนที่มีลักษณะที่เกิดจากพันธุกรรมคล้ายๆ ตัวเองแบบด้านกลับ (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – ไม่ชอบ, นั่นแหละครับ)
กระบวนการนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผลแบบเวสเตอร์มาร์ค (Westermarck Effect) ซึ่งเป็นการเรียกตามชื่อของนักจิตวิทยาชาวฟินแลนด์ที่เขียนหนังสือเรื่อง The History of Human Marriage (ประวัติศาสตร์การแต่งงานของมนุษย์) เอาไว้ตั้งแต่ปี 1891 โน่นแล้ว
โอกาสที่คนเราจะมีความรักแบบ Incest นั้น มีอยู่สูงมาก โดยเฉพาะกับพี่น้องที่พลัดพรากจากกันไปตั้งแต่ยังเด็ก
ที่จริงเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากนะครับ ว่าความรู้สึก ‘ต้องห้าม’ (หรือ Incest Taboo) เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะซิกมุนด์ ฟรอยด์ เสนอว่า ตอนยังเด็ก มนุษย์เราจะมีความรู้สึกทางเพศกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ลูกชายอยากมีเพศสัมพันธ์กับแม่ ดังนั้นสังคมก็เลยต้องสร้าง Incest Taboo ขึ้นมา
แต่เวสเตอร์มาร์คบอกว่าไม่ใช่ เขาบอกว่า Incest Taboo เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากเมื่อถูกเลี้ยงดูมาด้วยกันตั้งแต่เด็กๆ ความรู้สึกทางเพศจะหายไปเอง เรื่องนี้ นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ยุคใหม่อย่างสตีเวน พิงเกอร์ (Steven Pinker) ก็เห็นด้วยกับเวสเตอร์มาร์คเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ในสารคดี Brothers And Sisters In Love ของบีบีซี ตั้งคำถามสำคัญเอาไว้ว่า แล้วถ้าเป็นกรณีของพี่น้องที่จากกันไปเป็นเวลานาน เมื่อกลับมาเจอกันแล้วเกิดผลแบบ GSA จนกระทั่งตกลงปลงใจรักกัน แล้วค่อยมาค้นพบทีหลังว่าจริงๆ เป็นพี่น้องกันล่ะ คนเหล่านี้ต้องได้รับโทษตามกฎหมายของบางประเทศที่เห็นว่า Incest เป็นเรื่องผิด – ด้วยหรือเปล่า
หรือถ้าขยายความกว้างไปกว่านั้นก็คือ ต่อให้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน กฎหมายควรเข้าไปแทรกแซง (Intervene) ในความสัมพันธ์ของมนุษย์สองคนนั้นด้วยหรือเปล่า และข้ออ้างที่ว่า ถ้าเป็นพี่น้องกันหรือมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกันแล้วจะทำให้มีลูกที่มีพันธุกรรมผิดปกตินั้นเป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมเพียงพอไหม
กฎหมายเกี่ยวกับ Incest ในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน ที่จริง ตั้งแต่นิยามของคำว่า Incest ก็เป็นเรื่องยากแล้ว ว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่า Incest บ้าง เขามีการทำตารางความสัมพันธ์ออกมาเพื่อดูว่าระดับไหนถือว่าเป็น Incest มากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็น Incest ระหว่างแฝดเหมือน (ซึ่งแปลว่าต้องมีเพศเดียวกันด้วย) ถือว่าเป็น Incest ระดับ 0 หรือมีค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ (Coefficient of Relationship) เท่ากับร้อยเปอร์เซนต์ รองลงมาคือ Incest ระหว่างพ่อแม่กับลูก ถือว่ามีค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์ 50 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับระหว่างพี่น้อง แล้วจากนั้นก็ลดหลั่นกันลงไป เช่น ระหว่างปู่ย่าตายายกับหลาน เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่ก็ 25 เปอร์เซ็นต์ ไล่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงการเป็นลูกพี่ลูกน้องระดับสี่ (Fourth Cousins) ที่มีค่าสัมประสิทธิ์ความสัมพันธ์อยู่ที่ 0.2 เปอร์เซ็นต์
กฎหมายควรเข้าไปแทรกแซงในความสัมพันธ์ของมนุษย์สองคนหรือเปล่า ข้ออ้างที่ว่าจะทำให้มีลูกที่มีพันธุกรรมผิดปกตินั้น เป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมเพียงพอไหม
ทีนี้สังคมไหนจะ ‘ขีดเส้น’ ว่าตรงไหนคือ Incest ที่ยอมรับไม่ได้ ก็ต้องไปดูกันแล้วละครับ ว่าจะเอาอย่างไร อย่างเช่นประเทศไอวอรี่โคสต์ ถ้าเป็น Incest ระหว่างผู้ใหญ่สองคนที่ยินยอมพร้อมใจ (คือไม่มีใครบังคับใคร) ก็ถือว่าถูกกฎหมายหมด แต่ถ้าในซิมบับเว ไม่ว่าจะ Incest ระดับไหน ก็ต้องถูกลงโทษด้วยการประหารหมดเหมือนกัน
ในอเมริกา มีกรณี Incest ล่าสุดที่เป็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว คือความสัมพันธ์ระหว่างแม่วัย 44 ปี ที่แต่งงานกับลูกสาววัย 26 ปี ที่น่าสนใจมากก็คือ ก่อนหน้านี้ราวหกเจ็ดปี ผู้เป็นแม่เคยแต่งงานกับลูกชายของตัวเองมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ถูกศาลสั่งให้เป็นโมฆะ เพราะเข้าข่าย Incest
กรณีนี้ ที่จริงแล้วซับซ้อนนะครับ เพราะผู้เป็นแม่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกท้ั้งสองคน เนื่องจากตั้งท้องตั้งแต่วัยรุ่น ก็เลยอาจเกิดกรณี GSA ขึ้นมาได้ แต่เนื่องจากอยู่ในรัฐโอคลาโฮมา กฎหมายไม่อนุญาตให้ญาติที่ใกล้ชิดกันแต่งงานกันได้ ผลลัพธ์ก็คือ ผู้เป็นแม่ถูกศาลตัดสินจำคุกนานถึงสิบปี
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2015 เคยมีกรณีพ่อกับลูกสาวมีความสัมพันธ์กัน มีรายงานใน New York Magazine ซึ่งก็คล้ายๆ กันกับกรณีแม่แต่งงานกับลูกสาว คือพ่อไม่ได้เลี้ยงลูก เนื่องจากมีลูกตั้งแต่วัยรุ่น แต่ก็มีการติดต่อกันเป็นระยะๆ ซึ่งทั้งคู่วางแผนจะย้ายไปอยู่นิวเจอร์ซีย์ เพราะบอกว่าที่นั่น Incest ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย (แต่ที่จริงก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่)
บทความในวอชิงตันโพสต์ ตั้งคำถามว่า ทำไม Incest (ระหว่างผู้ใหญ่ที่ยินยอมพร้อมใจ) ถึงต้องเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงคำตอบใน quora.com ต่อคำถามเดียวกันนี้ แสดงให้เห็นว่า หลายคนเริ่มมอง Incest ด้วยสายตาแบบใหม่ (มานาน) แล้ว
คุณล่ะ รู้สึกอย่างไรกับรักร่วมสายเลือด
แค่ไหนถูก – แค่ไหนผิด?
และทำไมถึงถูก – ทำไมถึงผิด?
Tags: ความรัก, Relationship, Gender, LOVE, genderless, Incest, เพศ, ความสัมพันธ์