1
คำว่า passion ที่เรามักอ้างถึงกันอยู่บ่อยๆ ในทุกวันนี้มีรากศัพท์มาจากคำละติน passio ซึ่งแปลว่า ความทุกข์ทรมาน คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกๆ ในช่วงศตวรรษที่ 10 เพื่อกล่าวถึงความทุกข์ทรมานของพระคริสต์ที่ถูกตรึงกางเขน กลายมาเป็นคำที่ใช้สื่อถึงความปรารถนาแรงกล้าก็เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 14 คำนี้ยังหมายถึง ‘ความปรารถนาทางเพศ’ ในศตวรรษที่ 16 และกว่าจะกลายมาเป็นคำที่เราคุ้นเคยที่หมายถึงความหลงใหลคลั่งใคล้ก็เมื่อย่างสู่ศตวรรษที่ 18 ไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการมี passion นั้นจึงเกี่ยวโยงกับความเจ็บปวดและความทนทุกข์ทรมานอันมีรากฐานจากศาสนาคริสต์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นความรักและความเสียสละของพระคริสต์ที่ทำให้มนุษย์ทั้งหลายรอดพ้นจากบาปกำเนิด
นั่นทำให้ความรักในมุมมองของนักคิดตะวันตกจำนวนหนึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กับความทนทุกข์ทรมาน กระทั่งมองเห็นความเจ็บปวดนั้นเป็นเครื่องยืนยันของความรักที่เรามี ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ ฌอร์จส์ บาตาย (Georges Bataille) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้เห็นว่า ความรักมิได้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่เกี่ยวพันกับความรุนแรง เพศ และความตาย แต่ก่อนจะกล่าวถึงแนวความคิดพิสดารในเรื่องนี้ของเขา เราอาจจำเป็นต้องรู้จักกับตัวตนพื้นฐานของเขาเสียก่อน
2
ก่อนจะกลายมาเป็นนักเขียน-นักปรัชญาที่ส่งทอดอิทธิพลความคิดต่อโลกปัญญาชนฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บาตายเป็นเพียงเด็กหนุ่มผู้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีบิดาเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ซึ่งเขารักและผูกพันมากกว่าผู้ที่เป็นแม่ จนอยู่มาวันหนึ่ง บิดาของเขาล้มป่วยและกลายเป็นคนเสียสติ บาตายก็ยังช่วยเหลือดูแลจวบจนบิดาสิ้นใจ การดูแลบิดาผู้วิปลาสทำให้เขาได้แลเห็นความโหดร้ายทารุณของชีวิต เขาพยายามแสวงหาครอบครัวที่สมบูรณ์กว่าด้วยการเข้าเชื่อเป็นคาธอลิกและอุทิศตนให้กับคริสต์ศาสนาเป็นเวลานานถึง 9 ปี บาตายได้เขียนไว้ในสมุดบันทึกของเขาว่า “ผมต้องการที่จะรับรู้ถึงชีวิตครอบครัวอันอบอุ่นเป็นอุดมคติ –แน่นอนว่าในแบบชาวคริสต์ – โดยที่ยังคงมีความสนุกสนานทางโลก ทั้งในเรื่องทั่วๆ ไป และแบบจริงใจ”
เขาพบรักกับมารี แด็ลเตย (Marie Delteil) บุตรสาวของหมอที่รักษาแม่และน้องสาวเพื่อนสนิทของบาตายที่เขามองว่าเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของชีวิต เพียงแต่การแต่งงานกับเธอกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะครอบครัวแด็ลเตยเกรงว่า เด็กที่กำเนิดจากบาตายอาจนำไปสู่ความวิปลาสเหมือนเช่นบิดาของบาตาย ความสัมพันธ์ระหว่างแด็ลเตยกับเขาสิ้นสุดลงเพียงไม่นาน บาตายก็ละทิ้งความเชื่อแล้วหันไปเรียนต่อทางด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางที่ École Nationale des Chartes ก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสแผนกเหรียญประดับยศ
บาตายเริ่มสนใจวิชาปรัชญาอย่างเข้มข้นและจริงจังก็ภายหลังจากเขาได้รู้จักกับเลฟ เชสตอฟ (Lev Shestov) นักปรัชญาชาวรัสเซียที่อพยพมาประเทศฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษที่ 1920 บาตายได้เข้าฟัง อเลซองดร์ โกแฌฟ (Alexandre Kojève) บรรยายปรัชญาของเฮเกล (Hegel) ซึ่งส่งอิทธิพลต่อความคิดเขาอย่างมาก และได้มีโอกาสได้พูดคุยกับอ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) ภายหลังจากได้อ่านงานเรื่อง Le Rire (1900) ที่ว่าด้วยเสียงหัวเราะ แต่บาตายก็รู้สึกผิดหวังทั้งตัวตนและผลงานของแบร์กซงเองที่ไม่ได้มีความคิดลุ่มลึกอย่างเพียงพอในการอธิบายเสียงหัวเราะ ซึ่งสำหรับบาตายแล้วเป็นข้อปัญหาทางปรัชญาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับเขา
ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมา บาตายได้เริ่มจัดทำวารสารและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เขากลายเป็นหนึ่งในปัญญาชนคนสำคัญร่วมยุคร่วมสมัยกับฌ็อง-ปอล ซาร์ตส์ (Jean-Paul Sartre) และอ็องเดร เบรอตง (André Breton) ผู้นำขบวนการเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism)
เขาได้สมรสกับซิลเวีย บาตาย (Sylvia Bataille) ดาราภาพยนตร์ชื่อดังและมีลูกสาวกับเธอหนึ่งคน ซึ่งภายหลังจากแยกทางกับบาตายไปแล้ว ซิลเวียก็พบรักกับฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังและมีบุตรสาวด้วยกันกับลาก็องอีกหนึ่งคน (ลูกสาวต่างบิดาทั้งสองคนของซิลเวียต่างก็กลายเป็นนักจิตวิเคราะห์ด้วยกันทั้งคู่)
แม้คนจำนวนมากจะนับรวมบาตายไว้ในขบวนการเซอร์เรียลิสม์ แต่การที่เขาไม่ลงรอยกับเบรอตงแต่แรกพบ ก็ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งเขาเป็นทั้งไม้เบื่อไม้เมาและเป็นหอกข้างแคร่ของขบวนการที่คอยอ้าแขนรับสมาชิกซึ่งถูกขับออกมา หนึ่งในนั้นเช่น อ็องเดร มาสซง (André Masson) มิแช็ล เลรีส์ (Michel Leiris) หรือเรย์มงด์ เกอโน (Raymond Queneau) ที่สนิทสนมกับเขาเพราะมาทำงานที่หอสมุดแห่งชาติแทบทุกวัน อย่างไรก็ตามในช่วงปี 1935 บาตายได้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชื่อ Counter-Attack ขึ้นมา ซึ่งกลายเป็นว่าเบรอตงและสมาชิกขบวนการเซอร์เรียลลิสต์ส่วนหนึ่งที่ผิดหวังจากพรรคคอมมิวนิสม์ฝรั่งเศสได้มาเข้าร่วมกับบาตายอีกด้วย
บาตายเป็นบรรณาธิการนิตยสารหัวก้าวหน้าอย่าง Acéphale, Document, Critique และผู้ก่อตั้งสังคมวิทยาวิทยาลัย (Collège de Sociologie) ซึ่งเป็นแหล่งรวมของปัญญาชนทั้งนอกและในฝรั่งเศส วอลเทอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) และแม้แต่อเลซองดร์ โกแฌฟก็เคยมาร่วมบรรยาย แต่กระนั้นบาตายก็ไกลห่างจากความเป็นปัญญาชนธรรมดาตรงที่เขามีความเชื่อในเรื่องลึกลับ และหลงใหลการบูชายัญ เล่ากันว่าตอนที่จัดทำนิตยสาร Acéphale ที่แปลว่า ‘ไร้หัว’ ได้ตกลงกันว่าจะต้องมีการสละชีพเพื่อพิธีกรรม ทุกคนต่างก็ยินยอมเป็นเครื่องสังเวย แต่กลับไม่มีใครกล้าลงมือ
บาตายเขียนหนังสือหลากหลายแนวตั้งแต่งานปรัชญา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ บทกวีไปจนถึงนวนิยายโป๊ (pornographic novel) ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุดก็คือ L’histoire de l’œil (1928) หรือ Story of the eye ซึ่งกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่ถูกอ่านและวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง
หนึ่งในบทตอนที่ผู้อ่านทุกคนต้องจดจำได้ก็คือ ฉากที่นักสู้วัวกระทิงถูกขวิดจนลูกตาหลุดออกจากเบ้า ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของบาตายเมื่อครั้งได้เดินทางไปพำนักในสเปนช่วงเวลาหนึ่ง ความตายของนักสู้วัวกระทิงตรงหน้า ณ ตอนนั้นถือเป็น ‘เหตุการณ์’ ที่เปลี่ยนแปลงมุมมองความคิดเกี่ยวกับชีวิตและความตายนับจากนั้นอย่างมากมาย
ในด้านปรัชญา บาตายได้นำเสนอความคิดสำคัญที่เรียกว่า วัตถุนิยมมูลฐาน (base materialism) ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1920-1930 ซึ่งเป็นความพยายามแตกหักกับแนวคิดแบบวัตถุนิยม (materialism) ในเวลานั้น ซึ่งบาตายวิจารณ์ว่ามันเป็นแนวคิดแบบจิตนิยม (idealism) ซ่อนรูป โดยเขาได้ย้อนกลับไปหาแนวคิดของสปิโนซ่า (Spinoza) ในเรื่อง substance ซึ่งความคิดเรื่องวัตถุนิยมมูลฐานได้กลายเป็นอิทธิพลต่อนักคิดในยุคต่อมาไม่ว่าจะเป็นฌิลส์ เดอเลอซ (Gilles Deleuze) หรือฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) ที่แสดงให้เห็นสิ่งที่อยู่ระหว่างสภาวะทวิลักษณ์ แนวคิดแบบขั้วตรงข้าม (binary-opposition) จึงไม่น่าแปลกใจที่ความคิดของบาตายจะถูกนำกลับมาอ่านและพินิจพิเคราะห์กันใหม่ในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 โดยกลุ่มที่ถูกเรียกว่า หลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism)
ไม่เพียงเท่านั้น บาตายยังได้นำเสนอทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ไว้ในผลงาน La Part maudite หรือ ‘หุ้นส่วนคำสาป’ ที่ได้พัฒนามาจากแนวคิดเรื่อง Potlatch ของมาร์แซ็ล โมส (Marcel Mauss) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส La Part maudite เป็นผลงานไตรภาคอันประกอบด้วย ภาคแรก: การบริโภค ภาคสอง: ประวัติศาสตร์ของกามารมณ์ และภาคสาม: องค์อธิปัตย์ ซึ่งแน่นอนว่า กามารมณ์ (eroticism) ได้กลายเป็นประเด็นที่บาตายให้ความสนใจศึกษาและค้นคว้าไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
3
เชื่อกันว่า การดำรงอยู่ของเราคือการ ‘แบ่งแยก’ ตัวเราออกมาจากสิ่งต่างๆ หรือถึงแม้เราจะมีความเกี่ยวข้องโยงใยกับชีวิตอื่นๆ แต่ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และความตายก็เป็นเพียงสิ่งที่เราประสบเพียงลำพัง
‘ช่องว่าง’ ระหว่างชีวิตนี้เองที่บาตายเรียกว่า ความไม่ต่อเนื่อง (discontinuity) แม้เราจะพยายามสื่อสาร และอธิบายด้วยคำพูด ความเห็นอกเห็นใจ แต่ช่องว่างระหว่างการดำรงอยู่นี้ก็ยังคงมีอยู่ หรือมิได้หายไป เหมือนที่เขาได้กล่าวไว้ใน L’Erotisme (1957) หรือ Erotism: Death and Sensuality ว่า “หากเธอตาย นั่นก็ไม่ใช่ความตายของฉัน เธอและฉันต่างก็เป็นชีวิตที่ไม่ต่อเนื่องกัน”
แต่สิ่งน่าฉงนใจและฟังดูเป็นเรื่องที่ยอกย้อนในตัวเองก็คือการที่เขามองเห็นว่าความตายเป็นความต่อเนื่อง (continuity) ของการดำรงอยู่ และการสืบพันธ์ุของสิ่งมีชีวิตก็คือยืนยันถึง ‘ความไม่ต่อเนื่อง’
ดังที่เราทราบว่าการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายสามารถแบ่งออกเป็นแบบไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) และแบบอาศัยเพศ (sexual reproduction) ซึ่งการสืบพันธ์ุแบบแรกเริ่มจากเซลส์ต้นกำเนิดซึ่งค่อยๆ แบ่งตัวออกไป ในขณะที่แบบหลังเป็นการผสมกันระหว่างไข่และสเปิร์ม ซึ่งอธิบายตามกรอบคิดของบาตายก็จะพบว่า กระบวนการดำรงอยู่ของเราและแม้แต่สัตว์เซลส์เดียว ต่างก็เป็นการดำเนินไประหว่าง ‘ความต่อเนื่อง’ และ ‘ไม่ต่อเนื่อง’
เพียงแต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ก็คือการที่เราได้ปรับแปลงกิจกรรมการสืบพันธ์ุให้กลายเป็นเรื่องของ ‘กามารมณ์’
กิจกรรมทางเพศของสัตว์เกิดขึ้นเพราะขาดสมดุลบางอย่าง และสภาวะดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต สัตว์อาจไม่เข้าใจ หรือพยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่กิจกรรมทางเพศของมนุษย์นั้นกลับมีปัจจัยที่แตกต่างออกไปด้วยกามารมณ์ ซึ่งคงไม่เกินเลยความจริงไปนัก ถ้าจะกล่าวว่า การก้าวข้ามความเป็นสัตว์ของมนุษย์เรานั้นเกิดมาจาก ‘กามารมณ์’ ซึ่งเขาได้จำแนกออกเป็น 1) กามารมณ์ในเชิงกายภาพ (physical eroticism) 2) กามารมณ์เชิงอารมณ์ (emotion eroticism) และ 3) กามารมณ์ในเชิงศาสนา (religious eroticism) ซึ่งทั้ง 3 แบบล้วนมีความเกี่ยวโยงผูกพันกับตัวเรา หรือ “เป็นแง่มุมหนึ่งของชีวิตด้านในของมนุษย์”
กามารมณ์ในกรอบอธิบายของบาตายมีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรง (violence) และการล่วงละเมิด (violation) ซึ่งสิ่งรุนแรงที่สุดสำหรับชีวิตแล้วก็คือ ‘ความตาย’ และแม้แต่ในกามารมณ์เชิงศาสนาถึงที่สุดก็ยังเป็นเรื่องของการสละชีวิต (sacrifice)
‘ความรัก’ ของบรรดาปัจเจกทั้งหลายที่เป็นส่วนประกอบของกามารมณ์ทางอารมณ์อาจสร้างความสุขใจให้กับเรา กระทั่งมีส่วนยับยั้งและแบ่งแยกตัวเองออกมาจากกามารมณ์ทางกายภาพ (ที่เป็นความรุนแรงในตัวเอง) แต่ถึงกระนั้น ความรักก็สามารถนำมาซึ่งความเจ็บปวดใจ/จะต้องสร้างความเจ็บปวดใจ ซึ่งความทรมานนี้ในอีกด้านคือเครื่องพิสูจน์ในความรักที่เรามี เพราะยิ่งมีรักมาก เราก็ยิ่งเจ็บแค้น ดังนั้นแม้ความรักจะไม่เชื่อมโยงกับความตายโดยตรง แต่การพยายามจะครอบครองสิ่งที่เรารักย่อมเกี่ยวพันกับความรุนแรง นี่เป็นเหตุผลอธิบายว่าทำไม คนรักกันจึงลงมือทำร้ายกัน หรือถึงขั้นเอาชีวิตคนที่ตนรัก เพียงเพราะกลัวว่าเขาหรือเธอจะตกเป็นของผู้อื่น
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ความรักที่เป็นส่วนประกอบของกามารมณ์เชิงอารมณ์จึงเป็นหนทางไปสู่ความรุนแรง และแม้แต่ความตาย ซึ่งในผลงานชิ้นสุดท้าย Les larmes d’Éros (1961) หรือ Tears of Eros ที่ตีพิมพ์ก่อนบาตายจะเสียชีวิตเพียงไม่นานนั้นได้ลงภาพถ่ายชุดหนึ่งของเหยื่อชาวจีนที่ถูกทรมานด้วยการตัดชิ้นเนื้อและอวัยวะต่างๆ ต่อหน้าฝูงชน ภาพถ่ายนั้นฉายให้สีหน้าของผู้ถูกลงโทษแหงนหน้าดวงตาล่องลอยจนดูราวกับกำลังเคลิบเคลิ้มเป็นสุข โดยบาตายได้อธิบายภาพถ่ายอันน่าสยดสยองนี้ว่า “ภาพแห่งความทารุณที่ด้านหนึ่งดูปีติสุขและอีกด้านยากเกินจะทน” เขาเห็นว่า ภาพดังกล่าวยืนยันให้เห็นว่า ความตายและกามารมณ์มีโฉมหน้าแบบเดียวกัน
อ้างอิง:
- Georges Bataille, Erotism: Death and Sensuality, translated by Mary Dalwood, (San Francisco: City Lights Books, 1986).
- Georges Bataille, Tears of Eros, translated by Peter Connor, (San Francisco: City Lights Books, 1989).
- Stuart Kendall, Georges Bataille, (London: Reaktion Books, 2007).