ความทรงจำที่ดีถือเป็นเครื่องมืออย่างแรกสำหรับมนุษย์เราในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับโลกใบนี้ ars memoriae หรือ ‘ศาสตร์แห่งการจำ’ คือหนึ่งในความพยายามของการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการจำด้วยข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่ามนุษย์เรานั้นต่างก็ลอยคออยู่ในมหาสมุทรแห่งความหลงลืม ความทรงจำจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นจนมาถึงยุคที่เราสามารถจดจารสิ่งต่างๆ ลงไปเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งก็ทำให้ความทรงจำที่แม่นยำในเรื่องต่างๆ ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันในเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากเท่ากับการบันทึกผ่านสื่อกลางอื่นๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบันอาจหมายถึงภาพและเสียง

ความทรงจำที่เรามีจึงตกอยู่ในสภาพของความทรงจำส่วนบุคคลทั้งที่ในความจริงแล้ว ความทรงจำนี้เกี่ยวพันกับความทรงจำของผู้อื่น หรือมีลักษณะเป็นความทรงจำร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทรงจำเกี่ยวกับความรัก-ความสัมพันธ์ทั้งที่ดำรงอยู่หรือหมดสิ้นไปแล้วนั้นก็ล้วนอาจเรียกได้ว่าเป็นความทรงจำร่วมส่วนบุคคล ในกรณีของคนสองคนที่หมดรักและต้องการมีชีวิตต่อไปข้างหน้า การจัดการกับความทรงจำอาจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ด้วยเพราะความทรงจำในที่นี้ก็เหมือน ‘ผี’ หรือ ‘วิญญาณ’ ที่ตามหลอกหลอนเราอยู่เสมอ การพยายามสร้างความจดจำขึ้นใหม่ หรือพยายามลบเลือนอาจเป็นหนทางที่ทำให้สามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะความผูกพันทั้งหลายที่เรามีถูกเชื่อว่า สถิตอยู่ในความทรงจำ แต่อะไรเล่าคือที่ตั้งของความทรงจำ? นี่เป็นประเด็นที่เราจะได้พูดคุยกันในบทตอนนี้

สสารและความทรงจำ

ย้อนกลับไปเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 มีนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสนามว่า เตโอดุล-อาร์ม็องด์ ริโบต์ (Théodule-Armand Ribot) ผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชา จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) ทั้งที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนและกอลแลจ เดอ ฟร็องซ์ (Collège de France) ได้ตีพิมพ์ข้อเขียนที่ชื่อว่า Les Maladies de la mémoire (1881) ออกมา ผลงานชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ‘ความทรงจำ’ เป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานทางชีวภาพของมนุษย์ การจดจำได้สร้างบุคลิกและความเป็นตัวเรา ซึ่งทำให้เราแต่ละคนนั้นแตกต่างและแบ่งแยกออกมาจากคนอื่นๆ แต่ความทรงจำเหล่านี้อยู่ใดเล่า ริโบด์ได้ชี้ชัดลงไปว่า ความทรงจำสถิตอยู่ในสมองและระบบประสาทอันซับซ้อนของเรานั่นเอง ความทรงจำดำรงอยู่ในพื้นที่ (space) ส่วนอาการหลงลืม และแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า จิตไร้สำนึก (unconsciuouss) ก็เกิดขึ้นมาจากการขาดพื้นที่ของความจำ 

ริโบด์ก็เป็นเช่นเดียวกับนักสรีรศาสตร์ (neuroscientist) ในยุคแรกเริ่มที่เห็นว่าสมองของคนเรานั้นเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ 

เตโอดุล-อาร์ม็องด์ ริโบต์ (Théodule-Armand Ribot) นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสผู้เขียน Les Maladies de la mémoire (1881)

ความทรงจำในกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก Les Maladies de la mémoire ตีพิมพ์ได้ไม่นานก็มีนักปรัชญาผู้มีนามว่า อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) จัดพิมพ์ผลงานที่มีชื่อว่า Matière et mémoire (1896) หรือ Matter and Memory ออกมา โดยเนื้อหาและใจความหลักส่วนหนึ่งนั้นเป็นการโต้แย้งกับทฤษฎีของริโบด์ สำหรับแบร์กซงแล้ว ความทรงจำนั้นไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ในสมอง หรือสถิตอยู่ในพื้นที่ 

ก่อนจะเล่าถึงรายละเอียดของข้อถกเถียงดังกล่าว เราอาจต้องพิจารณารากฐานความคิดที่ทั้งริโบด์และแบร์กซงมีร่วมกันก่อน นั่นก็คือทั้งคู่มีความเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการของเฮอร์เบิร์ท สเปนเซอร์ (Herbert Spencer) และสนใจในปรัชญาของอาร์เธอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) ซึ่งนักปรัชญาคนหลังนี้ให้อิทธิพลต่อนักเขียนและศิลปินจำนวนมากในฝรั่งเศส ตลอดช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นความแตกต่างอย่างสำคัญก็คือริโบด์ปฏิเสธการมีอยู่สิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถจับต้องมองเห็นได้ ซึ่งก็ทำให้แบร์กซงเขียนงาน Matter and Memory ออกมาเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความทรงจำของคนเรานั้นมีความสลับซับซ้อนกว่าสิ่งที่ริโบด์อธิบาย 

อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 1927

ประการแรก แบร์กซงจำแนกความทรงจำ (memory) ออกเป็น 2 แบบ แบบแรก ความทรงจำ-ความเคยชิน (habit-memory) เกิดจากพฤติกรรม (การท่องจำ การทำซ้ำ หรือการฝึกฝน) จนสามารถปฏิบัติและแสดงออกได้โดยอัตโนมัติ ในขณะที่แบบที่สองเป็นภาพจำ หรือความทรงจำบริสุทธิ์ (pure memory) ที่ติดอยู่ในตัวบุคคล ความทรงจำชนิดนี้เกิดขึ้นในจิตไร้สำนึก (unconsciousness) ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ความทรงจำจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่สสารและสิ่งที่จับต้องได้เช่นที่ริโบด์กล่าว แต่ยังคงเกี่ยวข้องสิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่น ‘จิต’ หรือ ‘วิญญาณ’ อันเป็นคำเฉพาะที่แบร์กซงใช้อธิบายแนวคิดเกี่ยวกับ ‘ความทรงจำ’ ซึ่งเขาเห็นว่า มนุษย์เรานั้นมิได้จดจำแต่เพียงสิ่งที่เราตระหนักว่ารับรู้ แต่การมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รวมถึงผัสสะต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้สึกตัวนั้นก็สามารถสร้างความทรงจำใน ‘กาย’ ของเรา ซึ่ง ‘กาย’ ในที่นี้ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ในสมอง 

ประการถัดมา สืบเนื่องจากแบร์กซงเห็นว่า ‘ความทรงจำบริสุทธิ์’ ไม่ได้สถิตอยู่แต่ในพื้นที่ ทว่าคงอยู่ในประสบการณ์ หรืออดีตของเราแต่ละคน ซึ่งความทรงจำที่ว่านี้เป็นตัวกำหนดความเป็นตัวเรา ภาพความทรงจำในสมองจึงเปรียบได้ดั่งภาพหรือจุดเล็กๆ ที่เป็นมากกว่าที่เราเห็น เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของอดีต แบร์กซงได้ยกเอาแผนภาพรูปกรวยทรงหงายมาอธิบายแนวคิดในเรื่องนี้ 

 

แผนภาพอธิบายความทรงจำของแบร์กซง

ภาพนี้ประกอบด้วย SAB กรวยทรงหงาย ที่ปลายด้านหนึ่งสัมผัสกึ่งกลางระนาบ P ที่จุด S แบร์กซงให้ระนาบ P แทนพื้นที่ของ ‘ภาพตัวแทนแท้จริงของจักรวาลของข้าพเจ้า’ (plane of my actual representation of the universe.) กรวย SAB จึงเป็นตัวแทนของความทรงจำ ตรงฐานของ AB คือความทรงจำที่อยู่ในจิตไร้สำนึก (เราจดจำไม่ได้ว่าเราจำได้) หากปลายยอดของกรวยเป็นปัจจุบัน ส่วนฐานก็คืออดีตที่แผ่ขยายออกไป กรวยทรงหงายนี้เป็นสัญลักษณ์แทนความเคลื่อนไหว ความทรงจำเคลื่อนตัวลงมาจากอดีตมาสู่ปัจจุบันผ่านการรับรู้และการกระทำ จุดเล็กๆ ตรงปลายยอดนี้เองที่เป็นที่ตั้งของ ‘ความทรงจำบริสุทธิ์’ ดำรงอยู่

สำหรับแบร์กซงแล้ว สมองจึงเป็นเครื่องมือหรือตัวกลางของความทรงจำมากกว่าจะเป็นที่กักเก็บคล้ายคลึงกับเหตุการณ์บางอย่างที่เราควรจะลืมไปตั้งนานแล้วกลับถูกเรียกคืนมาเช่นที่มาร์แซ็ล พรุสต์ (Marcel Proust) นักเขียนวนิยายชาวฝรั่งเศสได้สาธิตไว้ในนวนิยายเรื่อง À la recherche du temp perdu (1913-27)

ประการสุดท้าย ความทรงจำบริสุทธิ์ในความคิดของแบร์กซงจึงดำรงอยู่ใน ‘กาลเวลา’ ที่เราแต่ละคนมี ซึ่งความทรงจำดังกล่าวส่งผลต่อวิธีคิดและมุมมองที่เรามีต่อโลกและชีวิตของเราเอง และเมื่อเราผูกโยงความทรงจำนี้เข้ากับความทรงจำของคนอื่น คนที่ใช้ชีวิตร่วมกับเรา เราก็จะพบว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงความทรงจำที่เราเห็นว่าเป็นความเจ็บปวด เหมือนเช่นที่เราพยายามแทนที่ภาพความทรงจำนั้นด้วยภาพอื่นๆ (เช่น ใบหน้าของคนรักใหม่ ชื่อ หรือคำเรียกใหม่ๆ) หากเราจะลบความทรงจำที่ติดอยู่ในจิตไร้สำนึกได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ยากถึงยากที่สุด เพราะมันคือความทรงจำที่ติดค้างอยู่ในอดีตและกาลเวลาของเรา

การให้อภัยคือการเขียนอดีตขึ้นใหม่

ด้วยเพราะเหตุนี้ความทรงจำของเราจึงไม่เพียงเกี่ยวโยงกับความหลงลืม (forgetfulness) แต่ยังคงสัมพันธ์กับการให้อภัย (forgiveness)

สำหรับนักคิดหญิงชาวยิวเยอรมัน ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) แล้วการให้อภัยถือเป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงอดีต มันเปลี่ยนแปลงคำว่า “มันต้องเป็นเช่นนี้” ให้เป็น “ฉันต้องการให้มันเป็นเช่นนี้” การให้อภัยในแง่นี้จึงเป็นเหมือนการเขียนอดีตขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่า ในกรอบคิดแบบคริสต์ ‘การให้อภัย’ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของมนุษย์ และคงมีพระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าใครสมควรจะได้รับการให้อภัย หากแนวคิดของอาเรนท์นั้น นี่คือธุระของมนุษย์ ซึ่งในอีกทางก็เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสามารถในการแสดงออกและการมีเสรีภาพของเราเอง และวางอยู่ตรงกันข้ามกับ ‘การแก้แค้น’ ที่เป็นทางเลือกแรกๆ ของใครหลายคน

‘การให้อภัย’ ในกรอบคิดของอาเรนท์จึงมีความน่าสนใจ เพราะมันในอีกทางก็เป็นการจัดการกับอดีตและความทรงจำในเรื่องต่างๆ มันอาจไม่ทำให้เราลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็ทำให้เราสามารถมีชีวิตต่อไป และปลดปล่อยตัวเราจากอดีตอันเลวร้าย

ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักคิดชาวเยอรมัน

อ้างอิง

Henri Bergson, Matter and Memory, translated by N.M.Paul and W.S. Palmer, (New York: Zone Books, 1991).

Pio Colonello, Phenomenology and Pathography of Memory, translated by Maria Giovanna Brauzzi, (Calabria: Mimesis, 2019).

Tags: , , ,