“I love you is in my head, but I imprison it behind my lips.” —Roland Barthes
ในท่ามกลางข้อถกเถียงทางทฤษฎี ความรักแบบโรแมนติก (Romantic Love) สามารถอธิบายได้ทั้งในมุมของสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่ส่งเสริมลัทธิทุนนิยมและโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตย (patriachy) เพื่อสะกดให้ผู้หญิงอยู่ในสถานภาพเดิม รวมถึงการทำให้คู่รักทั้งหลายปฏิเสธการต่อต้านลัทธิทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เป็นธรรม เช่นที่ The Dialectic of Sex (1970) ของชูลามิธ ไฟร์สโตน (Shulamith Firestone) ได้เสนอไว้ แต่ในขณะเดียวกันนักเขียนและนักปรัชญาตั้งแต่ อัลเดียส ฮักซเลย์ (Aldious Huxley) มาจนถึงวอลเทอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) กลับเห็นว่าความรักแบบโรแมนติกนั้นคือพลังแห่งการปฏิวัติที่เป็นไปได้ ซึ่งประเด็นที่เราจะพูดกันต่อไปนี้เป็นรูปแบบของความรักแบบโรแมนติกที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรวมเรียกว่า ความรักแบบเทิดทูน (courtly love)
amour courtois
การรักชอบคนที่มีคนรักอยู่แล้วเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญที่เราเคยพบเห็นกันอยู่โดยทั่วไป ไม่ว่าจะจากหนัง หนังสือ หรือในชีวิตจริงๆ ซึ่งบางคนเห็นว่าเป็นความผิดบาป เป็นการไม่เหมาะควร ในขณะที่บางคนมองเห็นเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องแข็งขืนหักห้ามใจ (แม้ภายในจะอยากทำในทางตรงข้ามคือไปช่วงชิงแย่งมา) แต่เชื่อหรือไม่ว่าในยุคสมัยหนึ่ง การรักคนที่มีเจ้าของ รักคนที่ครอบครองไม่ได้ เพราะมีคู่ครองแล้ว กลายเป็นธีมที่พบในงานวรรณกรรมอัศวิน (Chivalric romance) ซึ่งแพร่หลายในช่วงปลายยุคกลาง จนก่อเกิดเป็นกระแสและค่านิยมทางสังคมแบบใหม่ในเรื่องความรัก (การที่วรรณกรรมอัศวินให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรัก คำว่า romance จึงถูกนำมาใช้เรียกงานวรรณกรรมที่มีคุณลักษณะเดียวกัน จนนักทฤษฎีวรรณกรรมบางคนเชื่อว่า คำคุณศัพท์ romantic ที่เริ่มใช้กันในศตวรรษที่ 18-19 ก็มาจากคำนี้)
คำว่า amour courtois หรือ ‘ความรักแบบเทิดทูน’ ได้รับการนิยาม หรือถูกนำมาอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกๆ โดยกัสตง ปารีส์ (Gaston Paris) นักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ทำการวิเคราะห์วรรณกรรมของเชรเฌียง เดอ ทรัวส์ (Chrétien de Troyes) เรื่อง Lancelot, le Chevalier de la Charrette (1177) ที่แสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างตัวเอกอัศวินลานเซล็อตกับราชินีจีเนเวียร์ ศรีภรรยาของกษัตริย์อาเธอร์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้เป็นทั้งเพื่อนและนายเหนือหัวของลานเซล็อต
ตำนานเล่าว่า ลานเซล็อตไม่อาจหักห้ามใจจากความรักในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ทรยศและละเมิดกฎอัศวิน (chivalric code) โครงเรื่องทำนองนี้เป็นกลวิธีในการประพันธ์ที่เชื้อชวนให้ติดตาม ยิ่งความรักระหว่างทั้งสองจะเป็นไปไม่ได้ ผู้อ่าน/ผู้ฟังก็จะยิ่งรู้สึกร่วมและคอยเอาใจช่วยไปด้วย
งานประพันธ์ของเชรเฌียง เดอ ทรัวส์จะมีองค์ประกอบของโครงเรื่องคล้ายๆ กัน คือ 1) ต้องมีสุภาพสตรีสูงส่งที่ตัวเอกไม่สามารถครอบครองได้ ทั้งจากที่เธอมีคู่สมรสอยู่แล้วหรือถูกจับกุมคุมขังเอาไว้ 2) ตัวเอกที่เป็นอัศวินที่ทำการสาบานว่าจะดูแลและเป็นข้ารับใช้สุภาพสตรีผู้นั้นตลอดไป 3) เกิดความรักต้องห้ามหรือความเสน่หาต่อกันขึ้นระหว่างทั้งสองคน 4) ความสัมพันธ์ที่เป็นไปไม่ได้ หรือต้องผ่านภยันตรายเพื่อได้ความรักมา ซึ่งแน่นอนว่าโครงเรื่องทำนองนี้ได้แพร่หลายผ่านผลงานของนักประพันธ์ในยุคมา อาทิเช่น จอฟฟรี โชเซอร์ (Geoffrey Chaucer) โธมัส มาลอรี (Thomas Malory) หรือคริสทีน เดอ ปิซาน (Christine de Pizan)
แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่า amour courtois มีเพียงเรื่องสมมติ หรือไม่ได้รับการปฏิบัติจริง แต่ความรักในวรรณกรรมประเภทดังกล่าวได้สร้างปทัสฐานและค่านิยมแบบใหม่ให้อัศวิน/ผู้ชายต้องอุทิศตนเพื่อปกป้องเจ้าหญิง/ผู้หญิง ให้กลายเป็น ‘ความรักแบบสูงส่ง’ หรือ ‘ความรักในอุดมคติ’ ซึ่งสามารถพูดในอีกทางได้ว่า เป็นความสัมพันธ์ข้ามชนชั้น หรือเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้หญิงได้เลื่อนสถานะขึ้นมามีบทบาท และเลือกรักได้โดยไม่ต้องถูกกำหนดชี้นำ
ถ้าอธิบายตามกรอบคิดของซี. เอส. ลิวอิส (C.S. Lewis) ในงาน The Allegory of Love (1936) วรรณกรรมอัศวิน (ที่มีลำดับพัฒนาการในตัวเองและเริ่มมาสุกงอมเต็มที่ในสมัยของเชรเฌียง เดอ ทรัวส์) ได้กลายเป็นดัชนีชี้วัดถึงมุมมองเกี่ยวกับความรักที่เปลี่ยนไปจากอดีตก่อนหน้า
เช่นความรักแบบกรีกในกรอบอธิบายแบบเพลโต (Plato) ที่เป็นเพียงความบ้า ดังที่เขาอธิบายไว้ในบทสนทนา Phaedrus และความรักในเด็กหนุ่มเท่านั้นที่ถือว่าเป็นบันไดนำไปสู่ความรักแบบทวยเทพขั้นในขั้นต่ำสุดในบทสนทนา Symposium หรือใน Art of Love ของโอวิด (Ovid) กวีชาวโรมันที่เห็นว่า ความรักเป็นเรื่องเล็กจ้อยของชีวิต และมันจะกลายเป็นเรื่องน่าขันในทันทีที่เรายึดถือเป็นเรื่องจริงจัง
ดังนั้น ความรักในวรรณกรรมอัศวินจึงทำให้ความรักระหว่างเพศ (ชายและหญิง) มีความหมายที่แปลกและแตกต่างไปเป็นครั้งแรก เป็นการเปลี่ยนแปลงและทำให้ผู้มีความรักกลายเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม
If love isn’t free, then it isn’t love.
สำหรับสังคมยุคกลาง การแต่งงานกับความรักของชนชั้นสูงแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแต่อย่างใด การสมรสเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาสถานะทางสังคมและทรัพย์สิน และนักประพันธ์จากศตวรรษที่ 12 อย่างแอนเดรียส คาเปลลานัส (Andreas Capellanus) ที่ไม่มีใครเกี่ยวกับประวัติชีวิตส่วนตัวของเขา หรือพูดง่ายๆ ว่ารู้จักเขาก็เพียงว่าเป็นผู้ประพันธ์ De amore ในงานชิ้นนี้เขาได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ความรักไม่มีที่ทางในความสัมพันธ์แบบสามีและภรรยา ด้วยเพราะเขาเชื่อว่ายิ่งการสมรสผูกตรึงคนทั้งสองมากเท่าไหร่ ความรักก็ยิ่งเตลิดหายไปเร็วเท่านั้น
ความรักสำหรับคาเปลลานัสจึงต้องมีอิสระ หากปราศจากซึ่งอิสระแล้วนั่นก็ไม่ใช่ความรัก ความรักที่ใครคนหนึ่งมีต่ออีกคนที่มีคู่ครองจึงกลายเป็นความรักที่สูงส่งภายใต้กรอบอธิบายนี้ และการที่รักประเภทนี้นำมาซึ่งความผิดหวัง หรือในหลายครั้งไม่อาจเป็นจริงได้ก็ได้กลายเป็นต้นแบบของความรักโรแมนติกในยุคต่อมา
*อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ในปัจจุบันได้กลับไปพยายามอ่านและศึกษางาน De amore อย่างจริงจังก็ค้นพบความขัดแย้งและยอกย้อนในสิ่งที่คาเปลลานัสเสนอไว้ภายในนั้น อย่างงาน Andreas Capellanus on love? (2007) ของ แคทลีน แอนเดอร์เซ่น-ไวแมน (Kathleen Andersen-Wyman) ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า คาเปลลานัส อาจกำลังใช้ความรักพูดถึงเรื่องอื่นๆ
อ้างอิง
Kathleen Andersen-Wyman, Andreas Capellanus on love?: desire, seduction, and subversion in a twelfth-century Latin text, (New York: Palgrave Macmillan, 2007).
Andreas Capellanus, The Art of Courtly Love, Translated by John Jay Parry, (New York: Columbia University Press, 1960)
Tags: In Theories