เมื่อหันมองย้อนไป—ปีก่อน ‘ดินไร้แดน’ (Soil Without Land) หนังสารคดีว่าด้วยเรื่องตัวตนของคนไทใหญ่และตัวตนของรัฐฉานในฐานะรัฐชาติ ได้เล่าผ่านเรื่องราวชีวิตของ‘จาย แสงลอด’ ชายหนุ่มชาวไทใหญ่ผู้เคยทำงานในร้านคาราโอเกะกลางเมืองเชียงใหม่ แต่เพราะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน เขาจึงตัดสินใจกลับบ้านไปฝึกทหารกับกองทัพปลดปล่อยรัฐฉาน (Shan State Army-SSA) บนดอยก่อวัน รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งห่างจากชายชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้บันทึกโดย ‘นนทวัฒน์ นำเบญจพล’ ผู้กำกับฯ (ที่ทำหนังสารดีเกี่ยวกับชายแดนและตามถ่ายตัวละครกลับบ้านมาแล้วหลายเรื่อง เช่น ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ และ ‘สายน้ำติดเชื้อ’) มีจุดเริ่มต้นมาจากการเห็นภาพของเพื่อนชาวไทใหญ่ที่เคยฝันอยากเป็นตากล้องในกองถ่ายกลับต้องมาถือปืนในค่ายทหารแทน
หนังออกฉายในโรงภาพยนตร์และได้รับความนิยมในหมู่คนไทใหญ่มาก ถึงกับมีการทำวิดีโอ ‘ฮาวทูมาดูหนังในโรง’ ก่อนจะมีการนำไปฉายแบบหนังกลางแปลงให้ชมฟรีในบริเวณ 9 วัดที่มีชุมชนคนไทใหญ่อาศัยอยู่ ที่แรงงานและคนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายกว่า ผู้เขียนก็มีโอกาสได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ครั้งแรกที่วัดกู่เต้า จังหวัดเชียงใหม่ และได้สัมผัสกับบรรยากาศครึกครื้นมีชีวิตชีวาคลาคล่ำไปด้วยชาวไทใหญ่จำนวนมากที่มาดูหนังเช่นกัน
*ภาพขวามือถ่ายโดยรัศมิ์ลภัส กวีวัจน์*
แม้ภาพยนตร์จะโฟกัสไปที่ตัวละคร จาย แสงลอด เป็นหลัก แต่หนังก็ได้ฉายให้เห็นภาพของเด็กหนุ่มอีกหลายคนในค่ายทหารที่แทบจะไม่มีสิทธิ์ฝันอะไรในชีวิต อันเป็นผลพวงมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ไปพร้อมกัน แม้จะภาพยนตร์จะไม่ได้เล่าถึงส่วนนี้ตรงๆ ก็ตาม
ความขัดแย้งในเมียนมาร์ นับเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์โลกนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1948 โดยรัฐบาลเคยลงนามในข้อตกลงปางหลวงกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งต่อมาเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ บทที่ 10 ที่ให้สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์แยกตัวไปปกครองตนเองหลังได้รับเอกราชแล้วสิบปี
แต่เมื่อครบสิบปี รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนายพลเนวิน กลับฉีกรัฐธรรมนูญไม่ทำตามสัญญา ซ้ำยังกดขี่ชาติพันธุ์อื่น ประกอบกับการช่วงชิงผลประโยชน์ภายในประเทศและปัจจัยแทรกแซงจากภายนอก ทำให้ความขัดแย้งภายในเมียนมาร์หรือพม่าในยุคนั้นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ก็ยังคงมีกองกำลังบางกลุ่มจับปืนสู้รบกันอยู่แม้จะมีการลงนามหยุดยิงและเจรจาสันติภาพมาแล้วหลายครั้งก็ตาม
…
เมื่อมองดู—ปีนี้ นนทวัฒน์—ผู้กำกับฯ ได้จัดทำหนังสือภาพ ‘in process of time | เมื่อหันมองย้อนไป | Soil Without Land’ ขึ้นมา เหมือนเป็นการนำเสนอกระบวนการการทำงานของเขาในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2016-2020 ซึ่งรวบรวมไว้ผ่านภาพถ่ายสารคดีที่เขาเคยค้นคว้าและบันทึกข้อมูลไว้สำหรับทำบทภาพยนตร์ ภายในเล่มยังมีบทความจากนักเขียน นักวิชาการ และศิลปินที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบริบทและประเด็นทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และชีวิตของชาวไทใหญ่ที่ไม่ได้พูดถึงในภาพยนตร์
“จากการทำงานหนัง รูปยังเหลืออีกบานเลย และยังมีหลายอย่างที่เราไม่ได้เล่าในหนัง เรื่องประวัติศาสตร์ของคนไทใหญ่ เรื่องชีวิตของพวกเขา เพราะหนังเราไม่ใช่หนังสารคดีแบบ informative (ให้ข้อมูล) เราเลยอยากหาที่เล่า…” นั่นคือเหตุผลของนนทวัฒน์ โดยเขาเปิดพื้นที่ให้ ‘วิทิต จันทามฤต’ บรรณาธิการภาพ และ ‘ณัฐพล โรจนรัตนางกูร’ กราฟิกดีไซน์เนอร์ มาร่วมตีความและเล่าเรื่องในหนังสือภาพเล่มนี้
…
“สำหรับเรา ถ้ามันเป็นหนังสือมันควรเป็นรูปแบบการเล่าแบบใหม่ให้คนที่ดูหนังมาแล้วได้ประสบการณ์ใหม่จากการดูหนังสือ หรือคนที่ดูหนังสือก็ได้ประสบการณ์ใหม่จากการดูหนัง ไม่ใช่ว่าดูหนังกับหนังสือแล้วได้คอนเทนท์เดียวกัน ได้ความรู้สึกเดียวกัน เราก็เลยลำดับเนื้อเรื่องใหม่”
วิทิตเกริ่นถึงกระบวนการเล่าเรื่องในหนังสือภาพ ‘in process of time | เมื่อหันมองย้อนไป | Soil Without Land’ โดยเริ่มจากเขาและณัฐพลพูดคุยกันว่า มองเห็นอะไรร่วมกันบ้าง แล้วสร้างแฮชแท็กชุดคำขึ้นมา เช่น ความไม่มีตัวตน ความพร่าเลือน พรมแดน พื้นที่ ช่องว่าง ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็น key visual ของหนังสือภาพเล่มนี้
“ในหนังจะมีฉากที่เราชอบมากเลย คือฉากที่จาย แสงลอดเปิดอัลบั้มภาพแล้วถ่ายรูปแม่เพื่อจะเอาไปพรินท์ ตอนที่เราดูหนังเรารู้สึกว่าความรู้สึกในซีนนี้มันรุนแรงมาก คือแม่ที่ตายไปแล้วยังไม่มีรูปแบบ original file เลย แต่ต้องถูกถ่ายซ้ำด้วยมือถือเพื่อเอาไปพรินท์ซ้ำ…คนเราจะไม่มีตัวตนอะไรกันได้ขนาดนั้น”
ฉากประทับใจและมากด้วยพลังทั้งต่อความรู้สึกและเป็นใจความหลักของเรื่องเล่าถูกเลือกมาใส่ไว้ในมุมล่างของหนังสือ ภาพเล็กๆ เหล่านี้อาจถูกเปิดผ่านไปง่ายๆ โดยคุณอาจไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่ เช่นเดียวกับซีนนี้ในหนังที่ผู้เขียนต้องกลับไปย้อนพินิจพิจารณาอีกรอบ
วิทิตเล่าต่อว่า เขาจะไม่พยายามทำความเข้าใจกับช่วงเวลาของเหตุการณ์ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนหลัง ตัวละครเป็นใคร และสำคัญพอที่จะต้องปรากฎในหนังสือเล่มนี้ไหม แต่เลือกด้วยการดูภาพอย่างเดียว แล้วอ่าน ‘ใจความ’ ที่เริ่มจากภาพเป็นหลัก
วิทิตกับณัฐพลเริ่มเส้นเรื่องจากสมมติฐานร่วมกันว่า คนทั่วไปมักจะมี ‘การรับรู้’ แรกเกี่ยวกับไทใหญ่หรือรัฐฉานจากภาพงานฉลองวันชาติหรืองานปีใหม่ไต จึงหยิบภาพนี้มาเล่าเป็นอย่างแรกเพื่อร้อยเรียงไปกับบทความในเล่มที่มีเนื้อหาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เหมือนให้ผู้อ่านค่อยๆ ทำความรู้จักพื้นที่และวงจรของคนในพื้นที่นี้ไปพร้อมกัน
*ภาพขวามือถ่ายโดยรัศมิ์ลภัส กวีวัจน์*
ภาพชุดแรกๆ จึงเปิดพื้นที่ด้วยภาพของทหารคนหนึ่งก่อนนำไปสู่ภาพของคนจำนวนมากและภาพงานเฉลิมฉลอง ซึ่งหากเป็นภาพยนตร์ย่อมต้องได้ยินเสียงดังอึกทึกครึกโครม แต่ในฐานะผู้อ่าน—จะไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้นแน่นอน แม้ภาพจะบอกเราได้ว่า ณ ที่แห่งนั้นมีสรรพเสียงดังอยู่ สอดคล้องไปกับบทความที่พูดถึง ‘เสียงที่ได้ยิน’ และ ‘เสียงที่ไม่ได้ยิน’ อย่างน่าสนใจว่า
‘บทสนทนาระหว่างทหารต้องโทษกับเพื่อนทหารในค่ายฝึก และตัวอย่างเพลงหลากสำเนียงจากวงลอดแลว ทำให้เรารับรู้ถึงการมีอยู่ของเสียงที่หลากหลายภายใต้กองทัพไทใหญ่ ทว่านานาสรรพเสียงเหล่านี้ ‘เบา’ เกินกว่าที่ทุกคนจะได้ยิน แม้กระทั่งคนที่ละเอียดลออกับการฟังมากที่สุดก็อาจปล่อยให้เสียงเหล่านี้เงียบงันไปในนามของ ‘ชาติ’ เสียงที่ดังจนเป็นที่ได้ยินเป็นเสียงที่สัมพันธ์อยู่กับ ‘บ้านเมือง’ และ ‘กองทัพ’…เสียงที่เราได้ยินเหล่านี้ ล้วนเป็นเสียงที่เราได้รับอนุญาตให้ได้ยิน’
ต่างกับภาพต่อๆ มา ที่เราได้ยินเสียงในนามของ ‘ชาติ’ อันสัมพันธ์กับ ‘บ้านเมือง’ และ ‘กองทัพ’ อย่างชัดเจน ผ่านเสียงที่ตัดทอนออกมาเป็นซับไตเติ้ลในภาพยนตร์ว่า ‘ประชาชนกับกองทัพมีหนึ่งใจเดียวกัน’
*ภาพขวามือถ่ายโดยรัศมิ์ลภัส กวีวัจน์*
…
ในภาพชุดที่สอง วิทิตเล่าว่าจะเริ่มมีภาพของชาวบ้าน มีกิจกรรมที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในการสร้าง ‘อะไรบางอย่าง’ ในนามของความเป็นชาติ เช่น เวทีงาน การสวนสนาม การพบปะญาติในวันสำเร็จหลักสูตรฝึกทหาร ซึ่งมีตัวละครและองค์ประกอบของความเป็นชาติมารวมกันมากที่สุด ล้อไปกับบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทใหญ่และการเจรจาสันติภาพในเมียนมาร์ ที่แม้จะก่อร่างมาเป็นเวลายาวนานแต่ดูจะยังไม่มีกำหนดสิ้นสุด
“ส่วนชุดที่สามเป็นภาพการเตรียมงานสวนสนาม และมีบทความที่เกี่ยวกับพระนเรศวร ซึ่งโชคดีที่มีภาพคนที่อยู่บนเสลี่ยงด้วย เราเลยเอามารวมกันดู
“ภาพชุดที่สี่ ด้วยความที่เราคิดว่ามันเป็นมีเดียอันหนึ่งที่สามารถพาชุดความรู้หรือชุดภาพความเป็นรัฐฉานออกไปสู่ภายนอก ภาพส่วนนี้เลยเป็นภาพมิกซ์ที่เริ่มตั้งแต่พี่เบิ้ล (นนทวัฒน์—ผู้กำกับฯ) เอาหนังไปฉายในค่ายทหารในเทศกาลหนังชุมชนไทใหญ่ต่างๆ ก่อนที่จะมาขมวดในส่วนสุดท้ายของเล่มที่ก็เหมือน end credit คือตัวละครจะกลับเข้ามาใหม่ และมันก็สอดคล้องกับบทความอีกชิ้นที่ว่า—ฉันจะกลับมาอีกครั้ง”
…
นอกจากเส้นเรื่องใหม่ภายในหนังสือ ที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าสอดคล้องและรับไปกับเนื้อหาและภาพถ่าย ในส่วนของการออกแบบรูปเล่มก็ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดตั้งแต่หน้าปกยันสันหนังสือ ที่ต้องการสะท้อนถึงคอนเซ็ปต์ของ ‘ความพร่าเลือนไร้ตัวตน และพรมแดน’ อย่างแท้จริง
หน้าปกสีเทาที่ดูเรียบเกือบจะมองไม่เห็นอะไร คือประตูบานแรกที่รอการเปิดเข้าไปเยือน คุณจะสัมผัสถึงความขรุขระของพื้นผิวตั้งแต่แรกจับ แต่อาจยังไม่แน่ใจนัก จนเมื่อเปิดไปพบกับภาพผนังดินสีน้ำตาลแดง
ณัฐพลผู้ออกแบบหนังสือบอกว่า “เราเห็นสิ่งนี้อยู่แต่ทำไมมันเหมือนไม่เห็น ก็เลยคุยกันว่าทำอย่างไรให้ความหมายของการมีหรือการไม่มีอยู่มันชัดขึ้นโดยที่ไม่ได้แสดงตัวตนออกมาเด่นขนาดนั้น ผมเลยคิดถึงอะไรที่มันลอยๆ หรือเลือนราง หรือสัมผัสแล้วค่อยรู้สึกถึงมัน เลยลองค้น visual ดูว่าอะไรจะตอบสิ่งนี้ได้บ้าง จนไปเจอเทคนิค spot ทราย ซึ่งมันมีผิวสัมผัสเหมือนดินเหมือนทราย และมันเหมือนจะเลือนรางมองไม่ค่อยเห็น ตอนแรกตั้งใจให้ไม่เห็นอะไรเลย จนกว่าจะจับหรือสัมผัสแล้วจะรู้ว่ามีอะไรเหมือนดินเหมือนทรายอยู่ที่หน้าปก หรือต้องส่องแสงดูจะเห็นว่ามันเป็นรูปพื้นที่นี่นา ซึ่งพอเราจับไปเรื่อยๆ พื้นดินตรงนั้นก็จะยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ เหมือนมันต้องถูกกระทำแล้วมันจะชัดขึ้น”
ณัฐพลเป็นผู้ออกแบบโปสเตอร์หนังดินไร้แดนมาก่อนหน้า เล่าต่อถึงการออกแบบหน้าปกสีเทาหุ้มห่อตัวเล่มที่ตั้งใจไว้ให้ขยายถึง ‘ความมีและไม่มีตัวตน’ จากภาพยนตร์ หรืออย่างการใช้สัญลักษณ์ | | ที่สื่อถึงช่องว่างระหว่างเมียนมาร์ รัฐฉาน และไทย ซึ่งสัมพันธ์ไปกับการออกแบบเลขหน้าภายในเล่มที่วางอยู่ตรงกลางคนละฝั่งกัน หรือสันปกที่ใช้วิธีการเย็บกี่เปลือยสัน มาจากสารในภาพยนตร์ที่พูดถึงเหล่าตัวละครนั้นอยู่ตามขอบชายแดน จะข้ามไปไทยก็ไม่ได้ ไปพม่าก็ลำบาก แม้เส้นด้ายที่ใช้เย็บสันปกก็มีสีเทาเชื่อมโยงกับตัวหนังที่สื่อถึงความพร่าเลือน ส่วนสีน้ำตาลนั้นก็คือดิน
หากพลิกเปิดหนังสือภาพเล่มนี้ไปเรื่อยๆ คุณอาจจับสังเกตเห็นความแปลกตาของการวางจัดวางภาพ ที่มักจะมีการวางภาพตามขอบตามมุม ขนาดของภาพเล็กบ้างใหญ่บ้าง หรือการตัดผ่าภาพที่ผิดตาไปจากหนังสือภาพทั่วไป วิทิตอธิบายถึงแนวคิดนี้ว่า
“โครงสร้างของหนังสือเราคือพื้นที่ ดังนั้นภาพจึงเหมือนเป็นประชากรที่ใช้พื้นที่ บางภาพใหญ่เล็กก็คือความสำคัญ ความชัดเจน ความพร่าเลือน คอมโพสิชั่นก็เป็นทั้งการตกขอบ นอกขอบ การผ่ากลาง ตัดกลาง เหมือนว่ารัฐชาติแบ่งแยกไม่ได้ แต่ในหนังสือเราอยากแบ่ง แยก กระจัดกระจาย ไปตามส่วนต่างๆ ของพื้นที่ในเล่ม”
หรือการวางภาพรัฐธรรมนูญเมียนมาร์ไว้กลางหน้า ณัฐพลเสริมว่า “จากข้อมูลที่ผมฟังจากพี่เบิ้ล—ผู้กำกับฯ รัฐธรรมนูญเป็นตัวทำให้เกิดปัญหาทั้งหมด ถ้าเราวางเลย์เอาต์แบบปกติก็จะไม่มีใครสังเกต ผมเลยตัดสินใจวางภาพนี้ไวตรงกลางเลย ดีไซเนอร์ทั่วไปจะรู้อยู่แล้วว่าไม่ค่อยมีใครวางภาพตรงกลาง ผมเลยตั้งใจวางให้มันเหมือนกับเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง”
หากพลิกชมภาพและอ่านจนจบถึงหน้าสุดท้ายที่ไร้ปกห่อหุ้ม เราจะพบกับภาพสุดท้ายที่ปกหลัง ซึ่งณัฐพลบอกว่า “อิริยาบถคือส่องไฟหาอยู่ แล้วเรื่องของไทใหญ่ เรื่องของรัฐฉานมันเหมือนเป็นเรื่องที่เรามาเจอ มันเหมือนเป็นเรื่องเล็กแต่จริงๆ มันก็เรื่องใหญ่ ผมอยากวางมันเป็นท่อนเซอร์ไพรส์ เปิดมาแล้วเจอว่า—เอ้า มีคนอยู่ตรงนี้ด้วย”
*ภาพขวามือถ่ายโดยรัศมิ์ลภัส กวีวัจน์ *
นอกจากรายละเอียดการจัดวางภาพข้างต้น สังเกตได้ว่าโทนสีของภาพจะเข้มจนบางภาพก็ไม่ชัดเจนนัก จะมองเห็นได้เฉพาะบางส่วนที่แสงในภาพส่องถึง ทำให้รู้สึกว่ามันเหมือนกับชีวิตของพวกเขา—ชาวไทใหญ่ที่อวลไปด้วยความพร่าเลือน ท่ามกลางความมี ไม่มี ชัด ไม่ชัด เราได้รับอนุญาตให้มองเห็นหรือรู้จักเพียงแค่บางส่วน เช่นเดียวกันกับได้รับอนุญาตให้ได้ยินแค่เสียงเพียงบางเสียง
ภาพถ่ายโดยรัศมิ์ลภัส กวีวัจน์
…
ในโลกนอกพื้นที่หนังสือภาพ ‘in process of time | เมื่อหันมองย้อนไป | Soil Without Land’ หาก ‘ดิน’ แบ่งได้แยกได้ จนมี ‘แดน’ เป็นของตัวเอง และหากสันติภาพเกิดขึ้นจริง ตัวตนของผู้คนในดินแดนแห่งนั้นนั้นจะชัดเจนขึ้นไหม? เสียงของพวกเขาจะมีคนได้ยินหรือไม่? ทั้งหมดยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบกันอีกนานแค่ไหน—ไม่มีใครล่วงรู้
Fact Box
- หนังสือภาพ ‘in process of time | เมื่อหันมองย้อนไป | Soil Without Land’ ขนาด 15x22 ซม. จำนวน 288 หน้า ราคา 750 บาท สามารถหาซื้อได้ที่ร้าน Vacilando Bookshop https://www.instagram.com/vacilandobookshop และ daily delay