สังคมอเมริกันมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าหนึ่งล้านคนที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการในบ้าน และความต้องการแรงงานประเภทนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และถึงแม้จะเป็นงานที่จำเป็นที่ชาวอเมริกันไม่ยอมทำ แต่แรงงานเหล่านี้ก็ยังคงได้ค่าจ้างต่ำ แถมล่าสุดยังเจอพิษการเมืองให้ต้องถูกขับออกจากประเทศ

ตัวอย่างที่อาจสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือกรณีของศูนย์ฟื้นฟูและดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งในย่านบรูคลิน ที่เดิมที หากเมื่อใดแจ้งกับผู้จัดหางานของท้องถิ่นว่าต้องการผู้ช่วยพยาบาลประมาณ 20-25 คน ก็จะได้รับใบสมัครงานมากมายในวันรุ่งขึ้น แต่ตอนนี้ในแต่ละเดือนมีผู้ส่งใบสมัครมาแค่ห้าคนเท่านั้น

ปกติแล้วศูนย์ฟื้นฟูแห่งนี้จะมีแรงงานที่เป็นผู้อพยพประมาณ 3,500 คน ส่วนหนึ่งเป็นผู้ช่วยพยาบาลชาวเฮติ-อเมริกัน ซึ่งการคุ้มครองสถานะชั่วคราวของพวกเขาจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน และต้องออกจากสหรัฐอเมริกาภายในเดือนกรกฎาคม 2019 ในจำนวนแรงงานเหล่านี้ บางส่วนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็ก และได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายในโครงการ Deferred Action for Childhood Arrivals (DACA)  หรือโครงการคุ้มครองเยาวชนจากครอบครัวผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่เคยทำให้พวกเขาสามารถเรียนและทำงานได้ในสหรัฐฯ แต่ตอนนี้รัฐบาลของทรัมป์ประกาศยกเลิกแล้ว

ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ทำให้ผู้ช่วยพยาบาล 35,000 คนจากเฮติ เอลซัลวาดอร์ นิการากัว และฮอนดูรัส ซึ่งเคยได้รับการคุ้มครองสถานภาพต้องออกจากสหรัฐอเมริกาในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ และอาจจะส่งผลต่อผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ ด้วย

ส่วนแรงงานข้ามชาติอีก 11,000 คนจากประเทศมุสลิมซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายห้ามเข้าเมืองของทรัมป์ อาจจะย้ายออกไป ถ้าสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถมาอยู่ที่นี่ได้ นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่ยังไม่รู้จำนวนแน่ชัดซึ่งได้รับสัญชาติอเมริกันจากโครงการ DACA ที่ท้ายสุดอาจต้องออกนอกประเทศ

ผู้ดูแลผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาที่เป็นแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นจาก 520,000 คนในปี 2005 เป็นหนึ่งล้านคนในปี 2015 ส่วนผู้ดูแลผู้สูงอายุที่นิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และฟลอริดา มีแรงงานข้ามชาติในสัดส่วนมากกว่า 40%

แม้จะเป็นที่ต้องการมาก แรงงานที่ดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้มักได้รับค่าตอบแทนต่ำ ไม่มีสวัสดิการ ทั้งที่ทำงานหนัก รายได้เฉลี่ยของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเมื่อปี 2016 อยู่ที่ประมาณ 10.49 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 330 บาท) ต่อชั่วโมง และมักจะไม่มีสวัสดิการสังคม ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ทำงานนี้มักมีรายได้ต่ำและมีคุณสมบัติที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เช่น ได้สแตมป์อาหาร ถ้าเลือกได้พวกเขาอยากไปทำงานประเภทอื่นมากกว่า เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ด โรงพยาบาล ฯลฯ

สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานคือการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวกว่าเดิม ซึ่งจะมาพร้อมกับโรคเรื้อรังและภาวะพิการ ทำให้ต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น แต่จำนวนแรงงานหญิงที่เคยเป็นผู้ดูแลลดลง (ทั้งแบบได้รับค่าจ้างและไม่ได้รับค่าจ้าง) เนื่องจากปัจจุบันมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น

แรงงานบางส่วนมีสิทธิอาศัยอยู่ได้ตามกฎหมาย แต่สุดท้ายอาจจะตัดสินใจย้ายออกไป ถ้าญาติพี่น้องของตนเองถูกเนรเทศ เพราะทั้งชุมชนรู้สึกว่าตนตกเป็นเป้าหมาย “ถ้าพวกเขากลัว ก็จะไม่สมัครงาน และเราก็จะได้เห็นการขาดแคลนเพิ่มขึ้น”

ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้น ถ้าแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้แล้ว คนที่ทำงานอยู่แล้วก็ทำงานหนักกว่าเดิม ต้องเข้ากะมากกว่าเดิมหรือรับผิดชอบผู้ป่วยมากขึ้น ปัจจุบันนี้เนิร์สซิ่งโฮมหลายแห่งปิดตัวลง หรือหยุดรับผู้สูงอายุเพิ่ม เพราะว่าไม่สามารถจ้างคนเพิ่มได้

ส่วนผู้สูงอายุที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ก็อาจจะไม่สามารถจ้างผู้ช่วยมาทำงานที่บ้านได้ รวมถึงผู้อพยพที่อายุมากที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนที่พูดภาษาเดียวกับพวกเขา ก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ที่ซาน เฟอร์นันโด วัลเลย์ ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ลูกจ้างของโฮมแคร์คนหนึ่งที่มาจากเอลซัลวาดอร์เมื่อ 20 ปีก่อน ช่วยเหลือเพื่อนบ้านพิการอายุ 91 ปีภายใต้โครงการของรัฐ เธอทำงานตั้งแต่ 8.00-14.00 น.ช่วยผู้พิการอาบน้ำ แต่งตัว กินอาหาร และย้ายตำแหน่งวีลแชร์

แต่ทางการได้ระงับสถานะคุ้มครองชั่วคราวของชาวซัลวาดอร์ลงในเดือนกันยายน 2019 เธอกลัวเพราะมีอะไรไม่รู้อีกมาก ทั้งห่วงชีวิตของตัวเอง สามี และลูกๆ ที่เคยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เธอยังกังวลอีกว่า “ถ้าฉันไม่ไปทำงาน ก็จะไม่มีใครช่วยพาเธอออกมาจากเตียง และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นแม่ของฉันก็ได้ ที่ต้องอยู่ตามลำพังโดยที่ไม่มีใครช่วยเหลือ”

 

ที่มา: https://www.nytimes.com/2018/02/02/health/illegal-immigrants-caregivers.html

ที่มาภาพ: Lucy Nicholson/ Reuters

Tags: ,