หลักนิติธรรม คุณค่าสากลที่ถูกสั่นคลอน
หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สร้างความสงบสุขในสังคม ในสังคมที่มีหลักนิติธรรม ทุกคนย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอกัน โดยกฎหมายมีความเป็นธรรม ทันสมัย มีการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ สามารถปกป้องสิทธิพื้นฐานของบุคคลให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นกลางและเป็นอิสระ นอกจากนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลักนิติธรรมยังช่วยให้เราแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นการพัฒนาที่จะเดินไปบนพื้นฐานของการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สนับสนุนให้เกิดความชอบธรรมและเท่าเทียมกันในสังคม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหลักการนี้กำลังถูกสั่นคลอน โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ล่าสุดในปี 2560-2561 พบว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (WJP Rule of Law Index) อยู่ค่อนไปทางท้ายๆ ของประเทศต่างๆ ในโลก และส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำลงเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีประเทศเดียวในภูมิภาคที่โดดเด่นในเรื่องหลักนิติธรรม คือ สิงคโปร์ อยู่ในลำดับที่ 13 จากทั้งหมด 113 ประเทศในโครงการ ประเทศที่รองลงมาตามลำดับคือมาเลเซีย ลำดับที่ 53 อินโดนีเซีย 63 ไทย 71 เวียดนาม 74 ฟิลิปปินส์ 88 เมียนมาร์ 100 และกัมพูชา 112
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนหลักนิติธรรมยังช่วยให้เราแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นการพัฒนาที่จะเดินไปบนพื้นฐานของการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม เป็นเครื่องมือการประเมินเชิงปริมาณที่ออกแบบโดยโครงการ World Justice Project (WJP) ซึ่งวัดปัจจัยที่ส่งผลต่อหลักนิติธรรมทั้งหมด 8 ด้านจากประสบการณ์ของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ประกอบด้วยเรื่อง 1) การจำกัดขอบเขตอำนาจของรัฐบาล 2) การทุจริต 3) ความมั่นคง 4) สิทธิขั้นพื้นฐาน 5) ระบอบปกครองแบบเปิด 6) การบังคับใช้กฎหมายและระเบียบ 7) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง และ 8) กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
โดยประเด็นหลักนิติธรรมที่ประเทศทั่วโลกมีความถดถอยมากที่สุด 2 ข้อในการวัดผลครั้งนี้ คือ เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน (71 จาก 113 ประเทศมีคะแนนลดลงจากเดิม) และเรื่องการจำกัดขอบเขตอำนาจของรัฐบาล (64 จาก 113 ประเทศมีคะแนนลดลงจากเดิม)
ผู้นำรุ่นใหม่: กลุ่มคนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
ในโลกยุคใหม่ ภาคธุรกิจเองก็มีส่วนเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของสังคมด้วยเช่นกัน จากการแนะนำนวัตกรรมสู่ผู้ใช้งาน หรือแม้แต่นโยบายหรือวิธีการในการทำธุรกิจ ก็ส่งผลในทางบวกหรือลบกับสังคมได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เหล่าผู้นำในภาคต่างๆ ของสังคม จึงมีส่วนอย่างมากในการกำหนดกรอบการทำงานในองค์กรของตัวเองให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และขณะเดียวกันก็ควรเข้ามามีส่วนร่วมกับการให้เสียงสะท้อน ผลักดันภาครัฐให้จัดทำกฎหมายให้สามารถทั้งอำนวยความยุติธรรมและทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้ความถนัดและมุมมองของตัวเองเข้ามาช่วยกำหนดทิศทาง
ศ. พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “แน่นอนว่าสังคมเปลี่ยนไปมาก นักกฎหมาย สถาบันทางกฎหมาย ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลง แล้วใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ถ้าระบบกฎหมายไม่เปลี่ยน ทุกคนก็โดนผลกระทบนี้ เพราะฉะนั้นคนที่ถูกกระทบควรจะรู้ว่า เวลาเราพูดถึง Rule of Law ไม่ใช่แค่เรื่องของนักกฎหมาย แต่คือเรื่องของทุกท่าน”
ด้วยเหตุนี้ผู้นำรุ่นใหม่จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญ ที่หากทุกคนเคารพหลักการนิติธรรมและสร้างเครือข่ายร่วมกันในระดับภูมิภาค ผลประโยชน์ย่อมจะเกิดขึ้นกับสังคม
เวิร์กช็อประดับเวิลด์คลาส โดยคณาจารย์จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำ
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงมีโครงการที่ร่วมมือกับสถาบันเพื่อกฎหมายและนโยบายระดับโลกหรือ IGLP แห่ง Harvard Law School ที่กำลังเปิดรับสมัครผู้บริหารและผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อเข้าร่วมโครงการเวิร์กช็อปนานาชาติด้านหลักกฎหมายและนโยบาย (TIJ Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy)
หลักสูตรเข้มข้นระยะสั้นนี้ เปิดกว้างสำหรับคนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะมาจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนจบกฎหมาย แต่เป็นบุคคลซึ่งมีความเป็นผู้นำและมีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม โดยเนื้อหาหลักสูตรมุ่งเน้นเรื่องหลักนิติธรรม การปฏิรูป กระบวนการยุติธรรม และการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเท่าทันความเปลี่ยนแปลง
เวิร์กช็อปนี้เน้นการเสริมทักษะการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ โดยนำหลักคิดเรื่องนิติธรรมมาใช้กับงานพัฒนา โดยมีคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกกว่า 40 คนในเครือข่าย IGLP แห่ง Harvard Law School เป็นผู้ถ่ายทอดและสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สิ่งที่เพิ่มเติมจากการอบรมปีที่ผ่านมา คือ จะมีส่วนที่เรียกว่า ‘Problem Labs’ ด้วย
Problem Labs ให้ปัญหาเป็นตัวนำทาง
Problem Labs คือการใช้กรณีศึกษาโดยนำโจทย์เชิงนโยบายที่มีความร่วมสมัยและใกล้ตัว ขึ้นมาให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งคัดเลือกมาจากกลุ่ม ‘ผู้นำรุ่นใหม่’ ที่มีพื้นเพมาจากหลากหลายส่วน ที่มีความสนใจเรื่องการพัฒนาสังคมในมิติต่างๆ และนักวิชาการในภูมิภาค ให้มาช่วยกันวิเคราะห์ปัญหา เสนอแนวทางเพื่อผลักดัน และกำกับนโยบายสาธารณะที่สำคัญ
ตัวอย่างของ 6 กรณีศึกษาใน Problem Labs ได้แก่
‘ปัญหาอาชญากรรมและความมั่นคงไซเบอร์’ ด้วยรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาสังคมและส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นอีกช่องทางของอาชญากรรมใหม่ๆ ได้เช่นกัน แต่กฎหมายที่จะออกมารับมือเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุง บางที นี่อาจเป็นเรื่องที่ต้องรับมือร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก
‘ข้อมูลส่วนบุคคล บิ๊กดาต้า และสมองกล’ ขณะที่ทุกวันนี้ นวัตกรรมทางดิจิทัลสร้างโอกาสทางธุรกิจจำนวนมหาศาล แต่ก็น่ากังวลเช่นกันว่า ข้อมูลที่ไหลเวียนจำนวนมากแต่ละวินาทีนี้ จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ดังนั้น กฎหมายนโยบายจะปรับตัวและรับมือให้ทันโลกดิจทัลได้อย่างไร เช่น หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป หรือ GDPR กับการสร้างมาตรฐานด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของทั่วโลก และในบริบทประเทศไทยจะนำมาใช้ได้อย่างไรบ้าง รวมถึงจะสร้างโอกาสทางดิจิทัลให้พลเมืองเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันได้อย่างไร
‘การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม’ ขณะที่มีคนจำนวนมากทั่วโลกที่หลุดออกไปจากความคุ้มครองทางกฎหมายเพียงเพราะเป็นคนชายขอบของสังคม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งและเป็นพื้นฐานที่จะทำให้คนรู้ถึงสิทธิ์ของตัวเองและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งและเป็นพื้นฐานที่จะทำให้คนรู้ถึงสิทธิ์ของตัวเองและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น
‘การเข้าถึงบริการทางการเงิน และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ’ เช่นเดียวกับโลกเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยน สิ่งนี้ส่งผลกระทบมาถึงโลกการเงินด้วย พฤติกรรมและวิถีการจับจ่ายใช้สอยเริ่มเปลี่ยนไปโดยพึ่งพิงเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งเงินทุนจากธนาคาร ในเรื่องนี้สถาบันนโยบายการเงินการคลัง และสถาบันทางสังคมด้านอื่นๆ จำเป็นต้องตระหนักและช่วยกันเสนอทางแก้ไขปัญหา
‘การต่อต้านคอร์รัปชัน’ รากฐานสำคัญของรัฐที่ดี คือการมีรัฐบาที่โปร่งใส ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทั้งเรื่องสินบนและการคอร์รัปชัน แนวทางหนึ่งที่มีการเสนอกันคือ การทำ open data หรือข้อมูลเปิดของภาครัฐเพื่อเอื้ออำนวยต่อความโปร่งใสและทำให้เกิดการตรวจสอบได้ แม้แนวคิดนี้มีมานานแล้ว แต่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย
‘การส่งเสริมโอกาสผู้หญิง’ โครงการนี้ยังเห็นความสำคัญที่การเติบโตของสังคมประชาธิปไตยต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับเรื่องความเท่าเทียมทางโอกาสของคนต่างเพศ รวมถึงมองว่า การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในวิชาชีพด้านกระบวนการยุติธรรม นอกจากจะช่วยสนับสนุนสิทธิผู้หญิงแล้ว ก็ยังเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้พลเมืองจากหลากหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะได้มากขึ้นด้วย
โดยลักษณะของคอร์ส Problem Labs คือ ทั้งนักวิชาการและผู้นำรุ่นใหม่จะได้เรียนพร้อมกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาบรรยาย จากนั้น ผู้เรียนจะได้ระดมสมองเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้ เพราะการเสนอกฎหมายและนโยบาย หากได้รับความเห็นที่มาจากคนหลากหลายวงการ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะมาจากการคิดวิเคราะห์จากข้อมูลที่รอบด้าน ดังนั้น การสร้างพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบาย ที่ไม่เพียงแค่อยู่ในมือของนักกฎหมาย น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างในสังคมได้มากขึ้น
Fact Box
TIJ Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy มีคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลกในเครือข่าย IGLP แห่ง Harvard Law School ร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ ผู้สนใจสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 3 พฤศจิกายน 2561 เพื่อการร่วมโครงการ ระหว่างวันที่ 6-11 มกราคม 2562
ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดตามรายละเอียดและกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่ www.tijforum.org หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 086 0000037