หลังจากที่ดิสนีย์ออกมาประกาศว่า ‘ฮัลลี เบลีย์’ (Halle Bailey) นักร้องและนักแสดงผิวดำ วัย 19 ปี หนึ่งในสมาชิกดูโอวงอาร์แอนด์บี Chloe x Halle จะมารับบทเป็น ‘เจ้าหญิงแอเรียล’ ในภาพยนตร์เรื่อง The Little Mermaid ฉบับ Live-Action กระแสการตอบรับทั้งด้านบวกและด้านลบก็ก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรงจากแฟนดิสนีย์ทั่วโลก ทั้งกระแสที่ชื่นชมว่าดิสนีย์เปิดพื้นที่ให้กับคนผิวดำและส่งเสริมความหลากหลายทางชาติพันธุ์โดยไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์ของตัวละครต้นฉบับหรือความงามตามอุดมคติที่เคยเป็นมาในอดีต ไปจนถึงกระแสความไม่พอใจที่รุนแรงจนเกิดเป็นแฮชแท็ก #NotMyAriel ขึ้นในทวิตเตอร์ทั่วโลก

ผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาและสีผิว ไปจนถึงความคิดที่ว่าดิสนีย์นั้นตัดสินใจผิดแล้วที่เลือกทำลายภาพจำซึ่งสั่งสมมากว่า 30 ปีของแอเรียลลงด้วยตัวเอง 

นอกจากบรรดาแฟนตัวยงของดิสนีย์ที่ออกมาแสดงความไม่ชอบใจในการคัดเลือกนักแสดงแล้ว คนอีกกลุ่มที่ออกมาแสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้ก็คือ กลุ่มคนผมแดง ผิวขาวซีด ที่มาพร้อมกระบนใบหน้า อย่างชาว Ginger Hair ที่ออกมาโต้ตอบกันอย่างกว้างขวางในโซเชียลเน็ตมีเดียต่างๆ ทั้งทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมว่า แอเรียลนั้นเปรียบเสมือนภาพจำของ Ginger Pride ที่ทั้งเด็กหญิงและผู้ใหญ่ผมแดงต่างก็ภาคภูมิใจและรอคอยที่จะได้เห็นเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ของตัวเองได้รับบทเป็นแอเรียลฉบับคนแสดงและนำเสนอความเป็น Ginger ออกสู่โลกฮอลลีวูดมาโดยตลอด เมื่อตัวละครนี้ถูกเลือกให้รับบทโดยนักแสดงผิวดำอย่างฮัลเล เบลีย์ หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่า ดิสนีย์กำลังพยายามผลักดันการยอมรับในความแตกต่างหรือ diversity และฉายไฟไปยังคนผิวดำซึ่งกำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ จนลืมไปหรือไม่ว่า การกระทำนี้อาจส่งผลไม่ต่างจากการช่วงชิงการยอมรับไปจากคนผมแดงซึ่งก็เผชิญกับการถูกเหยียดเพราะความแตกต่างตลอดมาไม่ต่างกัน ด้วยการช่วงชิงพื้นที่สื่อที่คนผมแดงผิวกระคิดว่าตนพึงมีไป

หลายคนยังได้ย้อนกลับไปตั้งข้อสังเกตถึงประเด็น Ginger-racism ในหนังฮอลลีวูด และยกสถิติที่ตัวละครผมแดงในหลากหลายเรื่องราวมักจะถูกเปลี่ยนให้เป็นคนผิวดำเมื่อมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกด้วย โดยมีการยกตัวอย่างตัวละครมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Mary Jane จาก Spiderman Homecoming และ Far From Home, Iris West และ Kid Flash จาก The Flash, Starfire จาก Teen Titans, Annie จาก Annie (2014), Triss จากเกม The Witcher, Heimdall จาก Thor และตัวละครอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงเชื้อชาติของตัวละครเมื่อคอมมิกถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะกับคนผมแดงเท่านั้น แต่ยังมีกรณีอื่นๆ เช่น Arthur Curry จาก Aquaman ซึ่งเคยเป็นคนผมบลอนด์ผิวขาว แต่ถูกเปลี่ยนให้รับบทโดย Jason Mamoa ชาวโพลินีเซียน (กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในฮาวาย ตาฮิติ ซามัว รวมไปถึงคนมาวรีในนิวซีแลนด์), Hugo Strange จาก Gotham ที่เป็นชาวยุโรป และรับบทโดย B.D. Wong ซึ่งเป็นนักแสดงเชื้อสายจีน, Human Torch จาก Fantastic Four (2015) ที่เป็นคนผมบลอนด์ผิวขาว และรับบทโดย Michael B. Jordan ซึ่งเป็นคนผิวดำ, THE ANCIENT ONE จาก Doctor Strange ที่เป็นคนเอเชีย และรับบทโดย Tilda Swinton ซึ่งเป็นคนผิวขาว ฯลฯ 

Hollywood doesn’t like redheads

 

 

 

 

แต่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเป็นแบบแผนที่ชัดเจนเหมือนกรณีที่คนผมแดงถูกเปลี่ยนให้เป็นคนผิวดำซ้ำๆ การตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงตัวละครจึงเกิดขึ้นเป็นกรณีๆ มากกว่าจะเป็นการตั้งคำถามไปถึงตัวค่านิยมของฮอลลีวูดที่มีต่อคนผมแดงเหมือนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

แม้ว่าการพยายามเอาใจกระแส diversity ของดิสนีย์จะไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยถูกผลักดันมาแล้วในตัวละครเอลซ่าจากเรื่อง Frozen (2013) ที่ถึงแม้จะไม่ได้ถูกบอกออกมาตรงๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอลซ่าได้นำเสนอเรื่องราวของ LGBTQ ออกมาผ่านทั้งความแปลกแยกและตัวตนที่จำต้องกดความเป็นตัวเองเอาไว้ ไปจนถึงการ coming out ในบทเพลง Let it go ที่หลายคนนำไปเปรียบเทียบกับเพลงชาติของชาว LGBTQ อย่าง I will survive จนหลายคนคาดเดาว่าเด็กสาวแปลกหน้าที่ปรากฏตัวในทีเซอร์ Frozen 2 อาจกลายมาเป็นแฟนสาวของเอลซ่าในอนาคต 

รวมไปถึงประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่ถูกผลักดันผ่านตัวละครเจ้าหญิงดิสนีย์ยุคใหม่เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นเทียน่าจาก The Princess and the Frog ในปี 2009 หรือโมอาน่าจาก Moana ในปี 2016 ซึ่งต่างจากเหล่าเจ้าหญิงดิสนีย์ในอดีตที่เกือบทั้งหมดลงเอยด้วยการพบรักกับเจ้าชาย (หรือผู้ชาย) และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ไม่สูงนัก แต่เมื่อเอลซ่า เทียน่า หรือโมอาน่า เป็นตัวละครออริจินอลที่ดิสนีย์สร้างขึ้นเองโดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนคาแรกเตอร์จากภาพจำใดๆ ที่คนดูคุ้นชิน กระแสการตอบรับจึงแตกต่างจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ตัวละครหลักของภาพยนตร์ดิสนีย์ฉบับคนแสดงถูกสร้างใหม่โดยไม่อ้างอิงตามคาแรกเตอร์เดิมในฉบับแอนิเมชั่นของตัวเอง 

ทำไมแอเรียลต้องเป็นคน Ginger?

ก่อนที่จะไปตอบคำถามว่าทำไมแอเรียลจึงถูกเลือกให้มีผมสีแดง เราคงต้องย้อนกลับไปทำความรู้จักกับการเกิดขึ้นของเส้นผมสีแดงกันก่อน โดยผมสีแดงเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่เกิดจากการกลายพันธุ์ใน melanocortin 1 receptor (MC1R) ซึ่งพบได้เพียง 2% ของประชากรทั่วโลก โดยแม้จะปรากฏการค้นพบคนที่มีเส้นผมสีแดงกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่จะมีถิ่นฐานอยู่ในยุโรปตอนกลางและเหนือ (โดยเฉพาะกลุ่มคนเซลติกที่สืบเชื้อสายมาจากชาวเคลต์หรือเซลต์) อย่างชาวสก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ เวลล์ คอร์นวอลล์ บริตตานี ไปจนถึงนอร์เวย์และฟินแลนด์ 

โดยตำนานนอร์สซึ่งบันทึกไว้ในงานเขียนปกรณัมพื้นถิ่นอย่าง Prose Edda ที่ถูกเขียนขึ้นในไอร์แลนด์ยุคกลางก็มีการพูดถึงสีผมของเทพเจ้าธอร์เอาไว้ว่ามีผมและเคราสีแดงขนาดใหญ่ โดยคนที่มีเส้นผมสีแดงมักจะมาพร้อมกับผิวสีขาวซีดเสมอ เพราะลักษณะทางพันธุกรรมเช่นนี้ส่งผลให้มีความหนาแน่นของยูเมลานิน (Eumelanin) หรือเซลล์เม็ดสีเข้มในร่างกายต่ำกว่าปกติ

โดยก่อนที่ผมแดงผิวขาวจะกลายมาเป็นภาพจำของแอเรียล จนกลายมาเป็นข้อถกเถียงกันอย่างทุกวันนี้ ดิสนีย์เคยตั้งใจอยากให้เจ้าหญิงเงือกน้อยฉบับ 1989 มีเส้นผมสีบลอนด์ทองเพื่อให้สอดคล้องกับเทพนิยายฉบับดั้งเดิมที่เขียนโดย ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) แต่ด้วยความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Splash ซึ่งนำแสดงโดย แดรีล ฮันนาห์ (Daryl Hannah) ในบทเงือกสาวผมทองสลวย ในปี 1984 ดิสนีย์จึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแอเรียลใหม่เพื่อให้บทบาทของเธอโดดเด่นและไม่ไปคล้ายคลึงกับนางเงือกในเรื่อง Splash

แดรีล ฮันนาห์ จากเรื่อง Splash (1984)

เมื่อลักษณะพื้นฐานของคนผมแดงทั้งในแง่พื้นที่และพันธุกรรม ไปจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาประกอบกับการที่ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน หรือผู้ประพันธ์ The Little Mermaid ฉบับดั้งเดิมเป็นชาวเดนมาร์กแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่ดิสนีย์ตัดสินใจเลือกให้นางเงือกน้อยของพวกเขามีผิวสีขาวและผมสีแดงจนกลายมาเป็น Iconic Princess ของชาว Ginger ตลอดมา

ความเจ็บปวดที่มาพร้อมผมสีเพลิง

แม้จะไม่ได้เห็นเด่นชัดเหมือนการเหยียดคนผิวดำ แต่กลุ่มคนผมแดงก็ถือเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนหมู่มาก รวมไปถึงถูกตัดสินและถูกเหยียดเพียงเพราะลักษณะทางพันธุกรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเช่นกัน โดยประวัติศาสตร์การเหยียดคนผมแดงที่เก่าแก่ที่สุดคงต้องย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 15-18 ซึ่งการล่าแม่มดกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่แพร่หลายไปทั่วโลก 

80% ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดล้วนเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นหญิงชราที่เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เก็บตัว ไม่ชอบพบปะผู้คน หญิงสาวโสด ไปจนถึงเด็กหญิงที่ไม่สนิทสนมกับใคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงผมแดงเพราะคนในอดีตเชื่อว่า เส้นผมสีแดงนั้นสื่อความหมายถึงสิ่งที่เลวร้ายและเกี่ยวข้องกับซาตานในหลากหลายความหมาย ไม่ว่าจะเป็น ไฟ เลือด นรก รวมไปถึงการกล่าวหาว่าคนผมแดงคือคนที่ขโมยไฟมาจากนรก 

โดยในประเทศเยอรมนีช่วงศตวรรษที่ 15 มีหญิงสาวผมแดงมากถึง 45,000 คนที่ถูกสังหารด้วยการเผาและทรมานจากการถูกกล่าวว่าเป็นแม่มด นอกจากนี้ในชุมชนชาวประมงแถบสก็อตแลนด์และไอซ์แลนด์ยังเชื่อกันว่าหากใครเจอผู้หญิงผมแดงระหว่างที่กำลังจะไปจับปลา วันนั้นจะไม่สามารถจับปลาได้อีกด้วย

กลับมาที่ปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของคน Ginger ในสื่อก็ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างสวยงามนัก ไม่ว่าจะเป็นในภาพยนตร์ชุดดังระดับโลกเรื่อง Harry Potter ซึ่งหลายคนกล่าวว่าเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ของคนผมแดงในรูปแบบใหม่ผ่านตัวละครรอน วิสลีย์ ที่เป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง ซึ่งมีความกล้าหาญและเก่งกาจไม่แพ้คนตัวละครผิวขาวตัวอื่นๆ ถึงแม้ครอบครัวของเขาจะโดนดูถูกเหยียดหยามจากคนรอบตัวที่มีผมสีบลอนด์ (เช่นครอบครัวมัลฟอยด์) มาโดยตลอด 

นอกจากนี้ รอนก็ยังได้ลงเอยกับคาแรกเตอร์หลักผิวขาวซึ่งเป็นความงามตามอุดมคติอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ เจ.เค.โรลลิง จะพยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของคนผมแดงในภาพยนตร์ให้มีบทบาทใหม่ แต่หลายคนก็ยังตั้งข้อสังเกตว่าสุดท้ายแล้วครอบครัววิสลีย์ก็ยังคงนำเสนอภาพลักษณ์ของคนผมแดงในรูปแบบที่ไม่ต่างจากเดิม คือการเป็นครอบครัวฐานะไม่ดีที่ดูประหลาด เซ่อซ่าและแปลกแยกจากสังคม ต่างจากครอบครัวผมบลอนด์อย่างครอบครัวมัลฟอยด์ที่ถึงแม้จะเป็นครอบครัวผู้วิเศษเหมือนกัน แต่กลับร่ำรวย มีอิทธิพลและถือเป็นเลือดบริสุทธิ์ 

โดยหลังจากที่ได้รับบทเป็นรอน วิสลีย์ นักแสดงรูเพิร์ต กรินต์ เองก็ออกมาเปิดเผยว่า เขาเคยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียน (bullying) เนื่องด้วยเส้นผมสีแดงของตัวเองมาแล้วเช่นกัน

แอนิเมชั่นอีกเรื่องที่มีการพูดถึงคนผมแดงอย่างชัดเจนก็คือ เซาท์พาร์ก (South Park) เรื่องราวของนักเรียนประถม 4 คน กับการผจญภัยภายในเมืองเล็กๆ ชื่อ เซาท์พาร์ก ในรัฐโคโลราโด มีเนื้อหาในแต่ละตอนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยจะเน้นในลักษณะล้อเลียน ประชด เสียดสีสังคม โดยในตอนที่มีชื่อว่า ‘Kick a Ginger Day’ มีการพูดถึงคนผมแดงผิวกระว่าน่ารังเกียจและเกิดมาพร้อมกับโรค’ 

จนเด็กๆ วัย 12-13 ปีที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองบอสตันซึ่งได้ชมเซาท์พาร์ก ในตอนนี้มีอคติต่อเด็กผมแดง และเกิดเป็นกระแสต่อต้านเพื่อนร่วมชั้นผมแดงตลอดทั้งวัน จนนำไปสู่การทำร้ายร่างกายจนฟกช้ำและมีเลือดออก นอกจากนี้ยังนำไปสู่การก่อตั้งอีเวนต์ ‘National Kick a Ginger day’  ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพยายามสถาปนาวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี ให้เป็นสัญลักษณ์ของความเกลียดชังคนผมแดง ขึ้นในเฟซบุ๊ก โดยมีผู้กดเข้าร่วมมากถึง 4,700 คนทั่วประเทศแคนาดาอีกด้วย

อิทธิพลของสื่ออย่างภาพยนตร์และการ์ตูน โดยเฉพาะในกรณีของเซาท์พาร์ก แสดงให้เห็นว่าค่านิยมที่มีต่อคนผมแดงในปัจจุบัน แม้จะแตกต่างจากการล่าแม่มดที่มีการสังหารจนถึงแก่ชีวิต แต่ผู้คนก็ยังคงมองว่าคนผมแดงเป็นกลุ่มคนที่แปลกแยก แตกต่าง และไม่ได้รับการยอมรับไม่ต่างจากในอดีต เจ้าหญิงเงือกน้อยผู้ไร้เดียงสา โด่งดัง และเป็นที่รักของทุกคนอย่างแอเรียลจึงเป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่คอยเยียวยาจิตใจของเด็กหญิงชาว Ginger ที่กลายมาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งผิดหวังกับการเปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ของ The Little Mermaid ในปัจจุบัน

ท่ามกลางกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นทั้งจากแฟนดิสนีย์และกลุ่มคนผมแดง ยังมีชาว Ginger อีกหลายคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านการโจมตีฮัลเล เบลีย์ และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อยู่ด้วยเช่นกัน โดย โซฟี วิลล์คินสัน บรรณาธิการฟรีแลนซ์ จากเว็บไซต์ ไอริชไทม์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ตัวเธอซึ่งมีผมสีแดงจะผ่านการโดนล้อเลียน เหยียดหยาม และรังแก จากเพื่อนในโรงเรียนมาตั้งแต่เด็ก และมีแอเรียลเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยให้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายนั้นมาได้ แต่ในปัจจุบันบนสื่อสาธารณะยังมีตัวละครและนักแสดงผมแดงอีกมากมายที่เป็นที่รักของผู้คน ไม่ว่าจะเป็น Angela Rayner, Lily Cole, Julianne Moore หรือ Karen Gillan ต่างจากในอดีตที่มีเพียงแอเรียลเท่านั้น 

และไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันผู้หญิงผิวดำก็ยังคงต้องเผชิญกับความเกลียดชัง อาชญากรรม และความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างในสังคมอยู่เสมอ หากแอเรียลในรูปแบบใหม่จะกลายเป็นแบบอย่างที่ช่วยให้หญิงสาวและเด็กหญิงผิวดำที่กำลังจะเติบโตขึ้นในอนาคตสามารถภาคภูมิใจในตัวเองได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเธอและเด็กๆ ผมแดง ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่น้อย

แม้ว่าเส้นแบ่งของการสร้างความแตกต่างหลากหลายและการพยายามฝืนเพื่อเอาใจกระแสโลกจะยังคงพร่าเลือนจนยากจะตัดสินได้ว่าเจตนาที่แท้จริงของดิสนีย์เป็นอย่างไร และคงไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจของดิสนีย์ในครั้งนี้จะถูกต้องหรือตรงกับใจผู้บริโภคหรือไม่จนกว่าหนังจะออกฉาย แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ของดิสนีย์ก็ถือเป็นอีกเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่แสดงให้เห็นถึงการตอบรับและให้ความสำคัญประเด็นความเท่าเทียมในกระแสโลกอย่างจริงจัง 

โดยเฉพาะเมื่อในสหรัฐอเมริกามีการรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันของคนผิวดำเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเหตุการณ์การแบ่งแยกกีดกันหรือทำร้ายคนผิวดำที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา การที่ดิสนีย์ตัดสินใจเลือกนำเสนอประเด็น diversity ผ่านการให้แอเรียลฉบับคนแสดงกลายเป็นคนผิวดำจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก แต่ในขณะเดียวกันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกันหากจะมีผู้คนตั้งข้อสงสัยว่าดิสนีย์ลืมไปหรือไม่ว่าการเลือกคนผิวดำมาแทนคนผมแดงก็ถือเป็นการแบ่งแยกและกีดกันความแตกต่างเช่นเดียวกัน

 

Tags: , , , , , ,