ฮิกิโกะโมริ (Hikikomori) คือคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมชอบเก็บตัว ขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง ไม่ยอมไปเรียนหรือไปทำงาน สูญเสียสายสัมพันธ์ที่มีต่อครอบครัว ผู้คน และสังคม โดยอาจมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งแรงกดดันจากครอบครัว ความตึงเครียดจากการต้องทำตามความคาดหวังของสังคม และในบางกรณีก็มีที่มาจากการถูกกลั่นแกล้งรังแก จนบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกหวาดกลัวผู้คนและสังคม
นวนิยายเรื่อง ผมเรียกเขาว่าเน็กไท (I Called Him Necktie) ของ มิเลนา มิชิโกะ ฟลาชาร์ (Milena Michiko Flašar) นักเขียนลูกครึ่งญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย เปิดประตูพาเราเข้าไปสำรวจโลกของฮิกิโกะโมริผ่านมิตรภาพของคนสองวัย เรื่องเล่าและบทสนทนาที่ค่อยๆ เปลือยความลับ เปิดปากแผล และความพยายามปลดปล่อยตัวเองจากความรู้สึกผิดที่กัดกินชีวิตของแต่ละคน
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันหนึ่ง เมื่อ ‘ผม’ ทากุชิ ฮิโระ ชายหนุ่มวัยยี่สิบ ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นฮิกิโกะโมริ และขังตัวเองอยู่ในห้องมานานกว่าสองปี ตัดสินใจก้าวออกจากห้องเพื่อไปสัมผัสและสูดกลิ่นบรรยากาศของโลกภายนอก แน่ล่ะว่าการออกไปสู่โลกภายนอกอย่างจริงจังครั้งแรกสำหรับเขาไม่ใช่เรื่องง่าย ความรู้สึกแปลกแยก หวาดกลัว และสับสน บีบอัดกันจนกลายเป็นความรู้สึกคลื่นไส้ ในที่สุดเขาวิ่งไปถึงสวนสาธารณะแห่งหนึ่งและอาเจียนออกมา
ณ สวนสาธารณะแห่งนี้เองที่ลากเส้นทางชีวิตของเขาให้มาพบกับ โอฮาระ เท็ทสุ พนักงานบริษัทวัยห้าสิบกว่าที่มานั่งกินมื้อกลางวันในสวนสาธารณะแห่งนั้นเช่นกัน พวกเขาทั้งคู่ไม่ได้เริ่มต้นคุยกันตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอ มีเพียงการลอบสังเกตลักษณะภายนอกจากมุมมองของ ‘ผม’ เท่านั้นที่ทำให้เรารู้ว่าชายวัยห้าสิบกว่าคนนี้เป็นพนักงานบริษัท เริ่มตั้งแต่ชุดที่อีกฝ่ายสวมใส่ สูท เสื้อเชิ้ต เน็กไท กระเป๋าเอกสาร ใบหน้าอันเหนื่อยล้าและท่าทางอันเหนื่อยอ่อนจากการคร่ำเคร่งทำงานมาตลอดทั้งวัน
จากการพบกันครั้งแรก และได้พบกันอีกหลายๆ ครั้งต่อมา ทั้งคู่เริ่มกลายเป็นคนแปลกหน้าที่คุ้นเคย ทากุชิ ฮิโระ สังเกตว่าโอฮาระ เท็ทสุ มักจะมานั่งที่เก่าเวลาเดิมทุกวันตรงม้านั่งฝั่งตรงข้ามกับเขา เขาเริ่มจดจำและสังเกตพฤติกรรมทุกอย่างของอีกฝ่าย ทั้งกล่องอาหารที่เท็ทสุเตรียมมา วิธีหยิบอาหารใส่ปาก อากัปกิริยาเผลอไผลและท่าทางผ่อนคลายต่างๆ จนกระทั่งอีกฝ่ายนั่งหลับไปจนถึงเวลาเลิกงาน เท็ทสุตื่นขึ้นหยิบกระเป๋าเอกสารและหันหลังกลับไปทางที่ขึ้นรถไฟ
ทุกอย่างดำเนินซ้ำๆ อยู่เช่นนี้ในแต่ละวัน ฮิโระสงสัยว่าทำไมพนักงานบริษัทวัยใกล้เกษียณคนนี้ถึงมานั่งหลับที่สวนสาธารณะแห่งนี้ทุกวัน จนกระทั่งเมื่อทั้งคู่เริ่มบทสนทนากันในวันหนึ่ง จึงได้รู้ว่าเท็ทสุเพิ่งถูกให้ออกจากงานในบริษัทที่ทำมากว่าสามสิบปี และเขาปกปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับจากภรรยา
ความลับของคนหนึ่งนำไปสู่ความลับของอีกคนหนึ่ง การเปิดเผยความในใจของคนหนึ่งจึงนำไปสู่การเปิดเผยความในใจของอีกคนหนึ่ง ณ จุดนี้เองที่ความผูกพันเริ่มต้นขึ้น เงื่อนปมบาดแผลในชีวิตที่แต่ละคนเก็บงำไว้จึงถูกคลี่คลายถ่ายเทออกมา
นวนิยายค่อยๆ เผยให้เราเห็นว่าบาดแผลจากการสูญเสียเพื่อนในวัยเยาว์ไปสองครั้งสองครากลายเป็นภาพหลอกหลอนรุนแรงที่ทำให้ฮิโระรู้สึกสูญเสียตำแหน่งแห่งที่ของตนบนโลก ความรู้สึกผิดจากการไม่สามารถไขว่คว้าเพื่อนไว้ในห้วงยามที่กำลังร่วงหล่น กลายเป็นตราบาปที่ถูกฉายซ้ำในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในขณะที่เท็ทสุ ความรู้สึกผิดต่อภรรยาและความโศกเศร้าต่อการสูญเสียลูกชายไปเมื่อหลายสิบปีก่อน คือหมุดที่ตอกตรึงเขาไว้ ความรู้สึกผิดต่อการไม่อาจยอมรับลูกชายที่เกิดมาพิการ มันคือหนี้ที่เขาต้องชดใช้ให้กับความทุกข์ของภรรยา ทุกข์ที่เขาอ่อนแอเกินกว่าจะร่วมแบ่งปันมันร่วมกับเธอ
นวนิยายเรื่องนี้คือการเยียวยากันผ่านบทสนทนาและเรื่องเล่า บทสนทนาที่ลากเส้นขอบฟ้าของความแปลกหน้าและความคุ้นเคยให้มาบรรจบกัน เรื่องเล่าของแต่ละคนกลายเป็นสะพานที่ทอดมาสู่กัน เรื่องเล่าของคนหนึ่งแผ้วถางเส้นทางให้กับเรื่องเล่าของอีกคนหนึ่ง แผ้วถางไปจนกระทั่งแต่ละฝ่ายค้นพบตัวตนที่ทำหล่นหายไปเนิ่นนาน
หากมองในเชิงพื้นที่ การที่นวนิยายเลือกใช้สวนสาธารณะเป็นฉากหลังของเรื่องนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะสวนสาธารณะคือพื้นที่ที่ ‘เปิด’ ให้ผู้คนจากทั่วสารทิศมาร่วมแบ่งปันและใช้พื้นที่ร่วมกันอย่างแทบจะเรียกได้ว่าไร้เงื่อนไขเฉพาะเจาะจง เป็นพื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจ และมีบรรยากาศผ่อนคลายที่เอื้อต่อการสร้างบทสนทนาระหว่างคนแปลกหน้าสองคนที่บังเอิญมาพบกันโดยบังเอิญ จากจุดนี้เมื่อมองจากความหมายในเชิงพื้นที่มาบรรจบกับความหมายในเชิงวรรณกรรม สวนสาธารณะจึงเป็นพื้นที่พิเศษที่ทำให้ตัวละครซึ่งเก็บงำความลับและความในใจต่างๆ เอาไว้ ยอมและกล้าเปล่ง ‘เสียง’ ของตนออกมา มันคือพื้นที่ที่ปราศจากแรงกดดันๆ ต่างจากพื้นที่ในครอบครัวและสังคมซึ่งแรงกดดันของมันคอยแต่จะกดเสียงของพวกเขาเอาไว้
เสน่ห์อย่างหนึ่งของนวนิยายเล่มนี้อยู่ที่การวางลักษณะ ‘ผิดที่ผิดทาง’ เอาไว้อย่างน่าสนใจในหลาย ๆ ประเด็น เริ่มตั้งแต่การอยู่ผิดที่ผิดทางในเชิงพื้นที่ที่ทำให้ทั้งสองตัวละครได้มาพบกัน ดังที่เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
“เขาเป็นพนักงานบริษัทคนเดียวในสวน ผมเป็นฮิกิโกะโมริคนเดียวในสวน มีอะไรบางอย่างไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเราทั้งสองคน เขาควรจะอยู่ในออฟฟิศในตึกสูงที่ไหนสักแห่ง ส่วนผมก็ควรจะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมของตัวเอง เราไม่ควรมาอยู่ที่นี่ หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรมาเสแสร้งว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่…” (หน้า 23)
นอกจากนี้ ยังมีการวางคู่ตรงข้ามกับตัวละครให้เห็นในอีกหลายมิติ ระหว่างคนหนึ่งที่ขังตัวอยู่แต่ในห้อง แทบไม่เคยออกไปใช้ชีวิต กับอีกคนหนึ่งที่ออกจากบ้านทุกวันและใช้ชีวิตมาจนเหนื่อยล้ากับชีวิต คนหนึ่งที่นิ่งเงียบเก็บงำ กับอีกคนหนึ่งที่เปิดเผย ผ่อนคลาย สบายๆ คนหนึ่งเป็น ‘คนนอก’ ของสังคม กับอีกคนหนึ่งที่เป็นพนักงานบริษัท เป็นมนุษย์สามัญที่เห็นได้ทั่วไปดาษดื่น คู่ตรงข้ามเหล่านี้สร้างบทสนทนาระหว่างตัวละครในระดับที่ลึกลงไปกว่าพื้นผิวที่ปรากฏ ก่อเกิดเป็นความหมายทางวรรณกรรมที่ตีความต่อไปได้อีกหลายชั้น อ่านได้ในหลายระดับ
ในเชิงความสัมพันธ์ มีหลายสิ่งในตัวของเท็ทสุก่อเกิดเป็นความรู้สึกอ่อนไหวที่ทำให้ฮิโระนึกประหวัดไปถึงพ่อของตนที่เป็นมนุษย์ออฟฟิศเช่นกัน การได้รู้จักและพูดคุยกันอย่างลึกซึ้งกับเท็ทสุทำให้ภาพชีวิตของเท็ทสุและภาพชีวิตของพ่อฮิโระค่อยๆ เหลื่อมซ้อนเข้ามาจนส่องสะท้อนกันและกัน พ่อผู้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ พ่อที่รู้สึกผิดต่อลูกชายและเจ็บปวดจากความแปลกหน้าที่มีต่อกัน ช่องว่างในความสัมพันธ์ที่ถมไม่เต็มทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่กล้าก้าวออกไปหาอีกฝ่ายเพราะกลัวว่าจะถูกดูดลงไปในช่องว่างนั้น
มันจึงกลายเป็นว่าพ่อที่เขาอยู่ร่วมบ้านด้วยทุกวัน แต่มองไม่เห็นกันและกันนั้น (หรือเมื่อบังเอิญเจอกันข้างนอกก็จำต้องหลบหน้ากันอย่างอิหลักอิเหลื่อ) เมื่อถอยออกมาจากบ้าน มาอยู่ข้างนอก มาสัมผัสโลกภายนอก ภาพของพ่อกลับกลายเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น มองเห็นได้ และจับต้องได้เมื่อมองผ่านตัวตนของเท็ทสุ การค้นพบความจริงในตัวของคนหนึ่ง นำไปสู่การค้นพบความจริงในตัวของอีกคนหนึ่ง ความคุ้นเคยที่ค้นพบจากคนแปลกหน้า กลายเป็นเหมือนดวงไฟที่ลบเลือนเมฆหมอกแห่งความแปลกหน้าออกจากคนคุ้นเคย
ความงดงามของนวนิยายเรื่องนี้คือ การเปิดประตูออกมาให้เราเห็นว่า ‘โลก’ ของฮิกิโกะโมรินั้นไม่ได้มีแต่เพียงพวกเขาเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นคนอื่นๆ ในสมการนี้ด้วย ดังที่นวนิยายเรื่องนี้ย้ำกับเราอยู่หลายครั้งว่า บ้านที่มีลูกเป็นฮิกิโกะโมริ ไม่ใช่แค่เพียงลูกเท่านั้นที่เป็น แต่ผลกระทบของมันยังทำให้พ่อแม่ของพวกเขากลายเป็นฮิกิโกะโมริไปด้วย มันคือแอกที่ทุกคนแบกไว้ร่วมกัน (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) เพราะไม่รู้ว่าจะหาทางวางมันลงอย่างไร
หากเรานำเอาเงื่อนปมความรู้สึกผิดในใจของตัวละครทั้งหมดมากางออก จะพบว่าแกนสำคัญที่ร้อยเรียงเรื่องราวในนวนิยายเรื่องนี้คือประเด็นเรื่อง ‘การตัดสินใจ’ ตัวละครทั้งสองแสดงให้เราเห็นว่าการตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (ในสถานการณ์หนึ่งๆ) ได้พรากสิ่งใดไปจากชีวิตและพาชีวิตไปพบกับสิ่งใดบ้าง บางครั้งความรู้สึกผิดจากสิ่งที่ไม่ตัดสินใจทำก็กัดกินเรารุนแรงกว่าความรู้สึกผิดจากสิ่งที่ได้ตัดสินใจทำลงไป ทำให้เราต้องปลดเปลื้องตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในแก้วเหล้า ในความตาย และในการขุดหลุมฝังตัวเองให้พ้นจากโลก
แต่แล้วเมื่อเราลืมตาขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง และพบว่าตัวเองยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป หากจะมีถ้อยคำหนึ่งจากตัวละครในเรื่องนี้พอจะปลอบประโลมใจได้บ้าง ก็คงจะเป็นประโยคนี้
“การยื่นมือออกไปหาใครสักคน นั่นล่ะที่เราต้องการมากที่สุด” (หน้า 158)
Fact Box
ผมเรียกเขาว่าเน็กไท (I Called Him Necktie)
มิเลนา มิชิโกะ ฟลาชาร์ (Milena Michiko Flašar) เขียน
สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท แปล
สำนักพิมพ์แมร์รี่โกราวด์