เขื่อนที่แตกในลาวครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานไฟฟ้าส่งให้ไทย และมีบริษัทของไทยเข้าร่วมลงทุน

เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา สันเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของลาวที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแตก จนทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักลงแม่น้ำเซเปียน ท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านในแขวงอัตตะปือ เมืองสนามไชย มีผู้สูญหายหลายร้อยรายแล้ว

เขื่อนนี้เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานไฟฟ้าของไทย มีบริษัทของไทยเข้าร่วมลงทุน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2556 ตามกำหนดเดิม จะเริ่มต้นเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในต้นปี 2562 ด้วยกำลังผลิต 400 เมกะวัตต์

เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยมีความจุ 1,043 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับเขื่อนแก่งกระจาน ขณะที่ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเขื่อนแก่งกระจาน 20 เท่า

โครงการนี้ก่อสร้างอยู่บนที่ราบสูงบอละเวน ในแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือในลาว ใกล้ชายแดนไทย ห่างจากเมืองปากเซประมาณ 80 กิโลเมตร ระยะทางจากโรงไฟฟ้าถึงพรมแดนไทย-ลาว 170 กิโลเมตร

พลังงานไฟฟ้าที่ได้ในโครงการร้อยละ 90 ส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลา 27 ปี ราคาไม่เกิน 2.50 บาทต่อหน่วย เชื่อมต่อระบบส่งไฟฟ้าของไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนที่เหลือ 40 เมกะวัตต์ใช้ในลาว

โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 22,000 ล้านบาท มีบริษัทไทยถือหุ้น 25% โดยบริษัทไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด มหาชน ที่มีกฟผ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับบริษัท SK Engineering and Construction บริษัท Korea Western Power จำกัด  Lao Holding State Enterprise

เงินที่ใช้ลงทุนเป็นสินเชื่อร่วม (Syndication loan) ของธนาคารไทย 4 แห่งคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาติ

จุดเด่นของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยอยู่ที่การเพิ่มเติมความสูงของเขื่อนขึ้นมา รวบรวมน้ำจากสามจุดจากห้วยหมากจันทร์ แล้วมาเซเปียน เซน้ำน้อย มีการทำอุโมงค์ความดันต่ำ 12 กิโลเมตร เป็นความดันสูงจากที่เจาะอุโมงค์ลงมา 456 เมตร ทำให้น้ำมีความสูงขึ้น 650 เมตร  เพื่อเข้าสู่ท่อส่งน้ำเพื่อส่งไปยังเครื่องส่งไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อย ทำให้สันเขื่อนเซน้ำน้อยเป็นจุดที่รับน้ำมากที่สุดของโครงการ

เขื่อนนี้ เป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ในลาวที่บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เข้าไปในลงทุน หลังจากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และโครงการโรงไฟฟ้าหงสา

ไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในโครงการผลิตไฟฟ้าของลาว ตั้งแต่พ.ศ. 2536 ใน MOU ฉบับที่ 1 ปริมาณผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ ขยายมาจนถึง MOU ฉบับที่ 5 ปี 2559 ที่เปิดให้ไทยลงทุนผลิตไฟฟ้ารวม 9,000 เมกะวัตต์

ปัจจุบันไทยมีโครงการซื้อไฟฟ้าจากลาวทั้งหมด 5,941 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 3,584 เมกะวัตต์

บ่ายวันที่ 25 ก.ค. กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเริ่มจ่ายไฟฟ้า เพราะเป็นสันเขื่อนส่วนย่อย ซึ่งมีน้ำทะลักท่วมบ้านเรือน  600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) บริษัทรับเหมาก่อสร้างจะสร้างคันโดยรอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อเสริมความแข็งแรงของเขื่อนย่อย

.

.

ที่มา:

ที่มาภาพ: http://raosukunfung.com/2018/07/24/ລັດຖະບານ-ປະກາດເຂດນຳ້ຖວ້/

Tags: