โรงเรียนประถมในฟินแลนด์ ลองนำหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ หรือ ‘ฮิวแมนนอยด์’ มาสอนภาษาให้เด็กๆ

ที่โรงเรียนทัมเมลัน ทางตอนใต้ของฟินแลนด์ ครูหน้าใหม่ สูงแค่ 58 ซม. ชื่อว่า ‘อิไลอัส’ สามารถคุยโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ เพราะ ‘อิไลอัส’ ถูกโปรแกรมให้เข้าใจภาษาฟินแลนด์ อังกฤษ และภาษาอื่นๆ รวม 23 ภาษา แล้วมาเป็นครูฝึกสอนเด็กประถมในเมืองใหญ่สามแห่งของฟินแลนด์ ร่วมกับ ‘โอโวบอท’ หุ่นยนต์สอนคณิตศาสตร์เป็นเวลาหนึ่งปี

อิไลอัสสามารถปรับคำถามได้เองอัตโนมัติ จดจำระดับทักษะการใช้ภาษาของนักเรียน แล้วป้อนข้อมูลกลับมายังครูที่เป็นมนุษย์ เมื่อพบว่ามีบางอย่างที่อาจจะกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอน นอกจากนี้ อิไลอัสยังสามารถปรับพฤติกรรมของตัวเองไปในทางที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก

การใช้หุ่นยนต์ในชั้นเรียนไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในบางแห่งของตะวันออกกลาง เอเชีย และสหรัฐอเมริกา ก็นำหุ่นยนต์มาใช้ในการเรียนการสอน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

เดือนมกราคมปี 2559 มหาวิทยาลัยทิลเบิร์ก (TiCC) ในเนเธอร์แลนด์ เริ่มต้นโครงการความร่วมมือที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในยุโรปเป็นระยะเวลาสองปีครึ่ง ทดลองใช้หุ่นฮิวแมนนอยด์สอนภาษาดัชต์และภาษาอังกฤษให้กับเด็กก่อนวัยเรียนซึ่งมีที่มาจากต่างถิ่น ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม

เมียร์แยม ดา ฮาส หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า เด็กเล็กตั้งแต่วัยหัดเดินจะเรียนรู้ภาษาต่างๆ ได้ง่ายกว่าเด็กโตมาก ทีมวิจัยจึงทดลองใช้หุ่นยนต์สอนภาษากับเด็กกลุ่มเล็กๆ วัยสามขวบที่ศูนย์ดูแลเด็กช่วงกลางวันของทิลเบิร์ก เพราะสามขวบเป็นวัยที่เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีจากการเล่น

นอกจากนี้ ทีมวิจัยพยายามหาวิธีทำให้หุ่นยนต์สื่อสารกับมนุษย์ได้ สอนภาษาที่สองให้กับเด็กๆ ในแบบที่สนุกสนาน ดึงดูดใจ และปลอดภัย

เมื่อทีมวิจัยนำ ‘โรบิน’ ครูสอนภาษาที่เป็นหุ่นฮิวแมนนอยด์มาแนะนำตัวกับเด็กๆ และปล่อยให้เด็กๆ อยู่กับโรบินตามลำพัง โดยนักวิจัยแอบเฝ้าดู ผลออกมาไปในทางบวก เด็กๆ เพลิดเพลินในการเรียนกับโรบิน และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี นักวิจัยบอกว่า เด็กๆ บอกกับพ่อแม่ของพวกเขาว่า เรียนกับโรบินสนุกจัง

คาโลรีน ซิคส์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดูแลเด็กทิลเบิร์กบอกว่า แรกๆ จะกลัวนิดหน่อย แต่จากนั้น ความสงสัยก็ทำให้เด็กๆ ยอมรับโรบินได้อย่างรวดเร็ว อยากจะคุยด้วย เมื่อโรบินเริ่มเล่นหรือคุย เด็กๆ ก็จะสงบเสงี่ยมเรียบร้อยขึ้นมาทันที

หลังจากผ่านไปหนึ่งปีเศษ เมียร์แยมบอกว่า การทดลองนี้ยังไม่มีผลการศึกษามากพอที่จะสรุปได้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ตอบสนองกับหุ่นยนต์ได้ดีมากๆ

ปอล โฟกต์ รองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยทิลเบิร์กบอกว่า เทียบกับมนุษย์แล้ว หุ่นยนต์มีข้อดีที่เป็นไปได้หลายอย่าง เช่น หุ่นยนต์มีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวกับเด็กๆ ได้ง่ายกว่า สามารถพูดได้หลายภาษา เราสามารถเขียนคำสั่งให้หุ่นยนต์ปรับรูปแบบการสอนให้เข้ากับระดับการเรียนรู้ของเด็กได้ ที่สำคัญ หุ่นยนต์มีความอดทนมากกว่ามนุษย์ และสามารถพูดทวนคำศัพท์ซ้ำๆ ได้โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ

นอกจากการทดลองนำหุ่นยนต์มาเป็นครูในห้องเรียนแล้ว ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ในสหรัฐอเมริกา ยังทดลองนำหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์มาใช้พัฒนาทักษะการเข้าสังคมและทักษะการสื่อสารให้เด็กเล็กที่มีอาการออทิสติกด้วย

หุ่นฮิวแมนนอยด์ที่นำมาใช้สอนภาษาในโรงเรียนประถมของฟินแลนด์ และที่ศูนย์ดูแลเด็กเล็กทิลเบิร์กในเนเธอร์แลนด์ รวมถึงที่ใช้ในการทดลองเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคมของเด็กออทิสติกในสหรัฐอเมริกา เป็นการต่อยอดจากหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ที่ชื่อ ‘นาว’ (NAO) ซึ่งผลิตโดยบริษัท SoftBank โดยรุ่นที่ถูกพัฒนาให้ใช้สำหรับงานศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยและในห้องทดลอง เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2551 และมีการปรับปรุงเรื่อยมา ในปี 2558 นาวถูกนำมาใช้ในงานด้านการศึกษาและงานวิจัยต่างๆ มากถึง 5,000 ตัว ใน 50 ประเทศทั่วโลก

Tags: , , ,