ศร เป็นพระเอกหมอลำ ส่วน โต้น และ แสบ เป็นหนุ่มชาวนา คนแรกเพิ่งพ่ายรักเมื่อแฟนหันไปควงลูกชายนายห้าง คนที่สองและสามหมายปองสาวคนเดียวกัน นั่นคือ พิม ลูกสาวผู้ใหญ่บ้าน แต่หลังจากที่ศรโดนกระทืบจนขึ้นลำไม่ได้ โต้นจึงเข้ามาเป็นสมาชิกคณะหมอลำคนใหม่แทน ทำให้ มุก ลูกสาวเจ้าของคณะหมอลำแอบชอบโต้นโดยไม่มีใครรู้

สิ่งที่ทั้งสามหนุ่มมีเหมือนกันคือพวกเขาทำเพลงของตัวเองลงยูทูบ ถ่ายทำด้วยโทรศัพท์มือถือ จัดฉากตัดต่อและเผยแพร่กันเองจากในหมู่บ้าน เพลงมีอิทธิพลกับพวกเขาถึงขนาดที่แม้แต่จะดวลกันแย่งสาว ยังต้องดวลกันเป็นเพลงหมอลำ

ขณะที่พิมต้องถูกจัดแจงให้แต่งงานกับลูกชายนายห้างค่ายเทป (ก็ไอ้คนเดียวกับที่แย่งแฟนศรนั่นแหละ) นั่นทำให้แสบเสียใจจนแทบเป็นบ้า (ร้องเพลงคำแพง) ในขณะที่โต้นซึ่งอกหัก ก็ปฏิเสธรักจากมุก (ร้องเพลง อ้ายมีเหตุผล) ก่อนจะรู้ว่าคนที่น่ารักคือคนที่รักเขาไม่ใช่คนที่เขารัก

มันก็คือเรื่องวัยรุ่นวุ่นรักของหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ที่เป็นหมู่บ้านกลางๆ ลอยๆ ไม่ได้เชื่อมต่ออันใดกับโลกภายนอก นอกจากอินเตอร์เน็ตในฐานะพื้นที่แห่งโอกาสชนิดใหม่ของคนหนุ่มสาว โดยมีตัวร้ายเป็นนายทุนค่ายเพลงหน้าเลือดที่ทั้งเป็นศัตรูหัวใจ และเป็นศัตรูทางสังคมเมื่อพยายามจะกินรวบนักร้องเกิดใหม่โดยอ้างความเป็นค่ายเพลงแล้วกดค่าแรง

เอาจริงๆ มันคือหนังตีหัวเข้าบ้านที่อาศัยความโด่งดังของนักร้องหน้าใหม่ในแถบถิ่นอีสาน เพื่อให้ขายได้ หนังทำตัวเป็นเหมือนมิวสิกวีดีโอขนาดยาว ผูกสถานการณ์เล่าเรื่องเพียงเพื่อจะนำมาถึงซีนร้องเพลง ซึ่งยาว เต็ม มาทั้งเพลง และบางครั้งก็ไม่รู้ว่ามาได้อย่างไรจนน่าจัดฉายรอบ sing along มากกว่าอื่นใดทั้งหมด

กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ หนังก็ได้กลายเป็นบันทึกยุคสมัยของวงการดนตรีลูกทุ่งอีสาน ที่ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่สามารถระงับการล่มสลายของระบบนิเวศดนตรีแบบเก่า รวมถึงการมาถึงของสนามใหม่ๆ สำหรับคนทำเพลงอีสาน ซึ่งนั่นทำให้มันเป็นมิวสิควีดีโอขนาดยาวที่ล้อเล่นกับประวัติศาสตร์ของตัวเองได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

ข้อความหนึ่งจากหนังสือ Luk Thung The Culture and Politics of Thailand’s Most Popular Music โดย James Leonard Mitchell กล่าวว่า “หนึ่งในข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่าอัตลักษณ์ของอีสานอยู่ในเพลงลูกทุ่งนั้นก็อยู่ในเนื้อเพลง ‘คนบ้านเดียวกัน’ ของไผ่ พงศธร (2009) ที่เขียนโดย วสุ ห้าวหาญ ซึ่งส่งให้เขากลายเป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงสูงสุดในเวลาอันรวดเร็ว”

โดยในบรรดาวัฒนธรรมสาธารณ์ สิ่งที่ไวต่อความเปลี่ยนแปลงที่สุดไม่ใช่ภาพยนตร์หรือวรรณกรรม หากคือดนตรี ปรากฏการณ์ฮิตของวัฒนธรรมป๊อปอีสานนั้นไม่ใช่เพียงการระเบิดออกของคนอย่างก้อง ห้วยไร่ เบิ้ล ปทุมราช หรือ แซค ชุมแพ หรือการไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ของรุ่นใหญ่อย่างเพชร สหรัตน์ พวกเขาไม่ใช่สิ่งเกิดใหม่ แต่เป็นผลสืบเนื่องของลูกทุ่งอีสานที่มีมายาวนาน

เราอาจจะไม่ต้องย้อนไปถึงเพลงลูกทุ่งเจือท่วงทำนองอีสานเพลงแรกของ ปอง ปรีดา แต่เราจะเริ่มจากหนังอีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ‘มนต์รักแม่น้ำมูล’ (1977)  ที่กำกับโดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ซึ่งเป็นทั้งครูเพลงและคนทำหนัง

มนต์รักแม่น้ำมูล เล่าเรื่องของแรงงานอพยพที่ย้ายจากอีสานเข้ามาทำงานในกรุงเทพ เล่าชะตากรรมพวกเขา ตัดสลับกับเรื่องของครูชั้นผู้น้อยในพื้นที่ที่ไม่สมหวังในรัก จริงๆ หนังเข้าทำนองบ้านนอกแสนเศร้าและทุนนิยมสามานย์ แต่นี่คือหนังเรื่องแรกๆ ที่เล่าถึงชีวิตคนอีสานพลัดถิ่นในฐานะแรงงาน มาพร้อมเพลงดังของสนธิ สมมาตร อย่าง ลูกทุ่งคนยาก หนังโด่งดังจนเป็นปรากฏการณ์ทั้งในกรุงเทพและอีสาน คล้ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทบ้านเดอะซีรีส์ และความสำเร็จทางรายได้แบบสมน้ำสมเนื้อกับฮักแพงนี้ เพียงแต่เป็นชีวิตของคนอีสานต่างรุ่น

มนต์รักแม่น้ำมูลออกฉายห้าปีหลังเพลงที่หลายคนนับให้เป็นเพลงลูกทุ่งอีสานเพลงแรกของยุคสมัยนั่นคือ อีสานลำเพลิน ของอังคณางค์ คุณไชย (ซึ่งตัวเพลงถูกเขียนขึ้นมาเพื่อประกอบหนังเรื่อง ‘บัวลำภู’ จนราวกับว่าหนังและเพลงลูกทุ่งอีสานเกี่ยวพันกันจนแยกได้ยากในฐานะวัฒนธรรมป๊อบของชนชั้นล่าง) ขบวนทัพนักร้องเพลงลูกทุ่งอีสาน ค่อยๆ แยกสายเดินกับลูกทุ่งกระแสหลัก แม้ว่าจะพูดได้ยากว่าแยกขาดจากกัน เพราะตามประวัติศาสตร์ เหล่าผู้คนพื้นเมืองในภาคกลางก็สืบเชื้อสายจากลาวที่ถูกกวาดต้อนมาต้นยุครัตนโกสินทร์ กระทั่งนักร้องอย่างไวพจน์ เพชรสุพรรณก็มีเชื้อลาว และหนำซ้ำครูเพลงหลายคนก็ยังเป็นคนอีสาน แม้แต่เพลงดังๆ ของสุรพล สมบัติเจริญหลายเพลงก็มีภาษาอีสานปะปนอยู่ หรือถ้าจะสืบรากของลูกทุ่งก็อาจจะมาจากเพลงรำโทนรำวงในสมัยจอมพลป. ซึ่งก็ได้อิทธิพลจากเพลงรำโทนแถบเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นการละเล่นของคนเชื้อสายลาวเช่นกัน

หลังจากอังคณางค์ คุณไชย เพลงลูกทุ่งอีสานซึ่งเป็นเพลงที่ประกอบขึ้นจากเพลงลูกทุ่งร่วมสมัย ผสมเข้ากับเพลงหมอลำ ได้ขยายขอบเขตออกไปอีกเมื่อพบเข้ากับดนตรีฮาร์ดร็อคที่ได้มาจากเหล่านักดนตรีที่ไปเล่นในผับสำหรับจีไออเมริกันที่มาตั้งฐานทัพอยู่และล่มสลายไปในกลางทศวรรษที่เจ็ดสิบ ผลักดันนักดนตรีเหล่านี้เข้าสู่วงการเพลง และเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กันอย่างน่าทึ่งระหว่างหมอลำพื้นถิ่นกับดนตรีตะวันตก (ขอให้นึกถึงเพลงที่ถูกนำไปขายในอัลบั้มฝรั่งรวมอย่าง Thai Pop Spectacular) จากอังคณางค์ มาถึงอรอุมา สิงห์สิริ หงษ์ทอง ดาวอุดร หรือแม้แต่ ฉวีวรรณ ดำเนิน หมอลำโดยสายเลือดก็เคยลงมาร้องเพลงลูกทุ่งอีสานด้วยเช่นกัน*1 

อาจพูดไม่ได้ตรงไปตรงมา แต่หมอลำที่เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านอวลลอยข้ามจักรวาลกันไปมา อยู่ในเพลงลูกทุ่งอีสานยุคแรก หลายเพลงมีท่อนร้องสลับท่อนลำ แรงงานอพยพรุ่นต่อรุ่นจากยุคสมัยของทิดโส สุดสะแนน หรือสุรินทร์ ภาคศิริ บุคคลที่มีบทบาททั้งในฐานะครูเพลงและดีเจที่เผยแพร่เพลงลุกท่งอีสาน มาจนถึงยุคสมัยของ พรศักดิ์ ส่องแสง, จินตหรา พูนลาภ, พิมพา พรศิริ ในช่วงปี 80s ก็ยังคงผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมหมอลำอย่างเหนียวแน่น

คลื่นลูกที่สองของลูกทุ่งอีสานอาจจะมาพร้อมกับค่ายเพลงอย่างแกรมมีโกลด์ในช่วงปลายยุค 90’s ภายใต้การนำของครูสลา คุณวุฒิ ที่ดึงเอาหมอลำเก่าอย่างศิริพร อำไพพงษ์ มาร้องเพลงลูกทุ่ง ในรูปแบบใหม่ พร้อมกันกับศิลปินอย่างไมค์ ภิรมย์พร และรุ่นต่อมาอย่างต่าย อรทัย หรือไผ่ พงศธร

เพลงลูกทุ่งของแกรมมี่โกลด์ เล่าเรื่องคนอีสานพลัดถิ่น ความรักของแรงงานในเมือง เพลงเหล่านี้ตอบสนอง ปลอบประโลมจิตใจคนรุ่นต่อมา คนอพยพที่ไม่ได้ผูกพันกับหมอลำอย่างเข้มข้นเท่ากับคนรุ่นก่อนหน้าลูกหลานแรงงานอพยพที่ตัวเองก็กลายเป็นแรงงานอพยพ  เพลงในยุคสมัยนี้คือเพลงลูกเสี้ยวที่เอนข้างเพลงลูกทุ่งไทยภาคกลางมากกว่ารุ่นก่อนหน้า แต่เป็นไปในทางที่ท้าทายมากขึ้น ในแง่ของการเปลี่ยนจากภาษากลางในท่อนร้องแล้วร้องภาษาลาวในท่อนหมอลำก็กลายเป็นร้องด้วยภาษาลาวอีสานไปเกือบตลอดทั้งเพลง โดยเนื้อหานี่คือเพลงเศร้าของคนพลัดถิ่น ประจุทั้งการเป็นเพลงรักและเป็นเพลงที่สะท้อนภาพสังคมอย่างน่าทึ่ง ซึ่งเป็นมนต์ขลังที่เสื่อมสลายไปของเพลงเพื่อชีวิต เมื่อถึงยุคที่เพลงเพื่อชีวิตพาตัวเองเข้าไปอยู่ในร้านเหล้าและกลายเป็นเพลงรักเทศนาผู้คน

นั่นคือกลุ่มคนที่เป็นแรงงานหลักจนถึงยุคนี้  ต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า เงินของพวกเขาถูกส่งกลับไปบ้าน ให้ลูกหลานของเขาได้อยู่ในพื้นที่ เราอาจกล่าวได้ว่าเด็กในรุ่นต่อมาคือคนที่ไม่ต้องรู้จักโลกผ่านทางกรุงเทพ การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดหลังการมาถึงของอินเตอร์เน็ต และการกระจายความเจริญทำให้เด็กรุ่นต่อมาไกลออกไปจากรากของคนรุ่นก่อนหน้า  ในขณะเดียวกันเพลงของเหล่าไทบ้านที่มาก่อนกาล ที่ผสมเอาลักษณะทางดนตรี (มากกว่าเนื้อหา) ของเพลงเพื่อชีวิตเข้าเพลงลุกทุ่งพื้นถิ่น เพลงอย่างร็อค สะเดิด ,บิ๊กวัน กัณทรลักษณ์ หรือ แม้แต่เพชร สหรัตน์ เพลงเหล่านี้ ได้ผนวกรวมเข้ากับเพลงลูกทุ่งแบบแกรมมี่โกลด์ เพลงร็อคแบบบ้านๆ ของ เสก โลโซ ทั้งหมดทั้งมวลได้ค่อยๆ ก่อรูปเพลงไทบ้านที่ระเบิดออกมาในท้ายที่สุด

ความแตกต่างของเพลงไทบ้านปัจจุบัน ไม่ได้พูดถึงแรงงานอพยพอีกแล้ว มันพูดถึงวัยรุ่นหนุ่มสาวในหมู่บ้านนี้เอง เด็กรุ่นถัดมาเกิดและเติบโตในหมู่บ้าน เรียนในพื้นที่และเข้าศึกษามหาวิทยาลัยในพื้นที่เองที่กระจายตัวมากขึ้น ในที่สุดพวกเขาก็สร้างวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาแยกออกจากวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนหน้า หมอลำได้ถอยลงไปเป็นฉากหลัง เช่นเดียวกัน ความทุกข์เศร้าแร้นแค้นถอยไปเป็นฉากหลัง แต่ชีวิตที่อาจจะไม่ได้แตกต่างจากวัยรุ่นในเมืองในเชิงความคิดแต่มีบริบทที่เฉพาะต่อพื้นที่ได้ก้าวขึ้นมาแทน

และนี่คือวิธีการที่ดนตรีได้พาเรามาถึงโลกของบักเซียง จาลอด และบักป่องในไทบ้านเดอะซีรีส์  โลกที่เราเห็นว่าในหมู่บ้านแทบไม่มีคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ นอกจากพ่อแม่ของบักป่อง (ซึ่งนั่นทำให้บักป่องเป็นนักเรียนกรุงเทพคนเดียวของหมู่บ้าน) คนอื่นๆ อยู่กับแม่ใหญ่ น้องชายน้องสาว ลูกหลานของตัวละครในเพลงของต่าย อรทัย หรือไมค์ ภิรมย์พร เติบโตขึ้นมาแล้วและกลายเป็นคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย

ถึงที่สุดจาลอด บักเซียงคือผู้คนที่กรุงเทพไม่ใช่มิตรหรือศัตรู กรุงเทพไม่ใช่ความวุ่นวายหรือทุนนิยมสามานย์ กรุงเทพเป็นเพียงแบบจำลองที่พวกเขาต้องมาสร้างขึ้นใหม่ด้วยตนเอง กรุงเทพไม่ใช่เป้าหมาย และไม่จำเป็นอีกต่อไป

แต่นี่จะใช้ได้กับวัยรุ่นในหมู่บ้านไม่มีชื่อในฮักแพงหรือไม่? แม้ว่าโดยตัวเนื้อหาหนังคือภาพฉายตรงไปตรงมาในการระเบิดออกของเพลงไทบ้าน อีสานอินดี้ แต่สำหรับตัวหนังแล้วดูเหมือนมันจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจคือดูเหมือนหนังปฏิเสธสิ่งเก่าอย่างระบบค่ายเพลง การไต่เต้าในฐานะศิลปิน หรือแม้แต่การอนุรักษ์สิ่งเก่าอย่างหมอลำ ก็เป็นไปเพื่อเก็บรักษาเอาไว้ในฐานะวัฒนธรรมแช่แข็ง เพราะสิ่งที่พวกเขาเป็นตัวแทนคือคนรุ่นใหม่ที่ร้องเพลงป๊อปภาษาอีสานไม่ใช่นักร้องหมอลำอีกต่อไป เฉลิมพล มาลาคำจึงเป็นเพียงสิ่งปลดระวางที่พวกเขาเก็บรักษาไว้เท่านั้น มันจึงเป็นเรื่องดีที่เราไม่ต้องเห็นการประนีประนอมกับแนวคิดกลับไปสู่รากเหล้าแบบที่รัฐไทยชอบทำ ที่จะให้พวกตัวละครหลักขึ้นไปเล่นหมอลำบนเวที (ในฉากเดียวกันนี้ หนังถึงกับฉายภาพคนเบื่อดูโนราห์หลงยุคกันเลยทีเดียว)

“เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีพัฒนามาจนถึงยุค 4G เว็บไซต์ยูทูบ มีระบบที่แข็งแรงมาก และไม่เคยมีมาก่อน การเชื่อมโยงเปรียบเทียบยุคนี้กับยุคก่อน มันเทียบได้ไม่แนบสนิทกันเสียทีเดียว เพราะความเป็นยูทูบหลอมรวมทุกอย่าง ในแง่หนึ่งมันเป็นทีวีที่เป็นลักษณะของทีวีส่วนบุคคลรวมถึงเป็นตัวรองรับทีวีจริงๆ ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เว็บไซต์ เพื่อให้คนเลือกเสพในสิ่งที่ต้องการ และมากไปกว่านั้นคือมันสนองความแตกต่างที่มีอยู่ทั่วโลก มันไม่มีพรมแดน ที่สำคัญมันให้โอกาสคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลงใหญ่ หรือคนทั่วไปซึ่งไม่มีทุนเลยก็ได้สิทธิเข้าไปอยู่ในยูทูบเท่ากัน”—สลา คุณาวุฒิ

ดูเหมือนยูทูบเป็นทางออกของคนหนุ่มสาวในเรื่องเพื่อต่อต้านทุนนิยมในรูปของนายห้างใจร้ายขูดรีดแรงงาน แต่นี่ไม่ใช่การคิดทำสโตร์ผักของบักป่องที่เต็มไปด้วยการคิดมาอย่างดี ใช้การระดมทุนทีละน้อย แต่นี่คือความสำเร็จข้ามขั้นข้างเดียว หนังฉายภาพราวกับว่าการเป็นศิลปินเกิดขึ้นได้ง่ายในชั่วข้ามคืน แต่มันช่างดูเบาบาง ง่ายดายเช่นเดียวกับหมู่บ้านในหนังที่หลุดออกมาจากจินตนาการเกี่ยวกับหมู่บ้านมากกว่าจะเป็นหมู่บ้านจริงๆ ที่มีพลวัตรมากมายในนั้น

เอาจริงๆ นี่คือหมู่บ้านหมู่บ้านเดียวกับหนังอย่างมนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งถูกรีเมคแบบท้าทายอำนาจเป็น แหยม ยโสธร และยังคงทรงอิทธิพลในฐานะหมู่บ้านในจินตนาการที่ไม่มีคนยากจน คนติดยา ไม่มีการดิ้นรนที่จะเอาตัวรอดในแต่ละวัน  ยูทูบก็เป็นเช่นหมู่บ้านในหนัง เป็นการออกทางลัดที่มีแต่ด้านบวกเท่านั้น

มันจึงทำให้ข้อถกเถียงที่หนังพูดถึงอนาคตอ่อนด้อยลง เพราะอนาคตในหนังไม่ใช่อนาคตของความป็นไปได้ แต่เป็นอนาคตในการนอนฝันแบบมิวสิควีดีโอขนาดยาว รอเวลาที่จะได้ร้องตามเพลงป๊อปรักคุดที่คุ้นเคย  พวกเขาอาจจะดังแค่เพลงสองเพลงแล้ววูบหาย พวกเขาอาจจะกลายเป็นนักร้องของอีกค่ายหนึ่ง แล้วก็เป็นเช่นสิ่งที่พวกเขาปฏิเสธ ไม่มีใครรู้ แต่โลกข้างนอกไม่เปลี่ยนแปลงไปถ้าเราอยู่แต่ในความฝัน

หมายเหตุ

*0 ชื่อบทความดัดแปลงจากชื่ออัลบั้ม Thai Pop Spectacular อัลบั้มรวมเพลงลูกทุ่งไทยแบบล้ำๆ รวบรวมโดย Sublime Frequencies

*1 อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่งอีสานโดยละเอียดได้ใน อีสานคดี ชุด ลูกทุ่งอีสานโดย แวว พลังวรรณ (2545)

Tags: , , , ,