สำหรับคนส่วนใหญ่ หากพูดถึงสมาร์ตโฟน สองคำแรกที่แวบเข้ามาในหัวก็คงหนีไม่พ้นซัมซุง (Samsung) และแอปเปิล (Apple) อาจมีบางครั้งที่มีแบรนด์อื่นๆ เล็ดลอดเข้ามาในความรับรู้อยู่บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว สองแบรนด์ระดับโลกข้างต้นก็ยังคงครองความเป็นหมายเลขหนึ่งและหมายเลขสองของผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก
ในฐานะมือใหม่ทางด้านเทคโนโลยี ข้อมูลที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ ตอนนี้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่มากถึง 237 แบรนด์วางขายอยู่ในตลาด โดยมีหลายแบรนด์ที่ผมเคยได้ยินชื่อ แต่ที่มีมากกว่าคือแบรนด์ที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน
ในยุคโทรศัพท์เคลื่อนที่ โมโตโรลา (Motorola) คือแบรนด์หมายเลขหนึ่งในช่วงปี 1983-1998 ก่อนที่โนเกีย (Nokia) จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งจนถึงปี 2012 และเสียตำแหน่งให้กับซัมซุงในไตรมาสแรกของปีนั้น
ซัมซุงยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อเข้าสู่ยุคของสมาร์ตโฟน โดยมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2017 ที่ 21 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยแอปเปิ้ล ที่ 12 เปอร์เซ็นต์
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจ้าของส่วนแบ่งตลาดลำดับที่ 3, 4 และ 5 คือสี่แบรนด์สัญชาติจีนอย่าง หัวเว่ย (Huawei) ออปโป (Oppo) วีโว่ (Vivo) และ เสี่ยวมี่ (Xiaomi) ซึ่งหายใจรดต้นคอแอปเปิ้ลมาติดๆ ที่ 10 เปอร์เซ็นต์, 8 เปอร์เซ็นต์ และ 7 เปอร์เซ็นต์ (วีโว่และเสี่ยวมี่มีส่วนแบ่งตลาด 7 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน) ตามลำดับ โดยเสี่ยวมี่เป็นแบรนด์ที่เติบโตเร็วที่สุด (84 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2016
สำหรับคนจำนวนหนึ่ง คำว่า ‘แบรนด์จีน’ อาจไม่ใช่คำที่น่าดึงดูด แต่สำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดสมาร์ตโฟน ‘แบรนด์จีน’ คือปรากฏการณ์ที่เราคงมองผ่านไม่ได้
และ ณ วันนี้ ‘หัวเว่ย’ ก็ก้าวข้ามคำว่า ‘แบรนด์จีน’ ไปเรียบร้อยแล้ว
หัวเว่ย เทคโนโลยี เป็นมากกว่าบริษัทสมาร์ตโฟน
‘หัวเว่ย เทคโนโลยี’ (Huawei Technologies) คือผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และติดตั้งงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของโลก
บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1987 โดยเหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) อดีตวิศวกรในกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army) ในปัจจุบัน หัวเว่ยประกอบธุรกิจในสามกลุ่ม คือกลุ่มเครือข่ายโทรคมนาคม (Carrier Business) กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับภาคธุรกิจและองค์กร (Enterprise Business) และกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารสำหรับผู้บริโภค (Consumer Business) โดยมีพนักงานมากกว่า 180,000 คน ซึ่งมีประมาณ 80,000 คนที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาในศูนย์วิจัย 15 แห่งและศูนย์วิจัยร่วมอีก 36 แห่งทั่วโลก
จากข้อมูลในรายงานประจำปี 2016 Huawei มีกำไร 37,052 ล้านหยวน ซึ่งมากกว่าครึ่ง (55.7 เปอร์เซ็นต์) มาจากธุรกิจในกลุ่มเครือข่ายโทรคมนาคม ขณะที่ธุรกิจในกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารสำหรับผู้บริโภค (สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์และแท็บแล็ต อุปกรณ์สวมใส่ และบริการคลาวด์) ทำรายได้ให้กับบริษัท 34.5 เปอร์เซ็นต์
หัวเว่ยตั้งแผนกโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2003 และ ณ วันนี้ นี่คือผู้ผลิตสมาร์ตโฟนรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นหมายเลขสามของโลก
หัวเว่ย แบรนด์อันดับ 3 ของโลก
เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ริชาร์ด หยู (Richard Yu) ซีอีโอของ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (Huawei Consumer Business Group) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว CNBC ว่า หัวเว่ยจะมุ่งเจาะตลาดประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น โดยบอกว่าสมาร์ตโฟนราคาถูกไม่ใช่ความสนใจของบริษัทอีกต่อไป “หัวเว่ยเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม … เราเชื่อว่าเราสามารถนำคุณค่าที่มากขึ้นมาสู่ผู้ใช้ระดับบนได้”
กระทั่งเดือนธันวาคม 2017 การบุกตลาดสหรัฐอเมริกาของหัวเว่ยก็ได้รับการยืนยัน ซึ่ง Mate 10 Pro คือสมาร์ตโฟนเรือธงที่หัวเว่ยใช้เจาะตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดย Mate 10 Pro มีกำหนดเปิดตัววันที่ 9 มกราคม ภายในงาน ‘Consumer Electronics Show 2018’ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา ระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม
นี่คือการสัมผัสกับผืนดินอเมริกาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของหัวเว่ยในฐานะผู้ผลิตสมาร์ตโฟน โดยมีเป้าหมายคือการเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนจากซัมซุงและแอปเปิ้ล ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐอเมริการวมกันราว 70 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนว่าการบุกตลาดสมาร์ตโฟนที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นีล ชาห์ (Neil Shah) ผู้อำนวยการ Counterpoint Research กล่าวว่า หัวเว่ยเดินทางมาไกลพอสมควรสำหรับการดึงดูดความสนใจของผู้ใช้สมาร์ตโฟนในยุโรปและเอเชีย “แต่บริษัทยังต้องทำการตลาดอีกมาก เพื่อชักชวนให้ชาวอเมริกันหันมาให้ความสนใจ”
แต่หากหัวเว่ยทำได้ นี่จะเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งของความสำเร็จอีกขั้น และจะส่งผลให้ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป เป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของบริษัท โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2017 ธุรกิจส่วนนี้ทำรายได้ให้กับหัวเว่ย 236,000 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2016) ซึ่งคิดเป็นเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของหัวเว่ย ในปี 2017 (ราว 600,000 ล้านหยวน)
Fact Box
- เดือนพฤษภาคม 2017 หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่งตลาด 10.7 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจาก 1.2 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤษภาคม 2016
- ในช่วงเวลาเดียวกัน หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) มีรายได้เพิ่มขึ้น 400 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตัวเลขจำนวนเครื่องที่ขายได้เพิ่มขึ้น 720 เปอร์เซ็นต์
ที่มา:
http://news.siamphone.com/news-34281.html
http://www.siamphone.com/brand.php
https://en.wikipedia.org/wiki/Smartphone#By_manufacturer
https://www.cnbc.com/2017/07/27/huawei-wants-to-be-the-worlds-top-smartphone-maker.html
Tags: Samsung, Huawei, สมาร์ตโฟน, smartphone, Business, Apple