**คำเตือน บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของรายการ

The Face Thailand กลับมาอีกครั้ง และแค่เพียงเริ่มต้นก็ร้อนฉ่ามหาประลัยมอเตอร์ไซค์ไต่ถังจนแทบจะตบกันแล้วจ้า! ให้มันแตกเลยดีกว่า!

ในฐานะคนทำงาน ฉันพบว่า The Face Thailand ไม่ได้เป็นเพียงรายการเรียลลิตี้ที่แซ่บนัวเผ็ดร้อนด้วยความดราม่าอย่างเดียว แต่ยังสอนบทเรียนการทำงานให้กับเราได้ด้วย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ทุกสัปดาห์หลัง The Face Thailand ฉายจบ ฉันจะมาสรุปบทเรียนจากรายการให้ทุกคนได้อ่านกัน ทั้ง #ทีมลูกเกด #ทีมควีนบี #ทีมเมียพี่บี #ทีมมาช่า #ทีมคุณเต้ #ทีมขุน

เสพดราม่าทั้งทีต้องได้ประโยชน์กลับไปทำงานให้ดีกว่าเดิม เป้าหมายคือจบซีซันนี้แล้วเรื่องงานต้อง Strong!!!

เอาล่ะ นักเรียน พร้อม… Game on, bitch!!!

ถอดหัวโขนให้เป็น

เรื่องเซอร์ไพรส์ที่สุดของการแข่งขันสัปดาห์นี้ไม่ใช่ความร้ายกาจของพี่บี (อันนี้นางเสมอต้นเสมอปลาย – รักนางก็ตรงนี้ #ทีมควีนบี) แต่เป็นการที่พี่เต้แต่งหญิงมาร่วมเป็นแขกรับเชิญพิเศษประจำการแข่งขันแคมเปญสัปดาห์นี้ ซึ่งพี่เต้แต่งออกมาสวยมาก (เมกอัพแลดูซอฟต์ยิ่งกว่าเมกอัพตอนแต่งชายเสียอีก) ที่สำคัญต้องบอกตรงนี้เลยว่า รูปของสามทีมอาจจะดูง่อยมากง่อยน้อยเฉลี่ยกันไป ลูกทีมแลดูเยินบ้างบางคน แต่ทั้งสามรูปที่เลือกมา มีพี่เต้รอดอยู่คนเดียวทุกรูป และถ่ายรูปมามี attitude กว่าน้องๆ ผู้เข้าประกวดอีก อันนี้เห็นเลยว่าพี่เต้ทำอะไรทำจริง พี่ไม่ได้มาเล่นๆ ขอคารวะ! #ทีมคุณเต้

ชอบเหตุผลของพี่เต้ในการเซอร์ไพรส์แต่งหญิงครั้งนี้ที่ว่า ทำงานในวงการบันเทิงต้องทลายตัวตนออกไปและทำได้ทุกอย่าง ยิ่งเป็นผู้บริหารยิ่งต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ความคิดนี้ปังมาก เพราะผู้บริหารเป็นคนลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่แค่สั่ง-สั่ง-สั่งอย่างเดียว แต่ ‘Walk the Talk’ หรือทำอย่างที่พูดด้วย ปรบมือรัว!!

อีกอย่างคือ พี่เต้กำลังบอกเราถึงการทลายกำแพงระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง (แม้ว่าน้องๆ ผู้เข้าแข่งขันจะดูเกร็งเหมือนเดิม) อารมณ์เดียวกับเวลาเราไป outing บริษัท แล้วเห็นผู้บริหารใหญ่โตหรือผู้บังคับบัญชาทั้งหลายมาเล่นเฮฮากับพนักงาน บางคนมีเซอร์ไพรส์ด้วยโชว์บนเวที มีแต่งแฟนซี ใกล้ชิดกับพนักงาน เผยด้านที่ ‘น่ารัก’ ของผู้บริหารให้เห็นว่า ผู้บริหารไม่ได้เป็นมอนสเตอร์หรืออยู่บนหอคอยที่ใครก็เข้าไม่ถึงแต่อย่างเดียว หากมีความเป็นมนุษย์ที่เข้าถึงได้ ไม่น่ากลัวตลอดเวลา (แต่เวลาน่ากลัวก็น่ากลัวฉิบหาย…) ทำให้พนักงานรู้สึกรักและใกล้ชิดกับหัวหน้ามากขึ้น ได้ใจพนักงานไปด้วย ไม่ใช่ได้ใจพนักงานเฉพาะเวลาแจกโบนัส

ความห่างเหินหรือระยะห่างระหว่างพนักงานกับผู้บริหารนี่แหละ คือปัจจัยต่อความรักในองค์กร ยิ่งองค์กรใหญ่มากๆ มีพนักงานเยอะๆ พนักงานอาจจะรู้สึกถึงระยะห่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานมากไปด้วย เพราะนานๆ ทีจะมีผู้บริหารโผล่มาแบบตัวเป็นๆ สำหรับพนักงานบางคนเขาอาจจะได้เจอผู้บริหารเฉพาะเวลามีประกาศนโยบายที่ town hall ก็ได้ นอกนั้นไม่เคยได้ใกล้ชิด และขึ้นชื่อว่าผู้บริหารหรือหัวหน้าแล้ว คนเป็นพนักงานหรือลูกน้องก็ทั้งกลัวทั้งเกร็งจนหัวจะหดอยู่แล้ว เจอกันทีแทบจะหมอบกราบคลานต่ำเป็นความสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว (หรือทาส) แบบนี้แล้วใครจะรักองค์กรลง

ศาสตร์การบอกข่าวร้าย

เมนเทอร์แต่ละคนมีวิธีการบอกข่าวร้ายกับลูกทีมด้วยวิธีต่างกัน ไม่ได้บอกว่าของใครดีที่สุด เพราะเราเรียนรู้และเอามาปรับใช้ได้หมดจากทุกคน

เมนเทอร์ลูกเกดใช้วิธีการบอกตรงๆ เจ็บคือเจ็บ ง่อยคือง่อย ใครรอดคือรอด หมัดเด็ดสุดของเมนเทอร์ลูกเกดคือการบอกให้ลูกทีมจำความรู้สึกว่า เมื่อแพ้แล้วต้องส่งเพื่อนออกไปเข้าห้องคัดออกแล้วเรารู้สึกอย่างไรไว้ เพื่อที่คราวหน้าเราจะได้พยายามมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ให้ต้องกลับมาเจอความรู้สึกว่าต้องเห็นเพื่อนออกไปโดนเชือดอีก เจ็บแต่เชื่อว่าจะยิ่งทำให้ลูกทีมฮึดสู้กว่าเดิม และมันเปลี่ยนมายด์เซตของลูกทีมใหม่จากเดิมที่อาจจะเป็นแค่ ‘ตัวเราต้องรอด’ เป็น ‘เราทุกคนต้องรอด’ ต้องทำให้ดีที่สุดกันทุกคนเพื่อไม่ให้ต้องเสียใครไป อันนี้เจ๋งจริง ขอคารวะ #ทีมลูกเกด

เมนเทอร์บีแม้จะเป็นผู้ชนะ แต่ประเมินเกมแล้วบีน่าจะรู้ว่ารูปที่ได้ไม่ใช่รูปที่ดีที่สุด มันแค่เป็นรูปที่ง่อยน้อยที่สุดในสามทีมเลยรอดมาได้ (พี่เต้ยังจิกกล้องแรงกว่าลูกทีมนางอีก) และบีคงเห็นว่ายังมีสิ่งที่ลูกทีม #ทีมควีนบี ต้องพัฒนาอีกมาก เมนเทอร์บีจึงเลือกที่จะไม่บอกว่าทีมชนะตั้งแต่แรก แต่ใช้โอกาสนี้สอนลูกทีม และบอกให้ลูกทีมรู้ว่ายังต้องปรับปรุงอีกมาก ลองคิดกลับกันว่าถ้ามาถึงเมนเทอร์บีบอกลูกทีมเลยว่าทีมชนะ ลูกทีมคงดีใจจนไม่ฟังและอาจจะเหลิงจนไม่จำก็ได้ว่าทีมยังต้องพัฒนากว่านี้ ไม่ใช่ว่าหนูไม่ง่อยนะลูก!

ส่วนเมนเทอร์มาช่าใช้วิธีแบบแม้…แม่ คือใช้ความรักเข้าช่วย ถ้าวิธีของพี่เกดคือใช้น้ำกรดสาด วิธีของพี่ช่าคงเป็นน้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยบอกถึงความภูมิใจที่มีต่อลูกทีม #ทีมมาช่า และเมื่อลูกทีมเสียขวัญก็ปลอบ โอ๋แล้วโอ๋อีก ขวัญเอ๋ยขวัญมานะลูกนะ พี่ช่ารักทุกคน ที่เด็ดมากคือปลอบว่า “พวกหนูคือนักรบ” อันนี้เจ๋ง และอธิบายว่าเราอาจจะแพ้แต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่ชนะ เรายังมีโอกาส คือใช้วิธีสร้างขวัญกำลังใจแบบเอาน้ำเย็นลูบ ใจดี๊ใจดี! ไม่เคยรู้ว่าพี่ช่าจะใจดีได้เบอร์นี้ นึกว่า Mary Poppins!

ทั้งสามรูปแบบนั้นเราเอามาใช้ได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้แบบไหน ตอนไหน และขึ้นอยู่กับสไตล์ของลูกทีมด้วย เช่น

ลูกน้องบางคนอาจชอบความกดดัน พอมีความกดดันแล้วทำงานได้ดี และเป็นคนไม่ค่อยเก็บเอาอะไรมาเป็นอารมณ์ เราก็อาจจะใช้วิธีพูดตรงๆ โหดๆ แบบพี่เกดได้

แต่ถ้าประเมินลูกน้องแล้ว เป็นคน emotional มากหน่อย ถ้าพูดแรงเกินก็อาจจะคิดมาก นอนไม่หลับ  ใช้วิธีน้ำยาปรับผ้านุ่มแบบพี่ช่าก่อนแล้วค่อยๆ สอนเขาอย่างมีเหตุมีผลก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าโผล่โพล่งไปบอกว่าน้องง่อย

แต่ทั้งหมดนี้เราต้องผสมกันหมด ต่อให้ลูกน้องชอบความกดดันก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องกดดันเขาตลอดเวลา เวลาเขาท้อเราก็ควรสลับมาอยู่ในโหมดน้ำยาปรับผ้านุ่มแบบพี่ช่าได้ หรือถ้าน้ำเย็นลูบตลอดเวลาอย่างเดียวเขาก็อาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไร บางทีต้องมีโหมดโหดด้วย ถ้ามันจะทำให้เขาได้เรียนรู้บางอย่าง

อายุไม่ใช่ข้ออ้างในการทำงาน

ตอนที่อยู่ในห้องคัดออก เพลงขวัญให้เหตุผลที่ทำให้เธอควรอยู่ต่อในเกมว่าเพราะเธอยังเด็ก อายุแค่ 18 ปี มาจากต่างจังหวัด แม่เป็นมะเร็ง หนูมาแข่งเพื่อแม่ และโดนเมนเทอร์บีตอกกลับว่า ลิลลี่ซีซันที่แล้วอายุแค่ 14 และมาจากต่างจังหวัดเหมือนกัน แต่ยังทำได้ดีกว่าเลย (เออ ก็จริง รายนั้นอายุ 14 แต่แซ่บจริง เผ็ดจริง) และถ้าจะบอกว่าสู้เพื่อแม่ พี่ยังไม่เห็นว่าน้องจะสู้ถึงที่สุดเลยค่ะ – เงิบสิ ควีนบีซัดมาเบอร์นี้ เอาไงดี ลงไปกราบเลยดีไหม!?

ถ้าเป็นโลกการทำงาน การใช้เหตุผลว่าหนูยังเด็กเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะโลกการทำงานไม่ใช่สนามเด็กเล่น ทุกคนต้องเป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ จะอ้างว่าหนูเด็กก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต่อให้เราอายุน้อยที่สุดในบริษัท เราก็ต้องมองว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ และพิสูจน์ให้คนเห็นว่าแม้อายุเราจะน้อย (หน้าแก่ไหมนั่นอีกเรื่อง) แต่เรามีวุฒิภาวะ เรามีความน่าเชื่อถือ และอายุน้อยไม่ใช่อุปสรรค

การใช้เรื่องอายุน้อยเป็นเหตุผลให้คนสงสารหรือเห็นใจเรา อาจทำให้เราตกอยู่ในสภาพจุดอ่อนที่สุดขององค์กรก็เป็นได้ เพราะมันแปลว่าเราไม่พร้อมจะก้าวสู่โลกของผู้ใหญ่

ตรงกันข้าม เราต้องเปลี่ยนการมีอายุน้อยให้กลายเป็นจุดแข็งของเรา เช่น เรามีความรู้ในสิ่งที่คนแก่กว่าอาจจะไม่รู้ อย่างเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่สำคัญความคิดของคนรุ่นใหม่ยังสดใหม่ ไม่ถูกตีกรอบตายตัวแบบคนรุ่นเก่าที่ไม่กล้าเสี่ยง เรายังไม่มีอีโก้มากและพร้อมจะตื่นเต้นกับเรื่องใหม่ๆ รอบตัว คนแก่ที่มีอีโก้ค้ำคอคิดว่ารู้มามากแล้ว เห็นมามากแล้วจนไม่ตื่นเต้นอะไรกับชีวิตแล้วน่ะจะไปเหลือความคิดสร้างสรรค์อะไร เพราะฉะนั้นเราต้องเชื่อมั่นก่อนว่าอายุน้อยไม่ใช่ปัญหา และเอามาทำให้เป็นปัญหา

ถ้านี่คือโลกแห่งการทำงาน เพลงขวัญควรวางเหตุผลส่วนตัวเรื่องแม่เป็นมะเร็งเอย เรื่องมาจากต่างจังหวัดเอย แล้วเก็บมันไว้ในใจก่อน อย่าใช้มันเป็นข้ออ้าง อย่าให้เขาเก็บเราไว้เพราะสงสารในเรื่องส่วนตัวของเรา แต่ต้องให้เขาเก็บเราไว้เพราะเห็นว่าเรามี ‘ของ’ จริงๆ

เพลงขวัญน่าจะลองเปลี่ยนมาใช้เหตุผลว่า “หนูอายุ 18 เทียบกับคนอื่นๆ อาจจะเหมือนว่าหนูอายุน้อยและเด็ก แต่หนูมั่นใจว่าหนูมีความเป็นผู้ใหญ่กว่าอายุ และความเป็นเด็กของหนูทำให้หนูตื่นเต้นที่จะเรียนรู้กับเรื่องใหม่ๆ ที่รายการนี้จะสอนโดยไม่ปิดกั้นตัวเองเลย หนูรู้ว่าคนอื่นเก่งกว่า มีประสบการณ์มากกว่าหนู และหนูยอมรับว่าสัปดาห์นี้หนูยังทำได้ไม่ดีพอ แต่การแพ้แคมเปญในวันนี้ทำให้หนูเรียนรู้ว่าหนูต้องพยายามมากขึ้น และเรียนรู้จากคนรอบตัวให้ได้มากที่สุด และหนูเชื่อว่าหนูจะทำได้ค่ะ”

ที่เหลือคือเดินสวยๆ เชิดๆ คิดท่าเปิดประตูเข้าห้องยังไงให้ fierce ที่สุด (และพยายามไม่ทำให้ตัวเองต้องกลับเข้าห้องคัดออกอีก)

สัปดาห์ต่อไป เราจะได้บทเรียนการทำงานอะไรจาก The Face Thailand Season 3 กัน เดี๋ยวมาเรียนกันต่อ

Game on, bitch!

Tags: , , , ,