อานดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) นักปกป้องสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ ทำงานอยู่ในประเทศไทยยาวนานกว่า 11 ปี เขาถูกฟ้องร้องหลายกรณี ก่อนจะตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ศาลแขวงพระโขนงสั่งให้เขาจ่ายเงิน 10 ล้านบาทให้กับบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด เป็นค่าเสียหาย พร้อมกับให้จ่ายค่าทนายและชำระค่าธรรมเนียมศาล
สำหรับคดีนี้ บริษัทเนเชอรัลฟรุต ผู้ผลิตสับปะรดกระป๋องในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฟ้องฮอลล์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท จากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อเดือนเมษายน 2556 เกี่ยวกับรายงานเรื่อง ‘Cheap Has a High Price’ ซึ่งกล่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสำเร็จรูปในประเทศไทย และทำให้เขาถูกบริษัทเนเชอรัลฟรุตฟ้องทั้งความผิดทางอาญาและทางแพ่ง
กรณีความผิดทางอาญา ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่าการให้สัมภาษณ์ของฮอลล์เกิดขึ้นในต่างประเทศ อยู่นอกเหนืออำนาจของอัยการซึ่งเป็นผู้ฟ้องร่วม เขาจึงได้รับการยกฟ้อง
เมื่อความผิดทางอาญาสิ้นสุด ศาลจึงพิจารณาคดีในความผิดทางแพ่ง จนกระทั่งมีคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคม
หลังจากมีคำพิพากษา ซอนยา วาร์เทียลา ผู้อำนวยการบริหารของฟินน์วอทช์ (Finnwatch) ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าว ระบุในแถลงการณ์ว่า “การตัดสินใจของศาลได้กำจัดอิสระในการแสดงความคิดเห็น และสกัดกั้นการเปิดเผยกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ มันยากที่จะเข้าใจได้”
ขณะที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ก็ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยระบุว่าคำพิพากษาของศาลส่งผลในเชิงคุกคามต่อนักเคลื่อนไหวที่สอบสวนและรายงานการปฏิบัติมิชอบในอุตสาหกรรมเกษตรของไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีต่อต้านการฟ้องคดีหมิ่นประมาท เพราะ “การกำหนดค่าเสียหายจำนวนมากในคดีหมิ่นประมาทเกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการปิดกั้นการทำงานวิจัยที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเปิดโปงการปฏิบัติมิชอบด้านแรงงานในประเทศไทย”
นอกจากนี้ แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ยังระบุว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอ เพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานข้ามชาติ และสนับสนุนหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน”
และแม้ประเทศไทยจะมีพันธกรณีต้องคุ้มครองคนงานจากการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนโดยหน่วยงานธุรกิจ แต่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกลับยังคงหวาดกลัวต่อการร้องเรียนกับทางการว่าเกิดการปฏิบัติโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีการคุ้มครองอย่างเป็นผล (กรณีแรงงานข้ามชาติชาวพม่า 14 คน ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาททางอาญา หลังร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าถูกละเมิดสิทธิโดยบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เมื่อเดือนมิถุนายน 2560)
ก่อนจะปิดท้ายแถลงการณ์ว่า
“ถ้ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหาการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานอย่างแท้จริง ก็ควรสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้คดีหมิ่นประมาทอย่างมิชอบ”
ที่มา:
- https://www.hrw.org/th/news/2018/03/28/316366
- https://www.aljazeera.com/news/2018/03/hrw-condemns-libel-verdict-rights-worker-andy-hall-180328191439164.html
- https://www.benarnews.org/thai/news/TH-HALL-libel-03262018123536.html
- http://www.bbc.com/thai/thailand-43541645