ไม่นานมานี้ หนึ่งในประเด็นที่ชาวเน็ตให้ความสำคัญอย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็นแอ็กชั่นคือการร่วมรณรงค์ในเรื่อง NO HPV ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัส HPV รวมไปถึงการลุกไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าวกันอย่างจริงจัง 

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ HPV หรือ Human Papilloma Virus ที่ในปัจจุบันกลายมาเป็นเชื้อน้องใหม่ที่วงการแพทย์จับตามอง โดยนอกจากเชื้อชนิดนี้จะมีอยู่มากกว่า 100 สายพันธุ์แล้ว มันยังติดต่อกันง่ายๆ ผ่านการสัมผัส หรือการมีเพศสัมพันธ์ 

รู้จักเชื้อไวรัส HPV 

เชื้อไวรัส HPV เป็นเชื้อที่ติดมาแล้วส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ เพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรานั้นสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ ทีนี้สำหรับคนที่อยู่ในช่วงที่ร่างกายกำลังอ่อนแอ จนระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ความร่วมมือขนาดนั้น หรือได้รับเชื้อ HPV สายพันธุ์ความเสี่ยงสูงเข้าไป ก็มีโอกาสสูงที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย และมะเร็งทวารหนัก 

ใช่แล้ว เชื้อ HPV นั้น ติดต่อได้และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย จากข้อมูลโรงพยาบาลพญาไท พบว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ถึง 80% ติดเชื้อไวรัส HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต และไวรัส HPV นี้จะใช้เวลาเฉลี่ย 5 – 10 ปี ในการเปลี่ยนแปลงเซลล์ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ติดเชื้อ ให้เป็นเซลล์มะเร็ง พูดง่ายๆ ก็คือ เชื้อไวรัสที่ว่า จะแฝงตัวในร่างกายเราโดยไม่แสดงอาการใดๆ ให้เอะใจ รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นมะเร็งร้ายแรงไปแล้ว 

HPV ป้องกันได้ ไม่ต้องรอรักษาที่ปลายเหตุ 

ที่เกริ่นไปทั้งหมดข้างต้นดูเหมือนการให้ภาพว่าเชื้อ HPV จะเป็นภัยคุกคามใหม่ของมวลมนุษยชาติ ช้าก่อน เพราะแม้เชื้อไวรัสดังกล่าวจะเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ ด้วยการฉีดวัคซีน HPVป้องกันเชื้อ 

โดยวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV นี้มาจากส่วนประกอบเชื้อไวรัส HPV ที่ถูกทำให้อ่อนแอลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ทำให้เมื่อฉีดวัคซีนดังกล่าวเข้าไปในร่างกาย ผู้ฉีดก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส HPV ในสายพันธุ์ที่ถูกบรรจุไว้ในวัคซีนนั่นเอง 

คำแนะนำทางการแพทย์ก็คือ วัคซีน HPV นี้ ควรได้รับตั้งแต่อายุ 9 ปี เหมาะที่สุดคือช่วง 11-12 ปี เพราะในช่วงเวลานี้ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ดี โดยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ส่วนผู้ใหญ่นั้นควรจะฉีดวัคซีนชนิดนี้ 3 เข็ม ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งเหล่านี้

นอกจากนั้น การใส่ใจดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อบริเวณอวัยวะเพศโดยตรง แต่วิธีนี้ก็อาจจะป้องกันการติดเชื้อ HPV ไม่ได้ 100% เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจแฝงอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในขั้นนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันไว้จึงอาจจะเป็นตัวเลือกเพื่อช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเป็นพาหะแพร่เชื้อได้ดีที่สุด 

สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อ HPV ไม่ใช่แค่กระแส แต่คือเรื่องจริงจัง

เมื่อโซเชียลกลายมาเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารหลักแห่งยุคสมัย เราจึงเห็นวัยรุ่นหลายคนเริ่มใช้พื้นที่ออนไลน์ในการสื่อสารให้เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV มากขึ้น เพราะอย่างที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น แม้การติดเชื้อ HPV จะไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะทาง รู้ตัวอีกทีก็อาจจะลุกลามเป็นมะเร็งร้ายแรง แต่มะเร็งที่มีสาเหตุจากเชื้อ HPV นั้นก็เป็นมะเร็งที่เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันไว้ได้ การป้องกันไว้ก่อนจึงย่อมดีกว่าการรอรักษาที่ปลายเหตุ ซึ่งอาจจะเสียทั้งเงินและเวลาอย่างมหาศาล 

ไม่ใช่แค่นั้น สำหรับวัยรุ่นหลายคนแล้ว พวกเขายังคิดว่า ฉีดวัคซีนต่อให้เจ็บหน่วงๆ แต่แป๊บเดียวก็หาย แถมเมื่อเทียบกับการสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวด้วยแล้ว อย่างไรความเจ็บก็ถือเป็นเรื่องจิ๊บๆ ที่คุ้มค่า

 

อ้างอิง:

https://www.phyathai.com/article_detail/1996/th/  

Fact Box

  • ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มบรรจุให้วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เป็นวัคซีนพื้นฐานในเด็กหญิง ชั้นประถมปีที่ 5 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาและขอรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้จากทุกโรงพยาบาล หรือนัดเพื่อรับการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ที่ โรงพยาบาลพญาไท 1 คอลเซ็นเตอร์เบอร์ 1772 หรือที่ https://www.phyathai.com/package_details/426/th/PYT1/วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 

 

Tags: , ,