ช่วงเข้าพรรษาแบบนี้ย่อมมาพร้อมกับโฆษณางดเหล้าเข้าพรรษาของหลากหลายองค์กรไม่แสวงหากำไร
เราคงได้ยินความเลวร้ายของเหล้ามาจนเหนื่อยหน่าย ทั้งปัญหาเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาทและความรุนแรงทางร่างกาย อาชญากรรม การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นคือการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาอย่างไม่มีความรับผิดชอบ และดื่มเกินพอดีจนไม่สามารถคุมสติสัมปชัญญะได้ ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนักดื่ม แม้น้อยครั้งที่เคยดื่มจัดจนต้องเป็นภาระแก่เพื่อนฝูง แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ไปก่อความวุ่นวายให้กับสังคม อย่างไรก็ดี ผมคงรู้สึกตะขิดตะขวงใจไม่น้อย หากต้องสวมหน้ากากศีลธรรมสาธยายความเลวร้ายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกตัวเลขและสถิติเพื่อจูงใจแกมข่มขู่ว่าให้เลิกดื่มเถอะนะ
ออกตัวไว้ก่อนว่าบทความนี้จะไม่มีการตำหนินักดื่ม แต่ชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจว่าทำไมเราๆ ท่านๆ ต่างนิยมชมชอบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นโยบายที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้นได้ผลหรือไม่ แล้วถ้าเรารู้สึกว่าดื่มมากเกินไป อยากจะลด ละ เลิก มีเครื่องมือใดที่พอจะอำนวยความสะดวกได้บ้าง
ลืมบอกไปเลยว่า ทั้งหมดทั้งมวลจะวิเคราะห์ผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนะครับ
ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กับการดื่ม
รู้ทั้งรู้ (จากโฆษณา) ว่าการดื่มจนเมามายนั้นไม่ดี แต่ทำไมเราถึงดื่มกันนะครับ?
นักเศรษฐศาสตร์อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวด้วยศัพท์แสงยุ่งยาก แต่ผู้เขียนขอนำมาสรุปสั้นๆ 2 ประการถึงเหตุผลที่เราดื่มคือ เราต้องการความสุขแบบปัจจุบันทันด่วนโดยไม่สนใจอนาคตอันไกล และเราดื่มเพราะไม่มีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนุก
ประเด็นแรกคือเรื่องความสุข นักเศรษฐศาสตร์กระแสกหลักจะสร้างแบบจำลองโดยใช้มนุษย์ผู้มีเหตุมีผลซึ่งคิดคำนวณผลประโยชน์ทุกอย่างในระยะยาวก่อนการตัดสินใจ แต่มนุษย์ในความเป็นจริงไม่มีได้มีเหตุมีผลขนาดนั้น โดยนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายว่า นักดื่มส่วนใหญ่มักต้องการความสุขแบบปัจจุบันทันด่วน โดยไม่ได้สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไกลแสนไกลในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นถูกให้ออกจากงาน ประสบอุบัติเหตุ หรือเรียนไม่จบ
สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นความทุกข์ครั้งใหญ่ในอนาคตอันไกลแสนไกล ซึ่งเทียบไม่ได้กับความสุขจากการดื่มที่อยู่ตรงหน้า พฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวชาวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกว่า การคิดลดแบบผัดวัน (Delay Discounting) ดังนั้น การพร่ำบ่นถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงในอนาคตย่อมไม่ส่งผลต่อนักดื่มมากนัก เพราะต้นทุนดังกล่าวจะถูกคิดลดด้วยอัตรามหาศาลจนแทบไม่รับรู้รับทราบในปัจจุบันขณะที่พร้อมจะสังสรรค์ฮาเฮ
ประเด็นที่สองคือเรื่องการจัดสรรเวลา การดื่มเครื่องดื่มมึนเมาในแต่ละครั้ง ย่อมมีราคาที่ต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของเงินในกระเป๋า และเวลาที่เสียไปจากการนั่งสังสรรค์ แต่ต้นทุนเหล่านั้นจะราคาถูกอย่างยิ่งด้วยสององค์ประกอบคือ เครื่องดื่มราคาสบายกระเป๋า และบุคคลนั้นมีเวลาว่างเหลือแหล่ที่จะนั่งสนทนาพาทีแกล้มเหล้าเบียร์ไปเรื่อยๆ เพราะไม่ได้มีอะไรจะต้องทำ
แนวคิดการศึกษาพฤติกรรมของนักดื่ม คือการเปรียบเทียบแรงผลักดันที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ และไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ โดยใช้ชื่อน่าปวดหัวว่า ‘มูลค่าแรงผลักดันเชิงสัมพัทธ์ (Relative Reinforcement Value)’ ซึ่งหากแปลเป็นภาษามนุษย์ก็จะหมายถึงรูปแบบพฤติกรรมที่จัดสรรเวลาให้กับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ และไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ รวมถึงความพึงพอใจเปรียบเทียบระหว่างสองกิจกรรมดังกล่าว
แน่นอนว่าผลสรุปก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา คือนักดื่มตัวเอ้มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้นสร้างความพึงพอใจให้มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ เช่น การดูหนัง เล่นเกม ทำงานอาสาสมัคร และใช้เวลาในห้องเรียน ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มนักดื่มเหล่านี้ย่อมยินดีที่จะจ่ายเงินและเวลามากกว่าปุถุชนคนทั่วไปเพื่อให้ได้ใช้เวลากับสิ่งที่เขาหรือเธอรัก
นี่คือสองแนวคิดพื้นฐานแบบคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจนักดื่มเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
ผลลัพธ์ของแก้ปัญหาเชิงนโยบาย
การบรรเทาปัญหาในระดับนโยบายก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา นั่นคือการเพิ่มราคาเครื่องดื่มแอลกฮอล์โดยใช้เครื่องมืออย่างภาษี ที่นอกจากรัฐบาลจะได้สตางค์เข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มมึนเมาอีกด้วย โดยการเพิ่ม ‘ต้นทุน’ นั่นเอง
นโยบายการเพิ่มต้นทุนในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้มีเพียงต้นทุนทางการเงินเท่านั้น แต่ยังมีแนวทางเพิ่มต้นทุนอื่นๆ อาทิ ข้อกำหนดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นช่วงเวลา รวมถึงการจำกัดเขตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น รอบสถานศึกษา ข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นการเพิ่มต้นทุนทางอ้อมที่ทำให้เหล่านักดื่มต้องใช้ความพยายามมากกว่าเดิมในการสังสรรค์เฮฮา
การศึกษาผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าวพบว่าการเพิ่มต้นทุนเหล่านั้นทำให้นักดื่มดื่มน้อยลงจริง แต่สำหรับนักดื่มหนัก เช่น ผู้ติดสุราเรื้อรัง นโยบายดังกล่าวไร้ผลโดยสิ้นเชิง เพราะความยินดีจะจ่าย (willingness to pay) ของพวกเขาเหล่านั้นสูงลิบลิ่ว ต่อให้เพิ่มต้นทุนแค่ไหน เขาก็ยังพร้อมจะควักเงินและเวลาอยู่ดี
ส่วนการห้ามโฆษณาสินค้าที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลอย่างไรนั้น การศึกษายังไร้ข้อสรุป เนื่องจากบางชิ้นพบว่ากลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ที่มีภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะดื่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในทางกลับกัน การใช้นโยบายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ในภาพรวม กล่าวคือไม่ได้เพิ่มขึ้นและไม่ได้ลดลงนั่นเอง
แนวทางสุดท้ายคือการจัดการแบบฉุกเฉิน (Contingency Management) โดยภาครัฐจะเสนอแรงจูงใจและสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อให้เหล่านักดื่มไม่เมามายให้นานที่สุด รวมถึงการให้รางวัลทั้งในรูปเงินสดหรือบัตรกำนัล เมื่อเหล่าผู้ติดแอลกอฮอล์เข้าร่วมการบำบัดอย่างต่อเนื่อง หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ เช่น พาลูกหลานไปห้องสมุด ส่งใบสมัครงานและไปสัมภาษณ์งาน ซึ่งผลตอบรับนับว่าดีเยี่ยม โดยทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวนับว่าเป็นไปตามทฤษฎี คือพยายามเพิ่มต้นทุนในระยะสั้น เช่น การไม่เข้าร่วมกลุ่มบำบัดทุกสัปดาห์จะไม่ได้รับเงินตอบแทน รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มมึนเมาในการดำเนินชีวิต
หลายคนอ่านแล้วอาจขมวดคิ้วว่า ทำไมรัฐบาลต้องนำเงินไปอุดหนุนพวกคนเมาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ผู้เขียนแนะนำให้หันไปมองโฆษณาหลากหลายว่าการเมาสร้างปัญหาต่อสังคมอย่างไร ดังนั้นการทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวก็นับว่าคุ้มค่าในระดับสังคม เพราะต้นทุนของความเมามาย โดยเฉพาะการเมาแล้วขับนั้นสูงลิบลิ่ว
หลากวิธีสะกิดนักดื่ม
ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มีการทดลองหลายชิ้นเพื่อ ‘สะกิด (nudge)’ นักดื่มให้ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งบางไอเดียดูไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้ แต่กลับใช้ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ
ไอเดียแรกคือการลดขนาดแก้วเครื่องดื่มแอลกฮอล์ เพราะการดื่มจนหมดแก้วและขอเติมนั้น เป็น ‘กำแพง’ ทางจิตวิทยา เพราะมนุษย์เราจะไม่ได้สังเกตในรายละเอียดว่าบริโภคไปกี่มิลลิลิตร แต่จะนับเป็นหน่วยง่ายๆ และเมื่อดื่มหนึ่งหน่วยบริโภคหมด เราก็ต้องตัดสินใจว่าจะต้องดื่มต่ออีกหนึ่งแก้ว หรือว่าจะหยุด จากการทดลองพบว่า การลดขนาดแก้วเบียร์ลง 2 ใน 3 จากไซส์ปกติ สามารถลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงระยะเวลาเท่ากันได้ราวร้อยละ 20 ในห้องทดลอง และลดปริมาณการดื่มได้ราวร้อยละ 30 – 40 ในผับที่มีการดื่มติดต่อกันราว 3 ชั่วโมง
ไอเดียที่สอง คือการส่งข้อความเปรียบเทียบปริมาณการดื่มของบุคคลนั้นกับค่าเฉลี่ย เช่น คุณอยู่ในกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุด 1 ใน 10 ของประชากรแล้วนะ ซึ่งการทดลองปรากฏว่า กลุ่มคนที่ดื่มหนักติดอันดับต้นๆ จะพยายามติดต่อขอคำแนะนำหรือพบแพทย์เพื่อลดการดื่มลง ส่วนหนึ่งเพราะเรามักประเมินปริมาณการดื่มของเราน้อยเกินจริง และคิดว่าคนอื่นดื่มมากกว่าเราโดยเฉลี่ย
อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายดังกล่าวกับประชากรกลุ่มใหญ่นั้นทำได้ยาก หลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจึงได้พัฒนาแนวทาง ‘การดื่มความเสี่ยงต่ำ’ ซึ่งหมายถึงระดับการดื่มที่ปลอดภัยต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่น โดยจะใช้หน่วยวัดแอลกอฮอล์มาตรฐานคือ ‘ยูนิต (Unit)’ ซึ่งเทียบเท่ากับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 10 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและเพศของนักดื่ม เช่นในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะอยู่ระหว่าง 18 ถึง 32 ยูนิตต่อสัปดาห์สำหรับผู้ชาย และ 9 ถึง 18 ยูนิตต่อสัปดาห์สำหรับผู้หญิง
แนวทางดังกล่าวนั้นน่าปวดหัวไม่น้อย เพราะต้องอาศัยการคำนวณปริมาณเหล้า เบียร์ หรือไวน์ที่ดื่ม คูณกับปริมาณแอลกอฮอล์เพื่อแปลงเป็นหน่วยยูนิต หลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร จึงมีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดฟรี หรือแปะฉลากระบุว่าเครื่องดื่มขวดนี้เทียบเท่ากับกี่ยูนิตเพื่ออำนวยความสะดวก แนวทางดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคสามารถรู้ตนเองว่าดื่มได้ประมาณไหนจึงจะปลอดภัย
ผู้เขียนพยายามค้นหาข้อมูลปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่แนะนำสำหรับประเทศไทย รวมถึงรายละเอียดศูนย์ให้คำปรึกษา และการบำบัดพยาบาลสำหรับผู้ติดสุราเรื้อรัง ก็ได้ไปเจอเว็บไซต์ป็อปๆ อย่าง alcoholrhythm.com ซึ่งพยายามให้ข้อมูลในบริบทไทย แต่ก็ไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนัก ยิ่งไปสืบค้นศูนย์บริการใกล้บ้านยิ่งรู้สึกเศร้าใจ เพราะมีอยู่ไม่กี่แห่งในบางจังหวัดเท่านั้น
หลายโครงการที่อ่านเจอ กลับเป็นไปในเชิงแก้ไขมากกว่าป้องกัน เช่น การนำผู้กระทำผิดซ้ำจากการเมาแล้วขับเข้าศูนย์บำบัด ซึ่งนับว่าน่าเสียดายที่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้ค่าความสำคัญของมาตรการแนวป้องกันปัญหา แต่กลับเน้นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ กล่าวคือต้องเกิดเรื่องขึ้นก่อนแล้วจึงจะนำคอกมาล้อม
ถ้าเรามองว่าการติดเครื่องดื่มมึนเมาคือปัญหาใหญ่ที่ต้องการการแก้ไข อาจต้องไปให้ไกลกว่าการแปะป้ายนักดื่มที่แอลกอฮอล์เข้าปากเท่ากับบาป แล้วหันมามองข้อเท็จจริงว่าการดื่มเหล้า เบียร์ และไวน์ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่หลวง อีกทั้งเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่กระทำได้ แต่ปัญหาคือการดื่มมากเกินกว่าปริมาณที่เหมาะสมต่างหาก ซึ่งการแก้ไขต้องเริ่มที่ทำความเข้าใจนักดื่มเหล่านั้นเสียก่อน
เอกสารประกอบการเขียน
The Behavioral Economics and Neuroeconomics of Alcohol Use Disorders
Does banning or restricting advertising for alcohol result in less drinking of alcohol?
Contingency Management: Incentives for Sobriety
How to start nudging people to drink less alcohol
Behavioral economic approaches to reduce college student drinking
Tags: แอลกอฮอล์, เหล้า, เข้าพรรษา