หลังจากที่ความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขผู้ติดเชื้อเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้คนจำนวนมากแห่กันไปทำประกัน COVID-19 กันเป็นแถบ ทั้งบริษัทประกัน ตัวแทน โบรกเกอร์ และแบงก์แอสชัวรันส์ถล่มออกแพ็คเกจเพื่อตอบรับสถานการณ์ และแน่นอนว่าจำนวนผู้ซื้อกรมธรรม์เยอะเกินความคาดหมายและบริษัทประกันหลายแห่งต่างประกาศงดรับสมัครแล้ว

สถาบันการเงินบางแห่งออกตัวเสนอความคุ้มครองโควิด-19 เพื่อสมาชิกฟรี ๆ ไม่ต้องจ่ายเพิ่มสักบาท เพียงกรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับความคุ้มครอง บริษัทประกันหลายที่ออกแพ็คเกจเสริมเพื่อท็อปอัปจากความคุ้มครองสุขภาพปกติ หรือแม้กระทั่งนำเสนอแพ็คเกจในราคาย่อมเยาหลักร้อยต้นๆ ทำเอาผู้บริโภคอย่างเรารู้สึกว่าของมันต้องมี ซื้อเผื่อไว้ดีกว่า บ้างก็กว้านซื้อโดยไม่ทันได้ศึกษาเงื่อนไขกรมธรรม์ หลายคนวางแผนอย่างดีซื้อความคุ้มครองเป็นหมวด และเช่นกัน คนอีกจำนวนหนึ่งซื้อประกันโควิดด้วยความคิดเดียวกับการซื้อหวย ถูกรางวัล (tested positive) ก็ดี อย่างน้อยก็ได้เงินก้อน (ฮา) และเราแอบเห็นว่าหลายคนเลือกที่จะซื้อประกันโควิดเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดหรือเพื่อพ่อแม่ บุตรหลาน ญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งเราว่าเป็นไอเดียที่ไม่เลวเหมือนกัน

แม้ประกันหลายเจ้าจะปิดรับไปแล้ว แต่เร็วๆ นี้ แผนประกันคุ้มครองโควิด-19 ล็อตที่สองกำลังตามมา ใครที่ซื้อแล้วและกำลังจะซื้อเพิ่มอีก ใครที่ซื้อล็อตแรกไม่ทัน ใครที่ลังเลว่าจะซื้อตัวไหนดี หรือกำลังชั่งใจว่ามีประกันสุขภาพส่วนตัวหรือประกันกลุ่มที่บริษัททำให้อยู่แล้ว จะซื้อเพิ่มดีไหม และมีเงื่อนไขกรมธรรม์อะไรบ้างที่ควรทราบก่อนซื้อ เราขอฝากคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อประกันโควิดให้ตอบโจทย์ที่สุด

สิ่งที่ควรตระหนักถึง และหลายคนมักจะมองข้าม นั่นคือการศึกษาเงื่อนไขกรมธรรม์ก่อนทำประกัน สำหรับประกันโควิดซึ่งเป็นการรับประกันระยะสั้นเพียง 1 ปี และรับประกันโรคแบบเฉพาะเจาะจง เงื่อนไขกรมธรรม์ย่อมลดน้อยลงตามสัดส่วน สภาพที่เป็นมาก่อนการทำประกัน (pre-existing condition) อาจถูกหยิบยกมาเป็นเหตุในการยกเว้นความคุ้มครอง ประกันหลายแห่งอาจรับประกันและมีผลบังคับความคุ้มครองทันทีหลังจากได้รับชำระเบี้ยประกันเป็นที่เรียบร้อย แต่ประกันบางตัวอาจกำหนดเงื่อนไขไม่คุ้มครองสภาพที่เป็นมาก่อนการทำประกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าหากคุณมีอาการสำแดง เข้าข่ายต้องสงสัย หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อ ณ วันก่อนเริ่มทำประกัน ก็เสี่ยงที่จะถูกบอกเลิกกรมธรรม์ หรือบริษัทประกันจะปฏิเสธจ่ายความคุ้มครองเมื่อตรวจพบเชื้อในภายหลัง

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขกรมธรรม์อาจระบุถึง ระยะรอคอย (waiting period) ซึ่งเป็นหลักการที่ต่อเนื่องมาจากเงื่อนไขสภาพที่เป็นมาก่อนการทำประกัน นั่นหมายความว่า ระยะเวลา … วัน นับจากวันเริ่มต้นกรมธรรม์ หากมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ บริษัทประกันก็มีสิทธิ์ปฏิเสธความคุ้มครองเช่นเดียวกัน

และสำหรับผู้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง (ชั้นอาชีพ 3 : ผู้ปฏิบัติงานในด้านช่าง หรือกระบวนการผลิต หรือการบริการ ซึ่งส่วนใหญ่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก หรือเป็นผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขนส่งที่มีการเดินทางหรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ และ ขั้นอาชีพ 4 : ผู้ปฏิบัติงานที่มีอาชีพพิเศษ ซึ่งไม่สามารถจัดเข้าประเภทอาชีพชั้น 1 ชั้น 2 หรือชั้น 3) ก็อาจถูกปฏิเสธการรับประกันด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาเงื่อนไขกรมธรรม์ก่อนสมัครประกันไม่ว่าจะเป็นประกันโควิดหรือประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำเสมอ

มาถึงประเภทของประกันโควิด-19 จำแนกเป็น 4 ประเภท คือ 1. ค่าสินไหมทดแทนกรณีตรวจเจอโรค สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้ว่า เจอ-จ่าย-จบ บริษัทประกันจะจ่ายเป็นเงินก้อนเดียวเมื่อตรวจพบเชื้อ จากนั้นความคุ้มครองจะสิ้นสุดลงทันที 2. คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล / ค่าชดเชยรายวัน คอนเซ็ปต์เดียวกับประกันสุขภาพที่คุ้มครองตามแผนผลประโยชน์ที่เลือกซื้อ 3. คุ้มครองกรณีโคม่า ผลประโยชน์ประเภทนี้จะคุ้มครองก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันอยู่ในภาวะโคม่า หรือภาวะสมองตายและระบบประสาทล้มเหลว หรือการเจ็บป่วยระยะสุดท้าย รุนแรง และแพทย์ลงความเห็นว่าไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ และ/หรือเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุหลักจากการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส และ 4. คุ้มครองกรณีเสียชีวิต เท่ากับว่าจะได้ความคุ้มครองที่เป็นเงินชดเชยก็ต่อเมื่อเสียชีวิตจากการติดเชื้อฯ เท่านั้น

มีประกันสุขภาพส่วนตัวหรือประกันกลุ่มที่ออฟฟิศทำให้อยู่แล้ว จำเป็นต้องซื้อประกันโควิดเพิ่มอีกไหม? ก่อนอื่นควรรีวิวผลประโยชน์กรมธรรม์ที่เรามีอยู่ก่อน คอนเซ็ปต์ของประกันสุขภาพนั้นครอบคลุมการรักษาที่เกิดจากการบาดเจ็บ (จากอุบัติเหตุ) และเจ็บป่วย (จากโรคภัย) โดยมีความคุ้มครองผู้ป่วยใน (IPD) เป็นหลัก ส่วนความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD) และความคุ้มครองเพิ่มเติมอื่นๆ เป็นออปชั่นเสริมให้เลือกซื้อ 

เงื่อนไขกรมธรรม์ส่วนมากจะไม่คุ้มครองสภาพที่เป็นมาก่อนการทำประกัน หากมีประกันอยู่แล้ว เกิดวันใดวันหนึ่งติดโควิดขึ้นมา ประกันจะจ่ายไหม คำตอบ คือ จ่ายตามแผนผลประโยชน์ที่มีอยู่ เพราะโควิดถือเป็นการเจ็บป่วยจากโรคภัย (อย่างไรก็ตามด้วยเงื่อนไขกรมธรรม์บางฉบับ ก็อาจยกเว้นความคุ้มครองโรคระบาดร้ายแรงเช่นกัน) ด้วยเหตุนี้ หากมีประกันส่วนตัวหรือประกันกลุ่มมาก่อน และวงเงินความคุ้มครองไม่ได้แย่มากนัก ก็อาจซื้อเฉพาะประกันโควิดประเภทที่เจอ-จ่าย-จบ ก็ได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายการรักษาตัว เพราะประกันสุขภาพคุ้มครองไปแล้ว

แต่ถ้าไม่มีประกันสุขภาพมาก่อนเลยล่ะ ควรดูตัวไหนดี? สำหรับฟรีแลนซ์หรือผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพมาก่อน เราแนะนำให้เลือกความคุ้มครองประเภทค่ารักษาพยาบาลก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการนอนแอดมิทโรงพยาบาลปัจจุบันค่อนข้างสูง และแน่นอนว่าเงินก้อนแสนสองแสนก็อาจจะเอาไม่อยู่ เลือกซื้อประกันคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลวงเงินรวมกันสักประมาณสองแสนเป็นอย่างน้อย แล้วถ้างบเหลือค่อยไปซื้อเพิ่มประกันที่จ่ายเงินเมื่อตรวจพบโรคก็ยังได้

ซื้อประกันตัวเดียวหรือหลายตัว อย่างไหนดีกว่ากัน? แน่นอนว่ายิ่งตัวเลือกและตัวช่วยเยอะก็ยิ่งดีและอุ่นใจกว่า หากคุณจะกว้านซื้อทุกกรมธรรม์โควิดในตลาด เรามองว่าไม่จำเป็นขนาดนั้น นอกเสียจากประกันที่จ่ายเงินก้อน ที่หากคุณถือไว้ในมือกี่กรมธรรม์ก็ตาม ที่สามารถเรียกร้องเงินก้อนในส่วนนี้ได้เต็มที่ แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ต่อให้วงเงินคุ้มครองรวมทุกกรมธรรม์เป็นหลักล้าน ทว่าประกันก็จะให้ความคุ้มครองตามบิลเรียกเก็บตามจริงที่ออกโดยโรงพยาบาล และไม่สามารถเบิกบิลค่ารักษาซ้ำซ้อน ซึ่งต่างกับประกันประเภทที่จ่ายเงินก้อน หรือมีผลประโยชน์เงินชดเชยรายวันซึ่งสามารถเรียกร้องค่าทดแทนจากทุกกรมธรรม์ที่มีอยู่ได้

สุดท้ายแล้วประกันโควิด-19 ถือเป็นตัวเลือกสำหรับผู้มีประกันส่วนตัวหรือประกันกลุ่มซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพมาก่อนเลย นี่คือสิ่งที่จำเป็นต้องมี เพื่อที่หากเกิดเรื่องไม่คาดฝันก็จะไม่ต้องลำบากเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา อย่างไรก็ตาม ประกันโควิดมีความคุ้มครองเพียงปีเดียวเท่านั้น และด้วยแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลทั่วไปที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ประกันสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจ แม้เบี้ยประกันจะสูงตามช่วงอายุ แต่ก็ช่วยแบ่งเบาความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเราสักวันใดวันหนึ่งโดยที่ไม่ทันตั้งตัว

Tags: ,