สถานการณ์การเมืองในฮ่องกงกำลังครุกรุ่นจวนเจียนจะระเบิด คนไทยเองก็ให้ความสนใจไม่น้อยกับสถานการณ์ดังกล่าว เพราะผู้เขียนเองยังได้รับไลน์ในกลุ่มญาติ ที่ชาวไทยท่านหนึ่งปรามาสอาตี๋อาหมวยในฮ่องกง ที่ไม่รำลึกถึงบุญคุณจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ไปหลงใหลในแสงสีที่นักล่าอาณานิคมอย่างสหราชอาณาจักรเคยนำมามอบให้

ผู้เขียนไม่ต้องการถกเถียงแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ว่าฮ่องกงควรเป็นของใคร แต่ในมุมมองของเหตุผลในการต่อต้านอำนาจรัฐ การกล่าวอ้างเช่นนั้นถือว่าเข้าใจผิดเต็มประตู

ในหนังสือ “ต้านอำนาจรัฐ (Resistance to Civil Government)” เฮนรี่ เดวิด ธอโร นักเขียนและปรัชญาคนสำคัญ เขียนในเชิงว่า เขาขัดขืนอำนาจรัฐมิใช่หวังให้การกระทำของเขาสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่เขามองว่าเป็นเรื่องไร้ศีลธรรมที่จะสนับสนุนรัฐบาลที่ปล่อยให้เกิดการค้าทาสและสงครามค่าแรงในเม็กซิโก การร่วมมือกับรัฐบาลเช่นนั้นจะทำให้จิตวิญญาณของเขาแปดเปื้อน และเขายินดีที่จะถูกขังคุกตลอดชีวิตดีกว่าจะต้องมีมลทิน

อย่างไรก็ดี การประท้วงก็ย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเนื่องจากความไม่สงบสะท้อนความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศนั้นๆ หรือแม้แต่การกระทบกระทั่งถึงขั้นเสียชีวิต อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เหล่านี้ถูกมองว่าเป็น ‘กระบวนการหนึ่ง’ ของการประท้วงเพื่อ ‘ส่งสัญญาณ’ ต่อสาธารณชนและผู้มีอำนาจ

การศึกษาทำความเข้าใจเหตุผลในการต่อต้านอำนาจรัฐมีจำนวนค่อนข้างมาก แต่มีชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจโดยรวบรวมเหตุการณ์ประท้วงระหว่าง ค.ศ. 1900 ถึง 2006 เพื่อประเมินว่าปัจจัยใดที่ทำให้การประท้วงประสบผลสำเร็จ แต่ก่อนอื่น ผู้เขียนอยากชวนมาทำความเข้าใจก่อนว่า ประชาชนประท้วงทำไม?

กายวิภาคของการประท้วง

ไม่ว่าจะประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย การประท้วงหรือขัดขืนต่ออำนาจรัฐก็ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยมีสาระสำคัญคือเหล่าผู้ประท้วงนั้นจะ ‘กระทำการผิดกฎหมาย’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อส่งสัญญาณต่อสาธารณชนให้กว้างและลึกขึ้น โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง การส่งสัญญาณนั้นอาจแบ่งออกได้สองรูปแบบ

รูปแบบแรก คือการส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจ ในกรณีที่ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบการกระทำที่ผิดพลาดร้ายแรงหรือไม่เป็นธรรม การส่งสัญญาณดังกล่าวจะกระตุ้นให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และดึงความสนใจมายังประเด็นที่ผู้ประท้วงเรียกร้อง ซึ่งหากกระแสสังคมมีกำลังมากพอก็จะสามารถเปลี่ยนผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ต้องการได้

รูปแบบที่สอง คือการยั่วยุให้ผู้มีอำนาจเผยธาตุแท้ที่เลวร้ายของตนเอง เช่น การใช้กำลังในการสลายการชุมนุม โดยวิธีนี้นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะผู้ประท้วงจะต้องหาสมดุล กล่าวคือ ไม่ยั่วยุรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สิน จนสาธารณชนยินดีกับการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อ่อนยวบจนผู้มีอำนาจมองข้ามไม่สนใจ หากผู้ประท้วงหาจุดที่สมดุลได้และผู้มีอำนาจถูกยั่วยุจนต้องใช้กำลัง ความคิดเห็นของสาธารณะก็จะเปลี่ยนมาเห็นใจผู้ประท้วงซึ่งอาจพลิกขั้วจนผู้มีอำนาจกลายเป็นผู้ร้ายในท้ายที่สุด

การประท้วงอาจแยกประเภทได้ตามอำนาจของกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งประเภทแรกคือกลุ่มปฏิวัติซึ่งอาจเริ่มต้นในรูปแบบกองกำลังปฏิวัติ หรือเริ่มโดยการชุมนุมประท้วงอย่างสันติก่อนจะขยายตัวไปสู่การกระทบกระทั่งระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ชุมนุมประท้วง ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในประเทศรัสเซีย หรือการปฏิวัติฝรั่งเศสซี่งผู้ประท้วงมีกำลังค่อนข้างมากหากเทียบกับฝ่ายผู้มีอำนาจ

ประเภทที่สองคือการประท้วงที่ต้องการให้จบที่โต๊ะเจรจาต่อรอง โดยโจมตีรัฐบาลโดยวิธีสันติแต่เจ็บปวด เช่น การบอยคอตสินค้าสหราชอาณาจักรของอินเดียซึ่งนำโดยมหาตมะคานธี การต้านอำนาจรัฐรูปแบบนี้เน้นหลีกเลี่ยงความรุนแรงมากที่สุด ส่วนประเภทสุดท้ายคือการยั่วยุผู้มีอำนาจ โดยกลุ่มผู้ประท้วงอาจไม่ได้มีจำนวนที่มากนัก แต่ต้องการให้มีการใช้กำลังตอบโต้จากผู้มีอำนาจ และหวังว่าการกระทำดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงความคิดต่อผู้มีอำนาจของสาธารณชน

แล้วประท้วงแบบไหนจึงจะประสบผล?

คุณคิดว่าการประท้วงแบบไหนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่ากัน ใช้กำลัง วางระเบิด ทำลายทรัพย์สิน หรือการประท้วงแบบอหิงสา เน้นสันติวิธี?

หลายคนอาจคิดว่ากระบอกปืนสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้หมดจดกว่า ไม่ยืดเยื้อยาวนานอย่างสันติวิธี แต่หลักฐานเชิงประจักษ์กลับพบว่า สันติวิธีต่างหากที่มีโอกาสสำเร็จมากกว่า

มาเรีย สเตฟาน (Maria Stephan) และเอริกา เชโนเวธ (Erica Chenoweth)  นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างประเทศ ได้ทำการวิเคราะห์เหตุการณ์ประท้วง 323 เหตุการณ์ ระหว่าง ค.ศ. 1900 ถึง 2006 โดยพบว่าแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า คือร้อยละ 53 ในขณะที่การประท้วงที่ใช้ความรุนแรงมีโอกาสสำเร็จเพียงร้อยละ 26 เท่านั้น โดยทั้งสองมองว่าการประท้วงโดยสันติวิธีนั้นมีข้อได้เปรียบกว่าการใช้ความรุนแรง 3 ประการ

ข้อแรก การปราบปราบผู้ประท้วงโดยสันติวิธีนั้นราคาแพงกว่า การกดทับการแสดงออกอย่างสันติเป็นการสร้างแรงสะท้อนย้อนกลับไปยังผู้มีอำนาจ นำไปสู่การเปลี่ยนขั้วภายในประเทศ สร้างแรงสนับสนุนที่เข้มแข็ง และเกิดแรงกดดันจากต่างประเทศอย่างการคว่ำบาตรทางการค้า ในทางกลับกัน แรงสะท้อนย้อนกลับจะไม่รุนแรงนัก หากรัฐเลือกใช้กำลังตอบโต้กลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรง

ข้อสอง การประท้วงโดยสันติเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองมากกว่า เนื่องจากการประท้วงดังกล่าวไม่ทำร้ายหรือทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้มีอำนาจ ซึ่งทำให้ผู้สนับสนุนระบอบเดิมเปิดใจรับได้ง่ายกว่ากลุ่มที่ใช้กำลัง การประท้วงจะประสบความสำเร็จได้ย่อมต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากมวลชน คงเป็นการยากที่สาธารณชนจะสนับสนุนกลุ่มที่มองไม่เห็นค่าชีวิตของประชาชน

ข้อสาม การใช้ความรุนแรงทำให้มีโอกาสน้อยมากที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเปลี่ยนฝ่ายมาสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วง มีการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ทำร้ายประชาชนจะสูญเสียแรงสนับสนุนจากชุมชนมากกว่ากลุ่มก่อการร้ายที่พุ่งเป้าไปที่ทหารและตำรวจเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกัน การประท้วงโดยใช้สันติวิธีอาจทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนฝ่าย เหตุการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้อำนาจที่เกาะกุมไว้โดยรัฐอ่อนยวบลง

จากชุดข้อมูลเดียวกันนี้เอง เอริกาพยายามตอบคำถามฮอตฮิตว่า ต้องมีคนจำนวนเท่าไร การประท้วงจึงจะประสบความสำเร็จ แน่นอนว่ายิ่งจำนวนคนยิ่งมากโอกาสประสบความสำเร็จก็ย่อมสูงเป็นเงาตามตัว แต่เธอพบว่า เมื่อใดก็ตามที่ประชากรออกมาประท้วงมากกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่มีครั้งใดที่ข้อเรียกร้องจะไม่ได้รับการเติมเต็ม หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กฎ 3.5 เปอร์เซ็นต์”

ฝุ่นควันในฮ่องกงยังคงตลบอบอวล ชวนมาติดตามกันต่อไปว่า “กฎ 3.5 เปอร์เซ็นต์” ของเอริกาจะสามารถใช้ได้หรือไม่ในเงื้อมมือมังกร เพราะจากตัวเลขทั้งที่รายงานสื่อและรายงานโดยรัฐบาล พบว่าประชากรฮ่องกงออกมาเดินบนท้องถนนมากกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์แน่ๆ

ส่วนใครที่สนใจข้อมูลเรื่องการต้านอำนาจรัฐทั่วโลกที่ใช้สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ก็สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีๆ ที่ผลลัพธ์ของการรณรงค์แบบไร้ความรุนแรงและใช้ความรุนแรง (The Nonviolent and Violent Campaigns and Outcomes: NAVCO)

 

เอกสารประกอบการเขียน

A Theory of Civil Disobedience

Why Civil Resistance Works

It may only take 3.5% of the population to topple a dictator – with civil resistance

The Protest Tipping Point

 

Tags: , , ,