ต่อให้เล่น ‘โกะ’ หรือหมากล้อมไม่เป็น แต่การเห็นปรมาจารย์หมากล้อมมือวางอันดับหนึ่งของโลกต้องปราชัยให้แก่ ‘อัลฟาโกะ’ (AlphaGo) ของกูเกิล ก็คงทำให้คนนับล้านทั่วโลกรู้สึกสะเทือนใจและเสียวสันหลัง

เหตุเพราะโกะเป็นเกมกลยุทธ์ที่ลึกซึ้ง มีอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี และไม่ได้อาศัยเพียงการประเมิน (evaluation) อย่างแยบยล แต่ต้องอาศัยการหยั่งรู้ด้วยสัญชาตญาณ (intuition) ที่มนุษย์ภาคภูมิใจว่าตนมีเหนือสมองกล

แต่ในที่สุด อัลฟาโกะ คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล ก็เอาชนะเกมหมากล้อมได้ถึงสามกระดานเหนือเค่อ เจี่ย (Ke Jie) ผู้เล่นชาวจีนระดับปรมาจารย์ของโลกได้สำเร็จเมื่อสัปดาห์ก่อน และภายหลังชัยชนะดังกล่าว อัลฟาโกะก็ประกาศว่ามันจะแขวนกระดาน แล้วหันไปพัฒนาศักยภาพด้านอื่นของมันต่อไป

เดมิส ฮัสซาบิส (Demis Hassabis) ผู้อำนวยการแล็บดีปมายด์ (DeepMind) ที่กูเกิลซื้อไปเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอัลฟาโกะ บอกว่าเขาจะเอาทีมออกแบบอัลฟาโกะซึ่งเป็นทีมระดับหัวกะทิของบริษัทไปทำโครงการอื่นๆ เสียที เพราะชัยชนะของอัลฟาโกะเหนือซูเปอร์แชมป์ของมนุษย์ ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ อัลฟาโกะกลายเป็นจักรกลเครื่องแรกที่แสดงศักยภาพเท่าเทียมกับเซียนโกะ โดยสามารถเอาชนะปรมาจารย์ลี เชดอล (Lee Sedol) ได้สำเร็จ และเป็นชัยชนะที่นักวิจัยทั้งหลายคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ ตั้งแต่นั้นมา ฮัสซาบิสกับทีมงานก็พยายามปรับปรุงอัลฟาโกะให้ดีขึ้นไปอีก จนเอาชนะเค่อ เจี่ย ได้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในสุดยอดการแข่งขันหมากล้อมที่เมืองอู่เจิ้น ประเทศจีน รวมทั้งเอาชนะเซียนโกะอีกสองคนด้วย ซึ่งเป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ประชาคมนักเล่นหมากล้อมทั่วโลก

เค่อ เจี่ย บอกว่าเขาหาจุดอ่อนในการเล่นของอัลฟาโกะไม่เจอเลย และยกย่องอัลฟาโกะให้เป็นดั่งเทพเจ้าแห่งการเล่นหมากล้อม

 

ตอนที่ทีมงานดีปมายด์เผยโฉมอัลฟาโกะครั้งแรก มีแต่คนปรามาสว่ามันจะมีทักษะเพียงพอที่จะแข่งขันกับเซียนระดับโลกได้จริงหรือ ต่อมาเมื่อเอาชนะลี เชดอล ได้ แฟนหมากล้อมทั่วโลกก็อดรู้สึกเศร้าใจไม่ได้ที่จักรกลมีชัยเหนือมนุษยชาติ จากการเลียนแบบการเรียนรู้ของมนุษย์ในการเล่นเกมที่มีความซับซ้อนมากๆ ได้ นักเล่นหมากล้อมพากันเรียกร้องให้ทีมงานดีปมายด์เผยแพร่รายละเอียดการเล่นของอัลฟาโกะซึ่งทำในห้องลับ เพื่อจะได้นำมาพัฒนากลยุทธ์หมากล้อมให้ก้าวหน้าต่อไป

ปรมาจารย์หมากล้อมชาวจีน เหลียน เซียว (Lian Xiao) หลังจากได้เล่นหมากล้อมกับอัลฟาโกะก็ถึงกับกล่าวว่า “อัลฟาโกะขยายขอบเขตของเกมให้กว้างขึ้น มันนำเราไปสู่จินตนาการใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน”

หลังจากที่อัลฟาโกะใช้เวลาปีครึ่งในการต่อสู้กับนักเล่นหมากล้อมตั้งแต่มือใหม่ไต่เต้ามาจนถึงระดับเซียน ดีปมายด์กำลังจะทำสิ่งที่ผู้เล่นทั้งหลายเรียกร้องต้องการ นั่นคือการเปิดเผยเกมหมากล้อม 50 กระดานที่อัลฟาโกะเล่นกับตัวเองต่อสาธารณชน

 

ลี ฮาจิน (Lee Hajin) เลขาธิการสมาพันธ์หมากล้อมนานาชาติ เล่าว่าโกะเป็นเกมที่ดึงดูดใจมาก เพราะภายใต้กฎกติกาง่ายๆ นั้นแฝงไว้ด้วยความเป็นไปได้ร้อยแปดที่ผู้เล่นจะไม่มีวันเบื่อ โดยปกติ ผู้เล่นต้องฝึกฝนนานนับปี เพื่อลับคมสายตาและสัญชาตญาณในการอ่านเกม กว่าจะได้ชื่อว่าเป็น ‘เซียนโกะ’

และอัลฟาโกะก็พัฒนาตัวเองในวิถีเดียวกัน มันแข่งขันหมากล้อมกระดานแล้วกระดานเล่ากับตัวเอง โดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการเล่นแต่ละตา ซึ่งฟ่าน ฮุย (Fan Hui) แชมป์หมากล้อมชาวฝรั่งเศสเชื้อสายจีนที่ดีปมายด์เชิญมาช่วยฝึกอัลฟาโกะ ถึงกับกล่าวว่า “เป็นเกมที่สวยงามมากอย่างที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน”

กระนั้น เซียนหมากล้อมหลายคนมองว่า 50 เกมที่ดีปมายด์จะเผยแพร่นั้นยังไม่จุใจ และเรียกร้องให้เปิดเผยเกมทั้งหมดที่อัลฟาโกะเล่นกับตัวมันเอง แม้จะเป็นร้อยเป็นพัน หรือต่อให้เป็นล้านเกมก็ตาม พวกเขาเชื่อว่ามีอะไรมากมายที่จะได้เรียนรู้จากเกมเหล่านั้น เพื่อจะได้เข้าใจวิธีคิดของปัญญาประดิษฐ์ที่พวกเขาทึ่งและกลัวไปพร้อมกัน

พัฒนาการของอัลฟาโกะนอกจากแสดงให้เห็นถึงความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ว่าไม่เพียงแทนที่ทักษะบางด้านของมนุษย์ แต่ก้าวหน้าเหนือมนุษย์ได้อีกด้วย ดังที่พบว่าเซียนโกะจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนวิธีเล่นของตนหลังจากได้เห็นการเล่นของอัลฟาโกะ โดยเฉพาะหลังจากที่อัลฟาโกะเอาชนะการแข่งขันออนไลน์แบบนิรนามไปได้ถึง 60 กระดานเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ในการแข่งขันที่เมืองอู่เจิ้น ปรมาจารย์เค่อ เจี่ย เปิดกระดานแรกด้วยกลยุทธ์พิสดารที่เรียกว่า ‘3-3 point’ ซึ่งอัลฟาโกะใช้อยู่บ่อยๆ ในการแข่งขัน 60 เกมดังกล่าว กระนั้น เขาก็พ่ายแพ้ให้แก่อัลฟาโกะภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งรวดเร็วกว่าที่ทีมงานคาดไว้เกือบครึ่ง

หลังจากชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ ดีปมายด์ก็สลายทีมงานที่ร่วมกันพัฒนาอัลฟาโกะให้กลับไปใช้เวลาพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในเรื่องที่ตนถนัดและสนใจต่อไป ซึ่งงานด้านหนึ่งที่ดีปมายด์สนใจและกำลังตกเป็นข่าวในอังกฤษ คืองานวิจัยด้านสุขภาพที่ทำร่วมกับ National Health Service (NHS) ซึ่งล่อแหลมว่าจะล่วงละเมิดข้อมูลส่วนตัวของคนไข้กว่า 1.6 ล้านคนในระบบข้อมูลของเอ็นเอชเอส ซึ่ง The Momentum จะติดตามมานำเสนอต่อไป

เพราะในนาทีนี้ แม้จะดูเหมือนว่า AI มีศักยภาพในการเรียนรู้และตัดสินใจเชิงซ้อนได้ด้วยตัวเอง แต่เรื่องใหญ่ที่มนุษย์ควรตั้งคำถามกับการอยู่ร่วมกับมันในอนาคตก็คือ ความสามารถในการตัดสินใจเชิงศีลธรรม

 

แหล่งข้อมูล
https://th.wikipedia.org/wiki/หมากล้อม
https://www.wired.com/2017/05/win-china-alphagos-designers-explore-new-ai/
www.theverge.com/2016/3/9/11185030/google-deepmind-alphago-go-artificial-intelligence-impact

Tags: , , , , , ,