เวลาได้รับเชิญไปร่วมงานแต่ง งานเลี้ยง หรืองานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ นอกจากการ์ดเชิญจะระบุถึงการแต่งกายแล้ว อีกอย่างที่บอกก็คือลักษณะการจัดงาน เพราะแขกจะได้เตรียมชุดให้เหมาะและเตรียมท้องให้พร้อม
เช่นหากเป็นงานสไตล์ค็อกเทล งานก็จะเป็นแบบเดินไปชิมอาหารไป หรือยืนเฉยๆ แล้วมีคนมาเสิร์ฟตรงที่คุณยืนเม้าท์กระจายอยู่ ส่วนอาหารที่เสิร์ฟ ก็มีการแบ่งลักษณะแยกย่อยพร้อมมีชื่อเรียกที่ต่างกัน คุณเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าอะไรคืออะไร?
Hor d’œuvre
คงคุ้นหูกับคำว่า ‘ออร์เดิฟ’ และหลายๆ คนคงคิดว่าเป็นภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้วเป็นคำยืมมาใช้จากภาษาฝรั่งเศส โดยมาจากคำว่า Hor d’œuvre ที่อ่านออกเสียงว่าออร์เดิฟ แปลว่า ‘นอกเหนือจากงาน’ ซึ่งหมายถึง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารจานหลัก อาจจะเรียกว่าแอพเพอะไทเซอร์ (appetizer) หรือ สตาร์ตเตอร์ (starter) หรือในยุโรปใช้คำว่า ออนเทร่ (entrée)
ออร์เดิฟเป็นอาหารที่เสิร์ฟได้ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ถ้าเป็นการเสิร์ฟอาหารแบบเป็นคอร์สเป็นจานและนั่งรับประทานอย่างที่เรียกว่า ‘ดินเนอร์’ นั้น ออร์เดิฟอาจจะเสิร์ฟก่อนเข้านั่งโต๊ะได้ แล้วยังเสิร์ฟก่อนอาหารจานหลักหรือเสิร์ฟคั่นระหว่างอาหารแต่ละจานก็ได้ ออร์เดิฟจะมาในจานที่เล็กกว่าอาหารจานหลัก และบางครั้งก็เป็นอาหารที่สามารถหยิบรับประทานได้ด้วยมือ
นักประวัติศาสตร์ด้านอาหารเชื่อกันว่า ประเพณีการเสิร์ฟออร์เดิฟมีขึ้นครั้งแรกที่ประเทศรัสเซีย ที่เวลาเดินทางไกลๆ จะนำเอาคาเวียร์ ปลา และเนื้อไปรับประทานแก้หิว แต่ก็มีบางส่วนคิดว่าน่าจะมีขึ้นที่ประเทศจีนแล้วค่อยขยับขยายไปที่รัสเซีย สแกนดิเนเวีย ฝรั่งเศส แล้วแพร่ไปทั่วยุโรป
ในยุคโรมันรุ่งเรือง มื้ออาหารจะมีจานหลักสองจาน แต่มีการเสิร์ฟอาหารก่อนมื้ออาหารด้วยของกินเล่นเล็กๆ น้อยๆ อย่างลูกมะกอก ปลา ผักสด ชีส โดยที่กรีซ เรียกว่า แอพเพอะไทเซอร์ (Appetizer) นั่นเอง ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 17 มีการเสิร์ฟอาหารในจานเล็กนอกเหนือจากอาหารจานหลัก นี่แหละคือกำเนิดของออร์เดิฟ ที่ดั้งเดิมแล้วเสิร์ฟคานาเป้ (Canapé) ทำจากขนมปังปิ้งชิ้นเล็กๆ แต่งหน้าด้วยเครื่องคาวที่เลือกสรรอย่างดี ระยะหลังศตวรรษที่ 19 ในสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษมีการเสิร์ฟเป็นของหวานหรือขนมเพิ่มเติม
ในปี ค.ศ.1860 ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมีการใช้คำๆ นี้พร้อมกัน ในอเมริกา การเสิร์ฟออร์เดิฟจะหมายถึงอาหาร 1-3 จานเรียกน้ำย่อยก่อนถึงอาหารจานหลัก ซึ่งจะเสิร์ฟต่อเมื่อแขกได้เข้านั่งที่โต๊ะอาหารแล้ว ส่วนในอังกฤษได้แรงบันดาลใจมาจากฝรั่งเศส เริ่มเสิร์ฟออร์เดิฟก่อนอาหารค่ำ มีการจัดงานเลี้ยงแบบค็อกเทล ในงานค็อกเทลจะเสิร์ฟอาหารกินเล่นคำเล็กๆ พร้อมมีเครื่องดื่มบริการ ออร์เดิฟกลายเป็นอาหารที่ใช้เสิร์ฟเฉพาะอาหารในงานค็อกเทลหรืองานเลี้ยงต้อนรับโดยจะไม่มีอาหารจานหลักเสิร์ฟในงานเลย
ออร์เดิฟแยกย่อยเป็นอาหารหลายประเภทอย่างคานาเป้ (Canapé) และฟิงเกอร์ ฟู้ด (Finger Food) ซึ่งเป็นอาหารในลักษณะใกล้เคียงกันแต่มีรายละเอียดแตกต่างกัน
เมื่อค็อกเทลปาร์ตี้กลายเป็นที่นิยมในอเมริกา ก็เกิดเมนูออร์เดิฟหลากหลายซึ่งช่วยให้บรรดาแขกนักดื่มทั้งหลายอุ่นท้องได้ และทำให้ออร์เดิฟหลุดพ้นออกมาจากโต๊ะดินเนอร์อันแสนจริงจังมาอยู่บนถาดอาหารพร้อมเสิร์ฟ ในปัจจุบัน ออร์เดิฟบางครั้งก็เสิร์ฟบนถาดที่วางบนโต๊ะให้แขกมาหยิบหรือตักเอง
Canapé
คานาเป้มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า โซฟาหรือเก้าอี้ยาว เพราะเครื่องตกแต่งหน้าขนมปังดูคล้ายกับคนที่กำลังนั่งอยู่บนเบาะเก้าอี้ เป็นส่วนหนึ่งของออร์เดิฟ ทำด้วยขนมปังที่ตัดออกเป็นชิ้นเล็กเป็นทรงสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม หรือเจาะรู แล้วอาจนำไปปิ้ง อบ ทอด ขนมปังกรอบหรือแคร็กเกอร์ พัฟอบกรอบที่ตกแต่งหน้าด้วยเครื่องคาววางเป็นชั้นๆ อย่างเนื้อ ปลา ชีส คาเวียร์ ฟัวกราส์ หรือผักต่างๆ และระหว่างชั้นวัตถุดิบที่ตกแต่งหน้าคานาเป้ จะทาเนยหรือครีมชีสคั่นเอาไว้
ปัจจุบัน คานาเป้มีท็อปปิงตกแต่งด้วยส่วนผสมแบบไทยที่ประยุกต์ขึ้นตามความต้องการ เป็นอาหารที่มีรสชาติเค็มหรือเผ็ด บางเมนูของคานาเป้ก็เป็นฟิงเกอร์ฟู้ด (Finger Food) หรืออาหารแบบหยิบกินได้ แต่ฟิงเกอร์ฟู้ดไม่ใช่คานาเป้เสียทั้งหมด และระยะหลัง พวกขนมหวาน ช็อกโกแลต ก็ถูกจับมาอยู่ในมวลหมู่คานาเป้ด้วย
Finger Food
ฟิงเกอร์ฟู้ด คือ อาหารสารพัดชนชาติที่ใช้มือหยิบรับประทานได้ในคำเดียวหรือสองคำ ไม่ต้องใช้ช้อน ส้อม หรือตะเกียบ (แต่ก็มีบางเมนูที่ต้องใช้บ้าง)
ในประเทศตะวันตก ฟิงเกอร์ฟู้ดเป็นออร์เดิฟ แอพเพอะไทเซอร์ ออนเทร่ ไปจนอาหารจานหลักก็ได้ เช่น พายเนื้อ น่องไก่ ไส้กรอกเสียบไม้ ปอเปี๊ยะทอด แซนด์วิช ซาโมซา บางครั้งรวมถึงริซอตโต้บอลล์ พิต้าและโปเตโต้ เวดจ์ (มันฝรั่งหั่นเป็นชิ้นหนา) รวมทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ดในไซส์มินิอย่างแฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า หรือฮอตด็อก
แต่ของหวานอย่างไอศกรีมโคน คุกกี้ ขนมอบ ไม่จัดอยู่ในฟิงเกอร์ฟู้ด แม้จะรับประทานด้วยมือก็ตาม
สำหรับอาหารไทยบ้านเรา สามารถนำมาปรับเปลี่ยนเป็นฟิงเกอร์ฟู้ดได้มากมาย อาทิ หมูสะเต๊ะ ขนมปังหน้าหมู แตงกวาตกแต่งด้วยลาบ ปอเปี๊ยะทอด ทอดมัน หมูโสร่ง เกี๊ยวทอด กระทงทอง หรืออาจจะเป็นอาหารญี่ปุ่นอย่างข้าวปั้น ซูชิ อาหารจีนอย่างเส้นหมี่ผัด และอาหารอิตาเลี่ยนก็มี เช่นสปาเก็ตตี้
Tags: Hor d’œuvre, อาหาร, คานาเป้, Finger Food