เป็นวัยรุ่น (และผู้ใหญ่ตอนต้น) มันเหนื่อย! นอกจากต้องเจอความท้าทายทางสุขภาพมากมาย ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องคุมกำเนิดไปจนถึงโรคอ้วน พฤติกรรมการใช้งานออนไลน์ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลทางสุขภาพ

ล่าสุด ที่สหรัฐอเมริกาสำรวจการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางสุขภาพดิจิทัล โดยศึกษาวัยรุ่น (อายุ14-17 ปี) และผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุ 18-22 ปี) จำนวน 1,337 คนใน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกาและเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย ระหว่าง 12 กุมภาพันธ์และ 19 มีนาคม 2018 จัดทำโดยมหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกับ Hopelab และ Well Being Trust

วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการสำรวจนี้คือการค้นหาว่า คนหนุ่มสาวที่มีอาการซึมเศร้า หาคำอธิบายเรื่องสุขภาพทางช่องทางดิจิทัล พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย และประสบการณ์ของตัวเองอย่างไร และคำอธิบายของพวกเขาเหมือนหรือต่างจากคนที่ไม่มีอาการนี้ โดยใช้การประเมินอาการซึมเศร้าด้วยแบบคัดกรองโรคซึมเศร้า The Patient Health Questionnaire Depression Scale (PHQ-8)

อย่างไรก็ดี งานนี้ไม่ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้าและพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย หรือบอกไม่ได้ว่าประสบการณ์เหล่านั้นมีพัฒนาการอย่างไร เป็นข้อค้นพบเชิงพรรณนาเท่านั้น ไม่สามารถในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้

ในด้านการเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางสุขภาพ  87% ของทั้งสองกลุ่มอายุบอกว่า หาข้อมูลออนไลน์ในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ โดยประเด็นยอดฮิต 5 อันดับที่ค้นคือ สมรรถภาพทางกาย (63%) โภชนาการ (52%) ความเครียด (44%) ความวิตกกังวล (42%) และภาวะซึมเศร้า (39%)

เกือบสองในสาม (64%) บอกว่า เคยใช้แอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกาย การนอนหลับ การทำสมาธิและการแจ้งเตือนการรักษาทางการแพทย์ ส่วนใหญ่  (61%) บอกว่าพวกเขาอ่าน ฟัง และดูเรื่องที่คนอื่นเล่าประสบการณ์ทางสุขภาพของตัวเองทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นพอดแคสต์ TED Talk หรือยูทูบ

ประมาณ 4 ใน 10 จะค้นหาคนที่มีสุขภาพคล้ายๆ หรือเหมือนกับตัวเองทางอินเทอร์เน็ต ด้วยการไปพูดคุยในเว็บบอร์ดหรือกลุ่มปิดในโซเชียลมีเดียในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะ ใช้แฮชแท็ก หรือกดติดตามคนที่มีปัญหาสุขภาพคล้ายกัน

ส่วนผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีอาการซึมเศร้าปานกลางไปจนถึงรุนแรงกว่า 90% บอกว่าหาข้อมูลออนไลน์ในเรื่องสุขภาพจิต และเกือบ 4 ใน 10 ของคนที่ใช้แอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับสุขภาพ บอกว่าใช้งานออนไลน์ไปกับด้านสุขภาพจิต เช่น การทำสมาธิ การลดความเครียด และโรคซึมเศร้า ส่วนผู้ที่ดู ฟัง หรืออ่านประสบการณ์ทางสุขภาพของคนอื่นๆ มี 75% (คนที่ไม่มีอาการซึมเศร้ามี 54%)

ส่วนการใช้โซเชียลมีเดีย มากกว่า 9 ใน 10 ของทั้งสองกลุ่มใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ

พวกเขามองโซเชียลมีเดียในแง่บวก อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงแรงกดดันทางสังคมจากการเปรียบเทียบ 57% ตอบว่าพวกเขารู้สึกว่าคนอื่นๆ ดีกว่าตัวเอง และครึ่งหนึ่งบอกว่า รู้สึกว่าต้องแสดงด้านที่ดีที่สุดของตัวเองออกมาบนโซเชียลมีเดีย

ถ้าเทียบกันแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอาการซึมเศร้าปานกลางถึงรุนแรง จำนวนมากกว่าสองเท่าของคนที่ไม่มีอาการซึมเศร้า บอกว่าโซเชียลมีเดียช่วยให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ทำให้พวกเขารู้สึกแย่ลงด้วยเช่นกันในเวลาที่รู้สึกเศร้า เครียด หรือวิตกกังวล

ผลการสำรวจนี้มาจากการสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษและสเปน รวมทั้งแบบสอบถามออนไลน์และทางโทรศัพท์ ขึ้นอยู่กับผู้ตอบแบบสอบถาม  นอกจากนี้ยังมีคำถามปลายเปิด 5 ข้อที่ให้ผู้ตอบแบบสอบถามบรรยายด้วยภาษาของตัวเอง ประสบการณ์และถามถึงความรู้สึกของพวกเขา

 

ที่มา:

https://hopelab.org/report/a-national-survey-by-hopelab-and-well-being-trust-2018/introduction/

Tags: , ,