นอกจากรูปแบบการประท้วงที่เริ่มต้นจากคนรุ่นใหม่และไม่มีผู้นำ หรือการรวมตัว สื่อสารกันโดยไม่ทิ้งรอยเท้าดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในเหตุการณ์การประท้วงที่ฮ่องกงที่ยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือโปสเตอร์การประท้วง ที่เริ่มมีให้เห็นและแพร่หลายมากขึ้นตามจำนวนวันการประท้วงทั้งตามสถานที่ต่างๆ ในฮ่องกงและในโซเชียลมีเดีย โดยมีความหมายและการใช้งานที่หลากหลาย ตั้งแต่เครื่องมือในการให้ข้อมูลไปจนถึงการประชาสัมพันธ์การประท้วงเพื่อบ่งบอกจุดประสงค์หรือสื่อสารไปยังบุคคลภายนอก
ในช่วงแรกๆ ของการประท้วงนั้น เราจะเห็นโปสเตอร์ที่นำเอาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์การประท้วงในครั้งนี้ ซึ่งก็คือร่มสีเหลืองมาใช้เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยรูปแบบการประท้วงเพิ่งจะเริ่มต้น ยังไม่มีการพัฒนาหรือแตกประเด็นอื่นๆ ไปตามสถานการณ์ โดยใช้ทั้งในความหมายของการเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ รวมพลัง และเป็นตัวแทนของ ‘ฮ่องกง’ ร่มเหลืองหรือขบวนการ ‘Umbrella Movement’ นี้เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ต่อเนื่องมาจากการประท้วงในปี 2014 อันเป็นตัวแทนของสิ่งที่ไม่ใช่ ‘อาวุธ’ แต่ใช้ปกป้องประชาชนจากสเปรย์พริกไทยของตำรวจ
จุดเปลี่ยนของการสร้างสรรค์โปสเตอร์ประท้วงในฮ่องกงมีขึ้นหลังจากวันประท้วงวันแรก ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาประเด็นที่จะต้องสื่อสารทั้งกับผู้มาร่วมประท้วงเอง นักข่าว สื่อมวลชนและผู้ติดตามข่าวคราวนี้ทั่วโลก และสิ่งที่เรียกว่าโปสเตอร์นั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่กระดาษที่ติดตามท้องถนน มันกลายเป็นงานศิลปะและเครื่องมือในการนัดหมาย ให้ข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันผ่านเทคโนโลยีและกระจายอยู่ในโซเชียลมีเดีย และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงในครั้งนี้
Symbolic Style
หลังจากสัญลักษณ์รูปร่มในช่วงแรก รูปแบบของโปสเตอร์ก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นตามสถานการณ์การรวมตัวประท้วงในแต่ละครั้ง ในด้านการสร้างสัญลักษณ์ผ่านโปสเตอร์การประท้วงนั้น เราจะเห็นว่ามีการนำเอารูปแบบของสิ่งของต่างๆ มาใช้เพื่อชูให้เป็นสัญลักษณ์การประท้วง อย่างเช่น หมวกสีเหลือง ที่กลายมาเป็นทั้งเครื่องป้องกันอันตรายและอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของฝูงชนในครั้งนี้ รวมไปถึง ‘ขวดน้ำ’ อันมาจากรูปแบบของการประท้วงที่เรียกว่า ‘Be Water’ หรือลื่นไหลดั่งสายน้ำ วลีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากไอคอนศิลปะการต่อสู้อย่าง บรูซ ลี ที่กล่าวถึงเปรียบเทียบการศิลปะการต่อสู้ของเขาว่าเป็นเหมือนความลื่นไหลและการปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ โดยรูปแบบนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการประท้วงในปี 2014 ที่ผู้ประท้วงมักจะปักหลักตั้งค่ายต่อต้านเจ้าหน้าที่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในเขตตัวเมืองฮ่องกงเท่านั้น
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือรูปของหญิงสาวมีผ้าคาดตาหรือปิดตาอยู่เกิดจากเหตุการณ์การประท้วงที่สนามบินโดยมีหญิงสาวคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ตาจากการควบคุมฝูงชนของตำรวจทำให้เธอกลายมาเป็นอีกหนึ่ง ‘สัญลักษณ์’ ในการต่อสู้ในรูปแบบภาพวาดที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร
Informative Poster
อย่างที่รู้กันว่าการประท้วงครั้งนี้ใช้การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการส่งผ่านข้อมูลต่างๆ แต่รูปแบบของข้อมูลนั้นหลากหลาย ครั้งมาในรูปแบบของโปสเตอร์ หรือการจัดวางข้อมูลในรูปแบบงานกราฟิก ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ หรือข้อมูลที่สำคัญอื่น อย่างการแต่งกาย การป้องกันตัว สิ่งของที่ควรพกติดตัวไปในระหว่างการประท้วง แคมเปญการประท้วง ประเด็นที่ต้องการสื่อสาร หรือแม้กระทั่งการส่งต่อเพื่อเชื่อมการสร้างกลุ่มก้อนระหว่างกัน เราจึงได้เห็นการจัดการข้อมูลเหล่านั้นในรูปแบบของโปสเตอร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ ‘ข้อมูล’ ระหว่างผู้ร่วมประท้วงด้วยกันมากกว่าจะเป็นการสื่อสารต่อบุคลภายนอก
Youth Movement
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตั้งแต่แรกเริ่มและถือเป็นเอกลักษณ์ เป็นตัวแปรสำคัญในการประท้วงครั้งนี้ก็คือ ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งการรวมตัวประท้วง การสร้างรูปแบบการประท้วง ฯลฯ ล้วนเริ่มต้นมาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ของฮ่องกง โดยไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘แกนนำ’ หรือ ‘ผู้นำ’ ซึ่งส่งผลถึงวิธีการสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และระบบที่ไม่ทิ้งรอยเท้าดิจิตัล
รวมไปถึงรูปแบบของโปสเตอร์ประท้วงที่บ่องบอกถึงเจเนอเรชั่นที่เป็นผู้เคลื่อนไหวหลักในการประท้วงครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี รูปแบบของโปสเตอร์จำนวนหนึ่งจึงนำเสนอผ่านรูปภาพทั้งภาพวาดและภาพถ่ายของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นหลัก ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คืออารมณ์การสื่อสารผ่านมูดแอนด์โทนของภาพที่สื่อไปถึงความอ่อนโยน ไร้ความรุนแรง ความหวัง ความสามัคคี และความกล้าหาญ โดยในภาพจะมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มาช่วยสร้างมูดแอนด์โทนนี้ ทั้งดอกไม้ การจับมือ ไฟฉาย เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา เพื่อสร้างภาพของการเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ไร้ซึ่งความรุนแรง
Togetherness
ด้วยความที่การชุมนุมครั้งนี้ไร้ซึ่ง ‘แกนนำ’ และ ‘ผู้นำ’ ภาพที่ออกมาผ่านโปสเตอร์จึงมักจะไม่ใช่ภาพ ‘คนจริงๆ’ ที่รู้ว่าเป็นใคร แต่เป็นภาพที่มาจากการวาดหรือใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมา และอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีผู้นำก็คือ ภาพโปสเตอร์ที่รวมกลุ่มคนอันหลากหลาย ฝูงชน การรวมตัวกัน นอกจากนั้นยังสามารถสื่อถึงความสมัครสมานสามัคคี เรียกร้องให้เกิดความเป็นหนึ่ง การรวมตัวรวมพลังกัน ดังเช่น โปสเตอร์ที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายอาชีพรวมกันชักกะเย่อเชือกกับมือขนาดใหญ่ หรือรูปท่อนแขนที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนมากมายในสังคม
Anime Style
อีกหนึ่งรูปแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวของการชุมนุมประท้วงครั้งนี้โดยมีกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นตัวตั้งตัวตีก็คือ โปสเตอร์ที่ใช้รูปแบบการ์ตูนมาใช้ในการเล่าเรื่องราวต่างๆ อันสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความชื่นชอบของเด็กรุ่นใหม่ที่หยิบเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ในการแสดงออก โปสเตอร์รูปการ์ตูนที่ใช้ส่วนมากมักจะเป็นสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นอันเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กเยาวชนในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นลายเส้น รูปแบบการวางหรือการวาด แม้แต่ตัวละครที่นำมาใช้ก็ตาม โดยโปสเตอร์ส่วนใหญ่มักจะเป็นการสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้น หรือเป็นโปสเตอร์ในเชิงแคมเปญการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์มากกว่าในเชิงข้อมูล โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นรูปการ์ตูนวัยเด็กและเยาวชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยอารมณ์สีหน้าท่าทางที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญและไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใด
Hollywood Heroes
เช่นเดียวกับสไตล์การหยิบเอาการ์ตูนญี่ปุ่นมาใช้ บางส่วนของโปสเตอร์ก็ได้หยิบเอาวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ของสังคม ซึ่งเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่รับรู้และเข้าใจร่วมกันไปทั่วโลกอย่างหนังฮอลลีวู้ดมาใช้ในการสร้างสรรค์โปสเตอร์เช่นเดียวกัน ทั้งการนำเอาโปสเตอร์หนังหรือตัวละครจากหนังเรื่องนั้นๆ มาดัดแปลง อย่างเช่น สตาร์วอร์ส แบตแมน อเวนเจอร์ส กัปตันอเมริกา หรือคิลบิลล์ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นตัวละครแนว ‘ฮีโร่’ หรือแม้กระทั่งการใช้รูปภาพ การวางตัวอักษร จัดองค์ประกอบของภาพ สีสัน ในรูปแบบของโปสเตอร์ภาพยนตร์ ที่สามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกได้อย่างมาก ทำหน้าที่เช่นเดียวกันกับโปสเตอร์ภาพยตร์เพื่อโน้มน้าวอารมณ์ความรู้สึกของคนดูให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งที่โปสเตอร์นั้นๆ นำเสนอ
The Villains
ในขณะที่การประท้วงครั้งนี้ไม่มีผู้นำ ภาพที่ออกมาผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงโปสเตอร์จึงไม่ใช่ภาพของตัวบุคคล แต่ตัวละครอันเป็นบุคคลสำคัญในเหตุแห่งการประท้วงนี้ยังอยู่จริง นั่นก็คือ นางแครี่ หลำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็น ‘ตัวร้าย’ ในฐานะผู้นำฮ่องกงที่ไม่ยอมฟังเสียงประชาชนชาวฮ่องกงแต่เลือกที่จะยอมตามฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า สะท้อนให้เห็นผ่านโปสเตอร์ที่นำรูปใบหน้าของเธอมาซ้อนทับกับหน้าของเสือ เพื่อสื่อถึงการเป็นคนสองหน้าที่ไม่อาจไว้ใจได้ หรือการนำใบหน้าของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มาใช่ในเชิงภาพวาดที่ให้ดูเป็นตัวร้ายน่าเกลียดน่ากลัว
Oldies Style
หลังจากการประท้วงที่ดำเนินมาได้สักพัก สิ่งหนึ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงได้เรียนรู้และปรับตัวก็คือ การประท้วงครั้งนี้ไม่สามารถจำกัดเฉพาะแค่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ แต่ชาวฮ่องกงนั้นต้องรวมไว้ซึ่งคนทุกเพศทุกวัย และหลังจากมีการประท้วงไปได้ไม่นานก็ปรากฏว่ามีผู้สูงอายุเข้าร่วมประท้วงมากมาย ซึ่งส่งผลถึงการสร้างโปสเตอร์เพื่อสื่อสารการประท้วงครั้งนี้อีกด้วย นอกจากการหยิบเอาสไตล์โปสเตอร์ทางการเมืองสมัยสงครามโลกมาใช้เพื่อเป็น ‘กิมมิค’ ในการสร้างสรรค์แล้ว เรายังได้เห็นการใช้ภาษาจีนกวางตุ้งเข้ามาใช้ในโปสเตอร์มากขึ้น รูปแบบของโปสเตอร์ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ภาษา หรือการให้ข้อมูล มากกว่าจะมุ่งเน้นในเชิงศิลปะ ลูกเล่น หรือวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว
Public Space
ต่อเนื่องจากประเด็นการเข้าร่วมประท้วงของกลุ่มผู้มีอายุนั้น นอกจากจะส่งผลถึงสไตล์การออกแบบโปสเตอร์แล้ว ยังส่งผลถึงวิธีการสื่อสารอีกด้วย เพราะใช่ว่าทุกคนจะสื่อสารผ่านเทคโนโลยีทั้งหมด ยังมีกลุ่มคนที่ต้องการข้อมูล การนัดหมาย หรือการติดตามการรณรงค์ผ่านทางสถานที่สาธารณะอีกด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของบรรดาโปสเตอร์ที่ติดตามที่สาธารณะต่างๆ งานกราฟิตี้ รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า Lennon Wall ที่เกิดขึ้นบริเวณทางเข้าสำนักงานรัฐบาล และในที่อื่นๆ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน อันเป็นเสมือนบอร์ดขนาดใหญ่ที่มีทั้งโปสเตอร์ ข้อมูลข่าวสารติดอยู่ และที่สำคัญก็คือบรรดาโพสต์อิทที่เต็มไปด้วยข้อความการเรียกร้อง สนับสนุนการประท้วง ให้กำลังใจ ฯลฯ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการประท้วงครั้งนี้
Sense of Humor
อีกหนึ่งรูปแบบของโปสเตอร์ในการประท้วงครั้งนี้ก็คือโปสเตอร์ที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์ที่ให้อารมณ์ขัน การเสียดสี ยั่วล้อ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งรูปแบบนี้เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียในปัจจุบันอยู่แล้ว และถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์โปสเตอร์ครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนำเอารูปสัญลักษณ์การใช้รถไฟฟ้าใต้ดินมาดัดแปลงสะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์การใช้กำลังกับผู้ชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในรถไฟฟ้าใต้ดินที่ผ่านมา การใช้สัญลักษณ์ของ FedEx โดยใช้คำว่า China แทนคำว่า Fed เพื่อสื่อถึงการออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในครั้งนี้ว่าเป็นคำสั่งที่ส่งมาจากจีน หรือการใช้รูปใบหน้าของแครี่ หลำ แทนใบหน้าของอูมา เธอร์แมน ในโปสเตอร์ Kill Bill
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/style/article/protest-art-hong-kong-intl-hnk/index.html
https://qz.com/quartzy/1673655/see-the-posters-and-comics-from-hong-kongs-protests/
https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/article/3024656/hong-kong-kota-kinabalu-when-it-took-cathay-pacific-nearly
Tags: ฮ่องกง, ศิลปะกับการเมือง, ประท้วง, ส่งผู้ร้ายข้ามแดน, ประท้วงฮ่องกง, โปสเตอร์ประท้วง