ผู้พิพากษาในฮ่องกงยกย่องมือมีดที่ไล่แทงผู้ประท้วงบาดเจ็บว่าเป็น ‘คนดี’ ที่ยอมรับผิด พร้อมกับเปรียบผู้เรียกร้องประชาธิปไตยว่าเป็นเสมือน ‘กองกำลังก่อการร้าย’ ท่าทีเช่นนี้สร้างความกังขาว่า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องพิพากษาคดีที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลตกเป็นจำเลย ศาลจะมีอคติหรือไม่

เมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) ผู้พิพากษาศาลแขวง กว็อกไหว่คิน ตัดสินให้ลงโทษจำคุกจำเลย โทนี่ ฮุงชุน วัย 51 เป็นเวลา 3 ปีกับ 9 เดือน ในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยเจตนา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมปีที่แล้ว

ท่านผู้พิพากษาแสดงความเห็นอกเห็นใจจำเลย ซึ่งมีอาชีพเป็นไกด์นำเที่ยว ที่ต้องตกงานเพราะการประท้วงยืดเยื้อ เป็นเหตุให้เขาก่อเหตุประทุษร้ายต่อผู้ประท้วงด้วยความโกรธแค้น

พร้อมกันนั้น ท่านพูดถึงฝ่ายผู้ประท้วงว่า แสดงพฤติกรรมสุดโต่ง เหมือนพวกกองกำลังพิทักษ์แดงในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน

ถ้อยคำของผู้พิพากษาท่านนี้ ทำให้ทนายความและนักวิชาการกฎหมายออกมาแสดงความวิตกว่า ถ้าคดีของผู้ประท้วงมาถึงศาล ท่านจะไต่สวนและลงโทษด้วยความเป็นกลางอย่างจริงแท้แน่หรือ

เจ็บแค้นเพราะตกงาน

เมื่อวันเกิดเหตุ มัคคุเทศก์ซึ่งเกิดในจีนแผ่นดินใหญ่ผู้นี้ เข้าไปในอุโมงค์คนเดินในย่านซุงควอนโอ ซึ่งผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงปักหลักใช้เป็นที่แสดงออก โดยเขียนกระดาษแปะบนผนัง ตั้งชื่อว่า “กำแพงเลนนอน”

กำแพงเลนนอน (REUTERS/Aly Song)

การประท้วงซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ทำให้นายฮุงขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวมาแล้วราว 2 เดือน ตอนออกจากที่พัก เขาพกมีดไปด้วย 2 เล่ม เมื่อไปถึงอุโมงค์ เขาเปิดฉากต่อว่าต่อขาน จากนั้นลงมือไล่แทงผู้คน

มีผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 2 คน นักข่าวหญิงได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน เนื่องจากแรงกระแทกจากใบมีดที่แทงเข้าข้างหลังทำให้ซี่โครงร้าวและปอดฟกช้ำ มีดเล่มที่ใช้ก่อเหตุเป็นมีดแล่เนื้อยาว 10 นิ้ว อัยการระบุว่า จำเลยยังพกมีดทำครัวยาว 11 นิ้วติดตัวไปอีกเล่มหนึ่งด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อเดือนธันวาคม พร้อมกับกล่าวขอโทษคนที่ถูกเขาทำร้าย และกล่าวขอโทษสังคม ข้อหา 3 กระทงของเขามีโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต แต่ในระดับศาลแขวง โทษจำคุกจำกัดสูงสุดไม่เกิน 7 ปี

ผู้พิพากษากว็อกตัดสินให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 3 ปีกับ 9 เดือน เนื่องจากยอมรับผิด

‘มืดมีด คือ เหยื่อ’

ในนัดพิพากษา ท่านกว็อกกล่าวถึงการตกงานของจำเลยอันเนื่องจากการประท้วง ว่า นายฮุงตกเป็น “ผู้เสียสละด้วยความจำยอม และเป็นเหยื่อผู้อาบชุ่มเลือดที่กำลังประคองลมหายใจเฮือกสุดท้ายของตนเอง”

ผู้พิพากษายังยกย่องนายฮุงด้วยว่า “แสดงให้เห็นความเป็นคนดี” ที่ได้เขียนหนังสือถึงศาล ขอให้ลงโทษตน เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของคนที่ถูกเขาทำร้าย

ในทางตรงกันข้าม ท่านเอ่ยถึงกลุ่มผู้ประท้วงที่ถือร่มออกมารวมตัวกันว่า เป็นเหมือน “กองกำลังก่อการร้าย” และบอกว่า การที่ผู้ประท้วงทำร้ายคนทั่วไปเมื่อรัฐบาลไม่ยอมตอบสนองข้อเรียกร้องนั้น เป็นการกระทำที่ “เหมือนผู้ก่อการร้ายทุกกระเบียดนิ้ว”

ท่านกว็อกกล่าวด้วยว่า พวกผู้ประท้วงพยายามจะเปลี่ยนแปลงฮ่องกงโดยประพฤติตนอย่างสุดโต่ง เยี่ยงเดียวกับพวกเรดการ์ด ในสมัยที่จีนแผ่นดินใหญ่รณรงค์ปฏิวัติวัฒนธรรม

“นับเป็นการย้อนแย้ง ที่พฤติกรรมอันอัปลักษณ์เช่นนี้ มาจากพวกที่อ้างตนว่า ใฝ่หาประชาธิปไตย”

‘การเมืองร้อน ศาลควรสำรวม’

ท่าทีดังกล่าวจุดกระแสการถกเถียงทางหน้าสื่อ ทนายความด้านคดีอาญา สตีเฟน ฮุง หวั่นชุน บอกว่า ผู้พิพากษากว็อกพูดในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพูด อย่างไรก็ดี ท่านกำหนดโทษจำเลยอย่างได้สัดส่วนกับความผิด

อดีตอธิบดีกรมอัยการ เกรนวิล ครอส บอกว่า ผู้พิพากษามีสิทธิที่จะประเมินสถานการณ์ เพื่อทำความเข้าใจรูปคดีที่จะต้องตัดสินลงโทษ ถึงแม้ท่านได้แสดงความเห็นอกเห็นใจจำเลย แต่ท่านลดโทษจำคุกเหลือ 3 ปีกับ 9 เดือนเพราะจำเลยรับสารภาพ

อย่างไรก็ตาม ทนายความด้านคดีอาญา ลอว์เรนซ์ ลก หยิงกัม ให้ความเห็นว่า ผู้พิพากษาไม่ควรพูดอะไรที่จะถูกมองว่าฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นี่เป็นคำพูดที่ไม่ฉลาด

อดีตประธานสภาทนายความ ออเดรย์ หยู อิตหมี่ บอกว่า ท่านผู้พิพากษาอาจไม่ได้ยึดมั่นในหลักความเป็นกลางทางการเมือง “ชายคนหนึ่งทำร้ายคนอื่นบาดเจ็บปางตาย แล้วผู้พิพากษามาพูดว่า แรงจูงใจของเขาน่าสรรเสริญ ท่านไม่เป็นกลางทางการเมือง แต่คำนึงถึงจุดยืนทางการเมืองของเขา”

“ถ้ารายงานข่าวของสื่อมวลชนไม่ได้คลาดเคลื่อน กรณีนี้จะส่งผลต่อความเคารพที่มีต่อองค์กรตุลาการและความเป็นอิสระของตุลาการอย่างแน่นอน”

นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย โจชัว หว่อง บอกว่า กำลังคิดที่จะร้องเรียนผู้พิพากษาท่านนี้ เนื่องจากมองว่าท่านได้แสดงความเห็นทางการเมือง ขณะเดียวกัน เกิดกระแสทางโซเชียลมีเดีย ชักชวนกันให้ยื่นเรื่องร้องเรียนท่านกว็อก

นักกฎหมาย ไซมอน ยัง แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง บอกว่า คู่มือแนวปฏิบัติของตุลาการไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ผู้พิพากษาจะแสดงทัศนะของตนในศาลโดยไม่จำเป็นได้หรือไม่ แต่โดยหลักการทั่วไปแล้ว หลักความเป็นอิสระและหลักความเป็นกลางไม่สนับสนุนให้ทำเช่นนั้น

“การแสดงความเห็นโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดประเด็นว่า ผู้พิพากษาจะใช้อคติหรือไม่เมื่อมีคดีมาถึงศาลในอนาคต สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น เมื่อคำนึงถึงบรรยากาศทางการเมืองในเวลานี้ ผู้พิพากษาอาจจำเป็นต้องสำรวมวาจาให้มากขึ้นสักหน่อย”

ทางด้านองค์กรตุลาการของฮ่องกง ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น โดยบอกว่า คดียังไม่ถึงที่สุด.

อ้างอิง:

South China Morning Post, 24 April 2020

South China Morning Post, 25 April 2020

BBC News, 26 April 2020

ภาพปก: REUTERS/Tyrone Siu

 

Tags: , ,