การมองหาบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ที่มีคนตายแบบผิดธรรมชาติ กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของการเลือกที่พักอาศัยในฮ่องกง ที่พักที่มีคนฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรม อาจทำให้ได้รับส่วนลดมากถึง 20-50 เปอร์เซ็นต์

ฮ่องกงเป็นเมืองที่ที่อยู่อาศัยแพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาของอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากการสำรวจโดย UBS ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้พบว่า ราคาที่อยู่อาศัยของฮ่องกงแพงเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยนิวยอร์ก ปารีส ดูไบ และลอนดอน

ราคาต่อตารางเมตรของบ้านขนาดกลางพุ่งสูงกว่า 200,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 25,500 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบแล้วสูงกว่ารายได้เฉลี่ยตลอดทั้งปีของคนฮ่องกงถึง 19 เท่า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงกำลังอยู่ในภาวะฟองสบู่ ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นถึงสามเท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน

ฮ่องกงเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนที่ดินและที่อยู่อาศัยมาต่อเนื่องยาวนาน ปัจจุบัน ฮ่องกงมีประชากรราว 7.43 ล้านคน แต่มีพี้นที่ขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของโตเกียว สัดส่วนประชากรต่อพื้นที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในโลกอยู่ที่ราว 7,000 คน ต่อ 1 ตร.กม. ขณะที่มีคนยากจนคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์หรือราว 1.48 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีใครจ้างทำงานประจำ บ้างเป็นคนเร่ร่อนตามข้างถนน บางคนพึ่งเงินสงเคราะห์รายเดือนจำนวนเล็กน้อยจากรัฐ บางคนถูกจ้างให้ทำงานทั่วไปเป็นครั้งคราว เช่น ทำความสะอาด ล้างจาน หรือเป็นแรงงานยกของ

ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงลิบ ทำให้คนยากจนกว่า 2 แสนคน ตกอยู่ในสภาพไม่มีทางเลือก ต้องอาศัยอยู่ในที่พักราคาถูกที่แออัด สภาพย่ำแย่ และไม่ถูกสุขลักษณะ ผู้สูงอายุจำนวนมากเช่าอาศัยอยู่ใน ‘Coffin home’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายโลงศพ เป็นการนำห้องพักมาดัดแปลงแบบผิดกฎหมาย โดยการซอยย่อยทำเป็นที่นอนสองชั้น กั้นด้วยผนังเบาเป็นสัดส่วน วางเรียงยาวขนานกันสองฝั่งแบบที่นอนในรถไฟตู้นอน ผู้เช่าสามารถเลือกได้ว่าจะเช่าอยู่เตียงชั้นบนหรือชั้นล่าง แต่ละคนมีพื้นที่ราวที่นอนขนาด 3 ฟุตครึ่งสำหรับอยู่อาศัยและเก็บข้าวของสัมภาระ เมื่อเข้าไปอยู่ใน coffin home จะทำได้เฉพาะนั่งและนอนเท่านั้นเนื่องจากถูกจำกัดความสูงไว้ด้วยเพดาน

นอกจากนี้ ยังมีที่พักราคาถูกในลักษณะแบบเดียวกันเรียกว่า ‘Cage home’ ซึ่งกั้นแบ่งพื้นที่ของผู้เช่าแต่ละรายด้วยตะแกรงเหล็กปิดล้อมรอบคล้ายกรงขังสุนัข โดยมีห้องน้ำกับครัวที่คับแคบอย่างละหนึ่งห้องให้ใช้ร่วมกัน มีหน้าต่างระบายอากาศบานเล็กหนึ่งบาน ต่อจำนวนผู้เช่า 15 ถึง 30 คน

ไม่เพียงแต่คนยากจนเท่านั้นที่อยู่อย่างยากลำบาก คนชั้นกลางรุ่นใหม่ของฮ่องกงก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากราคาที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน สารคดีความยาว 50 นาทีเศษ ‘Insight: Hong Kong’s Next Emigration Wave’ ผลิตโดย Channel NewsAsia ของสิงคโปร์ ออกเผยแพร่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เผยว่า คนรุ่นใหม่ของฮ่องกงรู้สึกทนทุกข์และสิ้นหวังกับแผ่นดินเกิด พวกเขามองไม่เห็นอนาคตที่ดีในการใช้ชีวิตที่ฮ่องกง บางรายบอกว่าฮ่องกงไม่ได้กำลังจะตายแต่มันได้ตายไปนานแล้ว มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยต้องการอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศอื่นเพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า

“มันเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะมีบ้านสักหลังหนึ่งในฮ่องกง แม้แต่การเป็นเจ้าของห้องเล็กๆ สักห้องก็ยังเป็นภาระที่หนักมาก” ยูกิ หนึ่งในคนรุ่นใหม่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Channel NewsAsia อย่างสิ้นหวัง เธอและสามีมีรายได้ต่อเดือนราว 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ขณะที่ราคาของอพาร์ตเมนต์สูงทะลุ 5 ล้านเหรียญ ทั้งคู่เตรียมพร้อมที่จะทิ้งฮ่องกงไว้เบื้องหลัง และอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศออสเตรเลีย สารคดีบอกว่าการอพยพของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงครั้งนี้ ถือเป็นการอพยพใหญ่ระลอกสอง นับจากการอพยพใหญ่ระลอกแรกที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1997 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ราคาที่อยู่อาศัยของฮ่องกงซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของคนในระดับครอบครัว คนรุ่นใหม่ของฮ่องกงต้องยืดระยะเวลาการอยู่ร่วมกับพ่อแม่ให้ยาวนานขึ้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ถึงแม้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยและมีงานทำแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหารายได้ได้มากพอจะแยกออกไปเช่าห้องพักอยู่เอง หรือไม่มีเงินมากพอที่จะซื้ออพาร์ตเมนต์เป็นของตัวเอง

ราคาที่อยู่อาศัยยังส่งผลต่อการตัดสินใจไม่แต่งงาน หรือปฏิเสธการมีลูก ด้วยเหตุผลว่าคู่สมรสจะไม่สามารถหาเงินได้มากพอจะเช่าที่พักหรือซื้อที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่พอรองรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจขององค์กรเอกชนที่พบว่า 53 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงฮ่องกงที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี ปฏิเสธการมีลูก โดยเหตุผลอันดับ 1 คือเรื่องของราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นแบบฉับพลัน

ขณะที่สถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยกำลังบีบคั้นผู้คนอย่างมาก นักวิเคราะห์อสังหาริมทรัพย์คาดว่า ในปีนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 8-17 เปอร์เซ็นต์

ในท่ามกลางความสิ้นหวัง ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงประกาศมาตรการจัดเก็บภาษีสำหรับบ้านใหม่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย และจะปรับลดราคาบ้านการเคหะซึ่งเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับผู้มีรายได้น้อย แต่ก็มีคำถามตามมาว่า มาตรการทางภาษีดังกล่าวจะช่วยชะลอราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งทะยาน และจะทำให้คนทั่วไปสามารถซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยได้จริงหรือไม่ เนื่องจากมาตรการนี้ไม่ครอบคลุมไปถึงบ้านมือสอง ขณะเดียวกันอัตราที่พักอาศัยที่ว่างเปล่าของฮ่องกงก็ต่ำมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นอกจากนั้น รัฐบาลฮ่องกงยังมีรายรับ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมทั้งหมดมาจากการซื้อขายที่อยู่อาศัยในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลจะปกป้องแหล่งรายได้ของตัวเองโดยจะไม่ยอมให้ราคาของอสังหาริมทรัพย์ลดต่ำลง

อลัน จิน หัวหน้าแผนกวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ของ Mizuho Securities Asia บอกว่า ภาษีใหม่นี้จะมีผลเล็กน้อยมากต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกง และเสนอว่า รัฐบาลควรจัดหาที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนในระยะยาว

ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ทะยานสูงเสียดฟ้า จนทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่สำหรับคนจำนวนมาก แต่ก็ทำให้คนส่วนหนึ่งมองเห็นประโยชน์ในมุมกลับของความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณเฮี้ยนและการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านหรือที่พัก ซึ่งตามคติของชาวจีนถือเป็นเรื่องอัปมงคล และเชื่อว่าดวงวิญญาณของคนที่ถูกฆ่าจะโศกเศร้าและคอยวนเวียนหลอกหลอนผู้คนที่มารุกล้ำพื้นที่ ส่งผลทำให้ราคาขายหรือค่าเช่าของที่พักทั้งชั้นหรือทั้งตึกลดต่ำลง

Ng Goon-Lau ซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีคนฆ่าตัวตายหรือเกิดเหตุฆาตกรรม เขาได้รับฉายา ‘ราชาแฟลตผีสิง’ จากการซื้ออพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กที่มีคนฆ่าตัวตายมาแล้วสองราย ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และซื้อบ้านบางหลังได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เขาบอกว่าที่พักที่มีคนตายจะทำให้ได้รับส่วนลดก้อนโต

“คนที่กระโดดตึกฆ่าตัวตาย ราคาจะลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการฆาตกรรม ราคาอาจลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์”

อาซิฟ กาฟอร์ ซีอีโอของแอปพลิเคชันค้นหาบ้านพักในฮ่องกงบอกว่า คนต่างชาติหรือคนจีนรุ่นใหม่ๆ ไม่เชื่อเรื่องผี และไม่สนใจเรื่องที่มีคนตายในที่พัก พวกเขาจะไม่รู้สึกเดือดร้อนหากมีผีออกมาเพ่นพ่านอยู่ตรงโถงทางเดิน อาซิฟบอกว่าเรื่องผีจะเป็นเงื่อนไขที่ดีในการใช้ต่อรองเพื่อขอส่วนลดราคาที่พัก

เช่นเดียวกับ เบลินดา ออสติน ชาวออสเตรเลีย ซึ่งอาศัยอยู่ที่อพาร์ตเมนต์หรูหราแห่งหนึ่งในฮ่องกง เธอบอกว่าตึกที่เธออยู่นั้นเคยมีการฆาตกรรมเกิดขึ้น 2 ครั้งในปี 2014 มีผู้หญิงถูกฆ่าตายสองคน เธอบอกว่า หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรม เธอนำเรื่องนี้มาใช้ต่อรองในการต่อสัญญาเช่าฉบับใหม่ จนได้รับส่วนลดค่าเช่ามากถึง 15 เปอร์เซ็นต์

การพักอาศัยในบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ที่เคยมีคนฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าตาย กลายเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากในฮ่องกงยุคปัจจุบันกำลังมองหาและยอมรับได้ เมื่อเทียบกับส่วนลดก้อนโตสำหรับค่าเช่าหรือราคาของที่พักอาศัยที่จะลดลงอย่างมาก หากไม่มีแผนการอพยพไปตั้งรกรากในประเทศอื่น การอาศัยอยู่ร่วมกับวิญญาณเฮี้ยนอาจเป็นทางเลือกอันน้อยนิดที่จำเป็น สำหรับการชีวิตในฮ่องกงที่ต้องเผชิญแรงบีบคั้นจากค่าครองชีพและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทะยานสูงเสียดฟ้า

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,