วันนี้ (19 เม.ย.2562) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ร่วมด้วยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ตั้งแถวบริเวณด้านหน้าพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อเชิญคนโทน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จำนวน 86 ใบ เพื่อไปเก็บรักษาในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเตรียมความพร้อมในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โดยเคลื่อนขบวนไปตามถนนดินสอ เข้าสู่ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินใน ขบวนประกอบด้วย วงดุริยางค์กองทัพเรือ กองทัพอากาศ คณะนักเรียนนายร้อยตำรวจเชิญธงชาติ 68 นาย และธงตราสัญลักษณ์ 68 นาย เมื่อขบวนตรงไปยังประตูสวัสดิโสภา บริเวณกำแพงพระบรมมหาราชวัง ได้ทำการถวายเครื่องสักการะ หน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนตั้งแถวบริเวณด้านหน้าปราสาทพระเทพบิดร เพื่อให้รัฐมนตรีและผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เชิญคนโทน้ำอภิเษกไปวางในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเก็บรักษาไว้ เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคมนี้
น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ โดยในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระสำคัญ 4 สระในแขวงเมืองสุพรรณบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก 5 สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา”
ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำ 5 สายในประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ปัญจมหานที” ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2454
เพิ่มน้ำที่ตักจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ ที่ตามมณฑลต่างๆ ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล โดยทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานสำคัญ 7 แห่ง และวัดสำคัญในมณฑลต่างๆ 10 มณฑล ในรัชกาลที่ 7 ทำพิธีเสกน้ำเพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ 6 อีกแห่งหนึ่ง คือที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 9 ทำพิธีเสกน้ำ 18 แห่งเท่าสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม 2 แห่ง คือเปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์และพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เป็นบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
และสำหรับน้ำอภิเษกและคนโทน้ำสรงพระมุรธาภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ในครั้งนี้ มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 107 แหล่งน้ำในวันที่ 6 เมษายน และอีกหนึ่งแหล่งน้ำในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวังไปแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายน ทั้งหมดรวม 108 แหล่งน้ำ
*หมายเหตุ
น้ำสรงพระมุรธาภิเษก คือสรงตั้งแต่พระเศียรลงมา ส่วนน้ำอภิเษก สรงเฉพาะพระวรกาย
อ้างอิง
https://news.thaipbs.or.th/content/279368
https://www.thairath.co.th/content/1547676
https://www.silpa-mag.com/history/article_31400
https://www.prachachat.net/พระราชพิธีบรมราชาภิเษก/news-302639
PHOTOGRAHER: Athit Perawongmetha/ REUTERS
Tags: พระราชพิธี, รัชกาลที่ 10, สถาบันกษัตริย์, บรมราชาภิเษก