https://soundcloud.com/themomentumco/the-momentum-hollywood-insider-ep021-5-5

 

อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งในการทำภาพยนตร์สักเรื่องนั้นก็คืองานด้านภาพ กว่าจะมาเป็นภาพเคลื่อนไหวบนหน้าจอที่เราได้เห็นกัน แต่ละเฟรมนั้นมีเบื้องหลังที่ถูกคิดมาอย่างดี วันนี้เราจะมาเล่าถึงซีนคัดสรรของหนัง 5 เรื่องที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมในปีนี้ โดยผู้กำกับภาพของหนังเรื่องนั้นๆ กัน

 

Moonlight

กำกับภาพ: James Laxton

เรื่องนี้มีเกร็ดอยู่ว่าผู้กำกับหนังเรื่องนี้โตมากับหนัง หว่อง กาไว ทำให้ได้อิทธิพลและแรงบันดาลใจมามาก ซึ่งฉากที่ แลกซ์ตัน เลือกขึ้นมาก็คือฉากที่ตัวละครกลับมากินอาหารด้วยกันในร้านอาหาร ซึ่งเค้าบอกว่ามันมีความกดดันอยู่ในฉากนั้น และมีความสงสัยว่าพวกเค้ายังเป็นคนเดิมอยู่รึเปล่า ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พยายามแสดงผ่านเทคนิคต่างๆ ของงานภาพ ทั้งการใช้การถ่ายภาพแบบแฮนด์เฮลด์และเลนส์เทเลโฟโต้เพื่อเน้นไปที่การแสดงสีหน้า ซึ่งเราจะเห็นการกระตุกและขยับใบหน้าที่ซ่อนความรู้สึกไว้

Silence

กำกับภาพ: Rodrigo Prieto

หนังที่ใช้เวลา 28 ปีในการสร้าง ฉากที่ผู้กำกับภาพเรื่องนี้เลือกมาคือฉากตรึงกางเขนบนโขดหินที่ท้าทายการถ่ายทำ ซึ่ง มาร์ติน สกอร์เซซี ได้บอกว่าฉากนี้สำคัญมาก อยากให้กางเขนตั้งอยู่ในจุดที่คลื่นกระทบฝั่งเข้าไปกระแทกชาวบ้านเพื่อแสดงพลังที่สุดขั้ว ซึ่งสถานที่ถ่ายทำนั้นก็คือแทงก์น้ำที่เดียวกันกับที่ใช้ถ่าย Life of Pi นั่นเอง

Arrival

กำกับภาพ: Bradford Young

เป็นหนังที่สามารถแคปเป็นวอลล์เปเปอร์หน้าจอได้แทบทุกช็อต ซึ่ง ยัง ได้บอกไว้ว่าเค้าตั้งใจจะแสดงความพิศวงมืดมนอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ความมืดที่มองไม่เห็นแต่เป็นความมืดทางพยาธิวิทยา หนึ่งสีที่โดดเด่นจากเรื่องนี้ก็คือสีส้มที่โดดเด่นออกมา ซึ่งทำให้กลายเป็นซีนจำและโดดเด่นขึ้นมา หนังเรื่องนี้ถูกถ่ายทำโดยกล้อง Arri Alexa และใช้เลนส์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเรื่อยๆ แม้จะเป็นฉากเดียวกัน เพราะนอกจากเลนส์แต่ละตัวจะมีคาแรกเตอร์ต่างกันไปแล้ว ยังช่วยสร้างความไม่สมบูรณ์และความเป็นธรรมชาติให้กับตัวหนังอีกด้วย

La La Land

กำกับภาพ: Linus Sandgren

เป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้การถ่ายทำแบบลองเทคบ้าพลังตั้งแต่ต้นเรื่อง และมีการถ่ายภาพที่สวยงามตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งฉากที่ แซนด์เกร็น พูดถึงนั้นคือฉากที่ ไรอัน กอสลิง ร้องเพลง City of Star ลองเทค 2 นาทีบนท่าเรือ กว่าจะได้ฉากนี้มาก็ไม่ใช่ง่ายเพราะต้องออกไปเตรียมและซ้อมกันตั้งแต่ตอนหกโมงเย็น และถ่ายฉากนี้ตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึงหนึ่งทุ่มห้าสิบนาทีไปทั้งหมดสิบห้ารอบโดยไม่พักเลย นอกจากนี้ยังมีการแต่งท่าเรือด้วยแสงสีเขียวเพื่อทำให้เกลี่ยสีผิวได้ง่าย ก่อนจะเพิ่มแสงม่วงชมพูเข้าไป นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทำแบบ 360 องศาโดยมีทีมงานหลังกล้องอยู่ 7 คนที่ต้องคอยหลบไม่ให้เงาตกลงในเฟรมและไม่รบกวนนักแสดง

Lion

กำกับภาพ: Greig Fraser

ผู้กำกับภาพจาก Rogue One ฉากที่พูดถึงนั้นคือฉากสุดท้ายของหนังที่พระเอกกลับไปเจอแม่ตัวเองในชุมชนที่แม่ตัวเองอาศัยอยู่ โดยฉากนี้ เฟรเซอร์ เลือกที่จะใช้การถ่ายแบบแฮนด์เฮลด์เพราะอยากให้ดูเหมือนสารคดี เกิดปฏิกิริยาฉับพลันต่อตัวละครรอบๆ ซึ่งดูน่าสนใจ ดูสมจริง และคนดูจะได้เข้าใจความรู้สึกเดียวกับตัวละครที่ว่าเค้าได้กลับมายังบ้านเกิดแล้วหลังจากห่างหายไปกว่ายี่สิบปี

—————————————————————–

ข้อเขียนบทความต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของพอดแคสต์ ที่สรุปใจความสำคัญโดยย่อ ตลอดจนรายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น link ของสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือที่ถูกพูดถึงในรายการ เพื่อให้ผู้สนใจได้ตามไปอ่านหรือดูเพิ่มเติม กรุณาคลิก ที่นี่เพื่อติดตามฟังรายการเต็มๆ

Tags: , , , , , , ,