ยังอยู่กับบรรยากาศก่อนงานเทศกาลออสการ์ ที่คราวนี้จะมาว่ากันด้วยเรื่องของความวุ่นวายอีกครั้งในปีนี้ กับแฮชแท็ก #OscarsSoMale ที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมปีนี้ผู้เข้าชิงรางวัลนั้นถึงมีแต่ผู้ชาย! จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ออสการ์ปีนี้กีดกันทางเพศจริงรึเปล่า ลองหาคำตอบกันได้ใน Hollywood Insider

จาก #OscarsSoWhite สู่ #OscarsSoMale

00.49

จากที่เคยคุยกันในรายการหลายตอนก่อน ว่าออสการ์ปีนี้พยายามที่จะปรับตัวมากขึ้นหลังจากที่ถูกตราหน้าด้วยแฮชแท็ก #OscarsSoWhite หรืองานออสการ์นั้นเป็นงานของคนขาวเท่านั้นเมื่อปีที่แล้ว ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของคณะกรรมการเข้ามา ทั้งเชื้อชาติ สีผิว และเพศ แต่ปีนี้ออสการ์ก็ยังโดนโจมตีอยู่ดีด้วยแฮชแท็ก #OscarsSoMale ที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศผลผู้เข้าชิงและมีคนพบว่าปีนี้มีผู้เข้าชิงรางวัลที่เป็นผู้หญิงน้อยเหลือเกิน

จากข้อมูลที่วิเคราะห์กันมา เค้าบอกว่าปีนี้ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมไม่มีคนที่เป็นผู้หญิงเข้าชิงเลย ทั้งที่ปีนี้มีหนังเรื่อง Queen of Katwe ที่มี Mira Nair ผู้กำกับหญิงชาวอินเดียที่น่าจะเป็นตัวเต็งแต่ก็ไม่ได้เข้าชิง นอกจากนั้นรางวัลอื่นๆ ก็ยังดูน้อยเกินไป ทั้งนักเขียนบท หรือการกำกับภาพ ซึ่งเมื่อมองภาพรวมเราจะพบว่ารางวัลออสการ์นี้มีผู้หญิงที่เข้าชิงรางวัลทั้งหมดเพียง 20 เปอร์เซนต์ของผู้เข้าชิงทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งรางวัลที่มีผู้หญิงเข้าชิงมากที่สุดกลับกลายเป็นสาขาสารคดีสั้นยอดเยี่ยมที่มีเปอร์เซนต์การเข้าชิงถึง 50 เปอร์เซนต์

แล้วมันมีแต่ผู้ชายจริงมั้ย

07.15

นักวิเคราะห์บางส่วนก็ออกมาบอกว่าคงไม่ถูกนักหากจะบอกว่าสัดส่วนของผู้หญิงไม่เพิ่มขึ้นเลย เพราะจริงๆ แล้วหนังที่เข้าชิงในปีนี้ก็มีสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานเบื้องหลังไม่น้อย และมีบทบาทสำคัญด้วยคือการเป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังหลายๆ เรื่อง ถือเป็นคนที่ผลักดันโปรเจ็กต์ให้ลุล่วง

ต้นเหตุของความเป็นชาย

10.53

จักรพันธุ์มองว่ารางวัลออสการ์นั้นเป็นแค่ปลายทาง ถ้าจะถามว่าเพราะอะไรออสการ์ถึงมีแต่ผู้เข้าชิงชายก็คงต้องย้อนไปดูถึงอุตสาหกรรมฮอลลีวูดว่าเค้าทำอะไรกันอยู่ ซึ่งหากดูทางตัวเลขของหนัง Box Office 250 เรื่องของปีนี้จะพบว่ามีเพียง 7 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เป็นผู้กำกับหญิง ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนซะอีก มีเพียง 13 เปอร์เซนต์ที่ผู้หญิงเขียนบท 17 เปอร์เซนต์ที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง 24 เปอร์เซนต์เป็นโปรดิวเซอร์ 17 เปอร์เซนต์เป้นคนตัดต่อ และเป็นผู้กำกับภาพเพียง 5 เปอร์เซนต์เท่านั้น จักรพันธุ์แสดงความคิดเห้นว่าสัดส่วนที่มากที่สุด 24 เปอร์เซนต์ที่เป็นโปรดิวเซอร์นั้นอาจจะสื่อถึงเนื้องานของตำแหน่งนี้ที่ต้องการความเรียบร้อยและต้องใช้สกิลจัดการสูง ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้หญิงมักจะทำได้ดี แต่กับบางตำแหน่งนั้นอาจจะเป็นงานที่ไม่เหมาะกับสกิลและสรีระบางอย่างของผู้หญิงก็ได้

หรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์จะเป็นอุตสาหกรรมของผู้ชาย

16.24

นครินทร์ตั้งข้อสังเกตว่าหากเราลองมองดูภาพกว้างของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในโลก ก็จะพบว่าอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทมักจะเป็นของผู้ชายเสมอ ไม่ว่าจะอุตสาหกรรมสื่ออย่างเป็นโทรทัศน์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือจะเป็นอุตสาหกรรมอื่นอย่างไอที หรือเลยไปถึงการเมืองก็ยังเป็นผู้ชายซะส่วนใหญ่ ทำให้คิดว่าเรื่องเหล่านี้อาจไม่ใช่แค่ปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรม แต่เป็นปัญหาทางโครงสร้างสังคมที่เป็นมานานแล้วก็ได้

ผู้หญิงในอุตสาหกรรมหนังไทย

19.20

หากกลับมามองสัดส่วนของผู้หญิงในวงการภาพยนตร์ไทยก็จะพบว่าไม่ได้ต่างจากออลลีวูดมากนัก ผู้กำกับหญิงจริงๆ ก็มีไม่กี่คน ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละคร ที่เห็นว่ามีสัดส่วนเยอะหน่อยก็จะเป็นด้านของผู้จัดหรือโปรดิวเซอร์ ที่ไม่ต่างอะไรกับทางฮอลลีวูด

—————————————————————–

ข้อเขียนบทความข้างต้น เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของพอดแคสต์ ที่สรุปใจความสำคัญโดยย่อ ตลอดจนรายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น link ของสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือที่ถูกพูดถึงในรายการ เพื่อให้ผู้สนใจได้ตามไปอ่านหรือดูเพิ่มเติม กรุณาคลิกที่นี่เพื่อติดตามฟังรายการเต็มๆ

 

Tags: , , , ,