อยู่ภายในใจเป็นหมื่นล้านคำ บอกให้เธอฟังไม่ได้สักคำ
เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกแบบนี้บ่อยเป็นพิเศษในสภาวะสังคมที่แลดูจะมีความกลัวแผ่ปกคลุมอยู่เช่นนี้ คืออัดอั้นอยากระบายความคับข้องใจหรือออกความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพและเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ตั้งแต่คุณภาพชีวิตไปจนถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่กล้าปริปากเอื้อนเอ่ยออกมา เพราะเกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย ถูกตีขลุมตราหน้าว่าเป็นคนชังชาติ หรือถึงขนาดถูกกลั่นแกล้งจนติดคุกติดตาราง
ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนและศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพูดไม่ได้ ทั้งที่ถูกห้ามไม่ให้พูด เลือกที่จะไม่พูด และอึ้งจนพูดไม่ออก
Elephant in the room
เรื่องบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นเหมือนๆ กันหมด แต่ไม่มีใครพูดอะไร ต่างฝ่ายต่างทำเป็นมองไม่เห็นทั้งที่เห็นกันอยู่ตำตา เพราะไม่อยากจะกวนน้ำให้ขุ่นหรือสร้างความบาดหมาง ในกรณีแบบนี้ ภาษาอังกฤษจะใช้สำนวนว่า elephant in the room หรือ ช้างในห้อง คือเปรียบเทียบประเด็นร้อนที่ทุกคนต่างไม่พูดถึงเป็นเหมือนช้างตัวเบ้อเร่อที่ไม่มีทางที่คนในห้องจะมองไม่เห็นแต่ไม่มีใครเอ่ยถึง ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนกลับมารวมตัวกันในงานเลี้ยงรุ่นแล้วปรากฏว่ามีเพื่อนคนหนึ่งไปทำจมูกมา แต่ไม่มีใครเอ่ยอะไรเพราะไม่รู้ว่าควรจะทักไหม กลัวเดี๋ยวเจ้าตัวจะเขิน ก็เลยทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า No one talked about the elephant in the room, which was her nose job.
Gag
คำว่า gag โดยปกติแล้วมักใช้เป็นคำกริยา หมายถึง ใช้สิ่งของอุดปากเพื่อให้ส่งเสียงไม่ได้ (เช่น bound and gagged ก็คือ ถูกมัดและอุดปาก) หรือหากใช้เป็นคำนาม ก็จะหมายถึงสิ่งที่นำมาอุดปากเพื่อไม่ให้ส่งเสียงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำนี้ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่มีคนถูกอุดปากจริงๆ แต่นำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยได้เพื่อพูดถึงการปิดกั้นไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือพูดถึงสิ่งสิ่งหนึ่ง เช่น The government is trying to gag the press. ก็จะหมายถึง รัฐบาลพยายามปิดปากสื่อไม่ให้รายงานข่าว ในกรณีนี้ความหมายจะคล้ายคำว่า silence หรือ muzzle (ปกติหมายถึงตะกร้อรัดปากหมา) หรือหากจะเขียนเป็นคำนามก็คือ a press gag
คำว่า gag นี้ยังไปปรากฏอยู่ในคำว่า gag order ด้วย (ฝั่งอังกฤษเรียก gagging order) หมายถึง คำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูล โดยปกติแล้วจะใช้กับคำสั่งที่ศาลเป็นผู้ออก โดยจะออกคำสั่งลักษณะนี้ในกรณีที่คดีเกี่ยวข้องกับความลับทางการค้าหรือปฏิบัติการลับของตำรวจหรือทหารเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลออกไปและเกิดความเสียหาย ถ้ามีผู้ที่ได้รับคำสั่งห้ามไม่ให้เปิดเผยข้อมูล เราก็อาจจะพูดว่า They were slapped with a gag order.
แต่หากเป็นข้อความในสัญญาที่ระบุไม่ให้ลูกจ้างนำข้อมูลออกไปแพร่งพรายหรือเปิดเผยแก่บุคคลที่สาม แบบนี้ก็มักจะเรียกว่า gag clause (ฝั่งอังกฤษเรียก gagging clause) เช่น ถ้าเจ้าของร้านก๋วยจั๊บเก่าแก่กลัวสูตรลับอายุ 50 ปีจะรั่วไหล ก็อาจจะระบุในสัญญาว่าจ้างว่าห้ามนำรายการวัตถุดิบลับไปบอกใคร หรือหากบริษัทกลัวว่าพนักงานจะ นำความฟอนเฟะภายในบริษัทไปแพร่งพรายจนบริษัทเสียชื่อเมื่อถูกไล่ออก ก็อาจจะใส่ gag clause ในสัญญาว่าจ้าง (ส่วนสัญญาที่ร่างขึ้นมาเพื่อห้ามไม่ให้ผู้ที่เซ็นเปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะเรียกว่า non-disclosure agreement หรือ confidentiality agreement)
Hold my tongue
Hold ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า จับหรือถือ แต่หมายถึง หยุด ระงับ ส่วน tongue หรือลิ้นก็เป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดการจา ดังนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึงการยับยั้งชั่งใจไม่พูดสิ่งที่อยากพูดออกไป อาจเพราะกลัวว่าจะส่งผลเสียกับตนเองหรือเพราะกลัวว่าจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนก็ได้ แปลแบบไทยๆ ได้ว่า ยั้งปาก เช่น I wanted to tell her so bad that her boyfriend was cheating on her, but I decided to hold my tongue. แบบนี้ก็จะแปลว่า คันปากอยากบอกมันมากว่าแฟนมันนอกใจมัน แต่ตัดสินใจยั้งปากไม่พูดออกไป
อีกสำนวนหนึ่งที่ใกล้เคียงกันก็คือ bite my tongue ซึ่งหากแปลตรงตัวว่ากัดลิ้นอาจจะเข้าใจว่าพยายามกัดลิ้นฆ่าตัวตายแบบในหนังจีน แต่อันที่จริงแล้วหมายถึงต้องกัดลิ้นเพื่อไม่ให้หลุดปากพูดบางสิ่งบางอย่างออกไป เช่น When he told the crowd that it was him who initiated the project, I bit my tongue. หมายถึง ตอนเขาประกาศต่อธารกำนัลว่าตนเป็นคนริเริ่มโครงการ ผมข่มใจอดกลั้นไม่พูดอะไรออกไป
นอกจากนั้น หากใครเคยเห็นงานแต่งงานในโบสถ์ของชาวคริสต์ในหนัง อาจเคยได้ยินประโยคที่บาทหลวงพูดก่อนประกาศให้คู่บ่าวสาวเป็นคู่สามีภรรยากันว่า หากใครมีเหตุผลว่าทำไมคู่บ่าวสาวไม่ควรได้แต่งงานกัน ให้ Speak now or forever hold your peace. หรือพูดออก ณ บัดนี้ มิเช่นนั้นก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องดังกล่าวอีก Hold your peace. ในที่นี้ก็คล้ายๆ กับ hold your tongue หมายถึง ให้เงียบไว้นั่นเอง
Hush money
หากเรามีหลักฐานว่านักการเมืองท่านหนึ่งใช้เงินแลกตำแหน่งทางการเมืองมา แล้วนักการเมืองคนนี้นำเงินมาเสนอให้แก่เราเพื่อแลกกับการปิดเรื่องนี้เป็นความลับ เงินแบบนี้จะเรียกว่า hush money หรือเรียกแบบไทยๆ ว่า ค่าปิดปาก มาจากคำว่า hush ที่หมายถึง การให้เงียบลง เช่น Trump was accused of paying hush money to a porn actress that he allegedly had an affair with. ก็คือ ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าได้จ่ายเงินค่าปิดปากให้แก่ดาราหนังโป๊ที่ว่ากันว่าเคยคบชู้กัน
ส่วนถ้าพูดว่า hush up จะหมายถึง พยายามปิดข่าว ทำให้ข่าวซาลงและหายไปเอง เช่น หากมีการสืบสวนเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในองค์กร แต่ผู้บริหารกลัวว่าจะเป็นข่าวใหญ่โตจนองค์กรเสียชื่อเสียง จึงเลือกใช้วิธีสอบสวนและลงโทษแบบเงียบๆ แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า The sexual harassment case was hushed up by the board.
Plead the fifth
หากมีใครมาถามคำถามเรา แล้วเราไม่อยากตอบเพราะคำตอบจะทำให้รู้ว่าเราทำอะไรน่าอับอาย ฉาวโฉ่ หรือทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น เพื่อนสนิทถามว่าเราเคยมีเซ็กซ์บนเครื่องบินไหมแล้วเราไม่อยากตอบว่าเคย แทนที่จะตอบคำถาม เราก็อาจพูดว่า I plead the fifth. ซึ่งแปลแบบไทยๆ ได้ทำนองว่า ขอใช้สิทธิ์ไม่ตอบ
สำนวนนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาสำนวนนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ในบทบัญญัติแก้ไขข้อที่ห้า (the Fifth Amendment) ระบุไว้ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ไม่ให้การหรือตอบคำถามที่จะปรักปรำตัวเอง ปกติแล้ว I plead the fifth. เป็นประโยคที่ใช้ในศาลในกรณีที่จำเลยเลือกไม่ตอบคำถามเพราะอาจเข้าข่ายปรักปรำตัวเองได้ แต่ไปๆ มาๆ คนก็ยืมออกมาใช้นอกศาลในชีวิตประจำวันเพื่อเลี่ยงไม่ตอบคำถามที่หากตอบไปแล้วอาจทำให้ตนเองมัวหมอง
Cat got your tongue.
สำนวนนี้แน่นอนว่าไม่ได้มีแมวมาที่ไหนมาเอาลิ้นใครไปจริงๆ แต่หมายถึง พูดไม่ออก อาจเพราะกลัวมากหรืออึ้งกิมกี่ เช่น สมมติว่าพนักงานยืนกรานเสียงแข็งว่าไม่ได้ขโมยของในออฟฟิศ แต่ฝ่ายนายจ้างงัดหลักฐานเทปกล้องวงจรปิดมาเปิดให้เห็นแบบจะๆ จนทำเอาขโมยหัวแข็งพูดไม่ออก แบบนี่ฝ่ายนายจ้างก็อาจจะพูดว่า Cat got your tongue. ก็คือ เอ้า พูดอะไรไม่ออกเลยเหรอ
ส่วนที่ว่าทำไมแมวถึงมาเกี่ยวกับลิ้นและการพูดไม่ออกนั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะชาวอียิปต์โบราณลงโทษคนให้การเท็จหรือพูดจาบจ้วงพระผู้เป็นเจ้าด้วยการตัดลิ้นแล้วโยนให้แมวกิน แต่บ้างก็ว่าเป็นเพราะในกองทัพเคยมีการลงโทษทหารเรือที่ทำผิดด้วยแส้เก้าหางเรียกว่า cat-o’-nine-tails ซึ่งแสนเจ็บปวดทรมาน ใครที่โดนพิษสงแส้นี้เข้าไปก็จะถึงขนาดพูดอะไรไม่ออกไปอีกหลายวัน แต่บ้างก็ว่าสำนวนนี้มีที่มาจากยุคกลางที่ว่า หากใครเจอแม่มดเข้า แม่มดจะให้แมวดำซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงคู่กายมาขโมยลิ้นไป เพื่อจะได้นำไปบอกใครต่อไม่ได้ว่าได้พบเจอแม่มด
ทั้งนี้ อีกสำนวนที่ความหมายคล้ายกันก็คือ tongue-tied ให้ภาพว่าลิ้นพันผูกเป็นปมจุกอยู่ในปาก ใช้หมายถึงพูดไม่ออกเช่นกัน
Speechless
นอกจากคำและสำนวนที่พูดถึงไปแล้วด้านบน ในภาษาอังกฤษยังมีคำอีกกลุ่มหนึ่งที่แปลว่า พูดไม่ออก หมดคำพูด ที่สร้างด้วยการเอาคำที่เกี่ยวกับการพูดมาเติมส่วนเติมหน้าหรือเติมหลังเป็นปฏิเสธ เช่น speechless เป็นต้น
คำในกลุ่มนี้แม้สร้างด้วยวิธีคล้ายกัน แต่ว่ามีเฉดความหมายต่างกันไป คืออาจมีความหมายออกไปในเชิงบวก หมายถึง ดีงามเกินพรรณนาอย่าง indescribable (เช่น indescribable feeling ในเพลง A Whole New World) หรือมีความหมายไปในแง่บวกหรือลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบท (อาจจะอึ้งจนพูดไม่ออกเพราะสิ่งที่เห็นนั้นดีงามเกินคาด ไม่ก็ชวนโกรธจนตัวสั่นพูดอะไรไม่ออก) เช่น speechless หรือ ineffable (มาจากคำว่า effable ที่แปลว่า เอื้อนเอ่ยออกมาได้ รวมกับส่วนเติมหน้า in- ที่แปลว่า ไม่) แต่บางพวกก็มีความหมายไปในเชิงลบเป็นหลัก เช่น unspeakable (เช่น He did unspeakable things to me. หมายถึง เขาทำสิ่งเลวร้ายเกินบรรยายกับฉัน) หรือ unmentionable (เช่น unmentionable disease คือ โรคที่เลวร้ายน่าอับอาย)
ทั้งนี้ เนื่องจากคนเราไม่นิยมพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับชุดชั้นในโดยโจ่งแจ้ง ดังนั้น คำว่า unmentionable จึงถูกนำมาใช้เป็นคำนาม (ปกติใช้ในรูปพหูพจน์) หมายถึง ชุดชั้นใน กางเกงใน ได้อีกด้วย
บรรณานุกรม
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011.
Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
Jack, Albert. Black Sheep and Lame Ducks: The Origins of Even More Phrases We Use Every Day. A Perigee Book: New York, 2005.
Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Fact Box
- อันที่จริงแล้ว อีกคำที่มีที่มาแปลว่าพูดไม่ได้ คือคำว่า infant มาจากคำว่า infantem ในภาษาละติน แปลว่า ทารก ประกอบขึ้นจาก in- ที่แปลว่าไม่ รวมกับ fans ที่มาจากรากที่แปลว่า พูด นั่นก็เพราะทารกพูดไม่ได้
- แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า infantry ที่แปลว่า ทหารเท้า ก็พัฒนามาจาก infant อีกที ไม่ใช่เพราะทหารไม่หือรือหรือไม่มีสิทธิ์เสียงในการพูดแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะคำว่า infantem มีความหมายว่า คนวัยหนุ่มสาว ได้ด้วย (ทำนองว่าเทียบกับผู้แก่ผู้เฒ่าแล้ว เด็กหนุ่มสาวก็เหมือนทารกไร้เดียงสา) ด้วยความที่ทหารใหม่ส่วนใหญ่ก็เกณฑ์จากคนหนุ่ม คำว่า infantem จึงถูกนำมาใช้เรียกทหารเท้าและพัฒนามาจนกลายเป็น infantry ในที่สุด